ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น
นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจช่วงเมื่อเดือนที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ออกมาแสดงจุดยืนการคัดค้านเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันอย่างพร้อมเพรียงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าต่อประเด็นการคัดค้านร่างนี้ แทบจะเป็นฉันทามติในหลายภาคส่วนของสังคม แต่กับส่วนมหาวิทยาลัยเอง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ เพราะในระยะประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สังคมแทบจะไม่เคยเห็นการที่มหาวิทยาลัยออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แน่ว แน่เท่านี้มาก่อน
แม้แต่วิกฤติทางการเมืองหลายๆ ครั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, 6 ต.ค. 2519, พฤษภาทมิฬปี 2535 จนถึงการเกิดรัฐประหารปี 2549 สถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะในระดับอธิการบดี คณบดี อาจารย์และนักศึกษา ต่างเงียบงันต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และหากจะมีการแสดงจุดยืนบ้าง ก็เป็นไปในลักษณะปัจเจกหรือการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการ แต่ไม่เคยเป็นไปในลักษณะที่เป็นเอกภาพมากเท่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ในที่สุดแล้ว บทบาททางการเมืองของมหาวิทยาลัยที่ออกมาล่าสุดนี้มีความเหมาะสมแค่ไหน และสะท้อนอะไรในสังคมได้บ้าง
หากประมวลจากแถลงการณ์การคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมา สามารถสรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มุ่งประเด็นไปที่การคัดค้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยระบุว่าห่วงใยเรื่องการเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของประชาชนรุ่นต่อไป ในขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย (ทปอ.) ย้ำถึงความจำเป็นของการจัดหลักสูตรในสถาบันการศึกษาเรื่องการต่อต้านการ คอร์รัปชั่น โดยไม่มีการพูดถึงเหตุผลการคัดค้านการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้รับผิดชอบการสลาย ชุมนุมในปี 53 แม้แต่ประโยคเดียว
มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ระบุถึงเรื่องการไม่นิรโทษกรรมเพื่อ ยกโทษความผิดให้กับผู้ที่รับผิดชอบกับการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 และส่วนใหญ่มาจากกลุ่มนศ. มากกว่าในฐานะมหาวิทยาลัย นอกนั้น ก็เป็นการระบุถึงกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมของการผ่านร่างดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอีกปัญหาสำคัญของร่างพ.ร.บ.เหมาเข่งที่ถูกคัดค้านอย่าง หนัก
บทบาททางการเมืองที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัย
เมื่อย้อนไปดูบทบาทของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในช่วงวิกฤติการณ์ทางการ เมืองที่ผ่านมา กลับพบว่า แทบจะไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่แสดงการคัดค้านการรัฐประหารในฐานะสถาบันการศึกษา หรือในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ หากมีก็แต่เพียงคณาจารย์ในฐานะปัจเจกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอธิการบดีถึง 17 มหาวิทยาลัยได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี 2549 รวมถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพล นิติไกรพจน์, อธิการบดีม.เทคโนโลยีสุรนารี และอดีตประธานทปอ. ประสาท สืบค้า, หรือคณบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์“ฉันคิดว่าไม่มีใครควรที่จะไปร่วมกับ สนช. เพราะมันเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะทหารซึ่งทำการรัฐประหาร” ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์จากภาควิชาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความคิดเห็น
“อาจจะมีคนบอกว่า การตัดสินใจจะเข้าร่วมสนช.เป็นเหตุผลส่วนบุคคล เป็นการตัดสินใจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อคนคนนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย เขาไม่ได้อยู่ในสถานะปัจเจกอีกต่อไปแล้ว หากแต่เขายังแบกรับชื่อของสถาบันไว้ด้วย...การเข้าร่วมสนช. นั่นหมายถึงการสนับสนุนการรัฐประหาร และทำลายหลักนิติรัฐอย่างไม่ใยดี” ฮาเบอร์คอร์นกล่าว
เธอชี้ว่า มหาวิทยาลัยนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะมีบทบาททางการเมืองในสังคม เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว การศึกษานั้นเป็นการเมืองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ที่สำคัญที่สุด คือคณาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาคิดอย่างวิพากษ์และตั้งคำ ถามต่อความอยุติธรรมในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
“บทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด คือ การสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการถกเถียงและการสนทนาที่สร้างสรรค์และเคารพซึ่ง กันและกันท่ามกลางความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย”
สภามหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร
สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัย นอกจากจะสำคัญต่อการกำหนดหลักสูตรและการบริหารต่างๆ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจจุดยืนทางการเมืองของมหาวิทยาลัยด้วย โดยตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่ในสภา ประกอบด้วยฝ่ายบริหาร เช่น นายกฯ อุปนายกสภา และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการแต่งตั้ง รวมถึงตัวแทนคณาจารย์ มาจากการเลือกอาจารย์ทั่วไปสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคนปัจจุบันของทปอ. ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีปัญหาฉบับนี้ขึ้นมา เช่นเดียวกับนายกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ซึ่งเป็นศ.พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ก็เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นอกจากนี้นรนิติยังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิของมศว.อีกด้วย
เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีจุฬาฯ คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสนช. ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานสภามหาวิทยาลัย โดยมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตสมาชิกสนช. เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และยังมีอดีตสมาชิกสนช. อีกสองคน ได้แก่ วิษณุ เครืองาม และสุจิต บุญบงการ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ
นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เรียกได้ว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนการรัฐประหารกระจัดกระจายกันไป อย่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตสมาชิกสนช. ปัจจุบันเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นนายกสภาฯ
ส่วนราษฎรอาวุโส และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อย่างประเวศ วะสี นั้น ปรากฏว่ามีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิมากที่สุดใน เวลาเดียว โดยดำรงตำแหน่งนี้ในจุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ ม.มหิดล ม.รังสิต และสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์
การมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัยที่มีลักษณะอุปถัมภ์
ปัจจุบัน ตำแหน่งอธิการบดี มาจากการเลือกของสภามหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เสนอชื่ออธิการบดี และให้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ รับรอง เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดแทบทุกมหาวิทยาลัยในขณะที่สภามหาวิทยาลัย ทั้งนายกสภาฯ อุปนายกสภาฯ จะมาจากการคัดเลือกกันเองโดยมีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการสรรหา โดยมีสภาคณาจารย์ นายกสมาคมศิษย์เก่า และกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ในคณะกรรมการการสรรหาดังกล่าว
ในส่วนของตัวแทนคณาจารย์นั้น จะมาจากการเสนอชื่อและเลือกตั้งจากคณาจารย์ทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็มีจำนวนแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10 กว่าคน
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาคปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเป็นอุปถัมป์ในสภามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะในจุฬาฯ หรือในที่อื่นๆ นั้นค่อนข้างชัดเจน อย่างในกรณีของผู้ทรงคุณวุฒิ มักจะถูกเสนอชื่อมาจากคณาจารย์โดยเป็นผู้ที่คิดกันว่ามีความรู้ความสามารถจะ ช่วยเหลือมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ทรงคุณวุฒิก็เป็นคนเดิมๆ ที่สังคมหรือกรรมการสภารู้จักมาอย่างยาวนาน และก็ได้รับเลือกต่อไปเรื่อยๆ
“โอกาสที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จะมาได้นั่งที่นี่เป็นไปได้ยากมาก” โสรัจจ์กล่าว
เขายังเสนอให้นิสิตนักศึกษาควรจะต้องมีตำแหน่งประจำในสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากสภามหาวิทยาลัย จำเป็นจะต้องสะท้อนองคาพยพทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และนิสิตนักศึกษาก็เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดขององคาพยพดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องมีที่นั่งในสภามหาวิทยาลัยด้วย
นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งอธิการบดีครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นักศึกษายังสามารถเสนอชื่ออาจารย์เข้าเป็นอธิการบดีได้ด้วย แต่อำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ จะอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเช่นเดิม
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ยังได้ออกมาคัดค้านการผ่าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้ ชื่อของมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมทางการเมืองที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยการมุ่งคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งในประเด็นคอร์รัปชั่นเท่านั้น
รัฐพลกล่าวว่า จากจุดยืนการคัดค้านของมหาวิทยาลัย ที่ค้านเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่า มีความไม่คงเส้นคงวาในการใช้เหตุผล เนื่องจากหากยอมรับเรื่องคดีทุจริตคอร์รัปชั่น นั่นหมายถึงการยอมรับคดีที่ คตส. ทำ และหมายถึงการยอมรับคณะรัฐประหารด้วย
เขายังวิจารณ์ถึงการจัดชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมในนามมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเผยแพร่เอกสารในโซเชียลมีเดียด้วยว่ามหาวิทยาลัยได้จัดรถรับส่งให้ แก่ผู้ที่ไปร่วมชุมนุม
“การออกมาจัดกิจกรรมเช่นนี้ไม่มีการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน เหมือนเป็นการโหนกระแสไปในทางเดียว รวมถึงการมีป้ายเรียกร้องให้จปร. ออกมา ผู้รับผิดชอบไม่น่าปล่อยให้หลุดออกมาในชื่อมหาวิทยาลัย เพราะการรัฐประหารในยุคนี้มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้แล้วในระบอบ ประชาธิปไตย” เขากล่าว
รัฐพลกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคมปี 2555 ที่กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มีมติไม่ให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่จัดอภิปรายเรื่องการแก้ไข ม. 112 โดยอธิการบดีอ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง มากกว่าเป็นการอภิปรายทางวิชาการ และอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งรัฐพลมองว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีเสรีภาพจริงอย่างที่อ้าง เพราะกิจกรรมของนิติราษฎร์เป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ แต่กิจกรรมเดินขบวนที่มหาวิทยาลัยจัดเพื่อค้ดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ยังมีวาระทางการเมืองที่ชัดเจนมากกว่า
“ผมไม่แปลกใจว่าทำไมอธิการบดีถึงไม่ชอบนิติราษฎร์ เพราะอธิการเป็นคนที่ร่าง ม. 309 มากับมือ” เขากล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น