31 ตุลาคม 2465 พระราชสมภพ
25 เมษายน 2484 ขึ้นครองราชย์ครั้งแรก15 มิถุนายน 2495 กษัตริย์สีหนุในขณะนั้นได้รณรงค์เรียกร้องให้ฝรั่งเศสคืนอำนาจปกครองแก่กัมพูชาแต่ไม่สำเร็จ
มิถุนายน 2495 เสด็จออกจากพนมเปญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยื่นคำขาดกับฝรั่งเศสให้คืนเอกราชที่แท้จริง มิฉะนั้นกัมพูชาจะถอนตัวออกจากสหพันธ์ฝรั่งเศส จากการกดดันของนานาชาติ ในที่สุดฝรั่งเศสรับปากให้เอกราชแก่กัมพูชา สีหนุจึงสิ้นสุดการลี้ภัยในไทยประมาณ 5 เดือน
8 พฤศจิกายน 2495 เสด็จกลับกรุงพนมเปญพร้อมกับปิดฉากอาณานิคมฝรั่งเศสในกัมพูชาที่นานกว่า 90 ปี
15-21 ธันวาคม 2496 เสด็จเยือนไทยเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า “ทรงเป็นหนุ่มหล่อคล้ายดารา เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวไทยได้ไม่แพ้สมเด็จพระราชาธิบดี จิ๊กมี เคเซอนัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานทีเดียว”
2 มีนาคม 2498 สละราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดา เพื่อทรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา
2 มี.ค. 2498-5 มิ.ย. 2503 ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
5 มิ.ย. 2503-18 มี.ค. 2513 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ
มีนาคม 2513 นายพลลอนนอลโค่นล้มอำนาจของพระองค์ ในขณะเสด็จเยือนกรุงมอสโคว์ รัสเซีย จนต้องลี้ภัยในจีนอยู่นานปี
ปี 2518-2521 เข้าป่าเข้าร่วมกับฝ่ายเขมรแดงเพื่อต่อต้านนายพลลอนนอลในยุคที่เขมรแดงปกครอง
19 ส.ค. 2518-2 เม.ย 2519 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แต่ไร้อำนาจที่แท้จริง ระบอบพลพตดำเนินการซ้ายสุดกู่ ประมาณการว่ามีชาวกัมพูชาสิ้นชีวิตในทุ่งสังหารเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีลูกชาย 5 คนและหลาน 14 คนของสีหนุรวมอยู่ด้วย ความวุ่นวายของการเมืองตามมาด้วยทหารเวียดนาม 2 แสนนายยึดครองกัมพูชาและสถาปนาระบอบเฮงสัมรินขึ้น ชาวกัมพูชาลี้ภัยทะลักเข้าแดนไทย ทำให้ประเทศไทยในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2534) นายกรัฐมนตรีที่ชูคำขวัญ "แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า" แสดงบทบาทการไกล่เกลี่ยให้เขมรสี่ฝ่ายปรองดอง
มิถุนายน 2534 มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันที่กรุงเทพฯ จากนั้นกองกำลังนานาชาติปกครองกัมพูชาชั่วคราว จัดการเลือกตั้งและกำเนิดกัมพูชาใหม่ ตอนนั้นนอกจากร้านค้าเปิดใหม่แล้ว เด็กทารกเพศชายเกิดใหม่หลายคนก็ได้รับการตั้งชื่อว่า 'สันติเพียบ' ซึ่งแปลว่า ‘สันติภาพ’ ด้วย
พ.ศ. 2535-2536 องค์การสหประชาชาติเข้าไปจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ครั้งนั้นได้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ และสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน โดยต่อมาฮุนเซนก่อรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541เป็นต้นมา
14 พ.ย. 2534-24 ก.ย. 2536 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ
24 กันยายน 2536 ครองราชย์ครั้งที่ 2
7 ตุลาคม 2547 สละราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระราชโอรส และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น "พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติกัมพูชา"
15 ตุลาคม 2555 เสด็จสวรรคต ด้วยพระอาการพระหทัยวาย ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในพระอันตะ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมพระชนมายุ 89 พรรษา
4 ก.พ. 2556 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยพระราชพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.
บทบาทและสีสันอันเกิดจากกิจกรรมทางการเมืองของกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของ ชาวกัมพูชา อาจสรุปได้ชัดเจนที่สุดจากคำกล่าวของ ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในวันที่พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุสิ้นพระชนม์ ว่า “จะดีหรือชั่ว กษัตริย์สีหนุเล่นการเมืองแบบ "เปิดเผย" ยอมสละราชบัลลังค์เพื่อเข้าสู่วิถีทางทางการเมือง หรือเมื่อรู้ตัวว่าประชวรมาก ก็ยอมหลีกทางให้พระโอรสสืบราชสมบัติแทน (สีหมุนี) เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความจงรักภักดีแค่ตัวบุคคล แต่ให้เกิดกับสถาบัน”
หมายเหตุ
ข้อมูลและเกร็ดข่าวบางส่วนจากผู้สื่อข่าวอาวุโส สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงพนมเปญในช่วงเขมรสามฝ่าย อ่านเพิ่มเติมที่
สีหนุ..กษัตริย์หลากสีสัน ในสายตาสื่อ
http://www.mediainsideout.net/world/2012/10/63
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น