แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

81 ปี “ประชาธิป’ไทย” ในสารคดี - 72 ปี “ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ฟังเรื่องเล่า ‘เม้าธ์’ คนตกยุคดิจิตอล

ที่มา มติชน

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 03:03:46 น.
 





































































ภาพ/เรื่อง เรียบเรียงโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว


คงไม่บ่อยนักที่จะพบ อาจารย์ผู้ใหญ่ “วัยรุ่น-อาวุโส” ผู้สามารถสื่อสารกับนักศึกษาปริญญาตรี หรือคนต่างเจนเนอเรชั่นได้อย่างคล่องแคล่วสนุกสนาน ด้วยภาษาใกล้เคียงกัน บนความเข้าใจร่วมกัน แม้จะเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ช่องว่างระหว่างรุ่น ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพูดคุยกับ “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” หรือ “อาจารย์ชาญวิทย์” ของลูกศิษย์ทุกเพศทุกวัย ผู้ยังคงความทันสมัยเป็น “วัยรุ่น” ตลอดกาล
    
ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะมีงานแสดงมุทิตาจิตต่ออาจารย์ชาญวิทย์ ณ บริเวณสวนศิลป์ คณะศิลปศาสตร์  มธ. ท่าพระจันทร์*** ก่อนครบรอบ 81 ปีวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน เพียง 2 วัน

อาจารย์ชาญวิทย์ เป็น 1 ใน นักวิชาการ ที่ผู้กำกับหนังชื่อดังอย่าง “เป็นเอก รัตนเรือง” และ “ภาสกร ประมูลวงศ์”  ติดต่อขอสัมภาษณ์ประกอบภาพยนตร์สารคดี “ประชาธิป’ไทย” โดยอาจารย์มองว่าหนังเรื่องนี้ เป็นหนังว่าด้วยนักวิชาการมองการเมือง อย่างไร ตั้งแต่ 2475 จนกระทั่งปัจจุบัน สะท้อนความคิดนักวิชาการ สะท้อนความคิดของชนชั้นนำ แต่คนที่อาจจะไม่จัดเป็นนักวิชาการและพูดดีที่สุดคือ สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนคนสำคัญในกลุ่มคนเสื้อแดงผู้พูดเรื่องการเมืองของคนระดับล่าง

“ในแง่ผม ผมคิดว่า สมบัติ พูดดีที่สุด แล้วคนได้บทเอกในการแสดงความคิดเห็น คือ ธงชัย วินิจจะกูล, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ส่วนตัวผมชอบที่ธงชัยพูด เพราะมีอคติ ชอบพอส่วนตัว และ เป็นเหตุผลทางวิชาการดี อย่างไรก็ตาม มองว่า หนูหริ่ง (สมบัติ) มาขโมยซีนนักวิชาการ เพราะ เป็นคนเดียวที่พูดลงมาเรื่องระดับล่าง ส่วนสุลักษณ์ ก็พูดมันส์มาก พูดถึงทุนสามานย์ และ ศักดินา แต่บางตอน สุลักษณ์ ถูกดูดเสียงยาวมาก และทำแถบดำตรงซับไตเติ้ล คล้ายๆ หนังของ นนทวัฒน์ “ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง” ก็ถูกดูดเสียง  คำว่า ทรงพระเจริญ โดยให้เหตุผล ว่า ไม่เกี่ยวกับหนัง จึงให้เอาออก”






ปีนี้ อาจารย์ชาญวิทย์อายุครบรอบ 72 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรง เดินทางอย่างคล่องแคล่ว สวมแว่นกันแดด พาลูกศิษย์ชมโบราณสถานต่างๆ ด้วยความกระฉับกระเฉง พร้อมเล่าข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันอาจารย์ยังสนุกสนาน กับการแชร์รูปภาพและข้อความแชร์ความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านสังคมออนไลน์อย่าง “เฟซบุค” โดยการโพสต์ทั้งในวอลล์ตัวเอง และคอมเมนท์ในวอลล์คนอื่นด้วยน้ำเสียงหลากหลายแบบ ตั้งแต่การให้ความรู้แบบจริงจัง จนไปถึงการแซวหยอกล้อ หรือเหน็บกัด ด้วยข้อมูลโต้แย้ง ที่ผู้อ่านได้ความรู้สึกแสบๆ คันๆ กลับไป



ในยุคก่อนหน้า ที่เฟซบุคจะได้รับความนิยมในสังคมไทย อาจารย์ชาญวิทย์ ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าในการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ แม้จะไม่ใช่ขาประจำทางเวบบอร์ดต่างๆ แต่อาจารย์นิยมฟอร์เวิร์ดอีเมลล์เพื่อสื่อสารข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ ด้วยอีเมลล์ถึงลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอมา ด้วยความที่เป็นเจ้าแห่งการจุดประเด็นรณรงค์ในเรื่องต่างๆ ทำให้อาจารย์ ไม่เคยเงียบเหงาจากการปะทะสังสรรค์ทางความคิด กับทั้งคนที่คิดเหมือนกัน และคิดต่างกัน ไม่ว่าจะผ่านเครื่องมือสื่อสารชนิดใดก็ตาม

อาจารย์ชาญวิทย์ เล่าว่า จากการสื่อสารกับคนในโลกออนไลน์ จะพบว่าอินเตอร์เนต เป็นเครื่องมือที่ดีในการเผยแพร่ความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด แม้ว่าผู้รับสารปลายทางจะอยู่ต่างจังหวัดทุรกันดาร ก็เคยพบกรณีที่ว่า นักเรียนในพื้นที่ดังกล่าว สามารถขวนขวาย เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมจากโรงเรียนสอนพิเศษในพื้นที่ เป็นประตูเปิดสู่การทำความเข้าใจเรื่องราวและการสื่อสารทางอินเตอร์เนตได้ เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน โลกออนไลน์ อาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย กับบุคคลากรระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้ใช้อินเตอร์เนตซึ่งสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้เร็วและกว้าง

“ถ้าดูจากชีวิตมหาวิทยาลัย จะพบว่า อาจารย์ที่สูงอายุ และใช้อินเตอร์เนตไม่เป็น เมื่อต้องสื่อสารกับนักศึกษา ปี 1 ปี 2 จะสื่อสารกันยากมาก เพราะ นักศึกษาบางคน จะนั่งเม้าธ์ ว่า อาจารย์คนนั้น ยังใช้แผ่นใสปิ้งอยู่เลย (หัวเราะ) ผมก็คิดว่า อาจารย์ที่ไม่สามารถจะใช้เทคโนโลยีได้ ก็ตกอยู่ในความลำบาก อย่างผม จำได้ว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว ไปอยู่อเมริกา ไปคุยกับคนที่ UCLA เขาบอกว่า อาจารย์ที่ใช้อินเตอร์เนตไม่เป็น และทำพาวเวอร์พอยท์ไม่เป็น เด็กจะไม่ค่อยมาเรียนด้วย มันบอกว่ามันเบื่อ แล้วผมก็คิดว่า โดยส่วนตัวได้ใช้อินเตอร์เนต และพาวเวอร์พอยท์ พบว่านักศึกษาให้ความสนใจสิ่งที่เราสอนมากกว่าการที่เราพูดอย่างเดียว”



ในทางกลับกัน อาจารย์ชาญวิทย์ พบว่านักศึกษาไทยยังใช้อินเตอร์เนตแบบ “ไทยๆ” โดยขาดมารยาทในการสื่อสารตามหลักการทูตและเตือนถึงการใช้อินเตอร์เนตให้มี ประสิทธิภาพ

“นักศึกษาได้ติดต่อทางเฟซบุคน้อยมาก เราทำเป็นกรุ๊ป แล้วเวลาเราส่งข้อมูลให้ คนที่จะตอบรับเกือบไม่มี คนที่จะตอบว่าได้รับแล้วมีน้อย ผมคิดว่านักศึกษาไทย ก็ยังเป็นไทยๆ คือ ไม่ตอบรับ ไม่ตอบจดหมาย ถ้ามี RSVP เผลอๆ อาจจะไม่รู้ว่าคืออะไร คนจำนวนหนึ่ง ก็แปลกใจและ ดีใจว่าทำไมเราตอบรับทราบ แต่นี่เป็นมารยาททางการทูตที่เรียนมา และเป็นเรื่องสารบรรณ ที่เรียนมา แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ ไม่ทำ ฉะนั้น ถึงแม้ว่า รุ่นนี้ จะเป็นอินเตอร์เนตเจนเนอเรชั่น ใช้โซเชียลมีเดีย ก็ยังมีความเป็นไทยๆ อยู่ จะหายากมากที่จะตอบ ในแง่หนึ่ง คนที่สามารถใช้อินเตอร์เนตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมารยาท จะได้เปรียบ คือ อาจจะต้องรู้ว่า โลกแบบใหม่ จะทำอย่างไร มารยาทจะทำอย่างไร”


อาจารย์ชาญวิทย์ เล่าด้วยว่า จากเล่นเฟซบุค ก็เจอทั้งพวกกระแนะกระแหน เสียดสีถากถาง เพราะ ความคิดตนเองไม่ใช่กระแสหลัก

“ผมทวนกระแสหลายๆ เรื่อง แต่ผมไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่ และบางครั้ง ผมก็เอาประเด็นที่ถูกคนอื่นโจมตีมาใช้ต่อ คือทำให้เรามีโอกาสได้พูด เช่น เรื่องชาตินิยม หรือเรื่องที่คนหงุดหงิดกับผม คือ เวลามีคนด่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผมก็บอกแบบแยบคาย ว่า “ยิ่งลักษณ์ หน้าตาดี ผิดพี่น้อง” และไม่ได้มา “ชุบตัว” เรียน กทม. เชื่อว่า คนก็ต้องเอาไปคิด ส่วนการถูกขู่ทำอันตราย ก็เคยโดนขู่ ช่วงที่ สนธิ ลิ้มทองกุล เอาผมไปด่า คนถูกปลุก ก็โทรมาด่าผม ข่มขู่ ก็มี แต่ช่วงนั้นผมอยู่สิงคโปร์”  

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นี้ เล่าถึงความภูมิใจส่วนตัวว่า ภูมิใจที่ได้ผลิตงานวิชาการออกมาเยอะ ทั้งงานของตัวเอง และ ของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ เป็นสิ่งประเสริฐ ที่ได้รับมรดกทางวิชาการจาก อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ อาจารย์เสน่ห์ จามริก รวมถึงงานวิชาการอีกชุดที่ภูมิใจ คือ ความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชา เรื่องเขตแดนพระวิหาร ออกมาเป็นหนังสือเยอะมาก

“เป็นเรื่องบังเอิญ ที่ผมมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ นับแต่ แถลงการณ์ร่วมของ นพดล ปัทมะ ผมให้สัมภาษณ์ว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชา โดยทาง “ประวัติศาสตร์และนิติศาสตร์” ผมก็ถูกด่า ต่อมาจัดเสวนาเรื่องนี้ ต่อมาได้รับงบจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้ทำต่อ เป็นที่มาชุดหนังสือ ที่ถูกด่าว่ารับเงิน 7.1 ล้าน แต่ความจริง ได้มากกว่า 7.1 ล้านนะ (หัวเราะ) โปรเจคแรกเป็นหนังสือ 7.1 ล้าน มีแผนที่ อย่างเล่ม “ปกสีแสด” เอาแผนที่สยาม-ฝรั่งเศส มาพิมพ์ เดิมเป็น “เอกสารลับ” ทางราชการ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ใช่ความลับ เพราะ กัมพูชา ก็นำมาเผยแพร่ บนเน็ต เพราะ ชนะคดีไปแล้ว  อีกโปรเจค เป็นสื่อที่มีหัวหน้าทีม คือ อดิศักดิ์ ศรีสม และ สมฤทธิ์ ลือชัย

เดิม ก็ไม่คิดว่าจะเป็นแบบนี้ แต่คิดว่า ความขัดแย้งของสังคม เป็นบ่อเกิดของปัญญา ทำให้เราต้องคิดว่า ทำไมต้องมาด่ากัน “ขายชาติ” ทั้งที่มันน่าจะเป็นเรื่องวิชาการ ผมคิดว่า ต้องให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้เกิดความเข้าใจ เกี่ยวกับกัมพูชาและเขตแดน ซึ่ง ผมไม่คิดว่าจะสำเร็จในชีวิตนี้ แต่ต้องทำเอาไว้ นั่นเป็นเรื่องวิชาการ”



                    ชามและแจกันที่อาจารย์ชาญวิทย์ปั้นด้วยตัวเอง

จากประสบการณ์สอนหนังสือในห้องเรียนและพาลูกศิษย์ท่องโลกกว้างยังโบราณ สถานหลายแห่งเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อาจารย์ชาญวิทย์เปรียบเทียบให้ ฟังระหว่างการ“ปั้นคน”และการ “ปั้นหม้อ”

“ผมก็เคยเรียนปั้นหม้อ ตอนเรียนปริญญาเอก การปั้นคน กับการปั้นหม้อ มีส่วนที่คล้ายกันและแตกต่างกัน เราปั้นคนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่ดินกับคน ไม่เหมือนกัน เพราะ ดิน มันยอมให้เราทำอะไรก็ได้ แต่คนมันมีหัวใจของมัน เราอาจจะปั้นมัน แต่เสร็จแล้ว คนมันต้องไปหาหนทางของมันเอง อย่างนักศึกษาจบเป็นบัณฑิต เจริญเติบโต เขาก็ต้องเป็นตัวของเขาเอง เราอาจจะเป็นคนขึ้นรูปให้ ผมสอน มธ. ตั้งแต่ 2516 เกษียณ 2544 สอนประวัติศาสตร์ 2543 มาทุ่มให้กับโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ทุ่มให้นักศึกษาปี 1 เพราะ ปี 1 สำคัญมาก นักศึกษาควรรู้จักโบราณสถาน ต้องไปดู ต้องมีความลึกด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การทำตำรา กับการได้เห็นของจริง มันสำคัญมาก เพราะถ้าเห็นจะเกิดแรงบันดาลใจ ถ้าไม่เคยเห็นนครวัด แล้วจะสอนเรื่องกัมพูชาได้อย่างไร

เราทำตำราหนักๆ ก็จริง แต่เล่นให้เป็น contemporary ว่า จังหวะไหน อะไรสำคัญ

ที่บอกว่าภูมิใจลูกศิษย์ที่ดังๆ ก็มีเยอะดังระดับโลก อย่างธงชัย  ส่วนลูกศิษย์บางคนก็มีเรื่องทะเลาะกับคนอื่นบ่อยๆ แต่ตอนนี้คงเพลาๆ ไปแล้ว  สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เป็นคนแรก ที่เขียนวิจารณ์ชาญวิทย์ เมื่อ 20-30 ปี ที่แล้ว” 










อาจารย์ชาญวิทย์บอกว่า ส่วนตัวชอบทำงานเป็นทีม ขณะที่เพื่อนนักวิชาการบางคน เช่น อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน จะชอบทำงานคนเดียว อาจารย์ชาญวิทย์ยอมรับว่า การเริ่มเล่นเฟซบุค ก็เกิดจากทีมงานทำให้ อย่างไรก็ตาม ไม่คาดว่า อินเตอร์เนต จะมาแทนอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งห้องสมุดและหนังสือ คงไม่แทนได้ง่ายๆ เพราะ ห้องสมุดก็ต้องปรับตัว ยกเว้นแบบรถไฟไทย ยังไม่ยอมปรับตัว ก็น่าสงสารต่อไป เพราะการสื่อสาร ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ส่วนตัวของคน ก็มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามแล้ว โดยสื่อที่มีอิทธิพลมากๆ คือ โทรทัศน์ กับหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้าไปอยู่ทุกบ้านในอเมริกา ตอนนี้ ที่เพิ่มมาคือ โซเชียลมีเดีย

“บางคนบอกว่า เมื่อมีอินเตอร์เนตแล้ว หนังสือจะสำคัญน้อยลง แต่ผมคิดว่ามันอยู่ด้วยกันนะ อย่างบางคนบอกว่า ถ้าเอาหนังสือขึ้น E-book จะไม่มีคนซื้อหนังสือเรา แต่กรณี หนังสือประวัติศาสตร์ไทย ของเดวิด วัยอาจ ถ้าท่านเข้าไปดูในเฟซบุค ผมก็เอาขึ้นไว้หมดเลย แต่ทำไมหนังสือขายได้ดี”

อาจารย์ชาญวิทย์ กล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายของมูลนิธิโครงการตำราว่า ตั้งชื่อ “ตำรา” เหมือนเล็งไปที่กลุ่ม serious readersและนักวิชาการ และคนที่ไต่ระดับจากปริญญาตรี  รวมถึงปริญญาโท และ ปริญญาเอก มีช่องตรงนี้ ที่เราทำงาน เราจัดสัมมนาประจำปี ตั้งแต่ 1999 ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคนมางานของเรา ปีที่แล้ว ทำประเด็นอาเซียนศึกษา คนมา ประมาณ 500 คน เป็นครูบาอาจารย์ จากต่างจังหวัดเยอะ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำซึ่งเขาไม่มาหรอก “ตรงกลุ่มเป้าหมายในใจผม ผมคิดถึงราชภัฏ โรงเรียนมัธยม”

อาจารย์ชาญวิทย์ บอกว่า มีคนที่พยายามจะติดต่อมาคุยด้วยตั้งแต่ กลุ่มคนอายุ 10 กว่าๆ จนกระทั่ง 70-80 พยายามจะคุยด้วย เรื่องวิชาการหนักๆ แสดงว่า โครงการตำรา มีลูกค้าเป็นคนเหล่านี้ ไม่ใช่เจนเนอรัลรีดเดอร์ และ โครงการตำรา ก็ไม่ได้เล็งไปที่ general readers แต่เป็น serious readers

อาจารย์ชาญวิทย์ เล่าความเปลี่ยนแปลงจากหนังสือ สู่เวบไซต์ ว่า มีเวบทั้ง http://textbooksproject.com/ และ http://textbooksproject.org/ เคยได้ทุน 1 ล้าน จาก ส.ส.ส. สมัยคุณหญิงแอ๋ว (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์) ช่วยหาให้ จึงได้ทำ 2 เวบคือ ของมูลนิธิฯและเวบ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ http://puey-ungphakorn.org/  ทำ 2 อัน เคยเปิดตัวเวบมูลนิธิโดยเชิญ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือหนูหริ่ง มาพูด และเชิญ จอน อึ๊งภากรณ์ ซึ่ง จอนบอกว่า “ผมไม่สามารถเคลมพันธุกรรมได้”  คือ ให้อาจารย์ชาญวิทย์ไป เรื่องงานวิชาการของอาจารย์ป๋วย

ก่อนเข้าสู่ยุคออนไลน์ มูลนิธิโครงการตำรารุ่นแรกได้ ไทยวัฒนพาณิช ช่วยพิมพ์ เป็นคอนเนคชั่นจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และ คุณนายบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ยุคต่อมาได้โตโยตาเจแปน ต่อมาได้โตโยต้าไทยแลนด์

ส่วนการศึกษา เรื่องอาเซียนในปัจจุบัน อาจารย์ชาญวิทย์ วิจารณ์ว่า การศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ส่วนใหญ่มีลักษณะ เป็นเรื่องระหว่างประเทศ หรือ องค์กรระหว่างประเทศโดยยังขาดเรื่องสังคม กับวัฒนธรรม 

“อาเซียน แปลว่า เป็นองค์กรเกี่ยวกับภูมิภาค มีลักษณะ IR (International Relations )แต่หลังๆ มี 3 ขา คือ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และวัฒนธรรม ผมก็สนใจวัฒนธรรม การศึกษา การเขียนประวัติศาสตร์ การสร้างความสัมพันธ์อันดี เพราะ การศึกษา IR ทั่วไป จะเป็น G to G หรือ government to government เป็นเรื่องการต่างประเทศ เช่น ตกลงประชุมที่ไหน แต่ที่ผมสนใจคือ P to P มากกว่า คือ people to people แล้วเอาเข้าจริง จะบอกว่า ผมเน้นตรง A to A ก็ได้นะ academic to academic เช่น ทันทีที่เราจัดเสวนา เรื่องพนมดงรัก ตอนแรกคิดว่าคนจะมา 30-40 แต่คนมาจริง ประมาณ 300 แล้วมีการขึ้นเฟซบุคกันใหญ่ มี “นายพระอินทร์” ทำขึ้นยูทูปให้ ภายในวันเดียวผมได้อีเมลล์ จากมหาวิทยาลัยบันทายมีชัย ซึ่งอยู่เลยปอยเปต ไปนิดเดียว อยู่ในเมือง ศรีโสภณ บอกว่าอาจารย์มาพูดให้เราฟังได้ไหม ยกทีมไป เรื่องแบบนี้จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องระหว่างมหาวิทยาลัย  A to A

จากเดิมไม่ค่อยสนใจกันและกัน ก็เปลี่ยนเป็นสนใจกันและกันมากๆ แล้ววาระรัฐบาลนี้ บอกว่า จะผลักดัน ASEAN Studies เมื่อก่อน ม. วลัยลักษณ์ มีภูมิภาคศึกษา area studies มีคนมาลงทะเบียน 10 คน พอเปลี่ยนเป็น ASEAN Studies มีคนมาลงทะเบียนเป็น 100 ส่วนธรรมศาสตร์ ก็กำลังจะเปิด ป.โท ในเดือน สิงหาคม" อาจารย์ชาญวิทย์เล่าพร้อมกับหัวเราะชอบใจ

ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามธ.ให้ข้อมูลว่าขณะนี้คน ที่จบการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มในการหางานทำได้มากกว่าด้าน ประวัติศาสตร์ พร้อมเปิดเผยว่ามีโปรเจคใหญ่ที่มีผู้คนสนใจแต่ยังเป็นงานท้าทายว่าจะเป็นไป ได้จริงได้อย่างไร

"นักศึกษาที่มาเรียนด้านนี้ จะหางานไม่ยาก ยิ่งเทียบกับประวัติศาสตร์ เรียนอาเซียนศึกษา หางานง่ายกว่า
การ เรียนทั่วไปเน้น G to G เป็นเรื่อง IR จะแคบ ที่กล้าพูด เพราะผมเรียนการทูต ตอน ป.ตรี/โท เรียน Diplomacy and World Affairs ผมคิดว่า มันจำกัดอยู่ตรงองค์กร คือ international organizations หรือ regional organizations มันจะจำกัด แคบไป แต่ผมคิดว่า ทันทีที่ขยายมิติทางสังคมด้วย มันก็กว้างแล้ว แค่เสนอโปรเจคว่า อาเซียน จะเขียนประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างไร มันก็ใหญ่โตมโหฬารแล้ว แต่ก็ยากมาก โครงการนี้ คนก็มาคุยกับผมเยอะ แต่ยังไม่กล้า ผมเคยเสนอเรื่อง เช่น Bad History, Bad Education, Bad Neighbor Relations เสนอที่ไทยศึกษา ที่ธรรมศาสตร์ มีในเวบ charnvitkasetsiri.com คนที่ทำงานยูเนสโก ถามว่า มาระดมสมอง ทำไหม แต่จะเขียนยังไง มันยากมาก"


คลิ๊กอ่าน!!อาเซียนหรือ"เอียนซ่า"ปัญหาและทางออกของ"ซีส์" กับ "ธุรกิจการศึกษา" : "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ"



****งานแสดงมุทิตาจิต
72 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ  (2484-2556)
       Charnvit  Kasetsiri (1941-2013)
วันเสาร์ที่  22  มิถุนายน  2556
เวลา 16.00 – 19.00 น.
ณ บริเวณสวนศิลป์  คณะศิลปศาสตร์  มธ. ท่าพระจันทร์
16.00 น.        ลงทะเบียน
16.30 น.        ฉายภาพยนตร์  “สารคดี ชาญวิทย์  เกษตรศิริ”
                   สุนทรกถาโดยศ.เกียรติคุณเพ็ชรี   สุมิตร  ราชบัณฑิต 
                   ประธานมูลนิธิโครงการตำราฯ
16.45น.       ยอวาที “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง"
                    โดย    อ.พนัส  ทัศนียานนท์
                    ดร.นันทนา    นันทวโรภาส
                   คุณวารุณี โอสถารมย์
                   อ.ชาตรี ประกิตนนทการ
                    อ.อัครพงษ์     ค่ำคูณ
                   คุณสุรพงศ์     รักษาจันทร์
17.45น.       บรรเลงเพลงโปรดอาจารย์โดย นักศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
18.00 น.        รับประทานอาหารเย็น
                    ชมการแสดง จากนักศึกษาอุษาคเนย์ มธ.
รับของที่ระลึกจากศ.(พิเศษ)ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
19.00 น.         ปิดงาน

พิธีกรตลอดงาน   อ.สมฤทธิ์   ลือชัย  และ คุณโชติรส   นาคสุทธิ์
จัดโดย     -    ศิษย์เก่า – ศิษย์ปัจจุบัน และ กัลยาณมิตร
- โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  คณะศิลปศาสตร์  มธ.
- คณะศิลปศาสตร์   มธ.
- มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์


หมายเหตุ : ภาพยนตร์ "ประชาธิป′ไทย" เข้าฉาย 24 มิ.ย. -3 ก.ค.  
             เอสพลานาด รัชดาภิเษก 14.00 น. และ 20.00 น. 
             สยามพารากอน 14.00 น. และ 20.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น