แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงาน: เมื่อนักโทษการเมืองร่วมฉลองวันชาติ (24 มิถุนา)

ที่มา ประชาไท






ก่อนจะมีงานรำลึกวันชาติในเย็นวันนี้ (23 มิ.ย.) จนถึงเช้ามืดวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) ซึ่งเป็นย่ำรุ่งของการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล นำโดย สุดา รังกุพันธุ์ หรือที่ใครๆ เรียก อาจารย์หวาน และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงอิสระอื่นๆ อีกราว 40 คน ได้ร่วมกันฉลองวันชาติกับนักโทษการเมือง ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
สุวรรณา ตาลเหล็ก จากกลุ่ม 24 มิถุนาฯ กล่าวว่า เนื่องจากนักโทษการเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่เกือบ 20 คน (ไม่รวมคดี มาตรา 112) นั้นไม่มีโอกาสได้ร่วมเฉลิมฉลองวันชาติดั้งเดิมของประเทศไทยกับคนอื่นๆ พวกเขาจึงขนย้ายหมุดคณะราษฎรอันเบ้อเริ่ม (จำลอง) มาที่นี่และร่วมร้องเพลงชาติ เวอร์ชั่น 24 มิถุนา กับนักโทษการเมือง
นอจากนี้ยังมีการจัดเลี้ยงอาหารทั้งผัดไทยปู ก๋วยเตี๋ยวหมู ขนมหวาน ผลไม้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดงจากพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มีนบุรี ลาดกระบัง จันทบุรี รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ที่แวะเวียนสลับกันมาจัดทำอาหารให้นักโทษการเมือง นอกจากนี้ยังมีการเล่นดนตรีของวงไฟเย็นและเปิ้ล วารี ด้วย
อันที่จริง ประเพณีการเยี่ยมนักโทษเสื้อแดงนั้นมีมานาน ตั้งแต่มีการย้ายผู้ต้องขังคดีการเมืองแยกออกมาจากเรือนจำปกติ ตามเสียงเรียกร้องของหลายฝ่ายว่าการกระทำผิดจากแรงจูงใจทางการเมืองนั้นต่าง ออกไปจากการก่ออาชญากรรม เสียงสำคัญเสียงหนึ่งคือ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ประเพณีนี้น่าสนใจในแง่ที่จุดเริ่มต้น การจัดการ กระบวนการต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากประชาชนที่พยายามดูแลประชาชนด้วยกันเองหลังการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนพ.ค.53
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 หรือ ศปช. รายงานว่าช่วงต้นๆ ของการจับกุมคุมขังนั้นมีประชาชนถูกจับกุมถึงเกือบ 2,000 คน ช่วงนั้นเรียกว่าเป็นช่วงฝุ่นตลบที่ยังไม่มีใครช่วยเหลือใครได้ ส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนที่ต้องยกฟ้องไปก็มีหลายคดี เพราะเป็นเพียงผู้ผ่านทาง มีกระทั่งกรณีคนเร่ร่อนเก็บขยะที่ยังโดนจับกุมและอยู่ในเรือนจำนาน 6 เดือนก่อนศาลจะยกฟ้อง (อ่านที่ ยกฟ้องคดีคนเร่ร่อนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจำคุกกว่า 5 เดือน) จนกระทั่งผ่านมา 1 ปีหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมก็ยังพบว่ามีผู้ต้องขังทั่วประเทศอีกราว 130 กว่าคน ส่วนใหญ่จากข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จากนั้นจึงเหลือผู้ที่ถูกฟ้องคดีและต้องโทษนานนับปีที่จะถูกขังอยู่ที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เรือนจำคลองเปรม และเรือนจำประจำจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพยายามเผาศาลากลาง กระทั่งวันที่ 17 ม.ค.2555 จึงมีคำสั่งย้ายนักโทษจากการสลายการชุมนุมมารวมกันที่เรือนจำหลักสี่ ยกเว้นคดี มาตรา 112 ซึ่งในเรื่องนี้สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน ได้เคยท้วงติงไว้ว่า คดีมาตรา 112 ถือเป็นนักโทษทางความคิด เป็นการเมืองเสียยิ่งกว่าการเมือง


ตุ๋ย กัลยา
 
ตุ๋ย กัลยา เป็นหนึ่งในเสื้อแดงหลายๆ คนที่ตระเวนเยี่ยมเยียนนักโทษเป็นประจำ รวมทั้งจัดการสิ่งต่างๆ แม้แต่การซื้อหาหยูกยาให้นักโทษเล่าว่า เธอเริ่มเยี่ยมนักโทษตั้งแต่ก่อนที่สุรชัย แซ่ด่านจะโดนจับเมื่อ 21 ก.พ.54 และพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีความเป็นอยู่ในเรือนจำที่ยากลำบาก ครอบครัวก็ลำบาก ทำให้เกิดความสงสารและต้องมาเยี่ยมพวกเขาบ่อยครั้ง จนกระทั่งมีการย้ายผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งไปเรือนจำหลักสี่ก็ตามไปเยี่ยมทั้ง สองที่
“เราได้ข่าวว่าพวกนักโทษ(ที่หลักสี่)อดๆ อยากๆ ก็เลยขออนุญาตผู้คุมเอาอาหารมาเลี้ยง ตอนแรกๆ มาทุก จันทร์ อังคาร ศุกร์ ทำได้สักสามสี่เดือนก็ต้องลดลงเหลืออาทิตย์ละวัน เพราะมื้อนึงก็ต้องควักประมาณสี่พัน” กัลยากล่าว
ทั้งนี้ เรือนจำหลักสี่มีการคุมขังเหมือนผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วไป แต่อนุโลมในระเบียบบางประการ เช่น สามารถฝากอาหารได้ และไม่จำกัดเวลาเยี่ยม
จากนั้นกลุ่มแดงมีนบุรีที่เธอสังกัดจึงเริ่มช่วยกันระดมทุนเพื่อเป็นค่า ใช้จ่ายในการจัดซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร แต่สุดท้ายความช่วยเหลือก็ดูเหมือนเริ่มขยายวง
“มวลชนเขาก็ช่วยกันบริจาค แต่พอเห็นญาตินักโทษแล้ว เราก็เอาไม่ลง เลยบริจาคเป็นค่าเดินทางให้ญาตินักโทษไป” เจ้าตัวกล่าวพร้อมหัวเราะ
บรรยากาศลุ่มๆ ดอนๆ ของกลุ่มต่างๆ ที่สลับแวะเวียนกันมาที่เรือนจำมีให้เห็นไม่ขาดสาย รวมถึงกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลที่เข้ามาร่วมเลี้ยงอาหารและหลายๆ ครั้งก็จัดกิจกรรมเสวนาที่เรือนจำด้วย
อาจกล่าวได้ว่าในช่วง 2553 กับ 2554 ทั้งปีจะเป็นช่วงที่ผู้ต้องขังอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก และได้รับการประคับประคอง ดูแลทั้งการเยี่ยม อาหาร การเงินจากคนเสื้อแดงด้วยกันเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีฐานะ โดยไม่มีแกนนำ ไม่มีนักการเมืองเข้ามากให้การดูแลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม กระทั่งปลายปี 54 จึงมีการระดมทุนจากเสื้อแดงต่างประเทศและเริ่มมีความช่วยเหลือนักโทษและญาติ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ รายเดือน
ประสิทธิ์ พลอยทับทิม ผู้ต้องขังที่ถูกศาลลงโทษจำคุก 1 ปีกว่า จากการขัดขวางเทศกิจเข้ามารื้อเวทีกลุ่มพิราบขาว และถูกเทศกิจตีจนขาหัก เล่าว่า คดีของเขาเกิดเมื่อปี 50 แต่เพิ่งถูกตัดสินจำคุกเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเขาได้ขึ้นศาลเพียง 2-3 ครั้ง แล้วทนายก็ไม่ติดต่ออีก เขาจึงคิดว่าคดีสิ้นสุดแล้วและประกอบอาชีพ รปภ.ที่ชลบุรีต่อไปตามปกติจนกระทั่งถูกจับกุมและพิพากษาจำคุก 1 ปี
ประสิทธิ์พูดทั้งน้ำตาว่า ถ้าเขาไม่ได้มวลชนคอยมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และ “ป้าน้อย” ภรรยาสุรชัย แซ่ด่าน ที่มาเยี่ยมและคอยให้ความช่วยเหลือลูกสาวคนเดียวของเขาที่อุดร เขาคงคิดฆ่าตัวตายในคุกในนานแล้ว


ลูกสาวประสิทธิ์ พลอยทับทิม
“ถึงเราจะเป็นคนยากคนจน เราก็รู้เรื่อง เราสู้เรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 48 แล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีใครเหลียวแล ผมไม่โทษใคร แต่ผมน้อยใจ ที่ยังอยู่ได้ก็เพราะห่วงลูกสาว รับจ้างทำนาเลี้ยงยายคนเดียวอยู่ที่อุดร ค่าจ้างก็ได้แค่ข้าว 2 กิโล ลงมาเยี่ยมเดือนละครั้งก็ยากลำบาก มันเครียดมากๆ เพราะเรารู้สึกว่าไม่ได้ทำผิดอะไร คนอื่นมีญาติมาเยี่ยม แต่เราไม่มี ลูกก็ต้องมาลำบาก” ประสิทธิ์กล่าว
กัลยา ยังเล่าว่า นักโทษการเมืองหลายคนมีอาการซึมเศร้า โดยยกตัวอย่างพิทยา แน่นอุดร อดีตผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือประทัดยักษ์ อยู่ในเรือนจำมา 3 ปีกว่า ก่อนที่จะได้รับการพักโทษ ซึ่งเป็นมาตรการทั่วไปสำหรับนักโทษชั้นดี เขาเคยมีอาการซึมเศร้า เครียดจัดจนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง เพราะหลังจากเขาอยู่ในเรือนจำไม่นานพ่อก็เสียชีวิตลง จากนั้นไม่ถึง 2 เดือนแม่ก็เสียชีวิตตามไป ทำให้เพื่อนผู้ต้องขังต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
 “พวกเขาไมได้ทำผิดอะไร เขาเป็นแค่นักโทษการเมือง 3 ปีที่จับมาขังอย่างนี้พอหรือยัง ในเมื่อแกนนำก็ยังให้ประกันได้ ทำไมพวกนี้ถึงไม่ได้ เขาไม่มีพิษมีภัยอะไร มีแต่คนยากคนจนทั้งนั้น” กัลยากล่าวท้ายที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น