สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย กรณีมีผู้ยื่นคำร้อง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา, นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.)
19 พ.ย.2556 ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาหัวข้อ "บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับทางรอดของประเทศไทย" จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) กล่าวถึงกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ว่า ขอให้ทั้งตุลาการและประชาชนทั่วประเทศได้เข้าใจว่าการปกครองของประเทศนี้ เป็นการปกครองด้วยระบอบรัฐสภา นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสารองไม่ใช่เสาหลัก แม้จะมีบทบัญญัติว่าผูกพันองค์กรต่างๆ ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าคำตัดสินวินิจฉัยต้องชอบด้วยหลักกฎหมาย โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดจะมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยสามฝ่ายได้ โดยไม่ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน
จากนั้น เขาอธิบายต่อไปว่าเรื่องนี้ไปอยู่ในพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวฯ แล้ว ถามว่าท่านกล้าจะใช้อำนาจไปวินิจฉัยหรือ ถ้าท่านกำลังบอกว่าท่านมีอำนาจละเมิดพระราชอำนาจ อาจจะเข้ามาตรา 112 ได้ บ้านเมืองจะเสียหายมาก ขอแนะนำทางออกที่ดีและผาสุกคือท่านไม่มีอำนาจจะวินิจฉัยเรื่องนี้เพราะ เรื่องนี้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว สมมติท่านวินิจฉัยว่าจะเดินหน้าต่อไป ถามว่าท่านรับผิดชอบไหวหรือ และหากร่างฯ นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่พระราชทานกลับมาภายใน 90 วันก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าสภาจะยืนยันไหม ซึ่งส่วนตัวเขาเห็นว่าสภาจะไม่ยืนยัน
อุกฤษกล่าวต่อว่า ขอเตือนด้วยความหวังดีว่าอย่าทำ ถ้าทำจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ และจะกลายเป็นเหยื่อการเมืองทั้งสองฝ่าย และถ้าอะไรเกิดขึ้นแล้ว สมมติถ้ามีการปะทะกันบาดเจ็บล้มตาย ท่านจะต้องรับผิดชอบต่อความตายของประชาชน นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ว่า ขอให้ดำเนินไปด้วยความสงบ และอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว
อุกฤษตั้งข้อสังเกตต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญดื้อ หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมรับ จะทำอย่างไรถ้าประชาชนตอบโต้และอารยะขัดขืนต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น