ย้อน กลับไปเมื่อ พ.ศ.2548 เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสียงข้างมากของประชาชนสนับสนุน แต่องค์กรทางสังคมและนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน เหตุผลและความชอบธรรมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจึงตกต่ำลงอย่างมาก และกระบวนการนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองความชอบธรรมของการรัฐประหาร กันยายน พ.ศ.2549 ในฐานะวิธีการยุติระบอบทักษิณ
แต่กระนั้น ความไม่ชอบธรรมยิ่งกว่าของการก่อรัฐประหาร และวิธีการอันเหลวไหลของขบวนการฝ่ายขวาและอำนาจตุลาการหลังจากนั้น ช่วยทำให้เกียรติภูมิของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟื้นคืนมาใหม่ และกระบวนการต่อสู้ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดลักษณะพันธมิตรระหว่างฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณกับขบวนการประชาธิปไตย กระบวนการต่อสู้ร่วมกันนี้พัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.2550 โดยมีเป้าหมายในการต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย และต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้ตามสมควร ในกระบวนการนี้ ทำให้พลังฝ่ายก้าวหน้ากลายมาเป็นแนวร่วมอย่างหลวมกับฝ่ายทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาฃีวะ ใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และใช้วิธีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเพื่อรักษาอำนาจในเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 และยังใช้อำนาจในการจับกุมและดำเนินคดีคนเสื้อแดงนับพันคน ติดตามมาด้วยการไล่ฟ้องและจับกุมผู้บริสุทธิ์ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการยากที่นักวิชาการที่รักษาความเป็นธรรมทั้งหลายจะ ยอมรับ
การล่มสลายแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการเสื่อมถอยขององค์กรฝ่ายขวา เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างน้ำหนักให้กับฝ่ายพรรคเพื่อไทย ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2554 อันนำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกเหนือจากเป็นเพราะความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังคงอยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว ยังมาจากการโอบอุ้มของฝ่ายนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต้องการเห็นการฟื้นฟูประชาธิปไตยอันแท้จริงในสังคมไทย ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จึงกลายเป็นชัยชนะที่เป็นธรรม เป็นชัยชนะร่วมกันของฝ่ายทักษิณและขบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของฝ่ายอำมาตย์และพลังฝ่ายจารีตในสังคมไทย
ปัญหา เริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศแล้ว เพราะรัฐบาลกลับปล่อยปละอย่างมากในนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ยอมจำนนต่อศาลอยุติธรรม และพินอบพิเทาฝ่ายจารีตนิยมจนเกินงาม แต่กรณีที่เป็นที่วิจารณ์อย่างมากก็คือ การละเลยไม่สนใจพี่น้องคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีและติดคุก ทั้งจากคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เมื่อ พ.ศ.2553 และคดีตามมาตรา 112 ทั้งที่คนเหล่านี้ คือมวลชนที่ต่อสู้เพื่อพรรคเพื่อไทยมาแล้วทั้งสิ้น ความไม่สนใจเช่นนี้ ทำให้กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อพรรคเพื่อไทยให้มี การปล่อยนักโทษการเมือง เช่น ข้อเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชนของฝ่ายนิติราษฎร์ และการชุมนุมหมื่นปลดปล่อยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เป็นต้น
กระบวน การเหล่านี้จึงนำมาซึ่งการที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และ ส.ส.เพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง ต้องนำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อเดือนมีนาคม ทีผ่านมา โดยมีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากก็สนับสนุนร่างนี้ ด้วยความหวังที่ว่าจะเป็นช่องทางในการปล่อยนักโทษการเมืองให้ได้โดยเร็ว และพรรคเพื่อไทยก็มีมติสนับสนุน ดังนั้น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จึงได้ผ่านการรับหลักการวาระแรก ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 124 เพื่อผ่านขั้นตอนไปสู่การตั้งกรรมาธิการพิจารณาในวาระที่สอง
แต่ ปรากฏว่า การพิจารณาในขั้นนี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากได้ยอมรับการแปรญัตติของนายประยุทธ ศิริพานิชย์ โดยเปลี่ยนเนื้อหาทั้งหมดของร่างเดิม ไปใช้ร่างใหม่ที่นิรโทษกรรมทุกฝ่ายรวมทั้งแกนนำ ซึ่งหมายถึงทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่ายทหาร และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ มีการเติมให้ยกเว้นการนิรโทษเหยื่อมาตรา 112 ด้วยข้ออ้างก็คือ การช่วยนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน และสร้างความสมานฉันท์เพื่อเริ่มต้นใหม่ประเทศไทย การแปรญัตติเช่นนี้จึงเรียกกันว่าเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง และเป็นที่ต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มเสื้อแดง นปช. ขบวนการประชาธิปไตย และ นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า แต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ยังคงดึงดันที่จะเดินหน้าในญัตตินิรโทษกรรมแบบเหมา เข่งต่อไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน
ปัญหาสำคัญในขณะนี้ก็คือ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถที่จะเสนอเหตุผลอันชอบธรรมอันใดเลย ที่จะอธิบายได้ว่าเหตุใดขบวนการประชาธิปไตยจะต้องยอมรับในมาตรการนิรโทษกรรม ลักษณะนี้ ข้ออ้างที่ว่า มีความจำเป็นต้องนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูก แต่ก็สามารถทำได้ง่ายโดยการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร ไม่จำเป็นต้องเอามาพ่วงในกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน การอ้างว่า ต้องนิรโทษกรรมให้เสมอภาคกันตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ แต่การยกเว้นเหยื่อมาตรา 112 ก็ชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าจะอ้างว่าต้องรีบนิรโทษเพื่อเอาพี่น้องออกจากคุก ก็อธิบายได้ว่า ขบวนการประชาธิปไตยที่ต่อต้านการนิรโทษแบบเหมาเข่ง ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องการปล่อยนักโทษการเมืองเลย ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยต่างหากที่สามารถช่วยนักโทษการเมืองได้ตลอดเวลา โดยการออกพระราชกำหนดหรือใช้มาตรการอื่น แต่ที่ผ่านมาไม่เคยคิดจะทำ และที่ดูตลกกว่านั้น คือ ฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพท้าทายเสมอว่า ไม่ต้องนิรโทษกรรมให้กับพวกตน และฝ่ายผู้บัญชาการทหารก็ไม่เคยยอมรับว่า ได้กระทำความผิด แต่ด้วยเหตุใดกฎหมายเหมาเข่งจึงไปนิรโทษกรรมให้พวกเขาทั้งหมด เหตุผลเรื่องความปรองดองภายในชาติอาจจะฟังดูดี แต่คงต้องอธิบายเรื่องการจัดการความยุติธรรมต่อประชาชนที่เสียชีวิตและบาด เจ็บในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.2553 ถ้าจะให้นิรโทษกรรมฆาตกรแล้วเลิกแล้วต่อกันเฉยๆ คงไม่ได้
การ ผลักดันร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในขบวนการ ฝ่ายเสื้อแดง และก่อให้เกิดการแยกชัดระหว่างมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในทุกเงื่อนไช กับพลังฝ่ายประชาธิปไตย และนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าที่ไมอาจยอมรับการนิรโทษกรรมแบบนี้ได้
เครือ ข่ายทักษิณและพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่สนใจ และประเมินว่า ต่อให้ผลักดันการนิรโทษกรรมหน้าตาอย่างนี้ พรรคก็ยังชนะเลือกตั้งสมัยหน้าอยู่นั่นเอง โดยไม่ต้องอาศัยพวกนักวิชาการและพลังประชาธิปไตย ในที่นี่จะขอบอกว่า ถ้าหากไม่รับฟังและยังดึงดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็จะสิ้นความชอบธรรมเพราะเรื่องเหมาเข่งเป็นเรื่องไร้หลักการทางการเมือง แต่ถ้าหากถอยเรื่องเหมาเข่งแล้วไม่ยอมนิรโทษกรรมประชาชน ให้ชาวบ้านติดคุกต่อไป ก็เป็นเรื่องอมหิตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
การ ตัดสินใจในเรื่องนี้กลายเป็นระเบียบวาระอันสำคัญ ถ้าตัดสินใจผิดพลาดก็จะเป็นจุดเริ่มต้นนับถอยหลังของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะจะเกิดลักษณะที่พรรคได้คะแนนเสียงแต่ปราศจากความชอบธรรม สถานการณ์ทางการเมืองไทยจึงวังเวงยิ่งนัก
ที่มา โลกวันนี้วันสุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น