แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ใบตองแห้ง 'Voice TV': ประชามติ หลักการกับ ‘การเมือง’

ที่มา ประชาไท


 
พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้ลงประชามติ ก่อนรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระสาม ตามบัญชา “นายใหญ่”
 
นี่เป็น “เกม” ที่ชาญฉลาดของทักษิณและทีมกุนซือพรรคเพื่อไทย กล่าวได้ว่าอ่านสถานการณ์ขาด ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามหลักการเสียทีเดียว เพราะการทำประชามติก่อนไม่จำเป็น
 
มวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยที่เลือดลมร้อนแรงอาจเห็นว่า รัฐสภาควรเดินหน้าลงมติรับร่างวาระ 3 ไปเลย ไม่ควรทำตาม “คำแนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญ บางส่วนก็ไม่พอใจ โวยว่านี่เป็นการ “ซื้อเวลา” อยู่ในเก้าอี้ไปเรื่อยๆ ของรัฐบาล โดยไม่จริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางส่วนก็กลัวว่าจะไม่ชนะ เพราะฝ่ายค้าน ปชป.พธม.จะสั่งคนฝ่ายตนเบี้ยวไม่มาลงประชามติ ฯลฯ
 
ประเด็นอยู่ที่เรามองในมิติไหน มองวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายประชาธิปไตยอย่างไร
 
อย่างที่ผมเขียนมาหลายครั้ง สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จากเมื่อเดือนมิถุนายน ที่รัฐสภายอมให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงเข้ามาใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยกลายเป็นเพื่อถอย ถอยร่นไม่กล้าลงมติรับร่างวาระ 3 ทั้งที่กระแสประชาธิปไตย ประชาชน นักวิชาการ หนุนหลังพร้อมพรั่ง ได้เปรียบทุกอย่างในทางหลักการและเหตุผล แต่ไปยอมจำนนในเกมวัดใจ จึงกลายเป็นต้องนับหนึ่งใหม่
 
ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องโทษความโง่บัดซบของใครบางคน ที่กำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ดีๆ ดันยัดร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้ามาซะนี่ เสียกระบวนหมด
 
แต่หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แบบที่กระแสสังคมถอนหายใจ “โล่งอก” สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ภายหลังความตึงเครียดกดดัน “กระแสรักสงบ” ที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งยืดเยื้อมา 6 ปี ได้กลายเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก สกัดกั้นสงครามระหว่างสี โดยมีผลทั้งสองด้าน คือปกป้องรัฐบาล แต่ก็ไม่ต้องการให้รุกล้างอำมาตย์
 
“กระแสรักสงบ” ไม่อยากเห็นรัฐประหาร แช่แข็งประเทศ ยุบพรรค ถอดถอน ตัดสิทธิ ล้มรัฐบาลด้วยกองทัพหรือศาลอีกแล้ว แม้บางส่วนไม่ได้ชอบรัฐบาล แต่ก็ยังมองหาทางออกไม่เจอ นอกจากยอมให้อำนาจจากการเลือกตั้งอยู่ไปเรื่อยๆ กระนั้น อีกด้านหนึ่ง “กระแสรักสงบ” ก็ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายรุกแก้รัฐธรรมนูญแบบหักหาญ เอาทักษิณกลับบ้าน ฯลฯ เพราะกลัวจะเกิดม็อบยึดทำเนียบยึดสนามบินอีก
 
นี่คือสถานการณ์ที่ค้างคาอยู่ และเป็นขั้นทางยุทธศาสตร์ที่ต้องช่วงชิงกัน ระหว่างรัฐบาล Vs. ฝ่ายค้านและพวกแช่แข็ง ใครจะช่วงชิงคนตรงกลางได้มากกว่ากัน
 
แน่นอนยื้อกันไปอย่างนี้รัฐบาลได้เปรียบ กระแสรักสงบที่สะท้อนออกทางโพลล์ เช่น เอแบคโพลล์ เป็นตัวแทนพลังเงียบที่เบรกม็อบแช่แข็งหัวทิ่ม แต่รัฐบาลก็เผด็จศึกไม่ได้เช่นกัน เพราะพอบอกว่าจะเดินหน้าวาระ 3 โพลล์ก็สะท้อนทันทีว่ายังมีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วย แม้ในนั้นมีความไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญรัฐประหาร (ว่าแท้จริงคือต้นตอของความไม่สงบ) แต่ประการสำคัญก็คือความกลัวว่าสถานการณ์การเมืองจะรุนแรงอีก
 
ในสถานการณ์เช่นนี้ การทำประชามติจึงเป็นทางออกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป โดยไม่เร่งร้อนหักหาญ ซึ่งการไม่เร่งร้อนหักหาญไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็ได้เปรียบอยู่ดี (เวลาอยู่กับเรา)
 
ประเด็นจึงอยู่ที่เรามองการไปสู่เป้าหมาย หรือ “ชัยชนะ” อย่างไร “ชัยชนะ” บางครั้งก็ไม่ใช่การ “เอาชนะ” หรือ “รบชนะ” เป้าหมายของประชาธิปไตย อาจไม่จำเป็นต้องเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเสียแต่เดี๋ยวนี้ (ซึ่งความจริงรัฐธรรมนูญ 2556 ที่จะร่างตาม ม.291 ก็โหลยโท่ยเพราะพรรคเพื่อไทยไปยอมรับข้อจำกัดตั้งแต่แรกว่าห้ามแตะหมวดนั้น หมวดนี้)
 
“ชัยชนะ” ในการรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง บางครั้งก็บรรลุได้ด้วยการโน้มน้าว จูงใจ ดึงคนส่วนใหญ่มาเป็นพวก “ชัยชนะ” บางครั้งอาจดูเหมือนผู้แพ้ แต่ชนะใจคน เรียกคะแนนสงสาร เห็นใจ หรือเห็นว่าเป็นฝ่ายที่ชอบธรรม
 
นี่ต่างหากคือเป้าหมายที่เราควรตั้งในการทำประชามติ ทำให้ประชามติเป็นการเคลื่อนไหวรณรงค์ ที่ทั้งให้เนื้อหาประชาธิปไตยผ่านการดีเบท ถกเถียงด้วยเหตุผล ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมเห็นว่าใครกันแน่เป็นฝ่ายต้องการความสงบ ยอมยืดหยุ่น เพื่อเห็นแก่ส่วนรวม ใครกันแน่ ที่หักหาญ ดื้อรั้น ตีรวน
 
สามัคคีฝ่ายก้าวหน้า ช่วงชิงคนเป็นกลาง โดดเดี่ยวพวกล้าหลัง ทำให้พวกสุดขั้วสุดโต่งถูกปฏิเสธจากสังคม ท่องคำสอนประธานเหมาไว้ ยังเอามาใช้ได้เสมอ
 
ยกตัวอย่างข้อที่มวลชนเสื้อแดงวิตกกันมาก ว่าการลงประชามติต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง คือ 23-24 ล้านเสียง หากฝ่ายตรงข้ามไม่ยอมออกมาจะทำอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลคงไม่สามารถระดมคะแนนเสียงได้ถึง 23 ล้านเสียง
 
ถามว่าถ้าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ 17 ล้านเสียงต่อศูนย์ แต่ประชามติล้มไป จริงๆ แล้วใครชนะ ผู้ที่มองเพียงเป้าหมายโดดๆ ก็จะคิดว่าแพ้ แต่ถ้ามองในเชิงการรณรงค์ทางการเมือง มองในเชิงการช่วงชิงความชอบธรรม ใครเป็นนางเอก ใครเป็นผู้ร้าย พวกกลัวแพ้แล้วตีรวน มุดชายผ้าถุงซุกมดลูกแม่ไม่กล้าออกมาสู้ ยังจะลอยหน้าลอยตาได้อยู่หรือ
 
ถ้าพูดแบบนักการเมืองอาจพูดได้ว่านี่คือเกม แต่ถ้าพูดแบบนักเคลื่อนไหว นี่ก็คือการรณรงค์ทางการเมือง ลากฝ่ายตรงข้ามให้มาต่อสู้บนเวที มาดีเบทด้วยเหตุผล ไม่เปิดช่องให้ก่อม็อบ ไม่เปิดโอกาสให้อำนาจนอกระบบแทรกแซง พวกเขาซึ่งอ่อนเหตุผลอยู่แล้ว ก็จะต้องตีรวน เล่นบท “ผู้ร้าย” หรือ “ตัวอิจฉา” ให้เสียหายเอง โดยรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องเล่นบทแฟร์ที่สุด สวมบท “นางเอ๊กนางเอก” ผู้แสนดี ยอมประนีประนอมแล้วยังถูกรังแก
 
ปัญหาคือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล มีความเข้าใจและเชื่อมั่นในแนวทางนี้อย่างเป็นเอกภาพหรือไม่ เพราะเดี๋ยวก็จะอดไม่ได้ อยากเล่นบท “ตัวโกง” ตามสันดานอีก
 

นางเอกอย่าปาหี่

เมื่อเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยเป็นหลังพิง รัฐบาลก็จะต้องจัดการลงประชามติอย่างแฟร์ที่สุด เปิดโอกาสให้มีการดีเบทถกเถียงให้มากที่สุด กว้างขวางที่สุด
 
อย่าไปไขว้เขว ว่าจะไม่ทำประชามติ จะทำประชาเสวนา อย่าไปไขว้เขว ว่าจะทำประชามติแบบขอคำปรึกษา ตามการชี้ช่องเห่ยๆ ของเจ๊สด เพราะเมื่อจะทำประชามติต้องให้แฟร์ อย่ากลัวแพ้ กลัวผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว เพราะขืนเป๋ไม่ทำประชามติตรงๆ จะโดนโห่เอา กลายเป็น “ปาหี่” ที่เผลอๆ ก็ไม้เอกหาย
 
สิ่งที่ควรทบทวน คือการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ไปจัดประชาเสวนา เพราะกระทรวงมหาดไทยก็จะทำป้ายแบบ “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯ เป็นของเปรม” ยัดเยียดประชามติให้ชาวบ้านแบบสุกเอาเผากิน กลายเป็นใช้อำนาจรัฐโฆษณาชวนเชื่อ
 
ถ้าเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ก็ให้องค์กรอื่น (ที่ไม่ใช่องค์กรกลาง-ฮา) เช่น กกต.จัดดีเบทว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อเสียตรงไหน ท้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาดีเบทกับจาตุรนต์ ฉายแสง ยกทีม ปชป. มาดีเบทกับณัฐวุฒิ จตุพร หรือองอาจ คล้ามไพบูลย์ Vs ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (ฮา) จัดดีเบทให้ถี่ยิบ ใช้สื่อของรัฐถ่ายทอดสดแฟร์ๆ ประชาชนจะได้เห็นว่าใครแถ ถ้าเป็นไปได้ ก็เชิญ อ.วรเจตน์มาดีเบทกับจรัญ ภักดีธนากุล หรือสมคิด เลิศไพฑูรย์ แต่กลัวจะอ้างตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบันหนีการดีเบททั้งคู่เสียมากกว่า
 
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้วิธีปิดปากฝ่ายค้านหรือฝ่ายต่อต้าน อยากพูดได้พูดไป แล้วค่อยไล่วิพากษ์ ปชป. พธม.ยิ่งต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยิ่งเข้าตาจน มีแต่เสียกับเสีย เหมือนอภิสิทธิ์ อยู่ๆ ก็เขียนจดหมายเปิดผนึก เอาคดีที่ตัวเองตกเป็นจำเลยมาพันการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ไงไม่ทราบ ถูกข้อหาสั่งสลายม็อบฆ่าคนตาย กลับโวยวายว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรา 309 ช่วยทักษิณพ้นผิด เข้าใจว่าจะทำตัวเป็นพระเอก ยอมถูกประหารชีวิต ไม่ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญ
 
ผมเลยงัดบทสัมภาษณ์ที่เคยลงไทยโพสต์มาแฉ (เงื้อไว้นานแล้ว 555) เดี๋ยว พธม.ออกมาก็ต้องงัดคำประกาศสมัชชาประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมือง (สปป.) ยัดปาก ยังจำได้แม่นยำ วันลงประชามติ พันธมิตรในนาม สปป.นั่งเรียงหน้าสลอน พี่พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สุริยะใส กตะศิลา แถลงว่ารับร่างก่อน แล้วจะผลักดันให้มีการแก้ไขเร่งด่วน เรื่องที่มาวุฒิสมาชิก (ลากตั้ง) กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ และไม่เอา 309 เพราะเป็นการนิรโทษกรรม คมช.
 
อ้าว ตอนนี้มาบอกว่าไม่ยอมให้ยกเลิก 309 เพราะช่วยให้ทักษิณพ้นผิด
 
พรรคเพื่อไทยมีกำลังคนมีทุนทรัพย์ น่าจะไล่ขุดค้นข้อมูลย้อนหลังให้หมดนะครับ ค้นหนังสือพิมพ์รายวันในหอสมุดแห่งชาติตั้งแต่ปี 2535 ชวน อภิสิทธิ์ พูดหลักการประชาธิปไตยไว้อย่างไร พวกแกนนำพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ คอลัมนิสต์ สมัยปี 35 สมัยปี 40 หรือสมัยทักษิณ เคยพูดหลักการประชาธิปไตยไว้อย่างไร ถ้าบิดพลิ้วไปมาจะได้ประจานลิ้นสองแฉก (โดยเฉพาะสื่อนี่แหละตัวสำคัญ คิดว่าเขียนหนังสือพิมพ์รายวันพรุ่งนี้คนก็ลืม)
 
เรื่องนี้ไม่ต้องห่วงว่าฝ่ายตรงข้ามจะขุดมาย้อนเหมือนกัน เพราะทักษิณไม่เคยพูดหลักการประชาธิปไตย (ฮา)
 

ประชามติไม่ผ่านแล้วไง

อันที่จริงความกลัวของพวก ปชป.พธม.และสลิ่ม ที่ว่าจะแพ้ประชามติ และเตรียมจะรณรงค์ให้มวลชนฝ่ายตัวไม่ออกมาลงคะแนนนั้น เป็นปมทางจิต เพราะกลับไปดูตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 2554 แล้วไม่ได้แปลว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะชนะเด็ดขาด
 
การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน มาใช้สิทธิ (บัญชีรายชื่อ) 35,203,107 คน พรรคเพื่อไทยได้ 15,744,190 พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 906,656 พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 494,894 พรรคพลังชล 178,110 ขี้เกียจนับ 2 พรรคเล็ก แต่รวมแล้วคือพรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนราว 17.5 ล้านจาก 35.2 ล้าน
 
ยังเหลืออีกตั้ง 17.7 ล้าน จริงไหม เพียงแต่ฝ่ายค้านได้ไปราว 14-15 ล้าน เพราะมีบัตรเสีย 1,726,051 ใบ โหวตโน  958,052 คน ซึ่งฐานเสียงที่ว่านี้อาจแปรไปมา เพราะนี่เป็นการลงประชามติ ไม่ใช่เลือกรัฐบาล บางคนก็ขี้เกียจมา ฉะนั้น รัฐบาลน่าจะหืดขึ้นคอเหมือนกัน ไม่ใช่จะเอา 17 ล้านเสียงได้ง่าย
 
แต่อย่างว่า คนเราพอไม่อยู่ฝ่ายที่มีความชอบธรรมก็ใจหวาด กลายเป็นปมทางจิต คิดว่าแพ้แน่ ตั้งท่ารณรงค์ไม่ให้ไปลงคะแนนตั้งแต่ต้น (รู้ตัวเลขแล้วเหยียบไว้นะ อย่าให้พวก ปชป.พธม.สลิ่มรู้ เดี๋ยวจะกลับใจมาสู้ 555)
 
ผมคิดว่าถ้าพวกเขาสู้ยิบตา ยังน่ากลัวกว่าไม่มาลงคะแนน เผลอๆ จะคู่คี่สูสีหรือชนะได้ด้วยซ้ำ เพราะคนแพ้เลือกตั้งมักมีแรงขับดัน พวกที่เลือกเพื่อไทย ถ้าไม่ใช่แดงเข้าไคล ชนะไปแล้วก็หย่อนยาน การมาลงประชามติจะไม่คึกคักเหมือนตอนเลือกตั้ง
 
แต่ถ้าเป็น 16 ล้านต่อศูนย์ 17 ล้านต่อศูนย์ ไม่มีอะไรน่ากลัว ประชามติล้มไป แต่รัฐบาลและพลังประชาธิปไตยได้ความชอบธรรม
 
ถามว่าถ้าประชามติล้ม รัฐบาลจะทำอย่างไร ผมเป็นงงที่มีคนเสนอให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออก มันเกี่ยวกันตรงไหน เออ ถ้าแพ้ 15 ต่อ 17 ล้าน แบบนั้นอาจต้องยุบสภา แต่ถ้า 17 ล้านต่อศูนย์ ก็ไม่เห็นมีอะไร รัฐสภาก็ลงมติไม่รับร่างแก้ไขมาตรา 291 วาระสาม แล้วหันไปแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
 
ฝ่ายค้านอย่ามาอ้างว่าประชามติผูกมัด ห้ามแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ชั่วกัลปาวสาน ห้ามแตะแม้แต่ตัวอักษร เพราะประชามตินี้ถามว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการเลือกตั้ง สสร.ตามร่าง ม.291 หรือไม่ ไม่ได้ถามว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
การแก้ไขรายมาตราไม่ต้องถามประชามติ เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำมาแล้ว
 
ประเด็นสำคัญคือ มติ 16 ล้านต่อศูนย์ หรือ 17 ล้านต่อศูนย์ มีความชอบธรรมที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะนอกจากฝ่ายตรงข้ามจะมุดผ้าถุงแม่แล้ว ยังเป็นคะแนนสูงกว่าประชามติรับร่างเมื่อปี 2550 ที่ 14,727,306 เสียง แม้อันที่จริง ประชามติ 2550 ถือเป็นประชามติเทียม
 
แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จริงก็ไม่ต้องตรงตามหลัก เพราะถ้ายึดหลักแบบนิติราษฎร์ ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ พร้อมบทบัญญัติลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ รัฐธรรมนูญในอุดมคติไม่มีทางเกิดขึ้นในระยะใกล้ แม้แต่ที่พรรคร่วมรัฐบาลจะแก้ไขตามมาตรา 291 ก็ออกมาเป็นหัวมงกุฎท้ายมังกืออยู่แล้ว
 
การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นวิธีการหรือยุทธวิธีที่ให้สังคมกินข้าวทีละคำ เข้าใจและเห็นคล้อยตามทีละประเด็น ซึ่งง่ายกว่ามีประโยชน์กว่า ในแง่ของการรณรงค์ทางการเมือง การให้ความรู้ประชาชน ขณะที่การรณรงค์ทั้งก้อน กินข้าวทั้งจาน เป็นเนื้อหาที่มากมายซับซ้อน ชวนให้สับสน ต้องกินข้าวทีละคำจนจะหมดจาน จึงกระโดดไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
 
ตลอดกระบวนการนี้ในทางการเมืองก็คือการโดดเดี่ยวพวกแช่แข็งให้แห้งตายไปทีละน้อย
 
ที่พูดมาทั้งหมด เหมือนประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต้องเดินตามเกมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะสามารถยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไปเรื่อยๆ แล้วพลังประชาธิปไตยได้อะไร ผมคิดว่านั่นคือจุดร่วม ทั้งการรณรงค์วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งการโดดเดี่ยวพวกแช่แข็ง ปิดโอกาสการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ ขั้วอนุรักษ์นิยมซึ่งกำลังกระวนกระวายเพราะเวลาไม่อยู่ข้างพวกเขา
 
แต่ก็มีจุดต่างที่ต้องสอดแทรก นั่นคืออุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องนำเสนอรัฐธรรมนูญที่ไปไกลกว่าพรรคเพื่อไทย และสอดแทรกอุดมคติเข้าไปในการรณรงค์ สมมติเช่น นิติราษฎร์อาจยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับอุดมคติ นักวิชาการรัฐศาสตร์อาจเสนอแนวคิดเรื่องการลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจ ปฏิรูปประชาธิปไตยในระบบราชการ ฯลฯ พร้อมไปกับการล้างอำนาจอำมาตย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยไม่อยากเห็นนักหรอก แต่หลายเรื่องก็เป็นความต้องการที่ตรงกับพวกเสื้อเหลือง (หมอประเวศพูดเรื่องกระจายอำนาจอีกแล้ว) ซึ่งก็ต้องถามพวกเขาว่าถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจะไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างไร

 

2พันล้านเพราะศาล

ขอแถมประเด็นย่อยว่า รัฐบาลต้องมุ่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่แรกว่า การทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็น แต่ต้องทำ เพราะศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำ หากไม่ทำ ก็จะมีตัวป่วนไปฟ้องศาล หรือออกมาก่อม็อบ สร้างความไม่สงบ เกิดวิกฤตรอบใหม่ขึ้นอีก รัฐบาลจึงต้องทำประชามติ เพื่อให้ผู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาแสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ จัดเวทีให้ประชันกันอย่างสันติ
 
รัฐบาลไม่ค่อยพูดเรื่องนี้เลย ฟังไปฟังมาชาวบ้านจะเข้าใจว่าต้องเสีย 2 พันล้านเพราะความกระสันของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ แต่เพราะศาลติดเบรกไว้ ทั้งที่ความจริงศาลไม่มีอำนาจ เป็นอำนาจของรัฐสภา ณ ตอนนี้ รัฐสภาจะลงมติรับร่างวาระ 3 เลยก็ได้ แต่เห็นแก่ความสงบของสังคมจึงให้ลงประชามติ
 
รัฐบาลต้องชี้แจงว่าการลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็น แม้อ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงประชามติ เพราะการแก้ไขมาตรา 291 เพียงบัญญัติให้มี สสร.จากการเลือกตั้ง มายกร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับ เพื่อนำมาเปรียบเทียบ ระหว่าง สสร.ยกร่าง รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังใช้อยู่ ยังไม่ได้ยกเลิก จนเมื่อยกร่างฉบับใหม่แล้วจึงนำมาให้ประชาชนลงประชามติ ว่าจะเอาฉบับไหน
 
การลงประชามติก่อนยังมีปัญหาด้วยซ้ำ เพราะถ้าถามประชาชนเห็นด้วยกับการรับร่างวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ สมมติประชามติชนะ แปลว่าอะไร แปลว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กลายเป็นรัฐธรรมนวยไปโดยสมบูรณ์ เพราะถูกประชาชนปฏิเสธ แต่ประเทศไทยก็ยังต้องใช้รัฐธรรมนวยต่อไปจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ
 
การลงประชามติยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะมาตรา 291 เปิดกว้างให้ สสร.ยกร่าง รัฐบาลและรัฐสภาไม่สามารถกำหนดประเด็นได้เพราะจะกลายเป็นบล็อกโหวต สิ่งที่ทำได้จึงมีแต่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีปัญหาอย่างไร
 
แต่รัฐบาลก็ต้องชี้ว่านี่เป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญยัด “คำแนะนำ” เข้ามาไว้ในคำวินิจฉัย ทั้งที่ไม่อยู่ในประเด็นของคดี และไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของตุลาการด้วยซ้ำ กระนั้นถ้ารัฐบาลและรัฐสภาไม่ทำตามคำแนะนำ ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญก็แทงกั๊ก ไม่บอกว่ารับร่างวาระ 3 แล้วถูกหรือผิด ถูกถอดถอนตัดสิทธิกันระนาวหรือไม่ หนำซ้ำยังมีพวกแช่แข็งคอยก่อความวุ่นวาย รัฐบาลจึงจำใจต้องทำประชามติทั้งที่เสียเปรียบ เพราะถูกบีบให้ทำประชามติระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญในอนาคต
 
ในโอกาสนี้ รัฐบาลต้องชี้ด้วยว่า ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ชอบธรรม ฝ่ายไม่รับเสียเปรียบ เพราะประชาชนไม่รู้ว่าถ้าไม่รับ คมช.จะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ ไม่มีตัวเปรียบเทียบ เป็นประชามติระหว่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับรัฐธรรมนูญผี ขณะที่ สสร.ก็ใช้งบประมาณของรัฐโหมโฆษณาว่าให้รับไปก่อน จะได้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
 
เหล่านี้คือประเด็นที่จะต้องโพนทนา ก่อนเข้าสู่การรณรงค์ประชามติ
 
                                                                                                ใบตองแห้ง
                                                                                                20 ธ.ค.2555
.............

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น