แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทบทวนความเป็นผู้ถูกกดบังคับ : ความไม่รู้ว่าถูกทุนกดบังคับ

ที่มา ประชาไท


เกริ่นนำ
ทำไมคำว่า เบี้ยวบิด จึงมีภาพพจน์ทางลบ?  ใครเป็นผู้กำหนดนิยามทั่วไปของมัน?  แล้วทำไมคำว่า ตรง จึงมีภาพพจน์ทางบวก? ใครเป็นผู้กำหนดนิยามทั่วไปของมัน ที่สำคัญ ใครเป็นผู้สถาปนา คำว่า “ตรง” ให้มีอำนาจเหนือคำว่า “เบี้ยวบิด”? ที่สำคัญ ใครผูกขาดความดีเสมอไปของคำว่า “ตรง” และผูกขาดความไม่ดีเสมอไปของคำว่า “เบี้ยวบิด” ประเด็นเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งคำถามในโลกของนักคิดไม่นานนัก เนื่องจาก พวกเขาเริ่มสงสัยเกี่ยวกับตำนานวีรบุรุษที่แสนดีกับปีศาจที่แสนชั่วร้าย? เช่นเดียวกับคำว่า “ทุนนิยม” (Capitalism) ซึ่งมีภาพพจน์ชั่วร้ายบ้าง ดีงามบ้างแปรผันไปตามการโฆษณาชวนเชื่ออันอิงแอบอยู่กับความปักใจของแต่ละ สำนักคิด กระนั้นก็ดี สิ่งที่เป็นมายาคติ (Myth) แบบนี้ กลับมีผลกระทบโดยตรงต่อวิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คน กลายเป็นว่าเรื่องที่จับต้องไม่ได้ประมาณนี้ (Abstract) มีอิทธิพลมากยิ่งกว่าเรื่องที่จับต้องได้ จนบางครั้งก็คล้ายๆจะเป็นไสยศาสตร์ไป (Superstition) แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อโลกทั้งโลกตกลงใจกันมานานนับร้อยปีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการ ปกครองทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคด้วยวิธีการอุปโลกน์ทางการเงินการธนาคารแบบ นี้ ดังนั้น โลกจึงมี “ผู้ถูกกดบังคับ” (Subaltern Class) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งชีวิตจริงของพวกเขามักไม่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เท่าไรนัก ที่จริง ไม่มีใครได้ยินหรือสนใจเสียงของพวกเขาเลย และที่จริงกว่านั้นเสียงของคนชายขอบที่เราเริ่มได้ยินกันขึ้นมาบ้างแล้ว ก็ไม่ใช่ “ผู้ถูกกดบังคับ” เสมอไป?

เนื้อหา
เพื่อทบทวนความเป็นผู้ถูกกดบังคับ (Subaltern) ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติของกรัมชี่ (Gramsci) ที่ใช้เป็นภาพตัวแทนของชนชั้นล่าง (Proletariats) กระนั้นก็ดี นักคิดรุ่นหลังกรัมชี่ก็ช่วยขยายขอบเขตและคุณลักษณะของคำนี้ให้กว้างขวาง เป็นต้น สปีวัค (Spivak) เสนอว่า ชนชั้นล่าง (หรือชนชั้นแรงงาน) ไม่จำเป็นต้อง ผู้ถูกกดบังคับ ก็ได้ และกลุ่มนักคิดแนวเดียวกับสปีวัค ก็เห็นว่า “ผู้ถูกกดบังคับอย่างแท้จริงจะต้องไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังถูกกดบังคับอยู่” นั่นหมายถึง ผู้ถูกกดบังคับจะเป็นผู้ที่ถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา และการเป็น “สิ่งที่ถูกกระทำ” (Object) แบบนี้ ทำให้พวกเขาไม่เคยรู้จัก “ความเป็นองค์ประธาน” (Subject)  นั่นหมายถึง เขาไม่สามารถตระหนักรู้ถึงความมีตัวตนของตัวเอง (Self-awareness) และสปีวัคเห็นว่า หน้าที่ของนักคิดหรือผู้ปรารถนาจะช่วยเหลือผู้ถูกกดบังคับเหล่านั้น คือ การกระตุ้นให้พวกเขาตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการเป็นองค์ประธานของตน นั่นคือ เสรีภาพในการเล่าเรื่องราว วิธีคิด วิถีชีวิต และความคิดเห็นในระดับปัจเจกบุคคลโดยปราศจากความหวาดกลัวและหลุดพ้น จากกระบวนการทำให้มนุษย์กลายเป็นแค่วัตถุ (Objectivization) และเมื่อบรรดาผู้ถูกกดบังคับเหล่านั้นเริ่มที่จะตระหนักสิทธิเสรีภาพแห่ง ความเป็นองค์ประธานของตนแล้ว สัดส่วนของความเป็นผู้ถูกกดบังคับจะถูกลดทอนลงไป จึงกลายเป็นว่าศัพท์ “ผู้ถูกกดบังคับ” จะเป็นเพียงภาพตัวแทน (Representative Image) ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกกดบังคับเริ่มมีสิทธิมีเสียง ความเป็นผู้ถูกกดบังคับของเขาจะค่อยๆหายไป
              
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่กดบังคับมนุษย์ หรือพูดให้ชัดคือ “กระบวนการแปรสภาพมนุษย์เป็นวัตถุเพื่อการกดบังคับ” ไม่ได้มีแต่เรื่องอำนาจที่เกี่ยวกับชนชั้นปกครอง-ชนชั้นถูกปกครองเท่านั้น เพราะในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุนอันมีความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เข้ามาเกี่ยว ข้อง เช่น ที่ดิน หรือ การถือหุ้น นั่นหมายถึง ชนชั้นที่ถือครองกรรมสิทธิ์นั้นย่อมกดบังคับผู้อื่นเพราะต้องการมี “ผลกำไร” (Profit) ต่อไป ซึ่งหน่วยแรกที่กดบังคับง่ายที่สุด คือ กดบังคับผู้ไม่มีทุน (Propertyless) ถ้าอิงความเห็นของสปีวัค อาจทำให้เราได้แนวคิดว่า “มีผู้ไม่มีทุนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกกดบังคับ?” นั่น ทำให้ คนกลุ่มที่ว่าเป็น “ผู้ถูกกดบังคับ” (Subaltern) ตลอดกาลไปโดยปริยาย แน่นอน ความเป็นผู้ถูกกดบังคับ จะทำให้ พวกเขา ยินดีและยินยอมให้อำนาจกดบังคับทำการครอบงำปกครอง ที่สุดแล้ว ความเป็นองค์ประธานซึ่งคือสิทธิเสรีภาพของตน จะถูกกลืนหายไปเพราะเรื่องราวชวนเชื่อต่างๆ นั่นทำให้ กระบวนการทำให้ตื่นรู้ (Self-awareness) เป็นไปได้ยาก และจากความยากนี้ทำให้นักคิดซึ่งมีเจตนาที่ดีอาจทำเกินหน้าที่ไป ซึ่งการถูกกดบังคับลักษณะนี้ซับซ้อนกว่าการเป็นผู้ถูกกดบังคับในลักษณะของ การกดบังคับทางเพศ หรือปัญหาความยากจน และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ประชากรส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีหน้าที่การงานหรืออำนาจเคลื่อนไหว นิ่งเงียบและไม่ใช้สิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด
              
พูดจากมุมมองฟูโกต์ (Foucault) มนุษย์ถูกกดบังคับด้วยอำนาจของวาทกรรม ทำให้ไม่กล้าที่จะทดลอง เล่น หรือเสี่ยงชีวิต (ความสุขสบายของตน) นั่นหมายถึง ความไม่กล้าที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นด้วย ถ้าตนเองไม่ได้ “ผลกำไร” (Profit) แน่นอนพลังแห่งวาทกรรมที่ว่า ทำให้มนุษย์ตกอยู่ภายใต้การบงการของอำนาจที่แปรสภาพสิ่งมีชีวิตรู้คิด (Being) ให้เป็นเพียงวัตถุไร้ความคิด ก็เพราะว่ามนุษย์เหล่านั้นไม่รู้ว่าตนเองไม่เคยเป็น “องค์ประธาน” แม้แต่เล็กน้อย กลายเป็นว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำในโครงข่ายสังคมที่ซับซ้อนมาโดยตลอด นั่นจึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ใช้อธิบายว่า มนุษย์พอใจที่จะตกเป็นผู้ถูกกดบังคับตลอดไป เพราะอยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่จะตามมาในฐานะองค์ประธาน บ่อยครั้ง ชน ชั้นปกครองจะผลิตวาทกรรมหรือประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การยอมให้ถูกกดบังคับแต่โดยดีมีผลประโยชน์เช่นไร เรื่องนี้ชัดเจนมากเมื่อพูดกันด้วยทุน ใครเล่าจะไม่ยอมให้ทุนกดบังคับ?
              
แต่โลกใบนี้ มีความซับซ้อนทางพฤติกรรมมากเสียจนโลกเกิดอาชญากรรม คำว่า “ทุนกดบังคับ” หรือ “นายทุนบังคับ” เป็นภาพพจน์ที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับใครก็ตามที่รู้จัก “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” เพราะนายทุนเกิดขึ้นมาอย่างเป็นล่ำเป็นสันกว่าในยุคกลางตอนปลายหรือยุคแสง สว่าง พร้อมกับโรงงานและการผลิตเชิงเดี่ยวทั้งหลาย (ที่รัฐสนับสนุน) แต่เป็นเรื่องเก่าคร่ำครึไปแล้วสำหรับศตวรรษที่ 21 เพราะยุคหลัง สมัยใหม่ (หลังโลกาภิวัตน์สำหรับชาวไทย) “การกดบังคับของนายทุน” ถูกประกอบสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมที่แนบเนียนดีงามไปเสียหมดด้วยวิธีการทางการ ตลาด สงครามผลิตซ้ำและโฆษณาชวนเชื่อจึงมีพลังและบทบาทอย่างสูงในโลกยุคปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนด้วยสังคมเสมือนจริงอย่างอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ความเสมือนจริง (Hyper-reality) ได้กลายเป็นสิ่งที่นักคิดต้องพูดถึงกันในยุคนี้ เพราะไม่จำเป็นที่เรื่องเล่าเสมือนจริงนั้นจะคือความจริง เพราะเรื่องนั้นอาจเป็นเรื่องแต่งที่ถูกผลิตซ้ำขึ้นเพื่อกดบังคับ หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ เป็นเรื่องเล่าที่กล่อมให้ชนชั้นผู้ไม่มีทุน ยินดีและยินยอมให้ถูกกดบังคับต่อชั่วกัลปาวสาน ในขณะที่นายทุนยังมี “ผลกำไร” (Profit) ต่อไป ในรูปแบบความเชื่อมั่น ความศรัทธาภักดี (ศัพท์การตลาดใช้ Customer Royalty)
              
ในชีวิตประจำวันของเรา เป็นไปได้ว่า เราจะเป็น  “ผู้ถูกกดบังคับ” ในบางเรื่อง และอาจจะพ้นสภาพการเป็น “ผู้ถูกกดบังคับ” ในบางเรื่อง นั่นหมายถึง เมื่อชีวิตของมนุษย์เริ่มตื่นรู้ขึ้นทีละน้อยและตระหนักรู้ในเสรีภาพของตน ก็เหมือนอย่างที่ซาร์ตร์ (Sartre) เคยพูดไว้ว่า “เราจะรู้สึกเหมือนถูกสาป” (ให้มีเสรีภาพ) เพราะเมื่อมนุษย์ตื่นรู้ขึ้นจากการถูกกดบังคับแล้ว เขาต้องรับผิดชอบสิทธิเสรีภาพของตนเอง เขาย่อมไม่มีอะไรให้แอบอ้างอีกต่อไป แง่หนึ่งพฤติกรรมแบบนี้ เป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง และอีกแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความขี้ขลาดของผู้ที่ยอมให้ถูกกดบังคับใน เรื่องที่ไม่จำเป็น เช่น การเพิกเฉยต่อประเด็นทางมนุษยธรรมของเพื่อนมนุษย์(เนื่องจากการถูกกดบังคับ ด้วยวาทกรรม) ทำนองเดียวกับเรื่องของทุนเราย่อมถูกกดบังคับด้วยทุนในบางเรื่อง และอาจจะพ้นสภาพการเป็นผู้ถูกกดบังคับในบางเรื่อง เพราะในความเป็น จริงเราไม่สามารถหลุดพ้นจากการกดบังคับของพลังแห่งทุนนิยมได้ ตราบใดที่เราจำเป็นต้องใช้ “เงิน” อันเป็นหน่วยอุปโลกน์ทางเศรษฐศาสตร์ (และรัฐ) ซึ่งเราทำได้มากที่สุด ก็แค่เพียงภูมิใจว่า เราหลุดพ้นจากการถูกบังคับของทุนได้ในระดับหนึ่ง เท่านั้น
           

สำหรับประเทศไทย การปกครองเอื้อให้ทุนนิยมสามารถเติบโตอย่างเสรี ที่แน่นอนไปกว่านั้น ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศทุนนิยมเสรีช่วยส่งเสริมให้ “ทุน” มีพลังและอิทธิพลมากในประเทศนี้ หน่วยอุปโลกน์ทางเศรษฐศาสตร์เป็นต้น “หุ้น “และ “การถือหุ้น” เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างที่เคยเห็นกันมาแล้ว จากกรณีความผันผวนทางการเมือง ซึ่งประเด็นก็คือเมื่อพูดถึงการกดบังคับของนายทุน ถ้าเรามองง่ายๆ เราอาจเห็นนายทุนที่กำลังสร้างเรื่องเล่าให้ตนเองอยู่สองแบบ แบบแรกคือแบบที่เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า “ข้าฯคือนายทุน และข้าคือผู้กดบังคับ” และอีกแบบคือแบบซุกซ่อน หรือสร้างระบบตัวแทนอำนาจ (Nomini) กล่าวคือ ปกปิดความเป็นนายทุนของตนไว้ด้วยเรื่องเล่าต่างๆ กระนั้นก็ดี ทั้งสองแบบจัดเป็น “ผู้กดบังคับ” ทั้งนั้น และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกดบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมไปเสียไม่ได้ เพราะในโลกหลังสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยแผนการตลาดอันซับซ้อน เป็นไปได้หรือไม่ที่ จะมีการสร้างเรื่องราวเพื่ออำพรางความเป็นผู้กดบังคับของตนไว้และอีกแง่ หนึ่งก็เพื่อกล่อมให้ใครต่อใครเป็น “ผู้ถูกกดบังคับ” ต่อไป

สรุป
เป็นเรื่องที่ย้อนแย้งพอสมควร หากเรามองเห็นผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่มีผลต่อมนุษย์อย่างชัดเจน แต่กลับมองไม่เห็นผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่มีผลต่อเรามากกว่านั้น เพราะเมื่อเทียบกับเรื่องทางเศรษฐศาสตร์ที่เราจำเป็นต้องเข้ารับบริการอยู่ ทุกวัน เป็นต้น รถตู้ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ถ้ามองจากมุมที่มีผู้กดบังคับและผู้ถูกกดบังคับ เราจะมองไม่เห็นลำดับชั้นของการถูกกดบังคับหรือ? หรือในระบบธนาคารที่ซึ่งเราจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อน เรามองไม่เห็นลำดับชั้นของการถูกกดบังคับหรือ? น่าแปลกที่ เมื่อสืบค้นเรื่องทำนองนี้ไปลึกๆ เราอาจพบเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำพรางและทำให้เรา (ผู้ถูกกดบังคับ) เกิดความรู้สึกสับสนลังเลว่าตนเองกำลังถูกกดบังคับอยู่หรือไม่? และนั่นไม่ใช่การกล่อมให้เราจำต้องอยู่ภายใต้การกดบังคับโดยไม่รู้ตัวต่อไป อีกหรือ? ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจแบบสุดโต่งซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ การทบทวนว่าเรากำลังถูกกดบังคับอยู่ เปิดเผยให้เราพอเข้าใจว่า มีใครที่กำลังแสวงหาผลกำไรกับความเป็นคนในฐานะแค่วัตถุชิ้นหนึ่ง ผ่านระบบอุปโลกน์ที่ซับซ้อนหรือไม่? และเขาเหล่านั้นโกหกหรือชวนเชื่อให้เราเข้าใจว่า เขาคือคนที่ไม่มีวันจะเอาเปรียบเราหรือไม่? (ซึ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกเชื่อมั่น) ทั้งที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่เล่ากันอย่างผูกขาดความดีเสมอไปของคำว่า “ตรง” และผูกขาดความไม่ดีเสมอไปของคำว่า “เบี้ยวบิด” อาจเผยออกมาว่าเป็นความบิดเบี้ยวของคนตรงเสียเอง?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น