แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รุจ ธนรักษ์: เรื่องของข้าว

ที่มา ประชาไท


ตลอดปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องจำนำข้าวสักเท่าไหร่
หลักๆแล้วมีสองสาเหตุคือ 1. ไม่มีความรู้ กับ 2. ไม่คิดว่ามันเป็นนโยบายเศรษฐกิจ เพราะถ้ามองจากกรอบเศรษฐกิจล้วนๆ มองยังไงมันก็เจ๊งกว่านโยบายประกันราคาข้าวแน่ๆ ป่วยการจะมาถกเถียงเรื่องตัวเลข
ผมจึงเชื่อและมองนโยบายจำนำข้าวในแง่ “นโยบายการเมือง” มาโดยตลอด
ซึ่งถ้าเรามองนโยบายจากมุมการเมือง เราต้องยอมรับกันก่อนว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะดำเนินนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน
การกล่าวอ้างว่า “มันขาดทุนเยอะเกินไป” หรือ “มันจะทำระบบตลาดเจ๊ง” นั้น อาจกล่าวได้ในทางทฤษฏี ด่ากันได้เต็มที่ รณรงค์ต่อต้านกันได้ตามสะดวก แต่เราไม่อาจสรุปได้ว่ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม
และแน่นอนว่า ไม่ใช่เหตุให้เรียก “รถถัง” ออกมาล้มรัฐบาล
หลักการง่ายๆคือประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ประชาชนจึงต้องเรียนรู้ “ลองผิด-ลองถูก” กับทิศทางที่ตนเองเลือกเดิน ถ้าล้มแล้วเจ็บก็ต้องจำ และเรียนรู้ด้วยกันที่จะลุกขึ้นเดินต่อไป
เหมือนเราเป็นเจ้าของร่างกาย เรารู้ดีว่ากินฟาสต์ฟู้ดแล้วอ้วน ถ้าเรายังกิน เราก็ต้องยอมรับว่ามันจะอ้วน ถ้ากินติดต่อกันนานๆก็จะเป็นโรคต่างๆได้ — แต่นั่นคือร่างกายของเรา ที่ไม่ควรมีเทวดาหน้าไหนมาสั่ง มาห้าม มากำหนดว่าเราควรกินสลัดผักวันละกี่จาน
ด้วยความที่มันเป็น “นโยบายการเมือง” ดังนั้นการมีคนบางกลุ่มชื่นชอบและอีกกลุ่มด่าทอจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ คือการเอาภาษีของคนกลุ่มหนึ่งมาจ่ายให้คนอีกกลุ่ม มันก็ทะเลาะโต้เถียงกันไปตามธรรมชาติในระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะ “ทำได้แค่ไหน” เพราะหากทำแล้วเวิร์ก คะแนนเสียงทางการเมืองก็จะเป็นของพรรครัฐบาลไปเต็มๆ
แต่หากมันทำต่อไปไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ การจะถูกด่า “สองเด้ง” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
จำได้ว่าเมื่อปีก่อนผมเคยพูดไว้ว่า หากสุดท้าย “จำนำข้าว” จะทำให้อะไรสักอย่างเจ๊ง คนแรกที่จะเจ๊งก่อนประเทศไทยคือ “รัฐบาล” เพราะถ้ารัฐบาล “หาเงิน” มาใช้ไม่ได้อย่างที่ตัวเองคาด โครงการมันก็ไม่มีเงินจะอุดหนุน สุดท้ายก็ทำต่อไม่ได้ ผลกระทบ “ทางการเมือง” จะสวิงกลับมาสู่รัฐบาลโดยตรง ซึ่งถึงตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่พรรครัฐบาลต้องยอมรับผลแห่งการตัดสินใจ “เล่นเกมนี้” ของตนเอง
ประชาธิปไตยมันก็ง่ายๆแค่นี้ ปล่อยให้กลไก ให้ระบบมันเดินไป อดใจรอไม่นานก็จะเห็นผลกันเอง ไม่ต้องไปเรียกรถถังออกมาบ่อยๆ
ทุกวันนี้เรามีกลไกประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองเมื่อได้รับเลือกตั้งมา แล้วต้องทำโครงการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ — มันจะไม่ดีไปอีกหรือ หากเราจะมีระบบการเมืองที่ “รัฐบาลพังได้” หากทำโครงการที่ประกาศไว้ไม่สำเร็จ?
บทความประชาไทชิ้นล่าสุด http://www.prachatai.com/journal/2013/06/47230เขียนไว้ได้ดีมาก โดยเฉพาะคำอภิปรายของ อ.วิโรจน์ แนะนำให้อ่านกันอย่างยิ่งครับ
“สิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วก็คือว่าที่ทำอยู่มัน ไปไม่ไหว ที่ขาดทุนส่วนหนึ่งก็เกิดจากซื้อแพงขายถูก ซึ่งแม้ในทางการเมืองผมคิดว่ารัฐบาลที่มาโดยระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ มีอำนาจ และมีหน้าที่ด้วยที่จะกระจายรายได้ แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะทำโครงการที่มันไร้ประสิทธิภาพ” ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่าปัญหาของรัฐบาลนี้อยู่ที่ต้นทุนในการจัดการแพงเกินไป
สุดท้ายสำหรับเรื่องข้าวใน “มุมอื่น”
จะเห็นว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล นโยบายที่ทำอย่างเดียวก็คือการอุดหนุน ไม่ทำแบบ A ก็ทำแบบ B วนเวียนไปมาอย่างนี้เป็นสิบปี
นอกจากนั้น เรามักภูมิใจกันผิดๆว่าเรา “ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก” หลายคนเลยเถิดไปถึงขั้นเชื่อว่า “ข้าว” คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นไทยชนิดหนึ่ง
ทั้งที่ความจริงแล้ว มีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่กินข้าวเป็นอาหาร และเราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ผลิตข้าวได้เกินความต้องการ เราผลิตข้าวได้มากกว่าเรากินกันเอง ที่เหลือจึงต้องส่งออกไปขายในตลาดโลก
ผลิตได้มาก — อาจฟังดูดี แต่ปัญหาคือข้าวไม่ใช่น้ำมัน ไม่ใช่สินค้าที่ทุกคนบนโลกจำเป็นต้องซื้อ และราคาข้าวมีขึ้น-ลงอยู่เสมอ
มันอาจจะฟังดูโหดร้าย แต่คำถามน่าคิดคือเราจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องผลิตข้าวมากมายเช่นนี้ และในแง่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เราตั้งใจจะผลิตข้าวกันไปอีกถึงเมื่อไหร่?
การที่ไทยยังต้อง “ปลูกข้าว” กันมหาศาลเช่นนี้ ในมุมหนึ่งมันอาจสะท้อนได้ไหมว่ารัฐไทยไม่ลงทุน “พัฒนา” ตนเองไปไหนเลย เราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใดๆมาช่วยรองรับและให้โอกาส “คนส่วนใหญ่” ของประเทศได้มีงานที่ดีขึ้น มีโอกาสทางทำมาหากินใหม่ๆที่เปิดกว้าง มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม สื่อสาร ไฟฟ้า ประปา การศึกษา — สร้างคน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐไทยยังปล่อยให้โครงสร้างสังคมไปเหยียบทับชาวนาเข้าไปอีก ชาวนาไทยไม่มีที่นาของตนเอง ต้องเช่าที่คนอื่นทำนา ซึ่งสรุปได้ว่าชาวนาต้องขายแรงงาน ต้องจ่ายค่าเช่าที่ ต้องลงทุนซื้อวัตถุดิบมาผลิตเอง (พันธุ์, ปุ๋ย ฯลฯ) ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผลิต (ฝน,โรค,น้ำท่วม) และความเสี่ยงจากราคาตลาด — ถามนักเรียน MBA หน่อยว่าเคยเห็น business case แบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง?
มันอาจฟังดูเว่อร์ไปหน่อย
แต่ผมอยากเรียกสภาพชาวนาไทยว่าเป็น ระบบศักดินาในศตวรรษที่ 21
หลายคนอาจไม่รู้ว่าด้วยจำนวนประชากร 67 ล้านคนนั้น ประเทศไทย “ใหญ่” เป็นอันดับที่ 20 ของโลก
ประเทศเราจะเจริญกว่านี้ไหม ถ้าผู้คนในประเทศปลูกข้าวกันน้อยลง แต่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มาประกอบอาชีพอื่นๆกันมากขึ้น
แม้อาจไม่ใช่เรื่อง “ข้าว”​ เสียทีเดียว แต่ตัวเลขชุดนี้http://whereisthailand.info/2012/06/labour-by-occupation/ แสดงให้เห็นชัดๆว่า 10 ปีผ่านไป สัดส่วนคนไทยที่ทำงาน “ทักษะสูง” ไม่เพิ่มขึ้นเลย แถมยังลดลงเสียด้วยซ้ำ
สิงคโปร์อยากเป็น Medical Hub ให้ตายอย่างไร เขาก็มีประชากรแค่ 5 ล้านคน เขาจะเสกคนที่ไหนมาเรียนหมอ เรียนพยาบาล ได้มากอย่างที่เขาอยากได้
แล้วเราจะให้คนของเราปลูกข้าวกันมหาศาลเช่นนี้ไปถึงเมื่อไหร่กัน?



ที่มา: roodthanarak.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น