แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไต่สวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ "ณัฐวุฒิ" ขึ้นให้การด้วย

ที่มา go6tv


วันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้างและอาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อ 19 พ.ค.53
โดยอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก คือ พ.ต.ท.ธรนินทร์ คลังทอง ข้าราชการบำนาญ อดีตพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รมช.พาณิชย์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ต.ต.ปกรณ์ วะศินรัตน์ นายแพทย์ (สบ3) สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ และพ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ผกก.กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความโดยสรุปว่า วันที่ 1 ก.ย. 53 ได้รับคำสั่งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สืบสวนสอบสวนสำนวนคดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม และเริ่มสืบสวนสอบสวนตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 53  โดยสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถ่ายคลิปวิดีโอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 นาย นายสตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพอิสระ  พยานในวัดปทุมวนาราม 4-5 คน และทหารที่ประจำการณ์อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามในวันเกิดเหตุอีก 8 นาย นอกจากนี้ยังลงพื้นที่ไปตรวจบนรางรถไฟฟ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยา ศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ด้วย
พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบบนรางรถไฟฟ้าพบกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.  1 นัด  ปลอกกระสุนขนาดเดียวกัน 2 ปลอก ขวดน้ำดื่ม ขวดเครื่องดื่มชูกำลังอย่างละ 1 ขวด และเบียร์ 1 กระป๋อง จึงให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ไปตรวจสอบ พยานสังเกตว่ากระสุนปืนที่พบมีหัวสีเขียว เป็นกระสุนขนาด 5.56 มม. แบบ เอ็ม 885 ซึ่งใช้กับปืนเอ็ม 16 ชนิด เอ2 เอ4 เอ็ม4 เอ็ม4เอ1 และปืนทราโวร์ ซึ่งจากการสอบปากคำ พยานที่เป็นทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าระบุว่าใช้ปืนเอ็ม 16 ชนิด เอ2 และเอ4 ในการปฏิบัติหน้าที่ จากการสอบสวนพยานและหลักฐานทั้งหมดจึงสรุปสำนวนว่า เป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และส่งสำนวนให้สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไป
ทนายความญาติผู้ตายถามถึงลักษณะการเสียชีวิตของ 6 ศพ ในวัดปทุมวนารามฯ พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความว่า ทั้ง 6 ศพถูกยิงด้วยกระสุนปืน นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีก 5 คน ถูกยิงเช่นกัน โดยมี 2 ราย ถูกยิงขณะหลบอยู่ใต้รถในวัดปทุมวนาราม  อีกรายถูกยิงบริเวณประตูทางออกวัดปทุมวนาราม และมี 2 รายยืนยันว่าถูกยิงโดยทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า ขณะที่การสอบปากคำทหารบนรางรถไฟฟ้า 8 นาย มีทหาร 5 นายให้การว่า ใช้อาวุธปืนยิง ทหารนายที่ 1 ยิงไปที่ตอม่อรถไฟฟ้าบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 7 นัด ยิงไปที่กุฏิข้างกำแพงวัดด้านศูนย์การค้าสยามพารากอน 1 นัด ทหารนายที่ 2 ยิงที่ตอม่อรถไฟฟ้าบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 2  นัด ทหารนายที่ 3 ยิงรถยนต์ในวัดปทุมวนาราม 2 นัด และถนนในวัด 1 นัด ทหารนายที่ 5 ยิงที่สะพานลอยคนข้าม หน้าวัดปทุมวนาราม 4 นัด และทหารนายที่ 5 ยิงที่กำแพงวัดด้านนอก 1 นัด
ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าเหตุใดจึงต้องมีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า พยานตอบว่า จากการสอบสวนทราบว่า ทหารขึ้นไปอยู่บนนั้นเพื่อคุ้มกันทหารที่อยู่ในแนวราบ โดยหากอยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามจะไม่มีอะไรบดบังการมองเห็น กรณีของ น.ส.กมนเกดนั้น พยานสรุปสำนวนว่า น่าจะถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ทหารบนรางรถไฟฟ้า ส่วนนายอัฐชัยถูกยิงจากทหารในแนวราบ ที่พยานเชื่อว่าเป็นการกระทำของทหาร เพราะบริเวณนี้นอกจากทหารแล้วไม่มีใครสามารถเข้าออกได้ นอกจากนี้ยังสอบสวนทราบว่าทั้งผู้เจ็บและผู้ตายไม่มีอาวุธ ส่วนกระสุนและปลอกกระสุนที่พบก็เป็นอาวุธที่ใช้ในราชการ
ด้านนายณัฐวุฒิ เบิกความโดยสรุปว่า ช่วงเดือน มี.ค. 53 นปช. ได้ชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยุบสภาพ และจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรู้เห็นกับการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย โดย นปช.ทั่วประเทศ นัดหมายมาชุมนุมในกรุงเทพฯ วันที่ 12 มี.ค. 53 ช่วงแรกตั้งเวทีอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน ก่อนเพิ่มเวทีที่แยกราชประสงค์ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 53 เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาสลายการชุมนุมและผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย แกนนำเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน จึงให้ย้ายมารวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียวตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. เป็นต้นมา
นายณัฐวุฒิ เบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. เป็นต้นมา รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธตั้งแถวสกัดไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมที่ ราชประสงค์ได้ ประชาชนที่ต้องการเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมจึงปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายจุด พยานจึงเจรจากับนายกอรปศักดิ์ สภาวสุ ตัวแทนรัฐบาล ขอให้รัฐบาลคลายวงล้อมเจ้าหน้าที่ออก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ วันที่ 15 พ.ค. รัฐบาลได้นำป้ายมีข้อความว่าพื้นที่ใช้กระสุนจริงมาติดตั้งบริเวณที่ตั้ง ด่าน วันที่ 17 พ.ค. กลุ่มนักวิชาการเสนอให้ประกาศพื้นที่วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทาน พยานก็ตอบรับและขึ้นไปประกาศบนเวที และวันที่ 18 พ.ค. แกนนำนปช. ได้เจรจากับ กลุ่มสว.นำโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และได้ข้อสรุปว่า ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แกนนำนปช.จะเปิดโต๊ะเจรจากับนายอภิสิทธิ์ ที่รัฐสภา โดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานสภาในขณะนั้นจะประสานงานให้ หลังเจรจากับสว.เสร็จ พยานก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวและชี้แจงบนเวทีอีกรอบ แต่เช้ามืดวันที่ 19 พ.ค. กลับมีการส่งทหารเข้ามาสลายการชุมนุม
นายณัฐวุฒิเบิกความต่อว่า แกนนำประเมินแล้วว่าจะเกิดความสูญเสียจึงประกาศยุติการชุมนุมเวลา 13 นาฬิกาเศษ และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สนามศุภชลาศัย ที่รัฐบาลจัดรถส่งกลับภูมิลำเนาให้ ขณะที่แกนนำก็เข้ามอบตัวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลาประมาณ 14.00 น.ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ แต่พยานเพิ่งทราบจากสื่อมวลชนว่ามีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามในวันต่อมา เพราะพยานและแกนนำถูกนำตัวขึ้นรถไปที่ โรงเรียนนายร้อยสามพราน และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่ค่ายนเรศวร 261 จึงไม่อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้ระหว่างการชุมนุมมีการตั้งการ์ดนปช.คอยดูแลความสงบเรียบร้อย และป้องกันการนำอาวุธเข้ามาในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง บางคนใส่เสื้อสีดำทับ แต่ไม่มีการพกอาวุธ และไม่พบว่าผู้มีผู้ชุมนุมพกอาวุธเข้ามาแต่อย่างใด
ต่อมาทนายผู้ตายถามถึงกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า มีการซุกซ่อนอาวุธไว้หลังเวที นายณัฐวุฒิเบิกความว่า เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ในบริเวณนั้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของหน่วยงานรัฐเข้ามาสังเกตการณ์ตลอด โดยไม่มีการปิดกั้น และระหว่างการชุมนุมไม่มีข่าวการพบอาวุธในพื้นที่ชุมนุมเลย ส่วนที่บอกว่ามีผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุมก็ไม่เป็นความจริง การอ้างว่าพบอาวุธเพิ่งจะมีหลังจากการชุมนุมยุติแล้ว รัฐบาลอ้างว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้บาดเจ็บ หรือผู้เสียชีวิตล้วนมีประวัติ และมีครอบครัวที่ตรวจสอบได้ ไม่มีความสามารถในการใช้อาวุธสงครามแต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้ที่แกนนำต้องการให้เกิดการตายของผู้ชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล คนที่ประสงค์อย่างนั้นคือคนที่ออกคำสั่งและลงมือยิง
พ.ต.ท.ปกรณ์ เบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานมีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ โดยวันที่ 20 พ.ค.53 ได้รับศพชายไทยไม่ทราบชื่อจาก สน.ปทุมวัน สภาพเป็นชายวัยกลางคน สูง162 ซม. สวมเสื้อยืดสีดำ ตรวจสอบพบแผลภายนอกที่เกิดจากระสุนปืน 11 แผล และมีแผลภายในเป็นแนวยิง 4 แนว แต่ไม่สามารถระบุท่าทางขณะผู้ตายถูกยิงได้ นอกจากนี้ยังพบเศษกระสุนมีสีเขียว ไม่ทราบชนิด  อยู่ภายใน จึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ ทราบภายหลังว่าคือศพของนายสุวัน ผู้ตายที่ 1
พ.ต.ท.ปกรณ์ เบิกความอีกว่า วันเดียวกัน สน.ปทุมวัน ส่งศพหญิงไทยไม่ทราบชื่อมาให้ชันสูตรด้วย ตรวจภายนอกพบบาดแผล 11 แผล แผลภายในมีแนวถูกกระสุนยิง 5 แนว นอกจากนี้ยังพบเศษกระสุนปืนมีสีเขียวเช่นเดียวกับศพแรก จึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากสมองถูกทำลาย จากแผลที่ถูกกระสุนยิงจากต้นคอด้านหลังขึ้นสู่ศีรษะ และทราบภายหลังว่า คือศพของ น.ส.กมนเกด ผู้ตายที่ 5
ด้าน พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ ผกก.ฝ่ายอำนวยการ 3 กองกำกับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล  มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และป้องกันปราบปราม วันที่ 9 มี.ค. รัฐบาลประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ต่อความมั่นคง กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงนำกำลังไปรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิด ชอบ โดยปฏิบัติงานร่วมกับทหารและพลเรือน ภายใต้การควบคุมของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยนำกำลังทั้งสังกัดนครบาลเอง และกำลังตำรวจภูธรมาจัดเป็นกองร้อยควบคุมฝูงชน
พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความอีกว่า วันที่ 19 พ.ค. 53 จัดกำลังไปดูแลรอบๆพื้นที่ชุมนุม ชุดที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดคือชุดของ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 และตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 2 กองร้อย ซึ่งรับผิดชอบบริเวณรอบๆแยกราชประสงค์ และใกล้วังสระปทุม แต่พยานไม่ทราบว่าใครรับผิดชอบพื้นที่ไหน และไม่มีการวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. มีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจค้น 13 จุด รอบนอกพื้นที่ชุมนุม มีกำลังจุดละ 1 กองร้อย บางจุดอยู่ตั้งอยู่ใกล้กับทหาร บางจุดมีเพียงตำรวจอย่างเดียว และตำรวจที่จุดตรวจค้นมีเพียงปืนพกประจำกาย ขณะที่กองร้อยควบคุมฝูงชนจะไม่อนุญาตให้พกอาวุธเลย พยานไม่ทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลัง เพราะประจำอยู่ที่กองบัญชาการ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และการจะเคลื่อนกำลังตำรวจเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมนั้น ตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จะประสานเจ้าหน้าที่ทหารเอง พยานไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่ส่วนครั้งต่อไปวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.00 น. โดยอัยการจะนำพนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความ 2 ปาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น