แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สุรพศ ทวีศักดิ์: เสียงแห่งมโนธรรมทางสังคม

ที่มา ประชาไท


ปรากฏการณ์ที่อธิการบดีธรรมศาสตร์,จุฬาฯ และอีกหลายมหาวิทยาลัยออกมา “เป่านกหวีด” รวมพลังอาจารย์ นักศึกษา ปัญญาชนในรั่วมหาวิทยาลัยต้านร่าง “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ของรัฐบาลเพื่อไทยนั้น ว่าโดยเป้าหมายเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป เพราะไม่ชอบธรรมเนื่องจากเป็นการนิรโทษกรรมแก่คดีทุจริตคอร์รัปชัน และแก่ผู้มีอำนาจสั่งการและเจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชนนั้น ผมเห็นด้วย
แต่มีข้อสังเกตว่า การให้สัมภาษณ์ของอธิการบดีธรรมศาสตร์, จุฬาฯ และหลายมหาวิทยาลัยดูจะเน้นไปที่ประเด็นคัดค้านการ “ล้างผิดคนโกง” โดยไม่สื่อสารต่อสาธารณะให้ประจักษ์ชัดว่าคัดค้าน “ฆาตกรที่สั่งการและสังหารประชาชน” ด้วย ไม่สื่อสารให้ชัดว่าที่ว่า “เหมาเข่ง” นั้นก็ไม่ได้เหมาเข่งจริง เพราะไม่รวมนักโทษการเมืองคดี 112 อยู่ในเข่งด้วย ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือแสดงถึง “ความไม่เสมอภาคทางกฎหมาย” อันไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐอย่างจะแจ้ง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำ พูดตามๆ กันคือ “มหาวิทยาลัยสอนให้นักศึกษามีจริยธรรมซื่อสัตย์สุจริต หากนิรโทษกรรมให้คนโกง การสอนให้นักศึกษาซื่อสัตย์ ก็ไม่มีความหมาย เพราะสังคมขาดตัวอย่างที่ดี คนโกงไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย” แต่ไม่พูดต่อไปเลยว่า “มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สอนประชาธิปไตยให้นักศึกษา สร้างค่านิยมให้นักศึกษาเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นแสดงออกซึ่งสิทธิทางการ เมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย หากปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่ใช้กำลังสังหารประชาชนไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย เท่ากับมหาวิทยาลัยทรยศต่อหลักการที่ตนเองสอน”
หากเปรียบเทียบข้อเรียกร้องของมหาวิทยาลัยต่างๆ กับข้อเรียกร้องของ “นิติราษฎร์” ที่สื่อสารต่อสาธารณะชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแก่คดีทุจริต และแก่ผู้มีอำนาจสั่งการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐที่สังหารประชาชน และแกนนำทั้งสองฝ่าย อีกทั้งชี้ชัดว่า “พ.ร.บ.ฉบับเหมาเข่ง” ก็ไม่ได้เหมาเข่งจริงเพราะไม่มีนักโทษ 112 อยู่ด้วย ทำให้เกิดคำถามว่า เสียงของมวลชนแห่งมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้น ใช่ “เสียงแห่งมโนธรรมทางสังคมที่เที่ยงตรง” จริงหรือไม่? หรือออกจะมีโทนเสียงค่อนไปทางวาระต้านการ “ล้างผิดคนโกง” ของประชาธิปัตย์เท่านั้นหรือไม่?
ทำให้เห็นภาพความซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์” ตามการวิเคราะห์ ที่ว่า
...จะ สังเกตว่าพันธมิตรเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นสูง และคนชั้นกลางในเมืองชัดเจน ตั้งแต่ "ราชนิกุล" นักธุรกิจ อาจารย์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง บุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ "ดารา" และเหล่า "เซเลบ" สื่อและองค์กรสื่อบางส่วนเป็นต้น
ทั้งหมดล้วนมีสถานะ ยศถาบรรดาศักดิ์ มากด้วยทรัพย์และสติปัญญา
แน่นอนย่อมแตกต่างอย่างลิบลับกับอีกฟากที่ถูกเหยียดเป็นเพียง "ควายแดง" "ทาส" หรือ "ขี้ข้า"
สถานภาพ ที่เพียบพร้อมนี้ ถือเป็นแต้มต่อสำคัญ ที่ทำให้การขับเคลื่อนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปัตย์ เสียงดัง และมีน้ำหนักที่พร้อมจะดำเนินการตามคำพาดหัวของหนังสือพิมพ์บางฉบับ "ไล่อีโง่"
(มติชนสุดสัปดาห์ 8-14 พ.ย. น.10)
พวกที่เหยียดอีกฝ่ายว่าเป็น “ควายแดง” “ทาส” หรือ “ขี้ข้า” ทักษิณ ฯลฯ นั้น มักพูดซ้ำๆ บนสมมติฐานที่ว่า “ประชาธิปไตยของเสื้อแดงนั้นมีความหมายแค่เป็นการเลือกตั้งเท่านั้น จากนั้นฝ่ายชนะการเลือกตั้งจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องตรวจสอบ” แต่ปรากฏการณ์ต้าน “นิรโทษกรรม(ไม่)เหมาเข่ง” แสดงให้เห็นชัดว่าคนเสื้อแดงอย่างกลุ่ม บก.ลายจุดก็ต้านด้วย นักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดง เช่นสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ ล้วนแต่แสดงความเห็นคัดค้านทั้งสิ้น รวมทั้งแกนนำ นปช.และกลุ่มญาติคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตด้วย จึงไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยของเสื้อแดงเป็นแค่การเลือกตั้งเท่านั้น เพียงแต่พวกเขายืนยันว่าการเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของ ประชาธิปไตย
ผิดกับบนเวทีของประชาธิปัตย์ ที่คนมีการศึกษาดี หรืออยู่ในกลุ่มคน “เสียงส่วนน้อยที่ฉลาดกว่า (?)”  ตะโกนใส่ไมโครโฟนว่า “ชื่อ มหาวิทยาลัยของผมเป็นชื่อพระราชทาน ผมมาวันนี้เพื่อปกป้องพระองค์ท่าน จะไม่ยอมให้รัฐบาลชั่วๆ นำกฎหมายชั่วๆ นี้ไปให้ถึงพระองค์ท่านได้ลงพระปรมาภิไธย” โดยที่คนมีการศึกษาดีซึ่ง นิยามตนเองว่าเป็น “ผู้ฉลาดกว่า” ไม่เป็นทาสหรือขี้ข้าใคร ก็ไม่เคยปกป้อง “พระองค์ท่าน” จากการที่อีกฝ่ายนำคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐบาลคณะรัฐประหารไปให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามนักวิชาการที่เห็นใจเสื้อแดง ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นขี้ข้าทักษิณต่างหาก ที่ทั้งวิจารณ์ทักษิณและรัฐบาลเพื่อไทยด้วย ทั้งยืนยันหลักการว่า สถาบันกษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามพระราชสัตยาธิษฐาน ของรัชกาลที่ 7 ที่ทรงยืนยันว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ทรงลงพระ ปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารนำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงลง
เสียงแห่ง “มโนธรรมทางสังคม” ของนักวิชาการ ปัญญาชน จึงต้องยืนอยู่บนหลักการ ต้องวิพากษ์ทุกฝ่ายที่ทำผิดหลักการ ไม่ใช่มุ่งวิพากษ์แต่ฝ่ายนักการเมืองเท่านั้น
ผมเองไม่อยากรื้อฟื้นว่า อธิการบดีที่ออกมาต้าน “(ไม่)เหมาเข่ง” ครั้งนี้ เข้าไปรายงานตัวกับคณะรัฐประหาร 19 กันยายนอย่างนอบน้อมกว่า เข้าไปฟังคำชี้แจงของตัวแทนรัฐบาลเพื่อไทยขณะนี้อย่างไร ใครบ้างที่เคยไปเป็น “เนติบริกร” ของคณะรัฐประหาร เพราะ เป็นเรื่องที่ประจักษ์ในทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า อาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชนที่เข้าไปร่วมเดินต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคราวนี้ น่าจะมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง อาจไม่ได้เห็นด้วยกับอธิการบดีที่เน้นประเด็น “ล้างผิดคนโกง” เป็นพิเศษ
แต่ข้อพิสูจน์ว่า อาจารย์ นักวิชาการ ปัญญาชนเหล่านั้น (ซึ่งหลายคนนิยามตนเองว่าไม่เลือก “สี” ใดๆทั้งนั้น) ได้ยืนยันว่า 1 เสียงที่ตนแสดงออกเป็นเสียงแห่ง “มโนธรรมทางสังคม” ที่เที่ยงตรงหรือไม่ ต้องดูว่าพวกเขาจะแสดงออกอย่างไรหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป นั่นคือพวกเขาจะส่งเสียงเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษ 112 หรือไม่? หากไม่ ก็เท่ากับว่า พวกเขาเป็นเพียงเสียงของ “พลังมวลชนนกหวีด” ที่ออกมาแสดงพลังตามเสียง “เป่านักหวีด” ต้านคนโกงของผู้บริหารมหาวิทยาลัยของตนเท่านั้น


หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (16-22 พ.ย.2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น