แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความจนในอเมริกาเป็นเรื่องหลัก

ที่มา Thai E-News




ถอด (บท) ความ จากข้อคิดเห็นของ ม้าร์ค อาร์ แร้งค์ เรื่อง 'Poverty in America is Mainstream' ใน น.ส.พ. เดอะนิวยอร์คไทม์ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ (โดยระยิบ เผ่ามโน)
มีไม่กี่เรื่องในสังคมอเมริกันที่ห้อมล้อมไปด้วยมายาคติ และลักษณะสูตรสำเร็จมากเท่าเรื่องความยากจน มันเป็นหลักการผิดๆ ที่บิดเบือนทั้งในทางการเมือง และการวางนโยบายสาธารณะของเรา
นี่รวมถึงแนวคิดที่ว่าความยากจนในอเมริกากระทบถึงคนเพียงส่วนน้อย ว่าผู้ยากไร้พบกับความอดอยากครั้งละหลายๆ ปี ว่าคนที่ยากจนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดของเขตเมือง ว่ามีการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการมากเกินไป และว่าความยากจนเป็นผลของการไม่ขยันหมั่นเพียรมากพอ เหล่านี้แม้ว่าจะมีอยู่หลากหลาย หากว่าแต่ละอันล้วนผิดสุดๆ ทั้งนั้น
ตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน อัตราส่วนมวลชนที่ต้องเผชิญกับความยากจนโดยตรงกลับสูงมากจนเกินไป จากการค้นคว้าของผู้เขียนเองพบว่าเกือบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรอายุระหว่าง ๒๕ ปีถึง ๖๐ ปีจะเจอกับสภาพความเป็นอยู่ต่ำกว่าขีดความยากจนตลอดระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหนึ่งครั้ง (ขีดความจนของครอบครัวอเมริกันที่มีสี่คน คือพ่อ แม่ และลูกสองคน- เท่ากับรายได้ ๒๓,๔๙๒ เหรียญต่อปี)*1 และ๕๔ เปอร์เซ็นต์จะตกอยู่ในสภาพที่ขีดความจน หรือใกล้เคียงขีดความจน (คือต่ำกว่าอัตรา ๑๕๐ เปอร์เซ็นต์ของขีดความจน)
น่าทึ่งไปยิ่งกว่านั้น ถ้านับรวมสภาวะที่เกี่ยวพันกันอย่างเช่นการพึ่งพาสวัสดิการ สภาพใกล้ยากจน และการตกงานเข้าไปด้วย พบว่าชาวอเมริกันจำนวน ๔ ใน ๕ จะต้องเจอสภาพดังกล่าวหนึ่งครั้ง หรือมากกว่านั้น
(ภาพข่าวเอพี)
นอกเหนือ ไปกว่านี้ ครึ่งหนึ่งของเด็กอเมริกันทั้งมวล ในช่วงหนึ่งของชีวิตวัยเด็กต้องอยู่อาศัยในครัวเรือนที่พึ่งพาความช่วยเหลือ ของบัตรแลกอาหารสำหรับคนยากจน
พูดง่ายๆ ความยากจนเป็นเรื่องหลักที่คนส่วนใหญ่ในอเมริกาต้องเผชิญ คำถามสำหรับพวกเราส่วนมากนั้นไม่ใช่ว่าจะต้องพบกับความยากจนกันไหม หากแต่ว่าจะต้องพบกับมันเมื่อไรต่างหาก
ขณะที่ความยากจนเกิดกับประชากรอเมริกันเป็นส่วนมาก แต่ระยะเวลาเฉลี่ยของการตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นกลับสั้น ภาพพจน์ของความจนโดยมาตรฐานทั่วไปอยู่ที่การจมปลักในสภาพชนชั้นต่ำ มีไม่พอกินคราวละหลายๆ ปี โดยที่ภาพพจน์นี้แสดงให้เห็นถึงส่วนย่อยๆ ของความยากจน แต่ว่าสำคัญ มันก็เป็นภาพที่บิดเบือนอย่างยิ่งต่อธรรมชาติเป็นจริงอันแผ่กว้าง และไม่คงที่
ในแบบแผนทั่วๆ ไปสำหรับบุคคลนั้นเป็นการประสบกับความยากจนครั้งละปีสองปี แล้วฟื้นคืนไปสู่ระดับเหนือขีดความจนเป็นเวลายาวนาน จากนั้นอาจกลับไปเจอสภาพต้องคำสาปอีกก็ได้ภายหลัง ภาวะการณ์อย่างเช่นตกงาน ถูกตัดชั่วโมงทำงาน เกิดการแยกทางในระหว่างคู่ครอง หรือว่ามีอาการป่วยไข้ร้ายแรงเกิดขึ้น ล้วนเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวโถมลงสู่ความยากจนได้
แม้นว่าความจนแพร่กระจายไปได้ด้วยกำหนดแห่งกาลเวลา มันก็แผ่ขยายไปได้ด้วยมิติแห่งพื้นที่เช่นกัน มีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนยากจนที่อาศัยอยู่ในท้องที่สุดแสนยากไร้ในเมือง ครัวเรือนที่ข้นแค้นยังอาจพบได้ตามท้องที่ของเขตนคร และชานเมือง เช่นเดียวกับเมืองเล็กๆ และชุมชนขนาดย่อมทั่วทั้งชนบทสหรัฐ การแพร่ขยายความจนออกไปเช่นนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานับยี่สิบปี โดยเฉพาะตามพื้นที่ชานเมือง
พร้อมๆ ไปกับภาพของความยากจนในท้องที่ใจกลางมหานคร ยังมีความเชื่อที่ว่าคนยากจนส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ชนผิวขาว นี่ก็เป็นมายาคติอีกอย่าง ตามตัวเลขล่าสุดของสำนักงานสำรวจประชากรปรากฏว่าผู้ที่เปิดเผยตนเป็นคนยากจนจำนวนสองในสามแจ้งด้วยว่าพวกเขาเป็นคนผิวขาว ตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว
แล้วประเด็นที่ว่ามีการให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนอย่างล้นเหลือด้วยล่ะ นี่ก็เป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ตรงข้ามกับความจริง ความมั่นคงทางสังคมของอเมริกาไม่ได้เข้มแข็งอย่างว่า แถมยังเต็มไปด้วยรอยโหว่มากมาย ยิ่งไปกว่านั้นมันกลับอ่อนแอลงไปตลอดสีสิบปีทีี่ผ่านมา เนื่องจากการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการ และมาตรการตัดงบประมาณเกื้อหนุน
เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่อยู่ในหมู่ผู้ใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการน้อยที่สุดในด้านการฉุดผู้คนขึ้นมาจากความยากไร้ และในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องหล่นลงสู่ห้วงแห่งความจน สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่แห่งที่ไม่มีการอำนวยสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีสวัสดิการดูแลเด็กที่คนส่วนใหญ่สู้ราคาไหว หรือที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่รายได้น้อย ผลทำให้อัตราความยากจนของเราสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของยุโรปถึงสองเท่า
ไม่ว่าเราจะสำรวจความยากจนในหมู่เยาวชน ความจนของผู้ใหญ่วัยทำงาน ความจนในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว และอัตราความยากจนโดยรวม ผลออกมาเหมือนกันหมดก็คือ สหรัฐอเมริกามีภาวะอดอยากยากไร้สูงมากเกินกว่าที่ควร คนจำนวนมากที่ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนได้พบกับอาการตลึงงันว่าที่จริงแล้วรัฐบาลมิได้ช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากความลำบากสักเท่าไรนัก
(ภาพข่าวรอยเตอร์)
ท้ายที่สุด คำอธิบายถึงสาเหตุของความยากจนที่มักเน้นกันแพร่หลายว่าเป็นเพราะการขาดแรงจูงใจ ความล้มเหลวที่ไม่บากบั่นกับงานหนัก และการตัดสินใจผิดพลาดต่อวิถีทางดำเนินชีวิต
แต่นี่อีกแหละ จากการค้นคว้าของผู้เขียน และนักวิจัยอื่นๆ พบเหมือนกันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ความประพฤติ และเจตจำนงของผู้ที่ตกอยู่ในภาวะยากไร้สะท้อนให้เห็นสภาพเช่นเดียวกับคนอเมริกันในสายหลักอื่นๆ ทั้งสิ้น ในทำนองเดียวกันพวกคนจนส่วนมากเป็นผู้ทำงานหนัก และยังคงมุ่งมั่นทำต่อไปเช่นนั้น
ความยากจนเป็นผลของความผิดพลาดอย่างที่สุดในระดับเศรษฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ไม่ใช่อย่างแน่นอนที่จะเป็นความผิดพลาดในระดับบุคคล
หนทางแก้ไขความยากจนจะพบได้ในสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการมีพลานามัยดีของครอบครัว นั่นคือมีงานทำรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ได้รับความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพ กับการดูแลเด็ก และมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยม
นโยบายเช่นนี้จะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราเริ่มทำความเข้าใจอย่างจริงจังว่า ความยากจนเป็นเรื่องของพวกเรา มากเสียกว่าที่จะถือว่าใันเป็นเรื่องของพวกเขา
(ม้าร์ค อาร์ แร้งค์ เป็นโปรเฟสเชอร์ด้านสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือฉบับใหม่เรื่อง “Chasing the American Dream: Understanding What Shapes our Fortunes.”)
*(หมายเหตุผู้แปล) และถ้าเป็นคนโสดผู้เดียวขีดความจนอยู่ที่ ๑๑,๔๙๐ เหรียญต่อปี ดูตารางได้ที่ http://aspe.hhs.gov/poverty/13poverty.cfm ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความยากจนในอเมริกา หาอ่านได้จากรายงานข่าวรอยเตอร์เรื่อง U.S. poverty rises despite economic recovery หรือรายงานของว้อยซ์ออฟอเมริกาเรื่อง Unemployment, poverty grow among Asian Americans in Los Angeles county และรายงานข่าวเอพีเมื่อปีที่แล้วเรื่อง Millions more American in poverty than previously estimated

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น