ทั้งนี้ อาคารเก่าศาลยุติธรรมที่มีความสำคัญก็คือ อาคารหลัก ๓ หลังที่เรียงเป็นรูปตัววี ตามประวัติความเป็นมา อาคารศาลยุติธรรมกลุ่มนี้ ออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์(สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น อาคารหลังแรกเริ่มสร้าง พ.ศ.๒๔๘๒ และทำพิธีเปิดเมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ หลังที่สองด้านคลองคูเมืองสร้างเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๖ แต่อาคารหลังที่สามด้านสนามหลวง ยังไม่ได้สร้างเพราะเงื่อนไขสงครามโลก เพิ่งจะมาสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ตามแบบแผนเดิมที่วางไว้แล้ว และสร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๐๖
แนวคิดการก่อสร้างกลุ่มอาคารศาลนั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นตะวันตก ซึ่งสอดคล้องกับกระแสของสถาปัตยกรรมช่วงก่อนสงครามโลก มีข้อมูลที่เปิดเผยว่า ต้นแบบของอาคารมาจากอาคารศาลสูงแห่งสหพันธรัฐสวิส ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ก็คือ อาคารศาลยุติธรรมนี้เป็นกลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ เนื่องจากการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนมาโดยสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ โดยการดำเนินการของคณะราษฎร หลังจากที่เคยเสียเอกราชทางการศาลให้กับประเทศมหาอำนาจตามเงื่อนไขสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต ตั้งแต่สนธิสัญญาบาวริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา และอาคารหลังแรกนั้น ได้สร้างเสาหน้าอาคาร ๖ ต้น ซึ่งสื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรด้วย
แต่ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ เกิดข้อเสนอให้รื้อถอนอาคารกลุ่มนี้ แล้วให้สร้างอาคารขึ้นใหม่ในที่เดิมด้วยรูปแบบใหม่คือ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจในช่วงนั้น อีกทั้งยังมีเสียงคัดค้านว่าอาคารศาลฎีกามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูง เชิงการอนุรักษ์และการพัฒนาเมืองเก่า โครงการนี้จึงมิได้มีการดำเนินการ จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ศาลฎีกาจึงได้รื้อฟื้นโครงการรื้อถอนอาคารเก่าของศาลขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะสร้างอาคารใหม่แบบไทยประยุกต์ และในที่สุด โตรงการนี้ได้รับการอนุมัติในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยงบประมาณ ๓,๗๐๐ ล้านบาทมาดำเนินการ
ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ทำจดหมายเผยแพร่ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม นี้ โดยเสนอคัดค้านการรื้ออาคารเก่าของศาล ด้วยเหตุผลดังนี้
ประเด็นแรก การที่ศาลจะสร้างอาคารใหม่ขึ้นแทนโดยเป็นอาคารสูง ๓๒ เมตร เป็นเรื่องที่ขาดความชอบธรรมในทางกฎหมายอย่างมาก เพราะกฎหมายเรื่องความสูงของอาคารที่บังคับในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน ๑๖ เมตร และยังบังคับใช้อยู่ หน่วยงานอื่นต่างก็ปฏิบัติตาม เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องสร้างหอสมุดใหม่ลงไปใต้ดิน มหาวิทยาลัยศิลปากรก็คับแคบขยายไม่ได้ และสร้างตึกสูงไม่ได้ หน่วยราชการอื่นที่ต้องการการขยาย ก็ต้องย้ายออกไปอยู่นอกบริเวณเป็นส่วนใหญ่ แต่ศาลยุติธรรมเองกลับใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย โดยการขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษ ด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอละเว้นกฎหมายโดยหน่วยงานที่ควรเป็นต้นแบบของการรักษา กฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ประเด็นที่สอง คือเรื่องความเป็นโบราณสถานของกลุ่มอาคารศาลฎีกา จากการที่โฆษกศาลอ้างว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกามิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร แต่ความจริงอาคารกลุ่มนี้ มีลักษณะเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้รับการรับรองจากกรมศิลปากรแล้วตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ ดังนั้น ห้ามมีการรื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร
ประเด็นที่สาม ปัญหาว่าด้วยความเสื่อมสภาพของกลุ่มอาคารศาลฎีกา ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า อาคารนั้นเสื่อมสภาพในระดับที่ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และจะเป็นอันตรายในระดับที่อาจจะมีการพังถล่มในวันข้างหน้า เพราะงานวิจัย ที่ทำโดย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ ก็ไม่ได้สรุปไปในทิศทางที่แสดงให้เห็นเลยว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาเสื่อมสภาพในระดับที่อาจจะพังถล่มโดยเร็ว และเกินกว่าการบูรณะซ่อมแซมแต่อย่างใด
ประเด็นที่สี่ ว่าด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ที่โฆษกศาลได้ชี้แจงว่า การออกแบบอาคารศาลฎีกาใหม่ ทำโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรมไทยมากมายหลายท่าน ถูกระเบียบแบบแผนทางสถาปัตยกรรมไทย และสอดรับกับความสง่างามของพระบรมมหาราชวัง แต่ประเด็นสำคัญคือ การได้มาซึ่งอาคารใหม่นั้น ทำลายอาคารเดิมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ลง และ มีความสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ออกแบบและหน้าตาอาคารจะสวยงามแค่ไหน ย่อมไม่ใช่สาระสำคัญ
ชาตรีได้เสนอว่า การเก็บรักษาอาคารเก่าไว้ ไม่ได้หมายถึงการรักษาในลักษณะแช่แข็ง ห้ามทำอะไรเลย ความก้าวหน้าในเชิงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และหลักการด้านการอนุรักษ์ที่ก้าวหน้าขึ้นในโลกปัจจุบัน สามารถที่จะทำการอนุรักษ์อาคารเก่าโดยที่สามารถตอบสนองการใช้สอยสมัยใหม่ได้ อย่างเต็มที่ ดังนั้น การรื้อถอนและสร้างใหม่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้สามารถใช้สอยพื้นที่ได้ดีกว่านั้น จึงไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องอีกแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ศาลพิจารณาระงับการรื้อถอนอาคารออกไปก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับ นายสหวัฒน์ แน่นหนา อธิบดีกรมศิลปากร ได้แถลงว่า กรมศิลปากรได้ส่งหนังสือไปถึงเลขานุการศาลยุติธรรมสำเนาถึงประธานศาลฎีกา ให้ยุติการรื้อถอนอาคารเก่าศาลยุติธรรมและศาลอาญากรุงเทพแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม และอธิบายว่า แม้อาคารทั้งสองหลังจะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ก็ถือเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ หากศาลฎีกายังคงยืนยันเดินหน้ารื้อถอน กรมศิลปากรคงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายหาแนวทางดำเนินการต่อไป
ปรากฏว่าในวันที่ ๒๓ ธันวาคม นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยืนยันว่า โครงการทั้งหมดก็เดินหน้าไปแล้ว ถ้าจะมาขอให้ชะลอการรื้อถอนตอนนี้คงไม่ได้ และยืนยันว่า ผู้พิพากษาที่ทำงานอยู่ที่ศาลฎีกาไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยจากสภาพ อาคารที่ทรุดโทรม ขณะที่กลุ่มอาคารในโครงการสร้างใหม่นี้ ศาลไม่ใช่ผู้ริเริ่มด้วยซ้ำ และการก่อสร้างอาคารศาลฎีกาใหม่ตามแบบความเห็นชอบที่กระทำในรูปคณะกรรมการฯ ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะการก่อสร้างอาคารยังคงความมุ่งหมาย ของความเป็นศาลฎีกาในการทำหน้าที่ประสิทธิประศาสตร์ความยุติธรรมให้กับ ประชาชน ศาลยุติธรรมไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และขอยืนยันอีกครั้งว่า ศาลไม่ได้ทำอะไรเองโดยพลการ
ขณะที่คณะกรรมการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์เห็นว่า ศาลฎีกาไม่ควรอ้างเรื่องโครงสร้างอาคารเก่าจนบูรณะไม่ได้มาเป็นเหตุผลในการ รื้อถอน เพราะมั่นใจว่าโครงสร้างอาคารทั้งสองหลัง ซึ่งใหม่กว่าอาคารกระทรวงกลาโหมถึง ๘๐ ปี ยังมั่นคงแข็งแรงและสามารถใช้งานได้ พร้อมทั้งแนะกรมศิลปากรแจ้งความจับผู้รับเหมาเพื่อชะลอการรื้อถอน ก่อนที่จะเสียสมบัติของชาติไป
สรุปแล้ว กรณีนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนจะต้องจับตาพฤติกรรมของศาล ที่มุ่งจะทำลายอาคารเก่าอันทรงคุณค่า และไม่รับฟังข้อเสนอทักท้วง นี่ก็จะเป็นตัวอย่างแห่งความเสื่อมแห่งวิจารณญานของศาลอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเราเห็นได้หลายกรณีแล้วในระยะ ๖ ปีที่ผ่านมานี้
เผยแพร่ครั้งแรกที่: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๓๙๒ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น