แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เบื้องหลัง "เพื่อไทย" ถอยสุดทาง ต่ออายุ "ยิ่งลักษณ์" สานปมร้าว "คนเสื้อแดง" ปรับทัพใหม่-รื้อใหญ่สูตรนิรโทษกรรม

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ




updated: 10 พ.ย. 2556 เวลา 11:16:59 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


"อยากยืนยันเพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกท่านได้สบายใจว่า วันนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นจบลงแล้ว ทุกอย่างได้ถอนแล้ว เรียนว่านอกจากจะมีการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีมติถอนร่างทุกร่างแล้ว"

เป็นถ้อยแถลงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ถูกพับเก็บเป็นที่เรียบร้อย และจะไม่นำมาพิจารณาอีก


เป็นถ้อยแถลงครั้งที่ 3 ในรอบ 3 วัน
ของนายกรัฐมนตรี หลังพบว่าคลื่นมหาชนทั่วประเทศไทยยังคงเคลื่อนไหว-ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา 
"เรื่องทั้งหมดนี้น่าจะเรียกว่าจบสิ้นจริง ๆ นะคะ และสำหรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ก็ขอเรียนเพิ่มเติมว่า จุดมุ่งหมายจริง ๆ ต้องการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่ได้รับผลพวงจากรัฐประหารเท่านั้น"


"ที่มีการเผยแพร่ว่าจะช่วยเหลือเรื่องของคดีที่เกี่ยวกับทุจริตนั้นก็เรียนยืนยันว่าไม่เป็นความจริงนะคะ เรื่องของจำนำข้าวหรือแม้กระทั่งโครงการบริหารจัดการน้ำนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้" 


"รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง เราเคารพในเสียงของประชาชน ยืนยันแล้วว่าเราไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมาพิจารณาโดยเด็ดขาด สถานการณ์การเมืองที่มีความวุ่นวายได้ลดความเชื่อมั่นของต่างชาติ เราก็เป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ"


"เหตุการณ์ต่าง ๆ เราสามารถแก้ไขด้วยการที่พูดคุยกัน แก้ไขด้วยการที่ยื่นข้อเสนอต่าง ๆ รัฐบาลก็พร้อมรับค่ะ เราไม่อยากเห็นการชุมนุมนี้ยืดเยื้อ ขอความกรุณาค่ะ เพราะว่าเราอยากเห็นความสงบนี้เกิดขึ้น"


"และยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช้กำลังรุนแรง และจะไม่ทำอะไรให้ระคายเบื้องพระยุคลบาทโดยเด็ดขาด"


ไม่ได้มีแต่สัญญาณถอย น.ส.ยิ่งลักษณ์เพียงอย่างเดียว กระทั่งพรรคเพื่อไทยผู้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภา - เสียงส่วนใหญ่ในชั้นกรรมาธิการซึ่งมีการแก้ไขหลักการและเหตุผล ต่างก็ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล


"พรรคเพื่อไทยขอกราบเรียนว่า พรรคยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมกับคนไทยทุกภาคส่วน สร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในชาติ และขอเชิญชวนภาคการเมือง ภาคเศรษฐกิจและสังคม และประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมพูดจาหาทางสร้างความสามัคคีปรองดอง ในเวทีที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น สภาปฏิรูปการเมือง ที่นายกรัฐมนตรี ได้พยายามเสนอแนวคิดและได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้"


"พรรคเพื่อไทยขอให้คำมั่นกับพี่น้องประชาชนว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอและเห็นชอบกฎหมายใด ๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมไทย และจะน้อมรับฟังความเห็นจากผู้ที่เห็นต่าง ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป"


เช่นเดียวกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีที่ร่อนแถลงการณ์บนโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กของทนายคู่ใจ-นพดล ปัทมะ เพื่อชี้แจงจุดยืนแห่งการปรองดอง และชี้แจงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น


"ตามที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองใส่ร้ายตัวผม บิดเบือนว่าจะคืนเงินและล้างผิดให้คนคนเดียว ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ กระทำเพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของการรัฐประหารปี 2549"

พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีย่อมรู้ดีว่าควรเคารพความเห็นต่างของพี่น้องประชาชน แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือการบิดเบือนใส่ร้ายตนเองและครอบครัว

"ความปรารถนาสูงสุดของผมคือต้องการให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอนาคตที่มั่นคงและประเทศสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่มีนักการเมืองบางกลุ่มยังคงคิดว่าการโจมตีใส่ร้ายผมด้วยความเท็จจะช่วยให้พวกเขาได้รับความนิยมทางการเมือง ซึ่งวิธีการนี้ก็ถูกปฏิเสธโดยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในการเลือกตั้งทุกครั้งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา"


"เชื่อมั่นว่าอนาคตของประเทศไทยจะมีความมั่นคงก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเรามีหลักนิติธรรมสำหรับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม และประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้งได้รับการเคารพ และองค์กรต่าง ๆ ใช้อำนาจในกรอบที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ผมเอาใจช่วยและหวังว่าเราจะไปถึงจุดนั้นในเวลาอันใกล้นี้"


เป็นการส่งสัญญาณถอยพร้อมกัน ทั้ง "พ.ต.ท.ทักษิณ" พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์


เหตุที่ต้องออกมาแถลงการณ์อีกครั้ง ภายหลังที่ "ยิ่งลักษณ์และคณะ" พยายามส่งสัญญาณถอยไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ถูกฝ่ายต่อต้านตีความว่ามีวาระซ่อนเร้น เสมือนมอบอำนาจให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมส่งผลให้วันที่ 6 พ.ย. ทุกภาคส่วนที่ถูกตีความว่าเชื่อมโยงกับพ.ต.ท.ทักษิณ จึงต้องแถลงเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนว่าจะไม่มีการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม


ทว่า รุ่งเช้าของวันที่ 7 พ.ย. คลื่นมหาชนยังคงเดินทางเข้าสู่ถนนราชดำเนิน อันเป็นฐานที่มั่นของเวทีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นเหตุให้ "ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย" ต้องแถลงข่าวเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้คำมั่นสัญญาว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้จบลงแล้ว และจะไม่เกิดขึ้นอีก"


สอดรับกับมติเห็นชอบ 310 ต่อ 1 เสียงในที่ประชุม ส.ส. เพื่อถอนร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมรวม 6 ฉบับ 


อันประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 5 ฉบับของนายพีระพันธุ์ พาลุสุข พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นายสามารถ แก้วมีชัย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายนิยม วรปัญญา และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายนิยม วรปัญญา


สอดรับกับมติจากที่ประชุมนอกรอบของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่นำโดย "นิคม ไวยรัชพานิช" ประธาน ส.ว. เพื่อขอให้ร่นเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จากวันที่ 11 พ.ย.มาเป็นวันที่ 8 พ.ย.


การส่งสัญญาณถอยสุดทางครั้งนี้ของ "ทักษิณและคณะ" เป็นการเคลื่อนไหวหลังพบข้อเท็จจริงว่า พลังมวลชนมีมากกว่าที่หน่วยงานราชการ-คนใกล้ตัวประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้านี้


และหากมองย้อนไปในวันที่ร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา กระทั่งนำไปสู่การชุมนุมจากมวลชนทั่วสารทิศ อาจพบว่าคนการเมืองที่อยู่ใต้ร่มพรรคเพื่อไทย-รัฐบาล กลับไม่มีใครออกมาปกป้องหรืออธิบายแก้ต่างให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแม้แต่น้อย


เป็นเหตุให้รอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โทรศัพท์ทางไกลจึงถูกสื่อสารผ่านคนวงในพรรคเพื่อไทยหลายครั้ง ทั้งการต่อสายตรงถึงที่ประชุมยุทธศาสตร์คณะเล็กที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธาน ทั้งระบายความในใจถึงคนใกล้ตัวอีกหลายหน

ไม่เว้นแม้กระทั่งที่ประชุมยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ที่ต้องถอดรหัสคำพูด-หาทางออกตามคำสั่งของ "นพดล ปัทมะ" ที่มีบทบาททั้งประธานหัวโต๊ะ และคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคนพรรคเพื่อไทยระดับผู้ใหญ่ต่างเล่าถึงการโทรศัพท์คุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณหลายหน


"ท่านทักษิณโทร.มาตัดพ้อหลายเรื่อง ท่านบอกว่าหนนี้ไม่มีใครช่วยเลย ทั้ง ๆ ที่พรรคที่อยู่กันก็ของพรรคท่าน นโยบายที่ใช้หาเสียงท่านก็เป็นคนคิด แม้แต่เงินที่ใช้เลือกตั้งก็ของท่าน"


บางบทสนทนาถึงขั้นเปรยถามถึงมิตรการเมือง ส.ส.ในสังกัด-คนเสื้อแดง ที่ต่างเป็นสหายร่วมรบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549


"ท่านถามว่าทุกคนหายไปไหนกันหมด ทั้งคนที่เป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส. หรือแม้กระทั่งคนเสื้อแดง ทำไมถึงปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีท่านอยู่ฝ่ายเดียว"


นอกจากคำตัดพ้อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ข่าวลือภายในพรรคเพื่อไทยยังดังสนั่นถึงการแตกหักระหว่างมิตรร่วมรบอย่าง "คนเพื่อไทย" และ "คนเสื้อแดง"


"เริ่มมีการตั้งคำถามว่า แกนนำบางคนไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยเข้าหาประชาชน ไม่เคยทำอะไรให้กับพรรค แต่วันนี้มาเป็น ส.ส. มาเป็นรัฐมนตรีเร็วกว่าพวกเรา"


"ยิ่งสถานการณ์อย่างนี้ ยิ่งเห็นกันแล้วว่า ใครเป็นใคร พอท่านทักษิณเดือดร้อน คนพวกนี้ก็ไม่มีใครช่วย ทั้งที่พวกเราก็ทำกันเต็มที่แล้ว ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งอะไร"

ฉะนั้น เวลานี้มิได้มีเพียงความวุ่นวายภายนอกที่ต้องเผชิญ แต่พรรคเพื่อไทยยังต้องผสานรอยร้าวภายในที่เกิดขึ้นจาก "คนเพื่อไทย" และ "คนเสื้อแดง" ที่เริ่มปริแยกแตกออกจากกัน


จากปากคำหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงอย่าง "เหวง โตจิราการ" แกนนำ นปช. และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ "คนเสื้อแดง" ถูกหักหาญน้ำใจถึง 2 ครั้งในเวลาเดียวกัน 


1.การแก้ไขร่างกฎหมายนิรโทษ ฉบับนายวรชัย เหมะ จากการช่วยเฉพาะคนติดคุก กลายเป็นร่วมร่างถึงผู้สั่งการ

2.การปรับผังรายการของ "เอเชียอัพเดท" ที่นำมาซึ่งการถูกถอด 4 รายการหลักที่มีแกนนำเสื้อแดงเป็นพิธีกร

แม้ในที่สุดกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ - ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ - วีระ มุกสิกพงศ์ ยอมกลืนเลือด กลืนความเจ็บปวด เพื่อเก็บความแค้นที่ถูกพรรคเพื่อไทยหักหลัง กลับมาร่วมเป็นขาที่ 2 อีกครั้ง 

ทั้งหมดเพื่อปกป้อง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ไม่ให้ถูกโค่นล้มพ้นกระดาน หลังจากมีการ "เคลียร์ใจ" กับผู้บริหารพรรค ในช่วงค่ำคืนวันที่ 6 พ.ย.


"ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรค บอกว่า "ไม่มีอะไร คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยมีหัวใจปกป้องประชาธิปไตยเหมือนกัน เมื่อมาคุยกันเลยคุยกันง่าย"


อย่างไรก็ตามจากอาการตัดพ้อของ "นายใหญ่" ผสมกับความแตกร้าวของคนเสื้อแดงกับพรรค ทำให้เหล่า ส.ส.เริ่มคาดการณ์กันว่า ในเวลาอันใกล้อาจมีการส่งสัญญาณปรับทัพครั้งใหญ่เพื่อดับอุณหภูมิร้อนทางการเมือง รวมถึงการจัดการเคลียร์บิลผู้ที่ไม่ออกมาช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงตอบแทนผลประโยชน์ที่คนเสื้อแดงยอมกลืนเลือด กลับมาเป็นแนวหน้า


ในการรบพุ่งกับพรรคประชาธิปัตย์จึงมีการประเมินเบื้องต้นหาก "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ผ่านมรสุมร้ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงพฤศจิกายน ทั้งวาระ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งการเผชิญหน้าคำวินิจฉัยของศาลโลก กรณีเขาพระวิหาร และเหตุปะทะศึกในสภากับวาระพิจารณาอภิปรายไม่ไว้วางใจ


ช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจอยู่ในช่วงต้นกลางเดือนธันวาคม สอดรับกับการปลดพันธนาการของคนการเมือง "บ้านเลขที่ 109" 


นอกจากนั้นที่ประชุมพรรคเพื่อไทยยังเชื่อว่า แม้ต้องถอยสุดทาง - หันหลังให้กับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ยังพอมีช่องทางให้นำพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน โดยเฉพาะการปูทางเปิดช่องให้เป็นหน้าที่ของ "คณะกรรมการปฏิรูป" ที่มีมังกรการเมืองอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นประธานประสานคนทุกสี ทุกพรรค ทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะยังมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 อันมีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างอำนาจจากคณะรัฐประหารที่ฝากฝังไว้ในรูปของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่คู่ขัดแย้ง-ฝ่ายตรงข้ามยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามทุกจังหวะก้าวของพรรคเพื่อไทยด้วยใจระทึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น