แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ : สันติภาพบนหอคอย

ที่มา ประชาไท


David Krieger  ประธานองค์กร “สันติภาพยุคนิวเคลียร์”  (Nuclear Age Peace Foundation) เล่าเรื่องที่อดีตประธานาธิบดีของอเมริกันคนที่ 35 คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John  F. Kennedy) เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพในบทความชื่อ John F. Kennedy Speaks of Peace” ไว้อย่างน่าฟัง
เคนเนดี้ได้ให้ความหมายของการสร้างสันติภาพที่แท้จริงไว้ว่า “ หมายถึงการทำให้ชีวิตบนโลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้าน  เช่น ด้านสิทธิและความเท่าเทียม รวมถึงในด้านเศรษฐกิจ (เขาใช้คำว่า worth living- ดูในhttp://www.wagingpeace.org/articles/db_article.php?article_id=169) ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเจริญเติบโต(พัฒนา)ให้เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์ไม่ ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก เยาวชน และไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม”
เคนเนดี้ กล่าวถึงเรื่องสันติภาพนี้ไว้  6 เดือนก่อนที่จะถูกฆาตกรรมในปี 1963 ซึ่งน่าจะเป็นความหมายของ “สันติภาพสากล” ไม่ใช่สันติภาพตามแบบฉบับท้องถิ่น(ประเทศ) ใดประเทศหนึ่ง ที่มักอ้างเรื่อง “อัตลักษณ์ของประเทศ” กันแบบเอาสีข้างเข้าถู  เหมือนผู้คนในบางประเทศ เช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ที่หมายถึงเรื่องสากล หรือเรื่องที่ทุกคนยอมรับว่า มีความสำคัญสำหรับมนุษยชาติทุกคน โดยไม่จำกัดว่าเป็นเผ่าพันธุ์ไหน นับถือลัทธิศาสนาอะไร หรือมีประเพณีวัฒนธรรมอย่างไร
และเรื่องของสันติภาพก็สมควรเกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิมนุษยชนโดย ตรง คือ หากสังคมไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชนแล้ว สันติภาพก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆในสังคม ไม่วาจะเรื่องใดๆ ก็ตามเรามักมองหาสันติภาพ แต่ปัญหาคือ ความเข้าใจต่อกระบวนการด้านสันติภาพว่า ได้มองในแง่ของ “สันติภาพสากล”กันหรือไม่ เพราะหากไม่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดสันติภาพได้ ทั้งการมองสันติภาพด้วยความคิดเห็นแคบดังกล่าว การสร้างสันติภาพ(สันติวิธี)ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของ คู่ขัดแย้งไปเท่านั้นเอง ไม่สามารถก่อให้เกิดสันติภาพตามที่ต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงว่าสังคมนั้นก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ต่อไป
แน่นอนว่า สันติภาพ เป็นคำสวยหรู และเป็นสิ่งที่ทุกสังคมคาดหวัง แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่มูลเหตุปัจจัย ซึ่งมูลเหตุปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องมองให้รอบด้านอย่างเข้าใจความหมาย ของ “องคาพยพสันติภาพ” สันติภาพ คงไม่ได้เกิดจากการใช้วาทกรรมที่สวยหรู แต่ย่อมเกิดจากการลงมือปฏิบัติอย่างเข้าใจถึงปัญหา โดยเฉพาะต้นตอ(สมุฏฐาน)ของปัญหาที่ก่อให้เกิดความไม่สันติขึ้นในสังคมนั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ “นักวางแผนสันติภาพ” ทั้งหลาย ต้องไตร่ตรองใคร่ครวญดูให้ดีๆ  มากกว่าการใช้เพียงวาทกรรมเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม
กระนั้น ก็มีข้อสงสัยเกิดขึ้นมาเช่นกันว่า ในบรรดานักวางแผนสันติภาพนี้ น่าจะมีคนที่ทำการ(ด้านสันติภาพ)อยู่ 2 ส่วน คือ  กลุ่มคนที่ถือว่า สันติภาพเป็นงานและเงิน กับ กลุ่มคนที่ถือว่า สันติภาพ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมโดยแท้จริง         
เรามักเห็นนักสร้างสันติภาพ ในกลุ่มแรก ได้ไม่ยากเย็นนัก แต่สำหรับนักสร้างสันติภาพในกลุ่มหลัง หาได้ไม่ง่าย เพราะต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะและพิสูจน์กันนานพอสมควร
สิ่งที่นักสร้างสันติภาพในกลุ่มแรกโดยส่วนใหญ่ทำ ก็คือ  วาทกรรมที่เป็นทั้งคำพูดและลายลักษณ์อักษร ในเชิงหน้าที่การงานและผลตอบแทนด้านการเงิน(รวมถึงผลตอบแทนด้านชื่อเสียง) สิ่งที่พวกเขาทำเสมือนหนึ่งเป็นการคิดค้นหาแนวทางของการสร้างสันติภาพ(เช่น  การปรองดอง เป็นต้น)  หากแต่กระบวนสร้างการสันติภาพที่นำเสนอ เป็นการสนองต่อผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น การนำเสนอกระบวนการสร้างสันติภาพแล้วประเทศหรือกลุ่มผู้นำเสนอได้ประโยชน์ หรือมีประโยชน์แอบแฝงอยู่เบื้องหลังไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์เรื่องใดก็ตาม ไม่รวมถึงผลตอบแทน (ค่าจ้าง) เพื่อ “แผนการสันติภาพ”ที่คนกลุ่มนี้จะได้รับ เช่น นักการเมือง  หรือนักวิชาการ บางกลุ่มที่ทำงานเรื่องนี้
เราจะเห็นว่า มีงานเชิงวาทกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพ(ปรองดองก็ใช่) ออกมาจำนวนมากมายในช่วงที่ผ่านมา และในงานจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้ แทบไม่ต่างจากกองขยะอันมหึมา ,เราลงทุนไปไม่ใช่น้อยกับงานเหล่านี้ ที่ต่อมาแปรสภาพเป็นกองขยะสะสมพะเนินเทินทึก สะสม และใช้ประโยชน์อะไรแทบไม่ค่อยจะได้ นอกเหนือไปจากคำพูดอันสวยหรูเท่านั้น
ส่วนนักสร้างสันติภาพในกลุ่มที่สอง เป็นพวกที่อุทิศตัว อย่างที่เห็นและรู้จักกันกันดี เช่น มหาตมะคานธี(อินเดีย)  ,เนลสัน แมนเดลา(แอฟริกาใต้)  เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นตำนานของนักสร้างสันติภาพ เป็นผู้ก่อให้เกิดแนวคิดสันติวิธี  ที่เป็นการค้นพบจากประสบการณ์จริงในชีวิตและยังคงสามารถนำวิธีการที่ท่าน เหล่านี้เคยใช้ มาประยุกต์ใช้แม้กระทั่งกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
เพียงแต่ในปัจจุบัน เราหานักสร้างสันติภาพแบบนี้ได้ยากเต็มที ขณะที่เราหาพวก “มีอาชีพสร้างสันติภาพ”ได้ไม่ยาก
ในแง่ของกระบวนการสร้างสันติภาพ มีวาทกรรมทำนอง “ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก” คือ พูดอีกก็ถูกอีก อยู่มาก เช่น “เราต้องใช้ธรรมะในการสร้างสันติภาพ” , “เราต้องใช้การปรองดองสามัคคีสร้างสันติภาพ” , “จงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ” เป็นต้น  ซึ่งคำพูดเหล่านี้ไม่ได้ผิดอะไร แต่ในเชิงวิธีการลึกๆในรายละเอียดของการสร้างสันติภาพแล้ว น่าจะมีอะไรก็ตามที่สามารถมองเห็นได้ว่า สันติภาพสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ จากความสามารถเข้าถึงหัวอกหัวใจของคนในสังคมที่เป็นคู่ขัดแย้ง (เช่น ระหว่างรัฐบาล กับประชาชน , ระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ  ระหว่างความคิดเชิงอุดมการณ์ต่างๆ)
พูดง่ายๆ ก็คือ ขอรายละเอียดด้านวิธีการสร้างสันติภาพให้มากกว่า “วิธีการ(เล่นคำ)ปรัชญาสันติภาพ”  
การพูดเชิงปรัชญา “ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออก ตกทางตะวันตก” ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียหาย แต่สันติภาพ ไม่เพียงไม่สามารถสร้างจากวาทกรรมเท่านั้นแล้ว สันติภาพที่เป็นสากลยังต้องสร้างด้วยการปฏิบัติในชีวิตจริงหรือปฏิบัติใน ชีวิตประจำวัน  ซึ่งหากนักสร้างสันติภาพไม่มีประสบการณ์ก็เกรงว่า จะเป็น “การอนุมานสันติภาพ” ที่ผิดพลาด
ถามว่า มีกี่ครั้งที่นักสันติวิธีเหล่านี้ ได้ลงไปในพื้นที่ขัดแย้ง ศึกษาด้วยการปฏิบัติตนให้ความช่วยเหลือและศึกษาข้อมูลในพื้นที่จริง จนกระทั่งรู้ถึงแก่นแท้ของปัญหา ก่อนนำมาสู่วิธีการสร้างสันติภาพในเชิงที่เป็นรูปธรรมรายละเอียด มากกว่าการหาข้อมูลจากสื่อข้างนอกและมัวสาละวนปั้นคำพูดสันติภาพอันไพเราะ เพราะพริ้งให้คนนอกพื้นที่ขัดแย้งฟัง (หากพูดถึงเมืองไทย ขอให้ดูตัวอย่างพื้นที่ขัดแย้งเช่น  3 จังหวัดชายแดนใต้ เปรียบเทียบกับเมืองนอกพื้นที่ขัดแย้งอย่างกรุงเทพ)
ดังการลงพื้นที่จริงที่อินเดียค่อนชีวิตของแม่ชีเทเรซ่า (Mother Teresa of Calcutta) ซึ่งในที่สุดเธอก็ได้ความจริงเกี่ยวกับความหมายของสันติภาพแบบง่ายๆว่า คือการกลับไปบ้านของแต่ละคนและทำให้ครอบครัวมีความสุข หรือการรักครอบครัว(“Go home and love your family”- http://en.wikipedia.org/wiki/Mother_Teresa) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม่ชีเทเรซ่า มองว่าครอบครัวเป็นแหล่งกำเนิดของสันติภาพโดยรวม การสร้างสันติภาพต้องมาจากครอบครัวที่เข้มแข็ง เธอไม่ได้ยกหลัก  ศาสนธรรมธรรมนำหน้ามาก่อนเสียด้วยซ้ำ เพราะเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ ส่วนหลักศาสนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆก็อยู่รวมในการปฏิบัติเพื่อความสุขของครอบครัวนั้นแล้ว ,คำพูดของแม่ชีเทเรซ่า จึงไม่อาจถือว่าเป็นวาทกรรมแค่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลจากปฏิบัติเพื่อสันติภาพอย่างเอาจริงเอาจังตลอดชีวิตของเธอ จนเป็นที่ยอมรับของผู้คนสากล
ที่เมืองไทย เรามักได้ยินคำเหล่านี้อยู่เสมอ เช่น คำพูดที่ว่า “สิทธิมนุษยชนแบบไทย” , “สันติภาพแบบไทย” เพื่อทำให้มองดูได้ว่า เราเป็นเอกเทศ(ที่ชอบอ้างกันเสมอ เช่น “อย่างน้อยก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร”) เราเป็นประเทศที่มีอัตลักษณ์ของเรา ดังนั้นคนชาติอื่นจงอย่าได้มายุ่งกับประเทศของเรา  แต่เราลืมไปว่า ทั้งสิทธิมนุษยชนและสันติภาพเป็นเรื่องสากล เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั่วโลกทุกชาติศาสนา ผู้มีหัวอกหัวใจ มีความสุข มีความเจ็บปวด เหมือนกัน
 จึงไม่แปลกด้วยซ้ำ หากจะพูดถึงขนาดว่า สันติภาพจะเกิดมีได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับเหตุปลาทูราคาแพง หรือราคาถูก , เพราะสันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประชาชนพลเมืองยังมีปัญหาด้านปากท้อง หรือมีปัญหาด้านเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งก็เป็นไปตามที่อดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้เคยกล่าวไว้
เพียงแต่ไม่ทราบว่า ท่านผู้มีอาชีพสร้างสันติภาพทั้งหลาย ที่สถิตอยู่บนหอคอยจะคำนึงถึงกันบ้างหรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น