วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
"อยากชวนคณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐ เพื่อให้ชาวพุทธกลุ่มต่างๆมีอิสระตรวจสอบกันเอง และ
ต้องการยืนยันว่าถ้าคณะสงฆ์ยังขึ้นต่อรัฐก็ต้องอ้างอิงกรอบพระธรรมวินัยใน
การจำกัดอำนาจ ตรวจสอบบทบาทของมหาเถรและสังฆะภายใต้ระบบนี้อยู่ครับ" -- สุรพศ ทวีศักดิ์
"ธรรมวินัยมันมีบางอย่างที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ มีบางอย่างที่ต้องตีความ มีหลักฐานบันทึกเทียบเคียงความสอดคล้องได้ อย่างส่วนที่เป็นวินัยสงฆ์นี่ชัดเจนเหมือนกฎหมายเลยว่าทำอย่างนี้ผิด อย่างนั้นถูก มันถึงเป็นหลักความประพฤติที่ตรวจสอบเห็นตรงกันได้ ...ธรรม
วินัยไม่ได้อิงมหาเถร ไม่ได้อิงสมบูรณาฯ
เพราะธรรมวินัยเถรวาทที่อ้างอิงกันอยู่คือธรรมวินัยที่สืบเนื่องมาจากการ
สังคายนาครั้งที่ 1 มีมาก่อนสมบูรณาไทยเป็นพันๆ ปี
ธรรมวินัยจึงเป็นกรอบอ้างอิงหลักเสมอ เพราะธรรมวินัยไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ
แต่เป็น “ระบบสังฆะเถรวาท” ที่เป็นอิสระจากรัฐมาแต่ก่อน" -- สุรพศ ทวีศักดิ์
"หลักธรรมวินัยของพุทธศาสนาเถรวาทเป็นหลักสากลที่ชาวพุทธเถรวาท
ทั่วโลกต่างยึดถือร่วมกัน
ไม่ต่างจากที่สังคมประชาธิปไตยยึดหลักประชาธิปไตยหรอก" -- สุรพศ ทวีศักดิ์
………………………..
จากข้อความทั้งหมดข้างต้น ตรรกะที่ผิดพลาดของอ.สุรพศ
เกิดขึ้นจากการที่ อ.สุรพศไม่กล้าวิพากษ์หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร
แต่กลับดีเฟนด์การใช้หลักธรรมวินัยแบบมหาเถรในฐานะกฏเกณฑ์สูงสุดของพุทธ
เถรวาท (สากล? เทียบเท่าหลักประชาธิปไตย?)
โดยอ้างว่าคณะสงฆ์สามารถตรวจสอบได้โดยโปร่งใส ไม่มี 112
คำถามของผมคือ ตั้งแต่มีมหาเถรสมาคมเป็นต้นมา
เราสามารถตรวจสอบอะไรพระได้บ้าง? หรือพระในคณะสงฆ์ (ใน scale ใหญ่)
สามารถตรวจสอบอะไรกันเองได้บ้าง? พระใช้หลักธรรมวินัยในการตรวจสอบกัน
แล้วช่วยให้สังฆะมีวัตรปฏิบัติที่งดงามและสร้างสรรค์ขึ้นได้จริงหรือไม่?
การตรวจสอบที่อาจารย์สุรพศบอกว่าทำได้ทุกเรื่อง เอาเข้าใจจริงทำอะไรได้บ้าง
นอกจากการจับผิดพระมีเซ็กซ์
สมมติฐานของผม คือ ในโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ จริงๆ
แล้วพระตรวจสอบไม่ได้ครับ และพระก็ไม่ได้ใช้ธรรมวินัยตรวจสอบกันและกันด้วย
สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการไล่ปรับอาบัติปาราชิก หรือพูดง่ายๆ คือ
จับพระมีเซ็กซ์เท่านั้นที่ตรวจสอบได้ นอกนั้นดิ้นได้หมด สิ่งที่อ.สุรพศ
เขียนมาทั้งหมด ก็เพื่อ validate
ข้อเรียกร้องกรณีให้มหาเถรใช้หลักธรรมวินัยตรวจสอบอธิการ มหาจุฬาฯ
มีเซ็กซ์เท่านั้น
ธรรมวินัยแบบรัฐทุกวันนี้ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ของรัฐแบบสมบูรณาญา
สิทธิราชย์
และอุดมการณ์นี้คือชุดอุดมการณ์ที่ใช้ตีความธรรมวินัยแบบเถรสมาคม
พระสงฆ์มีอำนาจล้นฟ้า
แล้วยังมีหลักธรรมวินัยที่ตีความเข้าข้างตัวเองเป็นหลักสูงสุด
ตัดสินโดยองค์กรสงฆ์ที่ปกครองตัวเอง มีการตีความแบบเฉพาะของตัวเอง
และไม่มีภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบอะไรต่อสังคมประชาธิปไตยเลย
ตราบใดที่ยังประพฤติพรหมจรรย์ (ที่ถูกตีความเหลือแค่ไม่มีเซ็กซ์)
พระสงฆ์ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด
ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณี ว.วชิรเมธี ที่เราด่ากันสนุกปากทุกวันนี้
เราจะหวังให้มหาเถรตรวจสอบธรรมวินัยของ ว.วชิรเมธี ไหมครับ
อย่างที่ออกมาเรื่อง "อร่อยจนลืมกลับวัด" ว.วชิรเมธี
ก็อ้างหลักธรรมวินัยเหมือนกัน
และท่านก็ตีความธรรมวินัยแบบเดียวกับมหาเถรนั่นแหละ นั่นก็คือ
ฉันจะทำอะไรก็ไม่ผิด ตราบใดที่ฉันยังไม่มีเซ็กซ์ เอาเข้าจริง
ถ้าเราไปคาดหวังกับกระบวนการตรวจสอบตามหลักธรรมวินัยแบบมหาเถร
เราตรวจสอบอะไรว.วชิรเมธี ในแง่ธรรมวินัยได้บ้าง?
ธรรมวินัยในชุดอุดมการณ์นี้ ไม่ได้เอาไว้ตรวจสอบตัวเองหรอกครับ แต่เอาไว้ปกป้องสถานะอันไม่เป็นประชาธิปไตยของตัวเองต่างหาก
กรณีนี้ต่างกับพระในวัดบ้านนอกนะครับ
ที่เขายังมีธรรมวินัยที่มีความสัมพันธ์แบบมนุษย์ มนุษย์อยู่
นั่นเขาก็ยังพอตรวจสอบกันได้ คือตักเตือนกันได้ เพราะพระบ้านๆ
เขาไม่ได้มองธรรมวินัยเป็นกฏเพียวๆ
ไร้บริบทความสัมพันธ์อย่างที่ถูกตีความโดยมหาเถร
หรือโดยพระ/มหาเปรียญที่ถูกกล่อมเกลามาจากการศึกษาแบบคณะสงฆ์ไทยโดยไม่ตั้ง
คำถาม
เมื่อธรรมวินัยถูกอ้างอย่างไร้บริบท
ราวกับกฏหมายอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดโดยตัวมันเอง เป็น “สากล” เป็น
“กติกากลาง” ที่ชาวพุทธต้องยอมรับอย่างไม่อาจตั้งคำถามหรือตีความได้
ธรรมวินัยก็กลายเป็นอำนาจนิยมธรรมวินัย เผด็จการธรรมวินัย
เป็นสีลัพพตปรามาส (ความเชื่อว่าการถือศีลจะทำให้คนบริสุทธิ์)
ซึ่งถือเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง
ไม่ต่างจากอันตรายที่เกิดขึ้นเวลาธรรมะถูกเทศนา ถูกสั่งสอน
ถูกอ้างถึงอย่างไร้การคำนึงถึงบริบทเลย
ข้อสรุปของผมคือ
การตีความหลักธรรมวินัยแบบรัฐเช่นนี้แหละครับที่เป็นปัญหา
และการอ้างความเป็น absolute truth
ของหลักธรรมวินัยเพื่อให้คณะสงฆ์ของรัฐใช้อ้างกันเอง
ตรวจสอบกันเองนี้แหละที่เป็นปัญหา
มันทำให้สงฆ์เป็นอภิสิทธิ์ชนตรวจสอบอะไรไม่ได้ พูดอะไรไม่เคยผิด
ทำอะไรไม่เคยผิด ยกเว้นถูกจับได้ว่ามีเซ็กซ์
เมื่ออาจารย์สุรพศไม่กล้าวิพากษ์หลักธรรมวินัยแบบรัฐ
แต่กลับอ้างว่าแม้ศาสนาจะไม่แยกจากรัฐ
คณะสงฆ์ภายใต้มหาเถรก็มีสิทธิ์จะใช้ธรรมวินัยตรวจสอบกันเองตามหลักเสรีภาพ
ทางศาสนา ข้อคิดเห็นของอ.สุรพศ
ก็ยิ่งไปเสริมอำนาจผูกขาดการตีความธรรมวินัยแบบมหาเถร
ผลักผู้ที่เห็นต่างจากการอ้างธรรมวินัยแบบนี้ให้เป็นอื่น
และที่น่าเศร้าที่สุด คือ
มันขัดแย้งโดยตรงกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการแยกศาสนาออกจากรัฐ
(secularization)
อันเป็นข้อเสนอสูงสุดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคาราคาซังของสถานะอันไม่เป็น
ประชาธิปไตยของพุทธศาสนาในปัจจุบัน
และที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าพระมีเซ็กซ์ ก็คือ
แนวคิดแบบนี้แหละครับที่ไปส่งเสริม “วัฒนธรรม” อำนาจนิยมศาสนาแบบ buddhist
fundametalism ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม รัฐศาสนาแอบแฝง
แนวคิดแบบ buddhist puritans เช่น
ศีลธรรมจับผิดคนสูบบุหรี่กินเหล้าของสสส. มาตรการเรต “ห”
ของคณะกรรมการเซ็นเซอร์
…ซึ่งทั้งหมดส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศทางสังคมในทิศทางที่ขัดแย้งอย่าง
รุนแรงกับการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย โอเคครับ อธิการ มจร. อาจถูกตรวจสอบ
อาจถูกจับสึก แต่แล้วยังไงต่อ?
ตราบใดที่อุดมการณ์ในการตีความธรรมวินัยยังเป็นแบบนี้
อำนาจรัฐยังผูกติดกับพุทธศาสนาแบบนี้
พระสามารถถูกตรวจสอบได้ทุกเรื่องอย่างที่อาจารย์สุรพศอ้างจริงๆ หรือเปล่า?
สมมติฐานของผมอาจจะผิดก็ได้ ถ้าใครสามารถยกตัวอย่างว่า
มีการอ้างธรรมวินัยแบบมหาเถรตรวจสอบกันและกัน
แล้วมีกรณีที่ทำให้พระถูกจำกัดอำนาจล้นฟ้า
และประพฤติตนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมพระ และสังคมโลกมากขึ้น
ก็ช่วยบอกผมด้วยละกันครับ
……………….
คำถามต่อไปคือ แล้วแบบนี้ไม่ต้องตรวจสอบพระเลยหรือ
ชาวพุทธจะทนเห็นพระแอบมีกิ๊ก มีสีกาอยู่ได้ยังไง?
แน่นอนว่าในฐานะพุทธบริษัท ๔ หน้าที่ตรวจสอบพระเป็นสิ่งสำคัญ
ทว่าหากจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง
ชาวพุทธจำเป็นต้องมีโยนิโสมนสิการ
และกระทำการอย่างสอดคล้องไปกับหลักการประชาธิปไตยด้วย
ข้อเสนอของผมมีดังต่อไปนี้
1. จากข้อเรียกร้องของ อ.สุรพศ ที่ว่า
"พระและวัดรับเงินภาษีจากประชาชนปีละ 4000 ล้าน
ก็จำเป็นต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนเหมือนนักการเมืองและข้าราชการทั่วไป"
ทว่าประชาชนในที่นี้ต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมดครับ
ไม่ใช่แค่ชาวพุทธที่ยึดหลักธรรมวินัยเท่านั้น
[สมมติว่าหากผมไม่นับถือพุทธศาสนา
แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินภาษีของผมไปใช้จัดงานพุทธชยันตี
หรือสวดมนต์ข้ามปี ผมจะทำอะไรได้บ้าง?
และการอ้างเสรีภาพในการนับถือศาสนาของชาวพุทธในกรณีใช้ได้หรือไม่?]
ในความคิดเห็นของผม หากพระและวัดดำเนินงานโดยใช้เงินภาษีจากประชาชน
ก็ต้องถูกตรวจสอบได้จากประชาชนทุกคน หากมีรายได้ถึงเกณฑ์
ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐ
ไม่ใช่บอกว่ารับเงินภาษีจากประชาชนแล้วต้องตรวจสอบได้
แต่กลับสนับสนุนให้ตรวจสอบกันเองโดยใช้หลักธรรมวินัย
2.
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พุทธศาสนายังผูกพันอยู่กับอำนาจรัฐท่ามกลางการ
เปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
หากชาวพุทธต้องการตรวจสอบพระภายใต้อำนาจมหาเถรสมาคมอย่างสร้างสรรค์ตามหลัก
ธรรมวินัยของสมณะโคดมนั้น ควรกระทำ และสามารถกระทำได้
ซึ่งหากกระทำการอย่างมีอุปายโกศล ก็จะเป็นการยืนยันว่า การประพฤติพรหมจรรย์
คือการประพฤติตนอย่างติดดิน เรียบง่าย
เพื่อการประพฤติปฏิบัติธรรมของนักบวชทางศาสนา ไปพร้อมๆ
กับการส่งเสริมจิตวิญญาณประชาธิปไตยด้วย
วิธีการตรวจสอบจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับสติปัญญาของภาคประชาชน
สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ
มีการยกกรณีศึกษาจากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง
รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน
เปิดทัศนะการตีความธรรมวินัยที่หลากหลายจากนักวิชาการ นักคิดหลากสาขา
ประชาชนทั่วไป (ไม่ใช่อะไรๆ ก็ไปสัมภาษณ์ความเห็นของพระชื่อดัง)
ทั้งนี้ต้องรวมถึงความคิดเห็นจากคนศาสนาอื่น เยาวชน พุทธนิกายอื่น
หรือคนนอกศาสนา ที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของพระสงฆ์
หรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับหลักพุทธศาสนา --- ซึ่งข้อ 2
นี้จะว่าไปถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเพียงได้เฉพาะหน้าเท่านั้น
ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกในเชิงโครงสร้าง
3. ข้อเสนอสุดท้าย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด
และจำเป็นจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
เพื่อจะช่วยปลดปล่อยให้พลังแห่งการตื่นรู้ของพุทธศาสนากลับคืนสู่ประชาชนและ
เติบโตงอกงามอย่างเป็นอิสระในโลกสมัยใหม่อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง
นั่นคือ กระบวนการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน (secularization)
ทุกวันนี้การที่พระผิดธรรมวินัยกันดาษดื่น มีอำนาจล้นฟ้า ตรวจสอบไม่ได้
ไม่ใช่เป็นเพราะมหาเถรไม่เอาจริงในการตรวจสอบตามหลักธรรมวินัยหรอกครับ
แต่เป็นเพราะอำนาจและสถานะอันไม่ยึดโยงอยู่กับประชาชนของพุทธศาสนาใน
ปัจจุบันต่างหาก เมื่อพุทธศาสนาไม่ยึดโยงอยู่กับประชาชน
รวมศูนย์อย่างอิงแอบอยู่กับอำนาจรัฐ ผูกขาดการตีความแบบเดียว
แม้จะอ้างหลักธรรมวินัยว่าบริสุทธิ์อย่างไร
ธรรมวินัยนั้นก็ไม่อาจช่วยให้พรหมจรรย์ของสงฆ์สง่างามและสร้างสรรค์อย่าง
สัมพันธ์อยู่กับสังคมสมัยใหม่ได้
ในสถานการณ์ปัจจุบัน secularization
จะเป็นหนทางเดียวในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา (และทุก ๆ ศาสนา)
ให้กลับมามีพลวัตแห่งการตื่นรู้ สัมพันธ์อยู่กับบริบทความทุกข์ของผู้คน
และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ลดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อ
(โดยเฉพาะที่ส่งผลเสียต่อกรณีความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
ธรรมวินัยถูกตีความอย่างมีจิตวิญญาณ
เกิดการตักเตือนและตรวจสอบกันภายในชุมชนด้วยความสัมพันธ์ฉันกัลยาณมิตร
ปลดปล่อยบุคลากรทางศาสนาสู่สถานะความเป็นคนธรรมดาสามัญ
ส่งเสริมหลักการความเสมอภาค การมีส่วนร่วม จิตสำนึก
และความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนอยู่ ส่งเสริมบรรยากาศอันเปิดกว้างทางความคิด
ความเชื่อ และเคารพความเห็นต่าง อันสอดคล้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ส่งเสริมให้สติปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรม เติบโตและเจริญงอกงามอย่างยั่งยืน
ไปพร้อมๆ
กับการส่งเสริมจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริง
.................................
รายละเอียดของข้อเสนอ การแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน อ.เก่งกิจ
กิติเรียงลาภ ได้เคยเขียนข้อเสนอนี้ไว้แล้วโดยละเอียด ในบทความที่มีชื่อว่า "ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย"
ซึ่งจะขอยกบางส่วนมาให้ใคร่ครวญกันอีกครั้ง เป็นการปิดท้ายบทความชิ้นนี้
"รัฐกับศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิสระจากกัน/ไม่ขึ้นต่อกัน
รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา ไม่เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ศาสนา
ในทางกลับกัน ศาสนาต่างๆ
มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนเองได้เต็มที่
ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือไปละเมิดกับชีวิต ทรัพย์สิน
และเสรีภาพของบุคคลอื่น – สรุปง่ายๆคือ
วัดและองค์กรศาสนาต้องการเลี้ยงตัวเอง จ่ายภาษี
และทำตัวเองเสมือนๆกับองค์กรอื่นๆในสังคม"
"รัฐจะต้องแปรรูปกิจการพุทธศาสนาทั้งหมดให้เป็นของเอกชน
(privatization) คือ รัฐต้องไม่ให้เงินกับวัดและสถาบันทางศาสนา
สถาบันศาสนาและคำสอนของศาสนาควรยอมรับว่า
ศาสนาของตนจะอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อคำสอนของตนเองเป็นสิ่งที่
ทนต่อการพิสูจน์ได้อย่างไม่มีการบังคับ
แต่ต้องขึ้นกับศรัทธาของศาสนิกชนเองที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ
จะสนับสนุนทั้งด้านการเงินและทรัพยากรแก่สถาบันเหล่านั้นหรือไม่ก็ได้
ถ้าศาสนิกชนเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้การสนับสนุน
แต่หากไม่มีประโยชน์ก็เลิกสนับสนุน
ไม่ต่างจากคนไปซื้อขายของในตลาดที่มีสินค้ามากมายให้เลือก"