แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ลิขิต ธีรเวคิน: ทางออกของสังคมไทยที่จะกลับไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

ที่มา ประชาไท


ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีอยู่ในขณะนี้ในสังคมไทย ดำเนินอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ที่น่าเป็นห่วงคือการไม่สามารถจะหาข้อยุติในความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การนิรโทษกรรมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการรณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เพื่อจะเป็นหนทางในการนำไปสู่ความปรองดองในสังคม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจาก ขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่มีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องธำรงไว้
ประเด็นทางการเมืองสองประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถหาข้อ ยุติได้โดยง่าย และถ้าปล่อยให้ลากยาวต่อไปถ้าเกิดช่องว่างทางอำนาจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจนทุก ฝ่ายไม่มีความยับยั้งชั่งใจอีกต่อไป อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง นำไปสูการสั่นคลอนของสังคมจนเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด
เพื่อจะให้เห็นภาพครบถ้วน เข้าใจที่มาที่ไปของความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้น และเพื่อชี้ให้เห็นประเด็นหลักๆ ที่จะต้องมีการพินิจพิเคราะห์หรือพิจารณาอย่างถ่องแท้ และเพื่อชี้ให้เห็นถึงทางออกที่น่าจะดำเนินการ จะขอให้ข้อสังเกตดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ที่มาของความขัดแย้งในสังคม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทั้งผู้ร่างและสังคมไทย หรือฝ่ายธงเขียวขณะนั้นต่างมุ่งมั่นที่จะให้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นศักราชใหม่ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ ร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่า
งๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินอีก 23 คน รวมทั้งสิ้น 99 คน หรือที่เรียกว่า สสร.ชุดแรก จุดประสงค์ของการร่างรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นก็เพื่อให้มีฝ่ายบริหารที่มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยให้นายกรัฐมนตรีแสดงความสามารถความเป็นผู้นำทางการเมืองได้ มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน การจัดระบบการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจทั้งสมาชิกสภาผผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ฝ่ายบริหาร และองค์กรอิสระ ฯลฯ มีการพูดถึงการควบคุมการใช้อำนาจซึ่งผสมผสานระหว่างระบบรัฐสภาอังกฤษระบบ ประธานาธิบดีอเมริกา รวมทั้งองค์กรค่างๆ เพื่อประกันว่าจะไม่มีการละเมิดอำนาจ เช่น การบะเมิดหลักนิติธรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งการโกงการเลือกตั้ง เป็นต้น และสุดท้ายคือกรกล่าวถึงการเมืองภาคประชาชนซึ่งมีรายละเอียดมากมาย
สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการละเมิดโดยผู้อยู่ในตำแหน่งอำนาจ  ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างซึ่งขัดต่อประชาธิปไตย เช่น เรื่องการใช้เงินซื้อเสียง การแทรกแซงองค์กรอิสระ การอยูเบื้องหลังการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดคือ การละเมิดกฎหมายและการกระทำที่ขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่สำคัญที่สุดคือถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อกลุ่มผู้ซึ่งเสียอำนาจและเสียผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ในขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้อยูในตำแหน่งอำนาจก็ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 และหลักการประชาธิปไตย รวมทั้งบางส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งในแง่กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี แต่การแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารก็ไม่สามารถจะสร้างความชอบธรรมขึ้นมาได้ และที่สำคัญที่สุดคือการใช้หลักนิติกลวิธี (the rule by law) แทนหลักนิติธรรม (the rule of law) ด้วยการออกกฎหมายย้อนหลังยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหาร ที่สำคัญที่สุดคือ ตั้งกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อกล่าวหา ดำเนินคดีผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ขาดความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) อันนำไปสูสิ่งสำคัญที่สุดคือขาดธรรมแห่งอำนาจ (moral authority) โดยใช้กฎหมาย (legality) ในลักษณะของ the rule by law และอำนาจอันเกิดจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร นอกเหนือจากนั้นการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายประการ เริ่มตั้งแต่ สสร. และการไม่ครบองค์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ที่สำคัญที่สุดก็คือการลงประชามติที่ไม่สง่างามซึ่งจะมีการพูดถึงต่อไป
ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมานี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติการทางการเมืองของ สองกลุ่มสองขั้วการเมือง คือ กลุ่มที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกคุกคามจากกลุ่มผู้อยู่ในอำนาจที่ถูกล้มจาก การรัฐประหารโดยใช้เสื้อสีหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มก็ใช้เสื้อคนละสี ต่างฝ่ายต่างกระทำการที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น การยึดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดราชประสงค์ โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถอ้างความถูกต้องตามกฎหมายและความชอบธรรมทางการเมือง ได้ และเมื่อต่างคนต่างทำผิดกฎหมายก็ได้นำไปสู่ อนาธิปไตย (anarchy) คนที่ทำผิดด้วยกันจะถือว่าทำถูกต้องไม่ได้ (Two wrongs do not make one right) และนี่คือข้อเท็จจริงที่นำไปสูความขัดแย้งและแตกแยกในสังคมจนตราบปัจจุบัน โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถอ้างความชอบธรรมแห่งอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ฝ่ายที่เสียหายโดยการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้นย่อมอยู่ในฐานะที่จะ อ้างเหตุกาณณ์ดังกล่าวเพื่อการถกเถียงอภิปรายของตนได้ โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ฟังที่เป็นกลาง
ประการที่สอง ในกรณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อ ให้สังคมสามารถกลับไปสู่สภาพปกติ โดยหวังว่าจะมีการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบต่อเนื่องและยั่งยืน และสามารถจะทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน อยู่กันอย่างฉันท์มิตรเหมือนเดิม นำไปสู่ความปรองดองนั้น โดยยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าเมื่อมีการผ่านรัฐธรรมนูญโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้วทึกอย่างก็ น่าจะจบลงด้วยดี ประเด็นในการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกสนแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีลักษณะคล้ายกับ ฝากความหวังไว้ว่าเมื่อทุกอย่างผ่านการออกเป็นพระราชกำหนด (ซึ่งยังเป็นประเด็นว่าจะมีสิทธิออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184) รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นน่าจะดำเนินไปตามครรลองและทุกอย่างก็จะยุติไป ได้ด้วยดี ความเชื่อดังกล่าวนี้จะต้องมีการคิดเป็นคำรบสอง โอกาสที่จะยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โอกาสในการให้มีการออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และโอกาสเกิดความปรองดองอย่างสำเร็จรูปและอัตโนมัตนั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย ที่สำคัญที่สุดในท่ามกลางความหวั่นวิตกจากฝ่ายที่ถูกมองว่าถูกคุกคาม ความไม่สามารถยอมรับข้อเท็จจริงและความเป็นจริงว่าต่างฝ่ายต่างขาดความชอบ ธรรมและธรรมแห่งอำนาจ การที่แต่ละฝ่ายไม่สามรารถจะใช้เหตุผล หากใช้อารมณ์ ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งประกอบกับการพยายามเอาชนะคะคานกัน ย่อมทำให้เป็นไปได้ยากที่จะสามารถหาข้อยุติในความขัดแย้งในสังคมดังที่กล่าว มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหลักๆ ที่ยกมาให้เห็น
คำถามที่จะต้องถามคือ ทำไมต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าจะวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัยและอย่างวางตัวเป็นกลางก็ต้องกล่าวว่า โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีฐานมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และมีการปรับปรุงแกไขให้รัดกุม และดีกว่าปี 2540 ในหลายส่วนด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายและการเริ่มต้นการถอดถอนด้วยจำนวนผู้ เข้าชื่อกันน้อยลง ที่สำคัญคือ เปิดโอกาสเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ด้วย ซึ่งไม่มีในปี 2540 นอกเหนือจากนั้นยังมีการตั้งสภาพัฒนาการเมืองที่ดำเนินการโดยอิสระและมี ลักษณะเป็นองค์การมหาชนรวมตลอดทั้งการมหาชนดำเนินโดยอิสระเพื่อคุ้มครองผู้ บริโภค หรือการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย หรือกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ที่สำคัญในสิทธิเสรีภาพและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันได้แก่หมวด 3 และหมวด 5 นั้นก็ขยายขอบเขตกว้างกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 แต่สิ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน นอกเหนือจากเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ขอกล่าวถึง ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และขาดความชอบธรรม
ก) ในขณะรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งตามหลักการ ปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมตลอดทั้งการแต่งตั้ง สสร. นั้นก็ยังมัปัญหาหลายประการที่ยังไม่มีการตอบคำถามให้คลายข้องใจ เมื่อการเริ่มต้นขาดความถูกต้องตามกฎหมาย ยกเว้นแต่หลักนิติกลวิธี (the rule by law) คือการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ความชอบธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเป็นประเด็นที่จะเป็นปัญหาคาใจของคนจำนวนไม่น้อยเพราะมีที่มาที่ขัดกับ หลักการปกครองแบบประชาธิปไตย
ข) การลงประชามติซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี แต่คงปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า การลงประชามตินั้นมิได้เป็นไปตามครรลองของระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีการแจกร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมากให้แก่ประชาชน ถึงแม้จะพยายามให้ข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่านจบทั้งฉบับ  นอกเหนือจากนั้นก็ไม่เคยมีข้อประกันว่าเมื่ออ่านแล้วจะเข้าใจ ที่สำคัญ เวลาอันสั้นที่จะให้ลงประชามติหรือทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากสวิสเซอร์แลนด์ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ทำให้เกิดคำถามที่ว่าการลงประชามติดังกล่าวนั้นประชาชนเข้าใจถึงเนื้อหาและ หลักการอย่างถูกต้องมากน้อยเพียงใด นอกเหนือจากนั้น จำนวนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนที่มากประมาณ 40% รัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมีเสียงข้างมากอย่างท่วมท้นอย่างน้อย 70-80% การมีเสียงเพียงประมาณ 60% นั้นทำให้เห็นชัดว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 40% ซึ่งบ่งบอกถึงความแตกแยกของสังคมอย่างเห็นได้ชัด นอกเหนือจากนั้นยังมีการใช้อำนาจรัฐเพื่อประกันถึงการใช้สิทธิเสียงของ ประชาชนให้รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งเป็นการลงประชามติครั้งแรกของสังคมไทย แต่ที่สำคัญที่สุด มีการเสนอเป็นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ผ่านการลงประชามติ ผู้อยู่ในอำนาจซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหารมีอำนาจจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ ซึ่งหมายถึงแม้กระทั่งฉบับ 20 มาตราสมัยจอมพลสฤษดิ์ก็สามารถจะประกาศใช้ได้ เท่ากับเป็นการปิดทางเลือกอื่นนอกจากต้องรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และมีการพยายามจูงใจด้วยการกล่าวว่า ให้รับไว้ก่อนแล้วแก้ไขภายหลัง ผลที่ออกมาก็คือ มีลักษณะเป็นสภาวะจำยอมที่คนจำนวนไม่น้อยต้องลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ความชอบธรรมของการลงประชามติครั้งนี้จึงเป็นประเด็นปัญหา
ค) ประเด็นที่เป็นปัญหาขัดต่อหลักการปกครองประชาธิปไตย หลักนิติธรรม หรือตามหลักกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้น ก็คือการใส่มาตรา 309 ไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อันเป็นมาตราสุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2550 มี 308 มาตรา แต่มาตรา 309 กลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญเหนือรัฐธรรมนูญ มีการให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่ขัดหลักรัฐธรรมนูญ ทั้งในปี 2540 และ 2550 เอง โดยใส่เป็นข้อยกเว้นให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศออกมา ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่เด่นชัดคือ เรื่องคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) เพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมาย การใส่มาตรา 309 เท่ากับเป็นการนำสิ่งซึ่งผิดหลักนิติธรรม และขัดต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกฎหมายรองรับ โดยข้อความที่ว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามาตรา 309 ซึ่งให้ความชอบธรรมกับการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น กลไกรองรับนั้น ทำให้ความสง่างามของรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง ซึ่งคงจำได้ว่าในยุคที่มีการใช้คำสั่งคณะปฏิวัติมาบังคับเป็นกฎหมายทั้งๆ ที่พ้นจากการปฏิวัติมาแล้ว ได้มีการพยายามแก้ไขให้กลายเป็นกฎหมายในลักษณะปกติด้วยเหตุจากการรังเกียจ คำว่าคำสั่งคณะปฏิวัติ แต่มาตรา 309 เป็นการประกาศมาให้เห็นชัดว่าเป็นมาตรการที่ทำนอกระบบรัฐธรรมนูญ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือโดยขัดหลักนิติธรรม เท่ากับเป็นการประกาศอย่างโจ่งแจ้งถึงการรับสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้เป็นสิ่ง ที่ถูกต้องในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นของที่มีความศักดิ์สิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ แล้ว ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องมีการแก้ไข กรณีของผู้กระทำความผิดย่อมได้รับผิดตากบิลเมือง ถ้าจะต้องมีการยึดทรัพย์ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย แต่ต้องดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายที่มีอยู่ มิใช่กฎหมายพิเศษเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งขัดต่อหลักการออกกฎหมายทั่วไปซึ่งจะต้องมีลักษณะเป็นสากล (universalistic) ประเด็นที่กล่าวมานี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องหาทางออกอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็น ที่มัวหมองและมีมลทินต่อรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะมีปัญหาที่มาที่ไปแล้วยังผนวกกับปัญหาที่ทำให้เกิดความมัวหมอง และมีมลทินตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
ประการที่สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เป็นพื้นฐานของการปกครองที่คนทุกฝ่ายยอม รับนั้น อาจจะมองได้จากสองมุมมอง มุมมองที่หนึ่งคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเมื่อร่างออกมาแล้ว คนต้องปฏิบัติตาม ดูประหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นยาสารพัดโรค สามารถจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ด้วยการตราเป็นกฎหมายโดยจะมีสภาพบังคับ แต่มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า “เราไม่สามารถบังคับพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการออกกฎหมายแต่โดยอย่างเดียว” (You cannot legislate human behaviors) ความเชื่อที่ว่าเมื่อกฎหมายเป็นเช่นไรคนจะปฏิบัติตามนั้นไม่ใช่จะใช้ได้เสมอ ไป เพราะคนอาจละเมิดกฎหมายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐ ธรรมนูญ อีกส่วนหนึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงการสะท้อนถึงความเป็นจริง วัฒนธรรมทางการเมืองและการตกลงของชุมชนที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ ดังนั้น ถ้าคนต้องการอยู่ร่วมกันโดยสันติ มีการพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล แบ่งผลประโยชน์ลงตัว จากนั้นเมื่อตกลงเรียบร้อยแล้วจึงร่างเป็นกฎหมายมาเพื่อเป็นหลักการธำรงไว้ ซึ่งปณิธานดังกล่าว รัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน และทุกฝ่ายพร้อมที่จะปกปักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้เพราะเป็นเรื่องที่ตกลงกัน ไว้แล้ว และในกรณีที่สถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องมีการแก้ไขตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ไว้แล้ว ดังนั้น ในส่วนที่จะร่างรัฐธรรมนูญจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายมีความเต็มใจและ ยินดี จะพูดคุยโดยใช้เหตุใช้ผล หาทางออกโดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เพื่อจะหาระบบการเมืองการปกครองที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่าง ยุติธรรม ที่สำคัญที่สุดต้องมีการประกันถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และเมื่อทั้งสองส่วนมีอยู่ครบแล้วก็น่าจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติ ในลักษณะของปรองดองและภราดรภาพ แต่ถ้าหากไม่สามารถจะตกลงหลักการใหญ่ของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันและมีความพอใจต่อระเบียบการเมืองที่ตนอาศัย อยู่นั้นก็ยากที่จะหาข้อยุติในความขัดแย้งได้
มองเตสกิเออได้กล่าวไว้ว่า “สิทธิเสรีภาพต้องมาก่อนความเสมอภาค และความเสมอภาคต้องมาก่อนภราดรภาพ” (Liberte après equalite, equalite après fraternite) ซึ่งหมายความว่า รัฐธรรมนูญที่จะตกลงจะร่างขึ้นให้เป็นที่ยอมรับจะต้องตกลงในหลักการใหญ่โดย แก้ความขัดแย้งต่างๆ จนเป็นที่ลงตัว และให้สิทธิเสรีภาพกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ส่วนอื่น หลักก็คือ จะต้องมีสิทธิเสรีภาพก่อนจึงจะนำไปสู่ความเสมอภาค ถ้าปราศจากสิทธิเสรีภาพย่อมจะไม่มีความเสมอภาค และเมื่อสังคมขาดความเสมอภาค สังคมก็จะขาดความเป็นหนึ่งเดียว ความปรองดองและภารดรภาพย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
มุมมองที่สองคือ การหาทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สานเสวนา (dialogue and deliberation) พยายามหาทางพูดคุยกันเพื่อเห็นพ้องในเรื่องใหญ่ๆ จึงจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับ การใช้วิธีการที่ต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะคะคานด้วยเหลี่ยมคูต่างๆ ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ด้วยกลเม็ดทางการเมือง ด้วยระเบียบวาระซ่อนเร้นในการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สถานะทางสังคม และความเชื่อในอุดมการณ์ ย่อมยากที่จะหาข้อยุติได้ สังคมย่อมยากที่จะมีความสงบสุขและความปรองดองและภราดรภาพ เงื่อนไขต่างๆ ที่สังคมจะอยู่ร่วมกันโดยสันติ มีความปรองดองและภราดรภาพ จะต้องบรรลุถึงก่อนที่จะออกมาเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประกันสภาวะดังกล่าวให้ อยู่มั่นคงต่อไป
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวความว่า “คนไทยและสังคมไทยรักสงบ ไม่ชอบประจันหน้า และประสานประโยชน์” ในปัจจุบันความรักสงบแปรเปลี่ยนไป การประจันหน้ากำลังเกิดขึ้น การประสานประโยชน์ไม่สามารถทำได้โดยลงตัว จึงไม่มีความปรองดอง อาจต้องนำข้อคิดดังกล่าวมาพิจารณา การที่จะทำให้คนรักสงบจะต้องเริ่มจากการยอมรับและการเผชิญกับความเป็นจริง ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่สภาวะที่บ้านเมืองสงบสุขและอยู่กันอย่างฉันท์พี่น้อง สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น