ใบตองแห้ง Baitonghaeng
VoiceTV Staff
Bio
คอลัมนิสต์อิสระที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” วาระ 2 และ 3 หลังการประชุมลากถูถึงตีสี่ ถึงแม้ไม่เห็นด้วย ก็ต้องชมว่า “เขี้ยวลาก” เพราะจากที่คิดว่าจะยืดเยื้อหลายวัน ท่ามกลางม็อบรุมเร้า กระแสกดดัน พรรคเพื่อไทยกลับใช้ยุทธการบุกตะลุยเอาชนะเบ็ดเสร็จ ไม่ทันให้ตั้งตัว
นัยสำคัญของการเอาชนะเบ็ดเสร็จ ชั่วค่ำคืนเดียว คือจบกระแสเรียกร้องให้ทบทวน จบข้อถกเถียงภายในพรรค ในขบวน บังคับให้ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ขณะที่ม็อบคัดค้านของประชาธิปัตย์ นอกจากชกลม ระดมพลไม่ทัน ยังต้องเปลี่ยนเป้าจากการกดดันให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็น “ล้มรัฐบาล”
เข้าทางอีกแล้ว นึกภาพออกไหมครับ ถ้าประชาธิปัตย์ระดมคนมาสถานีรถไฟสามเสนเป็นหมื่นๆ พันธมิตรในนามภาคีอีสุกอีใสยกพลมาอุรุพงษ์ แล้วมวลชนเสื้อแดงที่ไม่พอใจการนิรโทษอภิสิทธิ์ สุเทพ จะทำไง
พรรคเพื่อไทยเข้าใจเล่นกับอารมณ์มวลชนอย่างชั่วร้าย แต่เขี้ยวลาก “ข่มขืน” มวลชนเสื้อแดงอยู่ชัดๆ ยังจะเอาพลังมวลชนไปต่อต้านพวกล้มรัฐบาลได้หรือ ได้สิครับ แม้บางคนอาจจะถอยหนี สมน้ำหน้า แต่เสื้อแดงส่วนใหญ่ก็จะยังหนุนรัฐบาล
อย่าโทษมวลชนเลย ผมก็เพิ่งเข้าใจอารมณ์ตัวเอง ตอนเปิดบลูสกายดูถ่ายทอดสดม็อบแมลงสาบเมื่อคืนวันฮัลโลวีน เห็นอาการกระหยิ่มยิ้มย่อง เรียกร้องเสื้อแดงที่ “ถูกหลอก” เข้าไปร่วม ยังรู้สึกหมั่นไส้ ทั้งที่คัดค้านนิรโทษเหมาเข่ง ก็ยังไม่อยากให้ ปชป.ชนะ นี่คืออิทธิพลของความเกลียดชัง ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง
เหลืองแดงไม่มีทางร่วมกันได้ พรรคเพื่อไทยจะปู้ยี่ปู้ยำอย่างไร มวลชนเสื้อแดงก็ไม่มีวันญาติดีกับพันธมิตรและประชาธิปัตย์ แค่ประเด็นต้านนิรโทษก็สวนทางกัน พวกเสื้อเหลือง+ปชป.ต้าน “นิรโทษคนโกง” แถมยังยืนกรานไม่นิรโทษ “เผาบ้านเผาเมือง” ฟังแค่นี้เสื้อแดงที่ต้านนิรโทษมาร์ค-เทือก ก็ควันออกหู
ในอารมณ์นี้ที่จริงมีเหตุผล ผมไปเชียงใหม่ได้คุยกับคนเสื้อแดง บางคนโวยวายจะไม่เลือกเพื่อไทยแล้ว แต่คนที่มีเหตุผลบอกว่าถึงไม่พอใจอย่างไรก็ต้องเลือก เพราะถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เราจะยังมีเสรีภาพอย่างนี้หรือ
ฉะนั้นในขณะที่อยากเห็นเสื้อแดงออกไปร่วมม็อบ “หมื่นอัพ” ของ บก.ลายจุดเยอะๆ ผมก็ยังวิตกว่าจะไม่เยอะ โดยเฉพาะถ้าบรรยากาศคุกรุ่น ม็อบล้มรัฐบาลทำท่าจะแรง (อันที่จริงควรไปให้เยอะ เพื่อแสดงพลังประชาธิปไตยที่มีเหตุผล ชูธงแจ่มชัด ไม่ให้ล้มรัฐบาล แต่ด่ารัฐบาล)
หันกลับไปดูม็อบแมลงสาบ ม็อบเสื้อเหลือง มีแรงจริงหรือเปล่า เท่าที่เห็นเมื่อเย็นวันศุกร์ ก็ไม่ได้ลุกฮือเหมือนน้ำมันราดกองไฟ ยังไม่อยากปรามาส ให้รอดูอีก 2 วัน แต่หลังการเคลื่อนไหวอย่างไร้สติไร้เหตุผลมา 2 ปี แม้ครั้งนี้ดูเผินๆ เหมือนมีความชอบธรรมที่จะเคลื่อนไหว แต่ประเด็นต้านนิรโทษทักษิณ จะเรียกแขก จีน ลาว ไทย ได้ซักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็พวกเกลียดทักษิณฝังใจหน้าเดิมๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ พวกองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นไปประท้วงที่ UN ที่สถานทูตอเมริกา “ต้านล้างผิดคนโกง” โธ่ สลิ่มเอ๊ย นานาชาติเขาต้านนิรโทษฆาตกรฆ่าประชาชนต่างหาก
ปชป.ขีดวงจำกัดคนที่ไปร่วมม็อบสามเสนต้องเป็นพวกเกลียดทักษิณ พธม.-ภาคีอีสุกอีใส ยิ่งจำกัดเข้าไปใหญ่ ใครไปร่วมม็อบต้องเอา “การเมืองใหม่” ไม่เอาเลือกตั้ง ทั้งที่กระแสสาธารณะ ที่ไม่ใช่เหลือง-แดง ที่คัดค้านนิรโทษเหมาเข่ง กว้างขวางกว่านั้น มีประเด็นมากกว่านั้น ทั้งคัดค้านการไม่ยึดมั่นความยุติธรรม ทั้งคัดค้านการเล่นเล่ห์ สอดไส้ ใช้อำนาจรวบรัด ไม่ชอบธรรม ฯลฯ
คำถามคือกระแสสาธารณะนี้จะสะท้อนออกอย่างไร ทางไหน (นอกจากทางโพลล์) ในขณะที่มีกระแสถ่วงคือความเหนื่อยหน่ายต่อความขัดแย้ง อยากประนีประนอม “แบบไทยๆ” กระแสใดจะแรงกว่า และถ้าแสดงออกได้จะกระทบเสถียรภาพรัฐบาลเพียงไร
ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ กว่าการปลุกความเกลียดชังแบบเดิมๆ ของเสื้อเหลือง แมลงสาบ เพียงแต่ ณ วันนี้ผมก็ยังมองไม่ออกครับ
วัดใจวุฒิ-ศาล
ทักษิณ “เกี้ยเซี้ย” กับชนชั้นนำหรือไม่ เมื่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษเข้าวุฒิสภา เราจะได้เห็นกัน
อย่าลืมว่าร่าง พ.ร.บ.นี้นิรโทษทหารยกพวง นิรโทษไปถึงกรือเซะ ตากใบ “สายอำมาตย์” ที่นอกเหนือจากพวกสุดขั้วสุดโต่ง 40 สว.จะมีท่าทีอย่างไร
หลังจากนั้นก็จะเข้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกได้ทั้งสองหน้า โดยถ้ายึดตามความเห็นนิติราษฎร์ ข้อแรก นิติราษฎร์ชี้ว่าขัดข้อบังคับการประชุม ข้อ 117 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการตราพระราชบัญญัติตามระบอบรัฐสภา สภารับหลักการมาอย่างหนึ่ง จะมาแปรญัตติเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ข้อบังคับนี้มีรัฐธรรมนูญมาตรา 153 รองรับ
ปัญหาคือรัฐธรรมนูญไทยดันไม่เอาประเด็นนี้ไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญ ถ้าศาลจะตีตก ก็ต้อง “ตีความ” ซึ่งมีปัญหาว่าศาลจะตีความตามตัวอักษร ตีความตามพจนานุกรม หรือตีความตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย
ออกได้ทุกหน้าครับ ถึงบอกว่า “วัดใจ”
ข้อสอง นิติราษฎร์ชี้ว่าการที่ไม่นิรโทษ 112 ด้วยขัดมาตรา 30 หลักแห่งความเสมอภาค ประเด็นนี้ตกไปเลย เพราะพวก ปชป.กับ 40 ส.ว.ไม่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยแน่
เรื่องตลกคือ ปชป.กลับจะยื่นคนละประเด็นกับนิติราษฎร์ คือยื่นมาตรา 30 เหมือนกัน แต่เข้าใจว่าจะยื่นตีความในแง่ที่การนิรโทษทักษิณไม่เป็นไปตามหลักแห่งความ เสมอภาค เพราะไม่ใช่คดีเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเหมือนคนอื่นๆ
ข้อสอง จะยื่นมาตรา 122 ว่าด้วยความขัดกันแห่งผลประโยชน์ อ้างว่าพรรคเพื่อไทยนิรโทษให้พวกตัวเอง
ข้อสาม จะยื่นมาตรา 309 ว่าทำให้นิรโทษทักษิณไม่ได้
ถามว่าทำไม ปชป.ไม่ยื่นค้านตามประเด็นนิติราษฎร์ข้อแรก ก็เพราะถ้ายื่นค้านตามข้อบังคับ 117 แล้วศาลตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษก็จะตกไปทั้งฉบับ อดนิรโทษกันหมด ทั้งอภิสิทธิ์ ทั้งสุเทพ ทั้งทหาร
แต่ถ้ายื่นค้านมาตรา 30 ว่าทักษิณไม่เข้าข่ายนิรโทษ ยื่นค้านมาตรา 309 ว่าทักษิณไม่เข้าข่ายนิรโทษ ศาลอาจชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้ไม่ได้เฉพาะถ้อยคำ “หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา”
ฉิบหอยเลยครับ ถ้าออกหน้านี้ก็แปลว่าทักษิณถูกหักหลังกลางซอย มาร์ค-เทือก ได้นิรโทษหมด ทักษิณไม่ได้นิรโทษคนเดียว นอกจากโดนมวลชนก่นด่าแล้วยังจะสมน้ำหน้าอีกต่างหาก
หรือถ้าไม่เล่นกันยกแรก ก็ยังมีโอกาสหักหลังท้ายซอย เพราะหลังจาก พ.ร.บ.นิรโทษผ่าน การนิรโทษจะต้องให้ศาลสั่งแต่ละคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจโต้แย้ง ว่าทักษิณไม่เข้าข่าย ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใหม่ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
พรรคเสื่อม แดงต้องสู้
พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอาจผ่านมรสุมเฉพาะหน้าไปได้ แต่การไม่ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย หลักความยุติธรรม เสียความชอบธรรม จะทำให้หนทางข้างหน้า รัฐบาลจะฟันฝ่ามรสุมได้ยากขึ้น
ตัวอย่างง่ายๆ การใช้เสียงข้างมากลากถูร่าง พ.ร.บ. เปลี่ยนหลักการในชั้นแปรญัตติ แล้วลงมติวาระ 2,3 ในวันเดียว จะทำให้สาธารณชนรู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยเหลิงอำนาจ ต้องมีตุลาการภิวัตน์คอยสกัดกั้น จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยทำได้ยากขึ้น สังคมเสื่อมศรัทธาต่ออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง (แม้ไม่ถึงกับเอารัฐประหาร)
ความเสื่อมนี้จะทำให้รัฐบาลกระเสือกกระสน ยากลำบาก เมื่อถูกฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยตีโต้กลับ เว้นเสียแต่วางใจว่าสามารถเกี้ยเซี้ยกับชนชั้นนำ ร่วมมือกันกลับไปสถาปนาระบอบอำนาจเดิม แบบก่อนปี 2549 ไล่การเมืองมวลชน เหลือง แดง กลับบ้าน อย่างที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลเพื่อไทยก็จะอยู่ได้นานหน่อย
แต่ถ้าถูกหลอก ต่อให้ปิดดีลนิรโทษ ไม่ถูกหักหลังกลางซอย ท้ายซอย ก็ยังมีโอกาสถูกตีโต้อยู่ดี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สว.มาจากเลือกตั้ง ซึ่งถ้าชี้ว่าขัด ม.68 ก็อาจส่งผลให้ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กร รัฐบาลจะทำอย่างไร
ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านอีกล่ะ ปปช.จะชี้มูลจำนำข้าวอีกล่ะ เงินกู้ 3.5 แสนล้านอีกล่ะ
การสุ่มเสี่ยงครั้งนี้ของทักษิณและเพื่อไทยส่งผลสะเทือนร้ายแรงต่อการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย เพราะถ้าถูกตุลาการภิวัตน์เล่นงานเรื่องใด พลังที่เคยปกป้องก็จะอ่อนแรงลง นักวิชาการ ผู้รักประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็เหนื่อยหน่าย และโน้มน้าวจูงใจสังคมได้ยาก ในเมื่อสังคมเห็นความผิดชัดเจนในกรณีนี้แล้ว
ปรากฏการณ์มุมกลับด้านดีมีข้อเดียวเท่านั้นคือ นิติราษฎร์ และนักวิชาการประชาธิปไตย ได้แสดงจุดยืนเด็ดเดี่ยว คัดค้านการนิรโทษกรรม ให้สังคมเห็นประจักษ์ และได้รับการยอมรับ ว่ามีหลักมีเหตุผล จากที่เคยถูกป้ายสีเป็น “แดง” มาก่อน (อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถึงขนาดได้ออกรายการสรยุทธ์ แหม ไม่ยักชวนสมศักดิ์ เจียมฯ ไปด้วย)
นี่แสดงว่าพลังประชาธิปไตยที่มีเหตุผลเท่านั้น ที่จะสามารถปกป้องประชาธิปไตยไว้ได้ ในความเสื่อมของพรรคเพื่อไทย
มวลชนที่รักประชาธิปไตย (หรือต่อให้รักทักษิณ แต่ตระหนักว่าทักษิณกำลังจะพาตัวเข้ามุมอับ) จึงต้องแสดงออกอย่างเข้มแข็ง ถึงความเป็นอิสระ ความมีเหตุผล พร้อมที่จะเป็นหลักให้กันและกัน หนทางนี้เท่านั้นที่จะรักษาขบวนประชาธิปไตย รักษาศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของขบวนเสื้อแดง ในขณะที่แกนนำหลายคนกลายเป็นขี้เรื้อนไปแล้ว
ในขณะที่วิตกว่าม็อบหมื่นอัพของ บก.ลายจุดจะไม่เป็นผล ผมก็ขอเชียร์หมื่นอัพด้วยคน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เหลือพลังต้านฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอีกแล้ว นอกจากเครดิตนักวิชาการเป็นรายบุคคล
ด่าทักษิณ ด่าเพื่อไทย ให้แรงเข้าไว้ จะได้มีพลังเวลาที่จำเป็นต้องปกป้องประชาธิปไตย
ใบตองแห้ง
1 พ.ย.56
............................
1 พฤศจิกายน 2556 เวลา 22:57 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น