แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นายใน/รอยัล อิเม “จิ้น” คอมมิวนิตี้

ที่มา ประชาไท


อาจกล่าวได้ว่า หนังสือ นายใน ของชานันท์ ยอดหงษ์นั้นเป็นที่ได้รับความนิยมไม่น้อย หากเพียงวัดจากการแชร์ในสังคมออนไลน์ การที่ถูกกล่าวขานถึงทั้งในแง่บวกและลบในหน้าเว็บไซต์ รวมไปถึงยอดขายที่ถูกกล่าวถึงอยู่เนืองๆ ส่วนหนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะ นัยของหัวข้อดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดึงดูดความสนใจต่อสาธารณะ ในฐานะของสิ่งที่กึ่งปิดลับ กึ่งเปิดกว้าง เป็นความรู้และไม่รู้ และเลือกที่จะรับรู้และปฏิเสธของสังคมไทยอันปรากฏอยู่ทั่วไปในปริมณฑลของ สิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย กับภาวะความคลุมเครือในพื้นที่ส่วนตัว
นายใน เป็นหนังสือที่มีการดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ที่ชื่อ “นายใน: ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่นี้จึงสนใจที่จะกล่าวถึง นายใน 2 สถานะ นั่นคือ สถานะของความเป็นวรรณกรรมและสถานะความเป็นวิชาการ

ความเป็นวรรณกรรมและตลาดของหนังสือ
งานเขียนชิ้นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง โครงกระดูกในตู้ ที่เขียนโดย คึกฤทธิ์ ปราโมช นับเป็นงานเขียนที่ตีแผ่ประวัติของตระกูลโคตรเหง้าของตนเองที่มีนัยของการ เล่าปากต่อปากเป็น ประวัติศาสตร์เชิงบอกเล่า (oral history) ซึ่งมิได้เป็นการเล่าตามขนบหนังสืองานศพที่เป็นการเล่าย้อนหลังถึงผู้ตายที่ มุ่งเน้นการสรรเสริญเยินยอ แน่นอนว่าเป็นเทคนิคการเขียนที่คึกฤทธิ์นำมาจากไอเดีย Skeleton in the cupboard ที่ถือกันว่า เรื่องที่ไม่น่าฟังของครอบครัวไม่พึงเอามาเล่าสู่กันฟัง แต่ที่คึกฤทธิ์ทำก็คือนำเอาเรื่องราวไม่พึงเปิดเผยของวงศ์ตระกูลมาเล่าสู่ กันฟังในที่สาธารณะ ซึ่งตรงกันข้ามกันเขียนในแนว อภินิหารบรรพบุรุษอย่างใน กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ แต่เป็นการนำชีวิตของตระกูลเจ้านายที่โลดโผนโจนทะยานเป็นการนำเรื่องที่ลับ มาไขในที่แจ้ง และไม่ใช่เป็นการเล่าบนพื้นฐานของการกระซิบกระซาบกันภายในพื้นที่ส่วนตัวอีก ต่อไป เพราะมันสัมพันธ์กับพื้นที่สาธารณะ เมื่อมันปรากฏในฐานะสินค้าในตลาดหนังสือ เทคนิคเช่นนี้ก็เป็นวิธีการที่ฉลาดกว่าการที่เล่าเรื่องวงศ์ตระกูลแบบ หนังสืองานศพที่เอออวยสรรเสริญอยู่ข้างเดียว การกล่าววิจารณ์เจ้าอย่างมีชั้นเชิงเช่นนี้ ก็คือ แบรนด์หนึ่งของคึกฤทธิ์
ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมป๊อบในประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก ต่อไปอย่างเกาหลีใต้แล้ว เราจะเห็นการเล่าเรื่องและตีความบทบาทของตัวละครในราชสำนักอย่างถึงพริกถึง ขิงทั้งในละครและในภาพยนตร์ การกล่าวถึงกษัตริย์และชีวิตคนในอดีตเกี่ยวกับสิ่งที่คนปัจจุบันเรียกว่า “รักร่วมเพศ” นั้น ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมภาพยนตร์และละคร เช่น The King and the Clown (2005), A Frozen Flower (2008), The King an I (คิมชูซอน ละครเกี่ยวกับขันที ปี 2007-2008) การทำให้เรื่องราชวงศ์เป็นเรื่องขายได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดก็สร้างภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ใน หลายยุคสมัยให้อยู่ในกระแส pop culture กันอยู่แล้ว
ปรากฏการณ์ของ นายใน ได้สะท้อนอะไรๆ หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหนังสือที่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของคน โดยเฉพาะในบริบทที่สังคมเกิดปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” เริ่มตั้งคำถามกับตัวบุคคลในระบบ และสถาบันอนุรักษ์นิยมต่างๆมากยิ่งขึ้น กระนั้นภายใต้กฎหมายและสังคมลักปิดลักเปิด การดำรงอยู่ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงทำให้การกล่าวถึง นายใน ในหลายกรณีและหลายสถานที่ก็ไม่สามารถพูดได้ หรือพูดได้ไม่สุดขอบเขตของการแสวงหาความรู้ การลบกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ในเว็บบอร์ดต่างๆ จึงปรากฏขึ้นอย่างไม่ผิดความคาดหมายนัก
ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่ว่า นายใน จะทำหน้าที่ยืนโรงเป็นผู้ออก หมัดลอกเปลือกเพศภาวะในราชสำนักได้เพียงฝั่งเดียว ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับงานเขียนนี้ไม่ว่าจะโปร หรือไม่โปรเจ้า ก็มีจุดยืนที่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวบท การวางโครงเรื่องและอคติที่อยู่เบื้องหลังของงานเขียนนี้ด้วยเช่นกัน
ความขัดแย้งของความเห็นในหนังสือ นั่นคือ จุดคานงัดของยอดขายเช่นกัน นายใน กลายเป็นหนังสือขายดี และถูกกล่าวถึงไปทั่วทั้งในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระแสการตลาดที่พุ่งสูงขึ้น ช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  วันที่ 29 มีนาคม – 8 เมษายน 2556 ในช่วงงานดังกล่าว สำนักพิมพ์มติชน ได้จัดเสวนา เรื่อง "นายใน" สมัยรัชกาลที่ 6  ในวันที่ 30 มีนาคม โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ผู้เขียนคำนำเสนอ และชานันท์ ยอดหงส์ ผู้เขียนนายใน และยังมีการกล่าวถึง นายในในโทรทัศน์อย่างรายการศิลป์สโมสร ช่อง ไทยพีบีเอสตอน “ส่องสังคมสยามผ่านนายใน” (ออกอากาศวันที่ 3 เมษายน 2556) หรือกระทั่ง การวิพากษ์วิจารณ์ในเพจของ Nume Marut ผู้เป็น Senior Writer ของนิตยสาร Attitude [1] ยัง ไม่นับการกล่าวขวัญในเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ปัจจุบันน่าจะถูกลบไปแล้วอย่างเช่น เว็บบอร์ด T-pageant (เว็บบอร์ดนางงามไทย) ยังไม่มีหลักฐานชัดว่าเว็บบอร์ดอันเป็นที่กล่าวขวัญของชาวสีม่วงอย่าง Palm-plaza มีการตั้งกระทู้เกี่ยวกับหนังสือฉบับนี้หรือไม่
นอกจากนั้นหากจะนับ Box office ที่นำมาจากเพจ นายใน  จะ เห็นได้ว่า เคยขึ้นไปครองอันดับ 1 ของร้านแพร่พิทยา สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวเมื่อปลายเดือนเมษายน 2556 และเคยขึ้นอันดับ 2 ประจำสัปดาห์ (20 พฤษภาคม 2556) ร้านบุ๊คโมบี้
ภาพลักษณ์ของเพศที่สามในสังคมไทย แม้จะไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือกีดกันอย่างร้ายแรง แต่เราจะเห็นได้ว่า กรณีที่ความเป็นเพศที่สามถูกนำมาโจมตีทางการเมืองนั้น ยังเป็นที่หวังผลได้เสมอในฐานะความผิดปกติทางเพศอันส่งผลต่อการขึ้นมาเป็น ผู้นำของประชาชน ดังที่เราอาจเคยเห็นการดิสเครดิตว่าผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรเขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เคยถ่ายรูปนู้ด ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็นเกย์ นั่นคือ อี้ แทนคุณ จิตอิสระ หรือ กระทั่งแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ในอีกฟากฝั่งหนึ่งก็ตาม หรือกระทั่งล่าสุดที่ผู้เขียนเปิดไปเจอโดยบังเอิญก็คือ ภาพของเสื้อแดงคนหนึ่งที่ถูกนำมาประจานผ่าน FB ฝ่ายปฏิปักษ์ที่มีการนำภาพในการชุมนุมมาวางคู่กับ ภาพของชายอีกคนหนึ่งที่หน้าคล้ายกันกำลังประกอบโอษฐกามให้ชายอีกนายหนึ่ง
ดังนั้น นายใน ภายใต้กระแสป๊อบจึงผสมผสานไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น นัยของการกระซิบกระซาบ การดูถูกดูแคลนไปในตัว ดังนั้น นายใน ในฐานะวรรณกรรม การตลาดและหมุดหมายของประวัติศาสตร์สังคมแล้วก็นับว่าดำรงตนได้อย่างมีสีสัน ในยุคที่สภาพสังคมการเมืองกำลังเปลี่ยนผ่าน เนื้อหา และยอดขายเป็นปรอทวัดอุณหภูมิสังคมได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้าที่ชานันท์จะออกหนังสือเล่มนี้ เขายังได้เคยครุ่นคิดและสนทนากับหนังสือชื่อดังอีกเล่มนั่นคือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (พิมพ์ ครั้งแรก ปี 2545?)ที่คาดว่าพิมพ์อย่างต่ำมา 5 ครั้งแล้ว หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นการกล่าวถึงราชวงศ์ด้วยพยานวงใน จากฝีมือการตลาดของค่ายศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน ก็ได้ทำให้เรื่องราวดังกล่าวเป็นที่น่าสอดรู้สอดเห็นของคนทั่วไป หากจำไม่ผิดในช่วงดังกล่าวมีการนำเสนอประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องปูพรมมา ก่อนแล้วในกรณีของคดีพญาระกา อันเป็นเรื่องฉาวๆทางเพศ หลังม่านของชนชั้นสูง ในช่วงก่อนรัชกาลที่ 6 การตลาดที่เล่นอยู่บนเส้นลวดแห่งความเสี่ยงและความอยากรู้อยากเห็นและมิติ ทางประวัติศาสตร์ถือเป็นฐานสำคัญของสำนักพิมพ์นี้ ดังนั้น นายใน อาจนับได้ว่าเป็นการตลาดภาคต่อเนื่องของมติชนได้ด้วย
หรืออาจกล่าวให้สุดขั้วไปก็อาจกล่าวได้ว่า หนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 โดย ราม วชิราวุธ เป็นข้อความที่เขียนเล่าเชิงพงศาวดารกระซิบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายในพระราชวงศ์ ที่อาจนับว่าเป็นต้นแบบการเขียน โครงกระดูกในตู้ ของคึกฤทธิ์เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่า งานเขียนดังกล่าวโดยบริบทที่มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดสิ่งพิมพ์ที่มีเงื่อนไขเช่น โครงกระดูกในตู้ แต่เป็นบันทึกที่รัชกาลที่ 6 ต้องการจะสื่อสารกับคนในมากกว่าจะเป็นหนังสือที่เขียนเพื่อส่งสารต่อสาธารณะ อย่างจริงจัง ดังที่กล่าวไว้ในคำนำว่า เขียนไว้ให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) และยังหวังว่าหากพระองค์มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ให้นำเรื่องราวที่เล่าให้ฟังถ่ายทอด “สั่งสอนให้รู้เรื่องบ้าง เผื่อจะเปนประโยชน์ต่อไปในเมื่อน่า” เอกสารดังกล่าวเขียนขึ้นในปี 2467 ก่อนรัชกาลที่ 6 จะสวรรคตเพียงปีเดียวเท่านั้น
ในทางกลับกัน นายใน กลายเป็นงานเขียนที่ยอกย้อนมาสู่รัชกาลที่ 6 ทำคล้ายกับสิ่งที่รัชกาลที่ 6 ทำ คือ ลอกเปลือกสภาพสังคม ความสัมพันธ์และความขัดแย้งของบุคคลในที่ส่วนตัวและในที่สาธารณะ โดยมีรัชกาลที่ 6 เป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องเช่นกัน เพียงแต่ว่างานเขียนนี้อยู่ในสถานะงานเขียนทางวิชาการและงานเขียนเพื่อการ ตลาดในเวลาต่อมา

จากวิทยานิพนธ์สู่พ็อกเก็ตบุ๊ค
นายใน เป็นหนังสือที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ "นายใน"  : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีโจทย์ของการศึกษาและจุดประสงค์ทางการศึกษาดังนี้

โจทย์ของการศึกษา
ปรากฏการณ์ที่พระราชสำนักฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผู้ชายเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้น ดำรงอยู่และมีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้พระราชสำนักฝ่ายในชายของพระองค์ได้ให้คุณค่าความหมายของ ความเป็นชาย(Masculinity – ผู้วิจารณ์อย่างไรและส่งผลต่อเพศภาวะ (Gender – ผู้วิจารณ์และความเป็นชาย (Masculinity – ผู้วิจารณ์) ของสมาชิกอย่างไรบ้าง

จุดประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อศึกษาปรากฏการณ์พระราชสำนักฝ่ายในชายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ก่อตัวขึ้นและเข้ามาแทนที่นางในและพระราชสำนักฝ่ายในของรัชกาลที่ผ่านมา
2. เพื่อศึกษาลักษณะและการให้คุณค่าความหมายของ ความเป็นชาย(Masculinity – ผู้วิจารณ์) ของพระราชสำนักฝ่ายในชายในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะชุมชนชายล้วน และเพศภาวะ (Gender – ผู้วิจารณ์) ชายของสมาชิกภายในพระราชสำนัก

การตีพิมพ์ นายใน นั้นเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์ในหน้ากระดาษเอสี่ ที่มีจำนวนกว่า 300 หน้า ให้เหลือเพียงหน้ากระดาษเอห้า เหลือเกือบ 300 หน้า นอกจากการตัดเนื้อหาออกไปแล้ว โครงสร้างของวิทยานิพนธ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาจเปรียบเทียบได้จากสารบัญดังนี้

ตารางเปรียบเทียบ
บทที่  
วิทยานิพนธ์ (2555) 346 หน้า เอสี่
พ็อกเก็ตบุ๊ค (2556) 294 หน้า เอห้า
1
บทนำ
บทนำ
2
นางใน : ข้าราชสำนักในพระราชสำนักฝ่ายในของพระมหากษัตริย์
“นายใน” กับ พระราชสำนักรัชกาลที่ 6
3
นายใน : ข้าราชสำนักฝ่ายในชายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นายในทรงโปรดในรัชกาลที่ 6
4
นายใน : ผลผลิต “ความเป็นชาย” ในชุมชนชายล้วน
กิจกรรมภายในพระราชสำนักฝ่ายในชาย
5
“นายใน” : ชุมชนชายล้วนกับบริบทสังคมการเมือง
เพศภาวะของชาย และ “ความเป็นชาย”
6
บทสรุป
เพศภาวะของ “นายใน”
7
-
“นายใน” และพระราชสำนักฝ่ายในชายในบริบทสังคมการเมือง
8
-
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า ในวิทยานิพนธ์จะมีโครงเรื่องที่เน้นการมองในกรอบวิชาการทางด้านเพศ สภาวะ/ความเป็นชาย และความสัมพันธ์กับบริบทสังคมการเมืองชัดเจนกว่าเล่มพ็อคเก็ตบุ๊คที่เน้น พุ่งเป้าไปสู่พื้นที่พิเศษและความคลุมเครือ อันเป็นวิธีการทางการตลาดที่จะแปรงานวิชาการที่ต้องปีนบันไดอ่าน มาสู่งานเขียนที่อ่านง่ายและมีประเด็นชวนติดตามมากกว่า
ลักษณะงานเขียนดังกล่าวจึงคล้ายกับสารคดีประวัติศาสตร์ที่สนองความอยาก รู้อยากเห็นโดยเฉพาะบทที่ 3 อันกล่าวถึง “นายในทรงโปรดในรัชกาลที่ 6” ยิ่งทำให้เรื่องราวถูกผูกมัดกับตัวตนบุคคลผู้กระทำนั่นคือ รัชกาลที่ 6 เป็นองค์ประธานและรายล้อมด้วยคนพิเศษ
คำโปรยหน้าปกยิ่งชวนสงสัยและหลอกล่อให้ผู้อ่านติดตามว่า “เมื่อราชสำนักฝ่ายใน ไม่ต้องการสตรี จึงไม่มี “นางใน” แล้วใครแทน?”
การอ่านตัวบทจากงาน 2 ชิ้นนี้ จึงค่อนข้างมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในเล่มพ็อกเก็ตบุ๊ค การมีฉลากนักวิชาการทางเพศชื่อดัง 2 ท่านมาเปิดหัวนั่นคือ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และธเนศ วงศ์ยานนาวา ย่อมการันตี ความน่าเชื่อถือทางวิชาการมากขึ้นไปอีก สำหรับชลิดาภรณ์นั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตรวจวิทยา นิพนธ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายในอาจอ่านได้หลายแบบ หลายแง่มุมและเปี่ยมไปด้วยน้ำเสียงความชื่นชม และความพึงพอใจในแง่ของการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือไปจากการกล่าวถึงในแง่ของกรอบคิดทางเพศ ในขณะที่ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวถึงบริบทประวัติศาสตร์ความคิดเรื่องความเป็นชายเป็นหญิงตั้งแต่หลัง ศตวรรษที่ 19 ยุโรปที่มีพื้นหลังคือ ศาสนาคริสต์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ และในบทความนี้ก็มีข้อถกเถียงในเชิงมานุษยวิทยาเกี่ยวกับความหลากหลายของ ความเป็นชายเป็นหญิงที่ต่างจากสังคมตะวันตกฝรั่งผิวขาว ไม่ว่าจะเป็นทางเอเชีย หรือแอฟริกา และแน่นอนว่า ในความหลากหลายของพื้นที่หลังนี้คือ ดินแดนเป้าหมายของเจ้าอาณานิคมตะวันตกที่มาพร้อมกับศาสนาคริสต์และความทัน สมัย (modernization) แต่นั้นมาโลกทางเพศจึงนำไปสู่การปะทะกันในหลายมิติ  ดังนั้นนัยของนายในจึงมีนัยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกระแสลมตะวันตก นี้ด้วย

ปัญหาในมิติประวัติศาสตร์นิพนธ์
นาวิน วรรณเวช [2] ได้วิจารณ์ นายใน ว่า “ตีความเกินตัวบท” และ “ลากเข้าความ” เพื่อจะเหมารวมการตีความบนฐาน Homo-erotic ตามธงที่ชานันท์ได้วางไว้
ในอีกด้านหนึ่งก็คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งนับเป็นเอกสารชั้นรอง ที่บันทึกหลังเหตุการณ์มาเป็นเวลานาน โดยหลักการแล้วมีสิทธิที่จะคลาดเคลื่อนได้ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้บันทึกที่ขาดจากบริบทช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ทำให้การใช้หลักฐานดังกล่าวจึงมีปัญหาไม่แพ้ไปกับการ “ตีความเกินตัวบท” แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่นำเอาหลักฐานประเภทหนังสืองานศพมาใช้จำนวน มาก แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นการศึกษาเรื่อง mentality ของนายใน หรือผู้เกี่ยวข้องกับนายในยุคหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต จะทำให้หลักฐานชั้นรองนี้กลายเป็นหลักฐานชั้นต้นที่จะสนับสนุนได้หนักแน่น มากยิ่งขึ้น
อีกประเด็นก็คือ ความต่อเนื่องและบริบทของเวลาในงานเขียน นับได้ว่าเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการอ้างอิงเอกสารชั้นรอง จึงปรากฏข้อเขียนที่ด่วนสรุปจากตัวบทอย่างคำว่า “ตลอดมา” “ทั้งหมด” “ทุกครั้ง” “ตลอดเวลา” “เสมอ” ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสรุปจากข้อมูลในเชิงสถิติ

ตัวอย่างเช่น
‘พระยานรรัตนราชมานิตจึง “ไม่เคยค้างที่บ้านเลยค้างวังตลอดมา” มีโอกาสกลับบ้านก็ช่วงมื้อเย็นเท่านั้น’ [3] [อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระภิกษุ ธมฺมวิตกฺโก มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) (พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม), 2515, น.18]

“...เจ้าพระยารามราฆพยังสามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมจากจดหมาย เนื่องจากล่วงรู้ความในพระราชหฤทัยทั้งหมด[4] [หญิงอันเป็นที่รักของพระเจ้าแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : สมาคมศิษย์เก่าอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2538]

“พระยาอนิรุทธเทวาจึงใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 อย่างมากแทบตลอดเวลาแม้แต่ยามสรง” [5] [เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอกเจ้าพระยารามราฆพ (..เฟื้อ พึ่งบุญ) (พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทเจริญชัย), 2493, น.48-53]

“ทว่าพระองค์ก็ทรงใช้สอยพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมืองอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน จนแทบจะไม่มีเวลานอนเรือนหอของตนเอง ต้องคอยรับใช้พระองค์เกือบตลอดเวลา[6] [ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2512, น.9]

นางใน/นายใน กับ ชาย/หญิง  กับ ปัญหาคู่ตรงข้าม
จากความที่เป็นวิทยานิพนธ์ของวิชาเกี่ยวกับสตรีศึกษา โดยชื่อเรื่อง, จุดประสงค์และโจทย์แล้ว จะเป็นการเน้นไปที่ เพศภาวะ (Gender) มากกว่า เพศวิถี (Sexuality) นั่นหมายถึงการสื่อไปที่การมองสิ่งที่เรียกว่า  “นายใน” บนกรอบของการแบ่งความเป็นชาย เป็นหญิงที่ยังมี “ความเป็นชาย” เป็นศูนย์กลาง
สงสัยว่า กรอบนี้จะทำให้มีปัญหาการมองแบบคู่ตรงข้าม (binary opposition) หรือไม่ แบบที่ธเนศได้กล่าวไว้ว่า การมองเช่นนี้อาจทำให้ไปสู่ปัญหาที่มากับวิธีคิดแบบคริสต์และความทันสมัย หรือไม่ กรณีที่กังขากันก็คือ การสร้างตัวแบบขึ้นมาเพื่อศึกษาในสิ่งที่เรียกว่า “นายใน” ที่ผู้เขียนออกตัวตั้งแต่ต้นแล้วว่า ใช้เป็นตัวแบบเพื่อเปรียบเทียบกับ “นางใน” ในวิทยานิพนธ์ถึงกับยกเรื่อง “นางใน” ขึ้นมาเป็นบทหนึ่งเลย
ทั้งที่บทบาทของ “นายใน” นั้นนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับ “นางใน” แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงไม่น้อยก็คือ ตำแหน่งที่เรียกว่า “มหาดเล็ก” ว่ากันว่า ตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นอย่างช้า และไม่ได้มีศักดินาใหญ่โตอะไรนัก ประมาณนา 600-800 [7] และ มหาดเล็กได้ถูก modernized ในช่วงรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทำการจัดระเบียบพร้อมกับโครงสร้างการบริหารราชการสมัยใหม่ โดยจัดให้มหาดเล็กอยู่ในความควบคุมดูแลใกล้ชิดของกษัตริย์เพื่อดูแลพื้นที่ ส่วนตัว ถึงกับมีการตรา พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก ขึ้นมาในร.ศ.112 (พ.ศ.2436) [8] ต่อ มาได้รับการยกระดับไปสู่การตั้งเป็นกองทหาร ที่เรียกว่า "กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์" อย่างไรก็ตามหลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่า “ควรจะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลป์ปาว ศานต์" จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามกรมทหารนี้ว่า “กรมทหารบกราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ ให้มีเครื่องหมายเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่อินธนูทหารในกรมนี้ทั่วไป [9]
ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการจัดการปรับบุคลากรรายรอบพระองค์ และพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาใหม่ มหาดเล็กจึงเกิดขึ้นใหม่ในบริบทของกองกำลังส่วนพระองค์ด้วย ขณะที่บุคลากรมหาดเล็กของรัชกาลที่ 6 ได้แยกความเป็น “ทหาร” ออกมาในลักษณะที่เป็นกึ่งพลเรือน-กึ่งทหารมากกว่า โดยเลี่ยงยศแบบทหาร แต่มียศและลำดับชั้นของตนเองที่ล้อไปกับทหาร แปลงข้อมูลมาเป็นตารางได้ดังนี้ [10]

ตารางแสดงการเปรียบเทียบยศทหาร กับ ยศมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6
ยศทหาร
ยศมหาดเล็ก
นายพล
มหาอำมาตย์
นายพล
เสวก (ใช้สำหรับกระทรวงวัง)
นายพล
จางวาง
นายพันเอก
หัวหมื่น
นายพันโท
รองหัวหมื่น
นายพันตรี
จ่า
นายร้อยเอก
หุ้มแพร
นายร้อยโท
รองหุ้มแพร
นายร้อยตรี
มหาดเล็กพิเศษ
ว่าที่ร้อยตรี
มหาดเล็กสำรอง
พลทหาร?
ราชบุรุษ (ลำดับชั้นต่ำสุด)

นั่นจึงไม่แปลกอันใดที่รัชกาลที่ 6 จะผสมผสานความเป็นมหาดเล็ก กับ การ import ไอเดียลูกเสือจากอังกฤษมาสร้างคณะเสือป่า แม้จะถูกมองว่าเป็นของเล่น แต่การตั้งกองกำลังดังกล่าวสอดคล้องกับไอเดียมหาดเล็กรักษาพระองค์อยู่ด้วย
อีกกรณีหนึ่งก็คือ ความเป็นชายที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่วังหลวง อย่าง “ขันที” “นักเทษ” ที่มีบทบาทมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักสยามนั้นว่ากันว่า ถูกจำกัดเป็นเพียงแค่ผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวง โดยศัพท์แล้ว ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน อนึ่ง คาดว่า “ขันที” “นักเทษ” เหล่านี้พึ่งจะหายไปในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง [11]
ดังนั้น ความลื่นไหลทางเพศของบุรุษในราชสำนักจึงไม่อาจกล่าวเพื่อเทียบกับ “นางใน” แต่เพียงมิติเดียว นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียกว่า “นายใน” กับ “นางใน” ในพื้นที่ราชสำนักนั้นเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาลำดับห้วงเวลาตั้งแต่ สมัย “มหาดเล็กพระบรมฯ” เมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ยังเป็นสมเด็จพระยุพราชฯ  การขึ้นครองราชย์ มหาดเล็กที่ใกล้ชิดจัดการความสัมพันธ์กับนางในแต่เดิมอย่างไร
นอกเหนือไปจากนั้น หากไม่นับพระราชชนนีแล้ว อดีตสนมของอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 5 ที่มีบริวารจำนวนมากและคุมพื้นที่สำคัญในวังไม่ว่าจะเป็นห้องเครื่อง ฯลฯ นั้นมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร

ชุมชนชาติ และชุมชนส่วนพระองค์
ปัญหาของการมองชุมชนชายล้วนนั้น กล่าวได้ว่า มีการพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์น้อยเกินไป แม้งานนี้จะทำให้เห็นว่า รัชกาลที่ 6 สร้างชุมชน (community) ขึ้นมาเพื่อต่อกรและต่อรองกับอำนาจของฝ่ายปฏิปักษ์ที่มีอยู่หลายเฉด ตั้งแต่พระญาติ ไปจนถึง ทหารที่นำไปสู่กบฏ รศ.130 ก็ตาม แต่น้ำหนักของงานนี้ได้พุ่งเป้าไปที่เหตุและผลที่จำกัดอยู่ที่ actor และพื้นผิวทางเพศรอบพระองค์เพียงอย่างเดียว ภาพของรัชกาลที่ 6 ที่ปรากฏจึงมีลักษณะเหมือนกับ “คนนอก” ของสถาบันกษัตริย์ทั้งที่ตัวเองนั่งบัลลังก์อยู่
ที่ตลกร้ายก็คือ รัชกาลที่ 6 กลับกลายเป็นรูปปฏิมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามนิยมเป็นอย่างยิ่ง
หากถอยออกมามองดูบริบทแล้ว จากงานวิจัยของ สายชล สัตยานุรักษ์ ได้สรุปปัญหาทางการเมืองที่รัชกาลที่ 6 ต้องเผชิญอันมีผลต่อการนิยาม “ชาติไทย” “ความเป็นไทย” ไว้ดังนี้ [12]
1) ความกดดันที่ต้องครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 5 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
2) การทำให้ประชาชนยอมรับการนำของกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุด และยอมรับพันธกิจที่ประชาชนต้องมีต่อรัฐในสังคมที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมไป อย่างมาก
3) ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์ เจ้านายและข้าราชการ
4) การแข่งขันกับ “ชาตินิยม” ที่ถูกเสนอโดยข้าราชการคนจีน, ลูกจีนหรือจีนสยาม
5) การเลือกรับวัฒนธรรมตะวันตกในขณะที่ต้องการจะรักษาความเป็นไทย

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จึงทำให้รัชกาลที่ 6 โฟกัสไปที่การสร้างชุมชนชาติขึ้นมา เป็นชุมชาติในอุดมคติที่พระองค์คิดว่าจะสามารถควบคุมได้ดังใจนึกตามขนบของ กษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุคนี้จึงประกอบไปด้วยรูปแบบ (form) ของการจัดระเบียบความคิด และกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แกนหลักที่พระองค์สถาปนาก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, “คณชน”, การจัดรูปแบบเวลาใหม่, การออกกฎหมาย

ชุมชนชาติและเวลาแบบใหม่
อาจกล่าวได้ว่า การประกาศใช้พุทธศักราช ในปี พ.ศ.2455 ที่แสดงเวลาแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเวลาแบบจารีตที่อิงศาสนากับ เวลาเชิงประจักษ์ที่มากับสำนึกผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ที่เกิด ขึ้นราวรัชกาลที่ 4 [13] ก่อน หน้านั้นมีการ set เวลาด้วยการสร้างศักราชที่เป็นอัตลักษณ์ของ royal family คือ รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) ดังที่รู้จักกันดีจากเหตุการณ์ ร.ศ.112
เหตุผลหนึ่งของ รัชกาลที่ 6 ประกาศใช้พุทธศักราชก็คือ เป็นเครื่องมือในการอธิบายเวลาในอดีตที่ย้อนหลังไปไกลกว่า ร.ศ. 1 (พ.ศ.2325) [14] นั่น หมายถึงสำนึกทางประวัติศาสตร์ อันเป็นสำนึกใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับความคิดเกี่ยวกับเวลาชุดใหม่ที่มองเวลา เป็นเส้นตรง ไม่ใช่เป็นวัฏฏะแบบเวลาจารีตโบราณ
ไม่เพียงเท่านั้น ในยุคนี้ก็อาจนับเป็นยุคแห่งความเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ที่มีทั้งหนังสือ พิมพ์ที่ออกเองโดยรัชกาลที่ 6, หนังสือพิมพ์ในประเทศที่มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เป็นระยะ นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการตอบโต้แล้ว หนังสือพิมพ์ยังสร้างชุดของเหตุการณ์ที่แตกต่างหลากหลายจัดระเบียบให้มาอยู่ ในหน้ากระดาษเดียวกัน ซึ่งก็เป็นการสร้างชุมชนในจินตนาการร่วมกันแบบหนึ่งด้วย [15]

ชุมชนชาติและเพศ
ชุมชนชาติของรัชกาลที่ 6 ถือได้ว่า เริ่มมีการแบบแบ่งแยกเพศชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโดยตรงของพระองค์หรือไม่ แต่รูปแบบกฎหมายนี้ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ความเป็นชาย-ความเป็นหญิงในสังคมไทย และจัดระเบียบความสัมพันธ์ในครอบครัวขึ้นมาใหม่ด้วยอิทธิพลแบบตะวันตก และสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “วิคตอเรียท้องถิ่น” หากนับดูก็เป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ตัวอย่างเช่น  พระราชบัญญัตินามสกุล พ..2456 ที่ให้ความสำคัญแก่การสืบสายเลือดทางลูกชายจากเดิมที่สืบสายเลือดได้ทั้งลูกชายและลูกสาว [16] หรือ พระราชกฤษฎีกาคำนำหน้านามสตรี พระพุทธศักราช 2460 [17]

รอยัล อิเม “จิ้น” คอมมิวนิตี้
ชุมชนส่วนพระองค์
เราจะเห็นการสร้างชุมชนส่วนพระองค์ ในหลายรูปแบบตั้งแต่ การสร้างโรงโขน โรงละคร กรมมหรศพ ต้องกล่าวไว้ก่อนว่า การละครนั้นเป็นที่นิยมมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โรงละครจึงมิได้เป็นแหล่งพบปะกันของชายรักชายแบบที่ นายใน อ้างถึงในงานเขียนตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียวก็เป็นได้ (ที่เป็นเรื่องใหญ่เป็นโตมาก่อนก็คือ บทละคร พญาระกา)
แม้การสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้สร้างเป็นโรงเรียนกินนอนแบบ public school ของอังกฤษ [18] และ ยังเป็นการสร้างบุคลากรเพื่อรับใช้พระองค์เองมากกว่า ต่างจากโรงเรียนมหาดเล็กที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ฝึกข้าราชการกระจายไปรับใช้ในกรมต่างๆ [19]
ขณะที่สโมสรเสือป่า ที่ได้เยี่ยงอย่างมาจาก scout จากอังกฤษเช่นกัน ก็เป็นฐานกำลังในเชิงสัญลักษณ์ในวันที่พระองค์ไม่มีฐานกองทัพสนับสนุนในทาง ปฏิบัติ
ชุมชนดุสิตธานี ที่ปัจจุบันถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำมาเชิดว่าเป็น การทดลองชุมชนประชาธิปไตยแห่งแรก ก็ถูกคนในยุคสมัยนั้นหยันว่าเป็น บ้านตุ๊กตา เสียมากกว่า

พื้นที่ส่วนพระองค์
หนังสือนี้ เน้นการกล่าวถึง ลักษณะทางกายภาพของ Body การกล่าวถึงแผลจากการผ่าตัด ไปจนถึงสาเหตุและการสวรรคตรวมไปถึงการสัมผัส body และสอดส่องเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน ผ่านบันทึกต่างๆ ซึ่งเป็นการพยายามเข้าไปอธิบายถึงพื้นที่รโหฐาน และชี้นัยทางเพศ ในส่วนนี้มีโอกาสที่จะตีความเกินตัวบทได้มากดังที่มีหลายคนวิจารณ์ไว้แล้ว

พื้นที่ของมหาดเล็กใกล้ชิด
มหาดเล็กที่อยู่ใกล้ชิดกษัตริย์ พบว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว จนทำให้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินและความมั่งคั่งในนามบุคคล ไม่ใช่ในนามความดีความชอบแผ่นดิน ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับ ภาระค่าใช้จ่ายและระบบการคลังของรัฐ ที่กำลังมีปัญหาอย่างหนัก ในกรณีที่น่าสนใจก็คือ การสร้างพื้นที่เชิงเกียรติยศให้แก่มหาดเล็กผู้ใกล้ชิดด้วยการสร้างอาคาร สถานที่พระราชทานอย่าง บ้านนรสิงห์-เรือนทับขวัญ (เจ้าพระยารามราฆพ), บ้านบรรทมสินธุ์-เรือนทับแก้ว (พระยาอนุรุทธเทวา), และพระราชทานที่ดินเพื่อการจัดเก็บรายได้-ค่าเช่า [20]
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนพระองค์ และผลประโยชน์สาธารณะในนามของกระเป๋าเงินที่ต้องแยกกัน ดังที่เราจะเห็นใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่ามี การกล่าวถึง กรณีเงินทั้งสองส่วนที่ต้องรักษาผลประโยชน์กันทั้งฝ่ายพระองค์และฝ่ายสมบัติแผ่นดิน ดังที่ทรงเขียนไว้ว่า “เช่นนั้นฉันคงมิได้ยอมตกลงตามคำขอของ...ว่าให้แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเป็นคนละแพนก” [21] นั่นทำให้การขัดกันของฝ่ายต่างๆ ที่ตรงข้ามพระองค์จึงมิได้อยู่ที่ความรังเกียจ “นายใน” ด้วยตัวของ “นายใน” เอง
แน่นอนว่า ชุมชนเหล่านี้ไม่เพียงเยียวยาพระองค์ แต่เป็นการสร้างป้อมค่ายความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อิงตัวกษัตริย์ ขณะที่คู่ขัดแย้งของพระองค์ในราชวงศ์ก็ยืนระยะห่างออกไป และในทางตรงกันข้ามอย่างสุดกู่ ชนชั้นกลางที่เติบโตจากระบบราชการสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน ก็เริ่มสร้างคำอธิบายกับสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” ในอีกรูปแบบที่สัมพันธ์กับสามัญชน-ราษฎรมากยิ่งขึ้น หากนับถึงปัจจุบัน ความสำเร็จของรัชกาลที่ 6 นั้นถือว่ายังดำรงอยู่ เป็นอย่างดีการสืบเนื่องของสถาบันลูกเสือ กระแสชาตินิยมชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มรดกวรรณคดี ฯลฯ ขณะที่ปฏิปักษ์ของพระองค์อย่างกบฏ ร.ศ.130 ได้ถูกทำให้กลายภาพเป็นผู้ทรยศ หรือไม่ก็ถูกทิ้งไว้ให้ปิศาจแห่งกาลเวลากัดกินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุดที่ ณัฐพล ใจจริงได้รื้อฟื้นการต่อสู้ทางความคิดของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง
การที่รัชกาลที่ 6 ไม่ได้สร้างชุมชนนางในที่สัมพันธ์กับเครือข่ายทางการเมืองตามอย่างขนบที่ ผ่านมา นอกจากเป็นประเด็นของบุคลิกส่วนตัวแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางการเมืองเชิงพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย การดองกันด้วยความสัมพันธ์การแต่งงานแบบจารีตด้วยระบบเอกกษัตริย์กับมเหสี และสนมจำนวนมหาศาลแบบราชาธิราชแทบจะไม่ความสำคัญอีกต่อไปแล้ว เมื่อรัฐสยามสามารถผนวกเอาล้านนาและหัวเมืองทางใต้มาอยู่ในอาณัติ นั่นย่อมแสดงให้เห็นการก้าวสู่พื้นที่การเมืองสมัยใหม่ในอีกมิติหนึ่ง

Body of Kingdom สู่  Body of King
เราพบว่า มหาดเล็กในสมัยก่อนรัชกาลที่ 6 โดยมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกส่งออกไปนอกพื้นที่ส่วนตัว เพื่อไปสังเกตและเป็นหูเป็นตา แทนกษัตริย์ ขณะที่มหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 กลับอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว [22]
หรืออาจกล่าวได้ว่า สมัยรัชกาลที่ 5 มหาดเล็กถูกส่งไปดูแล Body of Kingdom ในนามของรัฐสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากรัฐแบบจารีต ที่มีการจัดการพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เนื่องจากเรียกร้องการดูแล และเข้าถึงพระราชอาณาเขต ประชากรและทรัพยากรที่ชั่งตวงวัดได้ ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการที่รัฐพยายามจะยื่นมือลงไป จัดการกับพื้นที่ต่างๆ โดยตรง ไม่ผ่านกลุ่มการเมืองท้องถิ่นอีกต่อไป
ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 6 บุคคลในตำแหน่งมหาดเล็กนั้นมีหน้าที่ดูแล Body of King มากกว่า ขณะที่การจัดการพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่ได้หยุด แต่เป็นกลไกของระบบราชการสมัยใหม่ที่ดำเนินการไป แต่ดังที่กล่าวมาแล้ว รัชกาลที่ 6 ไม่ได้บริหารราชการโดยราบรื่น แต่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มีคู่ขัดแย้งอยู่รายรอบตั้งแต่ชั้นพระญาติวงศ์ จนถึง ทหารที่ควรจะเป็นกองทัพสมัยใหม่ที่รับใช้กษัตริย์ แม้กระทั่งพลเมืองใหม่ชาวจีนที่พระองค์ตั้งแง่รังเกียจในฐานะที่เป็น ยิวแห่งบูรพาทิศ
ในด้านหนึ่งแล้ว ยังมีความพยายามที่จะ centralized พระองค์เข้ากับ “ชาติ” อีกด้วย มิติของ Body of King จึงมิใช่ Body ที่เน้นการผัสสะ หรือเพศรสเท่านั้น แต่เป็นการที่หา postion ของพระองค์ให้ทัดเทียมกับความเป็น King ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบที่รัชกาลที่ 5 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในด้านพระคลังที่กำลังร่อยหรอ ความไม่พอใจของกลุ่มคนหลากหลายสาขาที่เริ่มปะทุ พื้นที่ที่ชานันท์เรียกว่า “นายใน” อาจเป็น safety zone เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่พระองค์ใช้เป็น war room เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นได้
ดังนั้น การเขียนและเรียบเรียง นายใน เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากงานเขียน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ที่ ทำให้โฟกัสอยู่กับ ความคิดคำนึงของรัชกาลที่ 6 ในช่วงท้ายพระชนม์ชีพ ที่จดจ่ออยู่ในระดับบุคคล จึงหลีกเลี่ยงการอธิบายประวัติศาสตร์ผ่านความรู้สึกไม่ได้ ยังมิพักว่า หนังสือเล่มนี้ที่มีบทบาทประดุจสารตั้งต้นของ นายใน เป็นหนังสือ ค่อนข้างส่วนตัวที่มอบหมายให้บุคคลสู่บุคคล อันจะนำไปสู่ข้อถกเถียงกันต่อไปในเรื่องของ การปกป้องพื้นที่ส่วนตัว กับ การวิพากษ์วิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ

อ้างอิง
[1] นาวิน วรรณเวช. “นายใน กับปัญหา “ความจริงในเรื่องเล่า” และ ร่างทรงของอดีต” ใน สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 19 : 2 (มีนาคม-เมษายน 2556) : 248
[2] นาวิน วรรณเวช. “นายใน กับปัญหา “ความจริงในเรื่องเล่า” และ ร่างทรงของอดีต” ใน สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 19 : 2 (มีนาคม-เมษายน 2556) : 252
[3] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.43
[4] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.70-71
[5] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.74
[6] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.86
[7] วิกิพีเดีย. “มหาดเล็ก”.  http://th.wikipedia.org/wiki/มหาดเล็ก (12 พฤษภาคม 2556) อ้างถึง จำนงค์ ทองประเสริฐ. สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 22 (พิมพ์ครั้งที่ 1, มปท., 2533), หน้า 14928,
[8] “พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก” ใน ราชกิจจานุเบกษา, ร.ศ.112, เล่ม 10, น.201-205
[9] วิกิพีเดีย. “กรมทหารราบที่_1_มหาดเล็กรักษาพระองค์”.  http://th.wikipedia.org/wiki/กรมทหารราบที่_1_มหาดเล็กรักษาพระองค์ อ้างถึง ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา) หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (กรุงเทพฯ: กรีนแมคพาย), 2547 และ สมุดภาพเครื่องแบบทหารบก กรมกำลังพลทหารบก พ.ศ. 2541
[10] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.50
[11] วินัย พงศ์ศรีเพียร. "กะเทย / บั๊ณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ" ใน สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย 31. ชายคาภาษาไทย (10) http://www.gotoknow.org/posts/151017
[12] สายชล สัตยานุรักษ์. ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535) รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550, น.63-86
[13] ดูใน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ.2475 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), 2538
[14] “ประกาศวิธีนับวันเดือนปี” คัดจากพระราชบัญญัติรัชกาลที่ 6 ใน ราชกิจจานุเบกษา, พ.ศ.2455, น.264 อ้างถึงใน วินัย พงศ์ศรีเพียร. วันวาร การเวลา นานาศักราช (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์), 2552, ภาคผนวก 9.2
[15] แอนเดอร์ สัน, เบน. ชุมชนจินตกรรม บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2552
[16] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.170
[17] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.171
[18] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.112
[19] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.115
[20] ชานันท์ ยอดหงษ์. "นายใน" : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัว วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555, น.80 และ 88
[21] ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน), 2555, น.180
[22] ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพฯ : มติชน), 2556, น.28

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น