แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปัญหาของการถอยสุดซอย

ที่มา ประชาไท


ความจริงแล้ว เมื่อเวลาพรรคเพื่อไทยดึงดันเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ก็ไม่ได้เสนอสุดซอยอย่างแท้จริง เพราะไปยกเว้นไม่ยอมนิรโทษพี่น้องที่เป็นเหยื่อความอยุติธรรมจากมาตรา 112 แต่เมื่อเวลาถอยเพราะเพลี่ยงพล้ำ กลับเป็นการถอยอย่างสุดซอยอย่างแท้จริง เพราะเป็นการถอยแบบ "แตกพ่ายไม่เป็นขบวน" และก็ต้องยอมกลับมาหาการสนับสนุนจาก นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) อีกครั้งเพื่อรักษาแนวของตนเอง แต่กระนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะเยียวยา
การถอยสุดซอยเริ่มจากการแถลงของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ส่งสัญญาณว่า สภาผู้แทนราษฎรจะยอมรับมติของวุฒิสภา แม้ว่าจะคว่ำกฎหมายนี้ ต่อมา วันที่ 6 พฤศจิกายน ก็เป็นที่ชัดเจนจากคำแถลงของนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ถ้าวุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการ และส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ขอยืนยันว่า ส.ส.เพื่อไทยทั้งหมดจะไม่หยิบร่างกฎหมายนี้มาพิจารณาใหม่
จากนั้น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีก็ย้ำอีกครั้งว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมได้ถูกพับเก็บเป็นที่เรียบร้อย และจะไม่นำมาพิจารณาอีก และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็ออกแถลงการณ์ย้ำเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน โดยอธิบายว่า ที่อ้างกันว่ากฎหมายนิรโทษกรรมจะนำมาสู่การคืนเงินและล้างผิดให้ตนเองคน เดียวเป็นการบิดเบือน เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ กระทำเพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของ การรัฐประหารปี 2549
การถอยสุดซอย ยังเห็นได้จากการที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติ 310 ต่อ 1 ให้ถอนออกทั้งหมด สำหรับร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง 5 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษ 1 ฉบับที่ยังค้างในสภา ซึ่งรวมถึงร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ ร่างของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายกรัฐมนตรีได้แถลงอีกครั้งว่า "รัฐบาลจะไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชน เราต้องรับฟังและยึดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน" และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวปิดหนทางเลยว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดในการเสนอเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมอีกด้วย
แนวทางลักษณะนี้ ยังได้สอดคล้องกับการประชุมของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งมีการออกคำแถลงว่า ในกรณีที่วุฒิสภาเสนอให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมตกไป พรรคร่วมรัฐบาลขอแสดงเจตนาร่วมกันให้สัตยาบันเป็นสัญญาประชาคมต่อประชาชนชาว ไทยว่า พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีก และในที่สุด ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งก็มาถึงจุดจบในวันที่ 11 พฤศจิกายน จากการที่วุฒิสภาลงมติคว่ำด้วยคะแนนเสียง 140 ต่อ 1
นี่คือภาพแห่งการถอยแบบสุดซอย ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่า แทนที่พรรคเพื่อไทยจะยับยั้งกระบวนการกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งเพราะการ เตือนจากเพื่อนมิตรในขบวนประชาธิปไตย กลับถอยเพราะการรุกจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคเคยประเมินกันว่า ฝ่ายต่อต้านจะไม่มีน้ำยา สร้างกระแสไม่ขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า กฎหมายนิรโทษกรรมเจอกระแสต่อต้านของมวลชนที่มากกว่าที่ประเมินไว้ เพราะการต่อต้านมิได้มาจากพรรคประชาธิปัตย์และพวกขวาจัดสลิ่มเท่านั้น แต่ยังได้รับการขานรับจากกระแสประชาสังคมและชนชั้นกลางทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัย กลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ ข้าราชการ กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ กลุ่มวิชาชีพบันเทิง เป็นต้น ความวิตกในสถานการณ์เช่นนี้ นำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ต้องยอมประนีประนอมกับแกนนำ นปช. นำมาสู่การที่ นปช.หันมาจัดชุมนุมคนเสื้อแดงเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวในประเด็นที่ว่า ร่างกฎหมายนี้จะทำลายระบบนิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทย โดยยินยอมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีข้อหาทุจริตต้องได้รับการนิรโทษกรรม แต่กระแสประชาสังคมไม่ได้ร่วมในการรณรงค์ประเด็นอื่น เช่น การนิรโทษกรรมให้กับฆาตกรที่สังหารหมู่ประชาชน การเว้นไม่นิรโทษกรรมเหยื่อมาตรา 112 เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนว่า ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็น่าจะไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะช่วยนักโทษการเมือง เป็นสำคัญตามที่อ้าง เพราะการถอยสุดซอย หมายถึงว่า หลักการในร่างเดิมของวรชัย เหมะ ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก ในประเด็นที่จะให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ทางการ เมืองและต้องติดอยู่ในคุก ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาด้วย และถ้ารัฐบาลยืนยันไม่ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม อนาคตของนักโทษการเมืองในประเทศไทยคงมืดมน
การถอยทางการเมืองแบบสุดซอยครั้งนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะอันไม่จริงใจของพรรคเพื่อไทยที่คงจะทำให้ขบวนการ ประชาธิปไตยไว้ใจฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ยากมากขึ้น ตั้งแต่การที่พรรคเพื่อไทยผลักดันนิรโทษกรรมฆาตกรมือเปื้อนเลือด โดยยอมแลกกับการแตกหักกับคนเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตย แต่ในที่สุดเมื่อไปต่อไม่ได้ ก็ยอมจำนนต่อฝ่ายตรงข้าม ปล่อยชะตากรรมของพี่น้องประชาชนไปไว้ในอุ้งมือมารของวุฒิสภา และยังคงไม่มีมาตรการที่จะช่วยนักโทษการเมืองคนเสื้อแดงอย่างจริงจังเช่นนี้ ขบวนการประชาธิปไตยคงต้องประเมินใหม่ทั้งหมด ในการที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในโอกาสต่อไปข้างหน้า แต่ความอับจนของสังคมไทยอยู่ที่ว่า ถ้าหากจะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแล้ว พรรคฝ่ายตรงข้ามคือ พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับยิ่งไร้ความชอบธรรมมากยิ่งกว่า
สถานการณ์จนถึงวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน นี้ ทั้งฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มฝ่ายขวาสลิ่ม ต่างก็ยกระดับการต่อสู้ จากการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมไปสู่การขับไล่รัฐบาล โดยกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกลุ่มกองทัพธรรม และกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เสนอให้ขับไล่ทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขับไล่รัฐสภา โดยให้กองทัพยึดอำนาจ ประสานสอดคล้องกับการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ได้ยกระดับการต่อสู้ ด้วยการเสนออารยะขัดขืนให้มีการนัดหยุดงานและหยุดเรียนทั่วประเทศ เพื่อขับไล่รัฐบาล และนายสุเทพกับ ส.ส.อีก 8 คนก็จะลาออกมานำการประท้วงเต็มตัว หวังจะโค่น "ระบอบทักษิณ" ให้สำเร็จ
บทความนี้จึงขอจบด้วยเรื่องขำขันที่เอามาจากเฟซบุ๊ก ดังนี้
คุณนก : คุณว่า ประธานาธิบดีโอบามาบริหารประเทศเป็นยังไง
ฝรั่ง : โอแย่มาก เอาแต่โกหก หลอกประชาชนไปวันๆ ทำงานไม่เป็น ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว
คุณ นก : ถ้าเป็นอย่างนี้ คุณก็จัดการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล เสนอต่อศาลสูงอเมริกาให้ยุบพรรค ระงับการบริหารของโอบามา หรือเรียกร้องให้กองทัพอเมริกายึดอำนาจ โค่นโอบามา แล้วเอาคนดีมาบริหารประเทศแทน
ฝรั่ง : นี่คุณยังสติดีอยู่หรือเปล่า หลักการมันมีอยู่แล้ว อีกสองปีก็เลือกตั้งใหม่ มีประเทศไหนในโลกเขาแก้ปัญหากันแบบที่คุณว่า
คุณนก : มีอยู่ประเทศหนึ่งค่ะ!!!!


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 438 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น