แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระหรือเซลล์แมนขายสินค้าพุทธศาสนา (?)

ที่มา ประชาไท


 
เรื่องที่ “หลวงพี่น้ำฝน” นำรถโบราณราคาแพงที่มีผู้บริจาคให้มาจอดโชว์ที่วัดโดยอ้างว่าเพื่อเป็น “กุสโลบายละความโลภ” และเรื่องหลวงปู่เณรคำนั่งเครื่องบินเจ็ท ใช้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างแพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ตและสื่อหลัก จนสื่อนอกทำภาพตลกล้อเลียนการใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อหรูหราของพระไทย
 
ต่อมาสื่อทีวีได้นำเสนอภาพบ้านหลังใหญ่โตในพื้นที่ราว 3 ไร่  ที่หลวงปู่เณรคำสร้างให้โยมพ่อ แม่ และญาติๆ จนเกิดคำถามตามมาว่า “เงินที่สร้างบ้านหลังใหญ่โตอลังการเช่นนั้น ท่านได้แต่ใดมา?”
 
ที่จริงแล้ว เรื่องราวเช่นนี้คือเรื่องเก่าๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากเกี่ยวกับพระชื่อดัง หรือพระที่ถูกโปรโมทว่าเป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ มี “คุณวิเศษ” หยั่งรู้สิ่งต่างๆเหนือมนุษย์สามัญจนผู้คนศรัทธาเลื่อมใสจำนวนมาก โดยที่พระดังเหล่านั้นมักสอนให้ผู้คนละโลภ โกรธ หลง ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ทว่าเมื่อถูกขุดคุ้ยเปิดโปงกลับกลายเป็นว่าท่านเหล่านั้นมักเดินสวนทางกับ สิ่งที่ตนเองสอนคนอื่นเสมอ
 
คำอธิบายต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากพระสงฆ์และองค์กรรับผิดชอบงานทางพุทธ ศาสนาก็มักจะออกมาแบบเดิมๆ ทำนองว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “โลกวัชชะ” หรือเป็นเรื่องที่ชาวโลกเขาติเตียนว่าไม่เหมาะสม ไม่ได้ผิดพระธรรมวินัยโดยตรง คณะสงฆ์ทำได้เพียงว่ากล่าวตักเตือน ในขณะที่ก็มีคำร้องขอความเข้าใจทำนองว่า เรื่องที่สื่อนำเสนอเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย พระชื่อดังเหล่านี้ท่านทำประโยชน์แก่พุทธศาสนาและสังคมมามาก
 
เช่น หลวงพี่น้ำฝนก็อ้างว่าตัวท่านเองบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลสร้างสาธารณ ประโยชน์กว่า 400 ล้านบาท ลูกศิษย์หลวงปู่เณรคำก็ว่า หลวงปู่ถวายรถยนต์ให้พระผู้ใหญ่และมหาวิทยาลัยสงฆ์หลายสิบคัน บริจาคเงินช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
 
จะเห็นว่าพระชื่อดัง พระอริยะสมัยนี้นิยมทำประโยชน์ทางวัตถุ ด้วยการสร้างศาสนวัตถุใหญ่โตอลังการ และบริจาคเงิน วัตถุสิ่งของช่วยเหลือสังคม
 
ถ้าวัดจากมาตรฐานเช่นนี้ พุทธะเองก็คงไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย เพราะตลอดระยะเวลา 45 ปี ที่ใช้ชีวิตแบบคุรุทางธรรม ท่านมีสมบัติเพียงจีวรสามผืน (ไตรจีวร) กับอัฐบริขารที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ท่านไม่เคยสร้างศาสนวัตถุใหญ่โต ไม่เคยประจบเจ้า ประจบทุน ไม่เคยขอเรี่ยไร หรือรับบริจาคเงินทอง สิ่งของเพื่อสาธารณประโยชน์ใดๆ ดังที่พระสมัยนี้นิยมทำกัน และทำอย่างไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้เงินที่รับบริจาคมาจากผู้คน ที่เลื่อมใสศรัทธา
 
พูดตรงๆ คือ การเผยแผ่ธรรมของพุทธะนั้นคือการให้เปล่า เป็นการเข้าไปเรียนรู้ สนทนา แลกเปลี่ยนกับผู้คนที่หลากหลายทางความคิด หรือผู้สนใจปัญหาเรื่องคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ สังฆะที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาก็เพื่อเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ศึกษา และปรับใช้ธรรมะเพื่อปรับปรุงการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมให้รู้จักใช้ ปัญญา และเมตตาธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเป็นคนของกันและกันมากขึ้น พร้อมๆ กับส่งเสริมการมีอิสรภาพด้านในของกันและกัน
 
แต่พระสงฆ์ทุกวันนี้ได้ทำให้ศาสนาของพุทธะกลายเป็น “สินค้า” พระสงฆ์ไม่ใช่ผู้เผยแผ่ธรรมะแบบให้เปล่าโดยอาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้านเพียง เพื่อยังชีพเท่านั้น หากแต่พระสงฆ์กลายเป็น “เซลล์แมน” ขายพุทธศาสนาจนร่ำรวย ในขณะที่ยังมีสิทธิพิเศษทางวัฒนธรรมกินฟรี อยู่ฟรี อาศัยปัจจัยสี่จากชาวบ้าน ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็รับค่าบริการทุกอย่าง เช่น สวดมนต์ฉันเช้า-เพลก็มีค่าบริการ สวดศพมีค่าบริการ ปลุกเสก เจิมรถ เจิมบ้าน บริษัท สำนักงาน ดูหมอ ใบ้หวย ฯลฯ ล้วนแต่มีค่าบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายธรรม แสดงธรรมที่บอกว่าเป็น “การเผยแผ่พุทธธรรม” ก็มีค่าบริการเสมอ
 
นอกจากพระสงฆ์จะมีสิทธิพิเศษทางวัฒนธรรมอยู่ฟรี กินฟรี มีผู้คนเคารพกราบไหว้ถวายเงินทอง รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้มีสิทธิใช้ตาม “อัธยาศัย” แล้ว พระสงฆ์ยังรับเงินภาษีอุปถัมภ์พุทธศาสนาจากรัฐปีละกว่า 4,000 ล้านบาทอีกด้วย แล้วถามว่ามีอะไรที่พระสงฆ์ให้ฟรีแก่สังคมบ้าง? การที่พระสงฆ์รับเงินบริจาคมาแล้วบริจาคต่อให้กับกิจการสาธารณกุศลต่างๆ นั้น นั่นคือบุญคุณที่ต้องยกขึ้นมาทวงเมื่อเกิดเรื่องฉาวโฉ่เช่นนั้นหรือ?
 
ที่จริงแล้วสังคมควรตั้งคำถามว่า การเป็นตัวกลางรับเงินบริจาคที่อ้างว่าเพื่อสาธารณกุศลของพระสงฆ์นั้นต้อง ถูกตรวจสอบความโปร่งใสจากสังคม ทำไมคนรอบข้าง ลูกศิษย์ใกล้ชิด พ่อ แม่ อดีตเมีย ลูก เป็นต้น ของพระสงฆ์ชื่อดังมีบารมีมากจึงมีบ้านหลังใหญ่โตอลังการ ร่ำรวยสุขสบาย เป็นเพราะพระชื่อดังเหล่านั้นแผ่บุญบารมีให้พวกเขาร่ำรวยเช่นนั้นหรือ
 
พุทธศาสนาได้เดินทางมาไกลจนหลุดจากรากเหง้าของตนเองไปนานแล้ว เพราะขณะที่พุทธะสละฐานันดรศักดิ์ สละชีวิตสุขสบายหรูหราไปเป็นสามัญชนที่มีชีวิตเรียบง่าย และเผยแผ่ธรรมแบบให้เปล่าแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น ไม่อาศัยอำนาจรัฐบังคับยัดเยียดให้ผู้คนต้องเรียนรู้พุทธศาสนา แต่ปัจจุบันพระสงฆ์ซึ่งมาจากลูกหลานของชนชั้นล่าง กลับไต่เต้าไปสู่ความมีฐานันดรศักดิ์ พระมียศถาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณ เป็นสมเด็จ มีรถประจำตำแหน่ง มีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองเป็นหลักล้าน จนร้อยล้าน พันล้านหรือมากกว่า (อดีตพระมโน เมตตานันโท เคยพูดออกทีวีว่าเมื่อปี 2532 เจ้าอาวาสวัดใหญ่แห่งหนึ่งมีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองกว่า 40,000 ล้านบาท) ขณะที่รัฐต้องอุปถัมภ์พุทธศาสนา และมีการบังคับให้ต้องเรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน
 
พุทธศาสนาถูกทำให้เป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค ชาวพุทธต้องซื้อบริการทางพิธีกรรมเช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน เจิมป้าย ฯลฯ ไปจนถึงเมื่อตายก็ต้องจ่ายบริการสวดศพ สถานศึกษา หน่วยงานราชการจัดนักเรียน นักศึกษา บุคลากรเข้าคอสร์ปฏิบัติธรรม ก็ต้องซื้อบริการจากพระสงฆ์ผู้มีสิทธิพิเศษกินฟรีอยู่ฟรีอยู่แล้วโดยใช้งบ ประมาณของรัฐบ้าง ของตัวเองบ้าง
 
แน่นอนว่า โลกปัจจุบันเงินคือปัจจัยหลักในการดำรงชีพและการทำกิจกรรมแทบทุกอย่าง พระสงฆ์ก็จำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องต่างๆ อันนี้ผมไม่เถียง แต่ปัญหาคือคณะสงฆ์ก็ไม่มีมีระบบที่ชัดเจนเกี่ยวกับว่าพระแต่ละรูปควรครอบ ครองทรัพย์สินส่วนตัวได้เท่าไร เกินไปจากนั้นควรเป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวมที่มีการจัดการอย่างโปร่งใส ฉะนั้น พระทุกวันนี้จึงมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้ไม่จำกัด ใช้สินค้าแบรนด์เนมหรือมีวัตุถุเฟอร์นิเจอร์อวดรวยอย่างไร้หิริโอตตัปปะได้ สบายมาก
 
ที่อ้างกันว่า เรื่องพวกนี้เป็นแค่ “โลกวัชชะ” โลกติเตียน ไม่ผิดวินัยสงฆ์นั้น เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ก็ในเมื่อวินัยสงฆ์ ห้ามพระรับเงินและทอง คือรับเงินทองก็ไม่ได้ แล้วมีรถหรูราคาแพง อวดบารมีกันทางวัตถุยิ่งกว่าชาวโลกนั้นจะแถว่าไม่ผิดได้อย่างไร
 
จริงๆ แล้วผิดหลักการของวิถีชีวิตพระซึ่งเป็นอนาคาริก ผู้ไม่ครองเรือน ผู้ใช้ชีวิตเพื่อละกิเลส ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ตั้งแต่ที่สร้างระบบให้พระมีสมณศักดิ์แล้ว คือผิดตั้งแต่ระบบปกครองสงฆ์ที่ขัดกับหลักการพระธรรมวินัยโดยพื้นฐานแล้ว ระบบที่พระมีฐานันดร มีอำนาจ มีความเป็นอยู่ในวัดวาที่หรูหราอลังการรองลงมาจากวังนั้น เป็นระบบของพุทธศาสนาแห่งรัฐในยุคศักดินาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
 
ระบบที่ตกทอดมานั้น เมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบันที่อำนาจนำทางสังคมยังเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมแบบระบบ เก่า และอำนาจทุนนิยมกำลังทรงอิทธิพลมากขึ้น พระสงฆ์ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่ตกทอดมาจากระบบเก่า จึงประจบทั้งเจ้าและประจบทุน ข่าวฉาวของพระชื่อดังที่เกิดอย่างซ้ำซาก คือปัญหาที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของระบบสงฆ์ สะท้อนความเหลวไหลของการใช้พุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจของชนชั้นปกครอง และการทำให้พุทธศาสนากลายเป็นสินค้าที่ต้องบิโภคในตลาดทุน ผ่านการโปรโมท การโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงอย่างไร้การดูแลตรวจสอบ
 
สุดท้ายแล้ว ระบบปกครองสงฆ์ที่เป็นอยู่ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ ข่าวฉาวของพระดังที่เกิดอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ยิ่งสะท้อนว่าระบบการปกครองสงฆ์ที่ขึ้นต่อรัฐแบบที่เป็นมานั่นเองคือต้นตอ ของปัญหา
 
ทางแก้ที่ถูกจึงต้องแก้ที่ต้นตอ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตราที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธ ศาสนาและศาสนาอื่นๆ จะเท่ากับทำให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ เท่ากับยกเลิกระบบการปกครองสงฆ์แบบมหาเถรสมาคม เท่ากับยกเลิกระบบสมศักดิ์ เท่ากับยกเลิกการปกครองสงฆ์โดยกฎหมายของรัฐ
 
ผลก็คือทำให้พระสงฆ์มีอิสระที่จะปกครองกันเองตามพระธรรมวินัย พระสงฆ์แต่ละวัดแต่ละสำนักปกครองตนเองตามพระธรรมวินัยภายใต้การตรวจสอบของ ชาวบ้าน หรือชุมชนที่เป็นเจ้าของวัด เจ้าของสำนักปฏิบัติธรรมร่วมกัน จะเกิดการตีความพุทธศาสนาให้ตอบสนองต่อบริบทปัญหาของชีวิต ชุมชน สังคมในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติหรือโลก การตีความและประยุกต์ใช้พุทธศาสนาจะมีความหลากหลายตามสภาพความหลากหลายและ ซับซ้อนของโลกสมัยใหม่มากขึ้น พุทธศาสนาไม่ใช่ของรัฐ ไม่รับใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจชนชั้นบนอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นของประชาชน เป็นเรื่องที่ประชาชนมีอำนาจดูแลรักษากันเอง และทำให้พุทธศาสนามีความหมายในทางสร้างสรรค์ต่อชีวิตของพวกเขาได้อย่างแท้ จริง
 
และที่สำคัญรัฐไทย ก็จะก้าวไปสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีความเป็นกลางทางศาสนาอย่างแท้จริง หรือเป็น “รัฐฆราวาส” อย่างอารยประเทศ ไม่ใช่เป็นรัฐที่ติดหล่มอยู่ในยุคกลางที่อ้างอิงสถานะของ “บุคคลที่สูงส่งกว่า” ทั้งทางจิตวิญญาณและศีลธรรมให้เป็นแหล่งที่มาของการมีศีลธรรมอันดีของ ประชาชน โดยที่สถานะ อำนาจ บทบาทของบรรดาบุคคลที่สูงส่งกว่านั้น มักเป็นไปในทางมอมเมา เอาเปรียบ กดขี่เสรีชน และขัดขวางทำลายศีลธรรมสากลที่เคารพเสรีภาพและความเสมอภาคตลอดมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น