แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สังคมภายใต้สื่อออนไลน์

ที่มา Thai E-News


ครบรอบ 7 ปีไทยอีนิวส์ 5 พฤศจิกายน 2549 - 5 พฤศจิกายน 2556 (ภาพ:Gag Lasvegas)

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 
หมายเหตุไทยอีนิวส์:เรามี ธรรมเนียมเชิญนักเขียนเกียรติยศประจำปี เขียนบทความในวาระครบรอบคล้ายวันกำเนิดไทยอีนิวส์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับปีนี้ อันเป็นวาระครบรอบ 7 ปี ย่างก้าวสู่ปีที่8 เราได้เชิญศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักเขียนเกียรติยศประจำปีนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้พบทัศนะอันแหลมคมเกี่ยวกับ"สื่อ" ดังรายละเอียดต่อไปนี้
             ข่าวสารข้อมูลเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการศึกษา การรักษาพยาบาล และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ที่เรียกว่าการพัฒนาคือการเพิ่มสมรรถนะของคนในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างฉลาดและยั่งยืน ด้วยเหตุดังนั้น การกระจายข่าวสารข้อมูลให้เข้าถึงได้ทั่วถึง เช่นหนังสือพิมพ์, หนังสือ, สื่ออิเลคทรอนิคส์, ภาพยนตร์, ฯลฯ จึงถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ขาดไม่ได้

             แต่ข่าวสารข้อมูลก็เป็น"อาวุธ" หรือเครื่องมือในการกำกับควบคุมไปพร้อมกัน (อันที่จริงก็ไม่ต่างจากทรัพยากรอย่างอื่น การเข้าถึงเพิ่มศักยภาพของคน แต่ก็ถูกกำกับควบคุมไปพร้อมกัน เช่นราคาของไม้กำกับลักษณะของอาคาร ซึ่งส่งผลต่อสถาปัตยกรรม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายอย่าง) ข่าวสารข้อมูล ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบใด นอกจากมุ่งจะบอกกล่าว (to inform) แล้ว ยังกล่อมเกลา (to orientate, to impregnate, to normalize etc.) อีกด้วย

             เราคุ้นเคยกับข่าวสารข้อมูลที่รัฐหรือทุนส่งผ่านสื่อในกำกับควบคุมมานาน แต่ในปัจจุบัน สมรรถภาพของรัฐและทุนในการกำกับควบคุมกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเป็นเหตุอย่างหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบ่อน ทำลายสมรรถภาพนั้นลง แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน ความล้มเหลวของรัฐ(ทั้งเสรีนิยม, เผด็จการ, หรือกึ่งๆ ทั้งสองอย่าง)และทุนในการทำให้ชีวิตผู้คนมีความมั่นคง ก็เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนมีหูสำหรับรับฟังเสียงอื่นบ้าง และคงมีปัจจัยอื่นๆ นอกจากเทคโนโลยี และการเมือง อีกหลายอย่างที่อาจอธิบายความเสื่อมสมรรถภาพในการกำกับควบคุมของรัฐและทุนใน โลกปัจจุบัน

             ความอยากฟังเสียงอื่นนี้อาจมีพลังมากกว่าความสะดวกสบาย หรือของฟรีที่อ่านได้จากสื่อออนไลน์

             ผมหมายความว่า การที่สื่อเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์, วิทยุ หรือทีวี เสื่อมความนิยมในโลกปัจจุบันลงไปนั้น มักยกสาเหตุให้แก่ความสะดวกสบายมากกว่า หรือการเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียเงินของสื่อออนไลน์ แต่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงความต้องการฟังเสียงอื่นซึ่งสื่อเก่ามักเสนอไม่ได้ (เหตุผลที่เสนอไม่ได้ก็เพราะรัฐและทุนมีมุมมองที่ตายตัว ซึ่งต้องการกล่อมคนรับสื่อ สื่อต้องอยู่ใต้รัฐและทุนจึงไม่มีธรรมชาติที่จะเห็นมุมอื่น) ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในโลกปัจจุบัน ทำให้คนอยากฟังเสียงอื่นมากขึ้น และสื่อออนไลน์เข้ามาตอบสนองพอดี

             เพราะต้นทุนที่ต่ำของการทำสื่อออนไลน์ ทำให้ใครๆ ก็สามารถทำสื่อออนไลน์ได้ ความหลากหลายของคนที่เข้ามาทำสื่อออนไลน์ ทำให้เนื้อหาของสื่อออนไลน์ย่อมหลากหลายไปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือมี"เสียงอื่น"ให้ฟังมากมาย ไม่เฉพาะแต่ความเห็นทางการเมืองเท่านั้น หรือความเห็นด้านอื่นๆ เท่านั้น แต่รวมทุกเรื่องไปหมด นับตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างการจัดการน้ำ ไปจนถึงการเล่นตราไปรษณียากร หรือกล่องไม้ขีดไฟ หรือการเต้นแบบใหม่ที่แหวกแนวสุดๆ เป็นความเฉพาะเจาะจงที่ไม่อาจทำได้ในสื่อเก่า ซึ่งธุรกิจบังคับให้ต้องผลิตป้อนตลาดขนาดใหญ่

             เสียงอื่นที่คนอยากได้ยินจึงมีความหลากหลายมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏในสังคมสมัยใหม่ใดมาก่อน

             ผมเดาไม่ถูกว่าสื่อออนไลน์จะแพร่หลายมากขึ้น จนเข้ามาแทนที่สื่อเก่าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในอนาคตหรือไม่ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า สื่อออนไลน์จะเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารของคนในโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้นบ้างจากการที่เราสื่อสารกันผ่านสื่อออนไลน์

             ๑. อำนาจของสื่อในการกล่อมย่อมน้อยลง

             อำนาจกล่อมของสื่อนั้น จะว่าไปก็เป็นฐานที่ขาดไม่ได้ของรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะรัฐชาติ ถ้าสื่อหมดอำนาจในการกล่อม จะกระทบถึงความเป็นรัฐสมัยใหม่ หรือความเป็นชาติหรือไม่

             อันที่จริง ความเป็นรัฐสมัยใหม่และ/หรือความเป็นชาตินั้น กำลังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีสื่อออนไลน์หรือไม่ เช่นเส้นพรมแดนที่ตายตัว (อันเป็นขอบเขตของอำนาจอธิปไตย, กฎหมาย, ระบบราชการแบบใหม่, กองทัพ ฯลฯ) กำลังหาความตายตัวได้ยากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงระหว่างประเทศนานาชนิดทำให้เส้นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์น้อยลง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้มหาอำนาจเคารพต่อเส้นนี้น้อยลง การอพยพลี้ภัยทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้เส้นนี้ต้องยืดหยุ่นมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฯลฯ

             แต่การปรับเปลี่ยนเหล่านี้เป็นผลมาจากแรงกดดันภายนอกรัฐ สื่อออนไลน์บังคับให้รัฐสมัยใหม่และ/หรือรัฐชาติต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากภายใน ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ มีคนเล่าว่าในสหรัฐ มีคนทำทีวีออนไลน์ด้วยการให้นักข่าวอาสาสมัครสัมภาษณ์ความเห็นของคนเดินถนน ทำให้ข่าวของเขาเป็นปฏิกิริยา ความห่วงใย และการแก้ปัญหา ของชาวบ้านร้านช่องธรรมดา ต่อปรากฏการณ์ทางสังคมนานาชนิดที่กระทบต่อชีวิตของชาวบ้านทั่วไป กลายเป็นทีวีที่ได้รับความนิยมมาก คำอธิบายก็คือ คนอเมริกันเลิกห่วงใยนโยบายสาธารณะระดับสูงๆ ที่รัฐสภาหรือรัฐบาลทำอยู่เสียแล้ว เนื่องจากรู้ว่าตัวไม่สามารถไปกำกับควบคุมมันได้จริง จึงหันมาสนใจเรื่องที่กระทบต่อชีวิตของตนมากกว่า เช่นจะเดินทางด้วยแท็กซี่อย่างไร จึงจะไม่ถูกเอาเปรียบโดยพาอ้อมไปให้ไกลโดยไม่จำเป็น

             ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราต้องรวมตัวกันเป็นชาติ หรือต้องเลือกคนมาจัดการรัฐที่ใหญ่เกินกว่าจะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ผมคิดว่าสื่อเก่าทำหน้าที่กล่อมตรงนี้อย่างสำคัญมาแต่เราเริ่มออกจากสมัยโบราณสู่สมัยใหม่แล้ว แต่สื่อไม่ได้มีแต่หนังสือพิมพ์, ทีวี, วิทยุ อย่างเดียว สื่อที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการศึกษา โดยเฉพาะขั้นพื้นฐานซึ่งกล่อมคนในวันอันเหมาะ วางไวยากรณ์การคิดมาแต่ต้น จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า การแย่งชิงพื้นที่กล่อมในโลกปัจจุบันและอนาคตจะอยู่ที่โรงเรียนมากขึ้น

             ๒. ถ้าเราเสพย์สื่อที่มีความหลากหลาย และเต็มไปด้วยเสียงอื่นมากขึ้น เราทุกคนจะคุ้นเคยกับวิธีคิดแบบหลังสมัยใหม่โดยไม่ตั้งใจ คือสนใจว่าอะไรจริงหรือไม่น้อยลง แต่สนใจว่าถ้าอย่างนี้จริงแล้วยังไง แตกต่างจากถ้าอย่างโน้นจริงอย่างไร

             หลายสิบปีมาแล้ว อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยกลายเป็นตัวละครในสามก๊กมากขึ้น คือคอยสงสัยเสมอว่า ที่เขาพูดหรือทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเล่ห์เพทุบายอะไร (สำนวนสมัยปัจจุบันเรียกว่า"สับขาหลอก") ผมเกรงว่าคนไทยจะกลายเป็นตัวละครสามก๊กมากขึ้น

             ถ้าเราเชื่อว่า สารที่มนุษย์สื่อกันนั้นมีมากกว่าคำ และเหตุที่ทำให้สื่อกันก็มากกว่าอยากบอก การเป็นตัวละครในสามก๊กก็ควรแล้วไม่ใช่หรือ

             ๓. นักวิชาการที่ผมนับถือหลายท่าน (ซึ่งแสดงอยู่แล้วว่าต้องล้วนเป็นคนแก่ทั้งนั้น) บอกว่า สื่อออนไลน์นั้นผิวเผิน ... ผิวเผินทั้งเนื้อหา และผิวเผินทั้งวิธีอ่านหรือรับสาร ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสังคมภายใต้สื่อออนไลน์จะยังมีความสามารถในการสื่อสารอะไรที่ลึกซึ้ง ต้องใช้ความคิดที่ลึกในการสร้างและอ่านหรือไม่

             ผมเชื่อว่า เรายังมีความสามารถนั้นอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเหตุดังนั้นสื่อเก่าซึ่งอยู่กับเรามานาน จึงยังมีอนาคตอยู่ต่อไปแน่ เพียงแต่ไม่สามารถอยู่อย่างเก่าได้อีกแล้ว เช่นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์กระดาษ ซึ่งช้ากว่าทีวี, หยาบเท่าทีวี, และเชื่อถือไม่ได้เท่าทีวี (แต่ละฉบับแต่ละช่องเสนอเหตุการณ์เดียวกันไปคนละทาง) ไม่น่าจะอยู่ต่อไปได้ แต่หนังสือพิมพ์กระดาษที่ให้ข่าวแบบเจาะลึกพร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลที่ละเอียดและกระจ่างเท่านั้น จึงจะคุ้มกับเวลาและเงินที่ผู้บริโภคจะเสียให้ นวนิยายสุกเอาเผากินจะถูกเบียดให้ไปอยู่ออนไลน์ แต่นวนิยายที่ต้องอ่านอย่างขบคิดยังต้องการเวทีหนังสือ (จะเป็นกระดาษหรืออิเลคทรอนิคส์ก็ตาม)


             ๔. อะไรจะเกิดแก่สังคมภายใต้สื่อออนไลน์ได้อีก?  นี่คงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดและติดตามต่อไป  ผมก็แก่เสียจนไม่แน่ใจว่า จะทันได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันใกล้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น