แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นิติราษฎร์:แก้รธน.'56-ย้อนดูต้นแบบคณะราษฎร์

ที่มา Thai E-News


ใน ปี ๒๕๕๖ ที่ใกล้จะมาถึง น่าจะเป็นปีที่ตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และคงจะมีประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ได้ถกเถียงกันตลอดปี.. ข้าพเจ้า ขอยืนยันว่าในปี ๒๕๕๖ คณะนิติราษฎร์จะยกร่างรัฐธรรมนูญตามความคิดของคณะนิติราษฎร์ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นต้นแบบหนึ่งในการนำไปถกเถียงรณรงค์ต่อสาธารณะต่อไป

โดย ปิยะบุตร แสงกนกกุล
ที่มา เว็บไซต์นิติราษฎร์
จากบทความดั้งเดิมชื่อ:ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ คือ รัฐธรรมนูญทางประวัติศาสตร์ฉบับแรกของระบอบประชาธิปไตย


« Comme on l’a vu chez Sieyès, le moment négatif du pouvoir constituant (« dé-constituant ») est suivi du moment contructif (« re-constituant ») de l’édiction d’une nouvelle constitution ».
“ดังที่เราได้เห็นจาก ความคิดของ Sieyès นั้น ห้วงขณะแห่งการปฏิเสธอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ-อำนาจก่อตั้งระบบการเมืองกฎหมาย หนึ่ง (ถอดรื้อระบบการเมืองกฎหมาย) จะติดตามมาด้วยห้วงขณะแห่งการก่อตั้ง (ฟื้นสร้างระบบการเมืองกฎหมาย) ของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่”
Olivier Beaud, La puissance de l’Etat, PUF, 1994, p.263. 

- ๑-
ร่าง “ราชาธรรมนูญ” ก่อน ๒๔๗๕ 

การ เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มักถูกฝ่ายนิยมเจ้าโจมตีว่า “ชิงสุกก่อนห่าม” เพราะพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาบรรดาร่างรัฐธรรมนูญสมัยระบอบเก่าที่พวก กษัตริย์นิยมอ้างกันว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์เตรียมจะมอบให้อยู่ แล้ว แต่คณะราษฎรมา “ชิงสุกก่อนห่าม” ไปเสียก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าร่างรัฐธรรมนูญเหล่านั้นไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย

มีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ ๓ ฉบับที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมมักอ้างอยู่เสมอว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์เตรียมมอบให้กับประชาชนฉบับแรก ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ ๑ ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ซึ่ง สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ยกร่างในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาที่ ๑ ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม มีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง ในมาตราแรก พระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจครอบคลุมแดนใดบ้าง เป็นผู้มีคุณธรรม ในมาตรา ๒ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชอาญาสิทธิ์เด็ดขาดในการตัดสินใจทั้งหมด ในมาตรา ๓ พระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าครองแผ่นดิน เป็นบ่อเกิดความยุติธรรม เป็นบ่อเกิดฐานันดรศักดิ์ เป็นจอมทัพ เป็นพุทธศานูปถัมภก และพระราชดำรัสเป็นกฎหมาย ในมาตราอื่นๆ ได้รับรองการมีอยู่ของ รัฐมนตรีสภา องคมนตรีสภา เสนาบดีสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ทั้งหมด และอำนาจสุดท้ายอยู่ที่กษัตริย์

ฉบับที่สอง ยกร่างโดยพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี แซร์) ๒๔๖๙  ในมาตราแรก ยืนยันชัดเจนว่าอำนาจสูงสุดของราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ ในมาตรา ๒ กษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีต้องถวายขอความเห็นจากกษัตริย์ และต้องปฏิบัติตามคำสั่งกษัตริย์ (มาตรา ๖) อำนาจตุลาการอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของกษัตริย์ โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ (มาตรา ๑๐) ส่วนอำนาจนิติบัญญัติก็เป็นของกษัตริย์ (มาตรา ๑๑)

ฉบับที่สาม ยก ร่างโดยเรยมอนด์ บี สตีเวนส์, พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) เมื่อปี๒๔๗๔ กำหนดให้มีอภิรัฐมนตรีสภาเป็นที่ปรึกษากษัตริย์ และกษัตริย์ มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ มีสภานิติบัญญัติ ที่มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ทั้งหมด หรืออาจให้มีการเลือกตั้งบางส่วนคณะอภิรัฐมนตรีได้พิจารณาเนื้อหาสาระและ สถานการณ์แล้วเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะประกาศใช้

จะเห็นได้ว่าร่างฯ ทั้งสามฉบับนี้ไม่เป็นรัฐธรรมนูญในความหมายสมัยใหม่แบบประชาธิปไตย เพราะ รัฐธรรมนูญสมัยใหม่แบบประชาธิปไตยต้องกำหนดให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เท่านั้น มีการแบ่งแยกอำนาจ รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และหากจะเก็บตำแหน่งพระมหากษัตริย์ไว้ต่อไปก็ต้องกำหนดให้กษัตริย์อยู่ใต้ รัฐธรรมนูญ และกษัตริย์ไม่ต้องรับผิด เพราะไม่มีอำนาจกระทำการใดโดยลำพัง

หาก มีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ร่างฯทั้งสามก็เป็นเพียง “ราชาธรรมนูญ” หรือ “ธรรมนูญของราชา” ที่เข้ามาจัดการปัญหาและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยระบอบเก่าเท่า นั้น ไม่ได้ลดอำนาจกษัตริย์ ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ไม่ได้ทำให้คนเป็นพลเมือง เป็นผู้ทรงสิทธิ เพราะ “ราชาธรรมนูญ” ไม่มีที่ให้กับประชาชน

หากไม่มีคณะราษฎร หรือหากไม่มีการลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เราจะคาดหวังได้เพียงใดว่ากษัตริย์และบรรดาองค์กรรายล้อมจะยินยอมปรับตัวและ “มอบ” รัฐธรรมนูญให้ และถึงแม้กษัตริย์ยินยอมมอบรัฐธรรมนูญให้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะมีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยที่ยึดหลัก การอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

- ๒ -
รัฐธรรมนูญทางประวัติศาสตร์ฉบับแรกของระบอบประชาธิปไตย

พระ ราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย แต่สาเหตุที่ไม่ใช้ชื่อรัฐธรรมนูญนั้น นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายไว้ว่า “เมื่อ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ ขณะที่ยังมิได้มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า “รัฐธรรมนูญ” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษและฝรั่งเศส “Constitution” นั้น คณะราษฎรจึงใช้คำว่า “ธรรมนูญ” ประกอบกับคำว่า “การปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้ราษฎรเข้าใจได้ง่ายๆว่า “กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดิน” ส่วนคำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้น “กรม หมื่นนราธิปฯขณะยังทรงพระอิสรยศ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงเสนอผ่านทางหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ว่าคำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” นั้นยืดยาวไป จึงสมควรใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” คณะอนุกรรมการฯและรัฐบาลเห็นชอบด้วยตามที่หม่อมเจ้าวรรณฯเสนอ เพราเป็นคำกะทัดรัด ได้ความตรงกับคำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งถ่ายทอดมาจากคำอังกฤษและคำฝรั่งเศส “Constitution” รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเห็นชอบด้วยแล้ว คณะอนุกรรมการฯจึงแก้คำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ในต้นร่างและใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” แทน”

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีเอกลักษณ์หลายประการ ดังนี้

ประการแรก รัฐธรรมนูญทางประวัติศาสตร์ฉบับแรกของระบอบใหม่ (La Première Constitution historique)
การ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยอาศัยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ เป็นการ “แก้ไข” โดยอาศัยกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเดิม เป็นกรณีที่มีรัฐธรรมนูญเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็น “สายโซ่” เดียวกันกับรัฐธรรมนูญเดิม อย่างไรก็ตาม มีการก่อตั้งรัฐธรรมนูญอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการตัดขาด “สายโซ่” จากรัฐธรรมนูญเดิม เปลี่ยนหลักการมูลฐานจากระบอบเก่าตามรัฐธรรมนูญเดิม การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแบบนี้ คือ การปฏิวัติทางกฎหมาย

การปฏิวัติ ทางกฎหมายแยกออกจากการปฏิวัติทางการเมือง ในบางกรณี การปฏิวัติทางการเมืองนำมาซึ่งการปฏิวัติทางกฎหมาย เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ๑๗๘๙ เป็นการปฏิวัติทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองอย่างถึงราก จากกษัตริย์มีอำนาจล้นพ้นเด็ดขาด มาเป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจสูงสุดเป็นของชาติ ยกเลิกอภิสิทธิ์ของชนชั้นขุนนางและพระ การปฏิวัติทางการเมืองนี้นำมาซึ่งการปฏิวัติทางกฎหมาย คือ การประกาศใช้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ๑๗๘๙ และรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ เป็นต้น แต่ในบางกรณี การปฏิวัติทางการเมืองเกิดขึ้นโดยปราศจากการปฏิวัติทางกฎหมาย เช่น  การยึดอำนาจของนาซีในเยอรมนีเมื่อปี ๑๙๓๓ ซึ่งไม่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญไวมาร์ หรือการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยในประเทศยุโรปตะวันออกบาง ประเทศและประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต หลังปี ๑๙๘๙ เป็นต้น

การก่อตั้ง รัฐธรรมนูญที่วางกฎเกณฑ์รากฐานใหม่โดยไม่อาจสืบทอดความต่อเนื่องทางกฎหมาย เดิมได้เลย การก่อตั้งรัฐธรรมนูญนั้น คือ การก่อตั้งรัฐธรรมนูญทางประวัติศาสตร์ฉบับแรก (La Première Constitution historique) รัฐธรรมนูญฉบับแรกทางประวัติศาสตร์ไม่ใช่หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติ ศาสตร์ของประเทศ หรือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมา แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานจากระบบการ เมือง-กฎหมายเดิม หรือเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรก” ของระบอบใหม่นั่นเอง  รัฐธรรมนูญนี้เกิดจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญหรืออำนาจก่อตั้งระบบการ เมือง-กฎหมาย (Pouvoir constituant)  เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในสภาวะไม่มีรัฐธรรมนูญเดิม (Pre-constitution)

เมื่อ พิจารณาธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกทางประวัติศาสตร์ของระบอบใหม่ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีอำนาจเป็นล้นพ้น เด็ดขาด ปกครองประเทศได้ตามอัธยาศัย มาเป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญนี้ได้จัดวางหลักการมูลฐานใหม่ ได้แก่
๑.) อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย
๒.) กษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งซึ่งมีพระราชอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญ กำหนด ดังนั้น พระราชอำนาจใดของกษัตริย์ที่มีมาแต่เดิม พระราชอำนาจใดของกษัตริย์ที่ตกทอดกันมาตามธรรมเนียมโบราณ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือไม่ว่าจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นหลอกลวง) ย่อมต้องถูกยกเลิกไป และจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด เมื่อระบอบใหม่ “อนุญาต” ให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไปโดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระราชอำนาจของกษัตริย์จะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับ ประชาธิปไตยตามระบอบใหม่ ดังนั้น การเพิ่มพระราชอำนาจให้กษัตริย์โดยผ่าน “ประเพณี” ย่อมไม่ถูกต้อง
๓.) กษัตริย์ไม่อาจกระทำการใดได้โดยลำพัง การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการปฏิวัติทางการเมือง โดยคณะราษฎรได้ยึดอำนาจจากกษัตริย์ อำนาจสูงสุดของกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ถูกโอนไปยังคณะราษฎร โดยมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้ “อำนาจการปกครองชั่วคราว” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และในประกาศคณะราษฎรก็ได้แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญไว้ว่า “ส่วนผู้เป็น ประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”  

ในวันที่ ๒๔ ๒๕ และ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ อำนาจสูงสุดอยู่ที่คณะราษฎรโดยมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นการชั่วคราว จากนั้นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ การปฏิวัติทางกฎหมายก็เกิดขึ้นตามมา เมื่อพระปกเกล้าฯ “ยอม” ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม นั่นคือ พระปกเกล้าฯยอมตามที่คณะราษฎรยื่นข้อเสนอ คือ ยินยอมลงมาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และในวันนั้นเอง อำนาจสูงสุดก็มาเป็นของประชาชน ดังที่ปรากฏในมาตราแรกของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ดังนั้น การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ คือ การปฏิวัติทางการเมืองอันนำมาซึ่งการปฏิวัติทางกฎหมาย

เมื่อ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”  แล้ว ก็แปลความได้โดยปริยายทันทีว่ากษัตริย์ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ทรงอำนาจสูง สุดของประเทศอีกต่อไป และ “อำนาจสูงสุดของประเทศ” ไม่มีวันกลับไปสู่กษัตริย์ได้อีก แม้ในเวลาต่อมาจะเกิดรัฐประหารอีกหลายครั้ง จะเกิดรัฐธรรมนูญใหม่อีกหลายฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของกษัตริย์” ดังนั้น การสร้างคำอธิบายว่าในระบอบประชาธิปไตยไทย “อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน” หรือการสร้างคำอธิบาย “อำนาจอธิปไตยไหลย้อนกลับ” ไปยังกษัตริย์ทุกครั้งหลังรัฐประหาร  จึงเป็นการทึกทักเอาเองและไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญที่กำเนิดโดยการตกลงกันระหว่างกษัตริย์กับราษฎร 
ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์มอบให้ด้วยความเต็มใจหรือเจตจำนงของตนเอง ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ พระปกเกล้าฯบันทึกไว้ว่า “ได้เห็นรัฐ ธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้ทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการขอขงข้าพเจ้าไม่พ้องกันเสียแล้ว... แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และสมควรจะรักษาความสงบไว้ก่อนเพื่อหาโอกาสผ่อนผันในภายหลัง ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันตามประสงค์ของคณะผู้ก่อการฯในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับหลักการนั้นเลย”

นัก กฎหมายรัฐธรรมนูญหลายท่าน เช่น นายไพโรจน์ ชัยนาม เห็นว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Pacte ในขณะที่หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ เรียกรัฐธรรมนูญที่เป็นสัญญาระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ว่า Constitution contractuelle

นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาจากประกาศคณะราษฎรประกอบ

“เหตุ ฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะ ราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะ ราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา...” 

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญนี้เริ่มต้นจากคณะราษฎร “ได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว” และ “อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” เมื่อ กษัตริย์พิจารณาแล้ว ก็ตัดสินใจยอมลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ ด้วยการลงนามประกาศใช้ กษัตริย์ไม่ได้มอบรัฐธรรมนูญให้ด้วยความเต็มใจเอง แต่คณะราษฎรยึดอำนาจและเสนอให้กษัตริย์ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และกษัตริย์ก็ยินยอม

ประการที่สาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 
นาย ปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกไว้ในหลายที่ว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เดิมไม่มีคำว่า “ชั่วคราว” พระปกเกล้าได้ขอให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ และรับสั่งว่าให้ใช้ธรรมนูญฯนั้นไปชั่วคราวก่อน ความข้อนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคณะราษฎรไม่ได้ต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่เป็นพระปกเกล้าฯที่ “ทำให้” รัฐธรรมนูญนี้กลายเป็นของชั่วคราว

นอก จากนี้หากพิจารณาจากเนื้อหาในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติในหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่ ต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้เป็นการถาวรตลอดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ต้องมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยแบ่งสภาผู้แทนราษฎรเป็น ๓ สมัย ในสมัยแรก ประกอบไปด้วยสมาชิก ๗๐ คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ในสมัยที่สอง ๖ เดือนถัดมา ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งบวกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดิม อีก ๗๐ คน และในสมัยที่สาม เมื่อราษฎรสอบไล่ชั้นประถมเกินครึ่ง หรือไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่ประกาศใช้ธรรมนูญฯนี้ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ประการที่สี่ กษัตริย์อาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ 
ในมาตรา ๖ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ บัญญัติว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” นั่น หมายความว่า กษัตริย์อาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ เพียงแต่ว่าศาลไม่อำนาจพิจารณา และให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ในเรื่องนี้ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์มีความเห็นต่อไปว่า “คดีอาชญาซึ่งกษัตริย์ทำผิดจะ ต้องถูกฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ฉะเพาะแต่ความผิดที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายอาชญาเท่านั้น ยังหมายความเลยไปถึงความผิดซึ่งกษัตริย์กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการ บริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ละเมิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดต่อสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ ประเทศบ้านเมือง นี่เป็นความเห็น คือว่า ในคดีอาชญาไม่หมดความฉะเพาะแต่ความผิดซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญา ร.ศ. ๑๒๗ แต่กินความเลยไปถึงการกระทำของกษัตริย์ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ปกครองแผ่นดินสยามมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือว่ากระทำการผิดสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบและถูกฟ้องร้องตามมาตรา ๖"

ประการที่ห้า ระบบรัฐบาลโดยรัฐสภา
การ ปกครองในระบบรัฐบาลโดยรัฐสภา คือ การปกครองที่บริหารประเทศโดยไม่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล รัฐสภาครอบงำฝ่ายบริหาร โดยรัฐสภามีอำนาจเลือกคณะบุคคลคณะหนึ่งเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศภายใต้ การควบคุมของรัฐสภา และรัฐสภามีอำนาจปลดรัฐบาลได้ ส่วนรัฐบาลไม่อาจยุบสภาได้ การปกครองในระบบนี้มักใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบบหนึ่งไปอีกระบบ หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบอบใหม่ที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้า ไปยึดกุมอำนาจในรัฐสภา ดังปรากฏให้เห็นในฝรั่งเศสช่วง ๑๗๙๓

ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ กำหนดการปกครองแบบรัฐบาลโดยรัฐสภา โดยให้คณะกรรมการราษฎรมาจากการแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรเลือกเอาสมาชิก ๑ คนเป็นประธานกรรมการราษฎร  และให้ประธานฯเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก ๑๔ คนเป็นกรรมการราษฎร และคณะกรรมการราษฎรต้องบริหารประเทศไปตามวัตถุประสงค์ที่สภาผู้แทนราษฎร กำหนด สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจปลดกรรมการราษฎรได้ และคณะกรรมการราษฎรไม่มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร


- ๓ -
คณะราษฎร : ต้นตำรับการ “ปรองดองแห่งชาติ” ?

เมื่อ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถูกทำให้เป็น “ชั่วคราว” โดยการเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไปโดยพระปกเกล้าฯ ก็ต้องมีการทำรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น คณะกรรมการราษฎรและคณะราษฎรได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยกรรมการ ๗ คน ได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาเทพวิทุร พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาล พระยาปรีชานฤเบศร์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์ ต่อมาพระยามโนปกรณ์นิติธาดาขอเพิ่มอนุกรรมการอีก ๒ คน คือ พระยาศรีวิศาลวาจา (เป็นผู้ยกร่าง “เค้าโครงการเปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล” ร่วมกับนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ เมื่อปี ๒๔๗๔ ตามที่พระปกเกล้าฯมอบหมาย) และนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน จากรายชื่อคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีเพียงนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เท่านั้นที่มาจากสายคณะราษฎร

การยกร่างรัฐ ธรรมนูญในครั้งนั้น คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้สอบถามความเห็นจากพระปกเกล้าฯสม่ำเสมอ ดังที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “ในการ ร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่าได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอด ในร่างที่เสนอมานี้ได้ทูลเกล้าฯถวายและทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงเห็นชอบอย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก”

พระยามโนปกรณ์นิติธาดายังกล่าวถึงบทบาทของพระปกเกล้าฯต่อคำปรารภในรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ไว้ว่า “ใน เมื่อเราทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้นำไปทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร ก็โปรดปรานเป็นที่พอพระราชหฤทัยมากถึงได้ทรงเตรียมการที่จะพระราชทานรัฐ ธรรมนูญนี้และโปรดเกล้าฯให้พระสารประเสริฐไปร่างประกาศนี้ ซึ่งแต่แรกทรงหวังที่จะให้อาลักษณ์อ่านในเวลาที่จะพระราชทาน เมื่อพระสารประเสริฐได้ร่างแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร แล้วก็พระราชทานมาให้คณะกรรมการราษฎรดู คณะกรรมการราษฎรพิจารณาเห็นว่าถ้อยคำที่เขียนมานั้น ถ้าจะใช้เป็นพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญก็จะเหมาะและงดงามดี จึงได้นำความกราบบังคมทูล ก็โปรดเกล้าฯว่าจะให้เป็นพระราชทานปรารภในรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเช่นนี้พระราชปรารภก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หาเป็นประกาศไม่”

คำปรารภของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ เขียนไว้อย่างกะทัดรัดว่า “... โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง แผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้น ไว้โดยมาตราต่อไปนี้” ในขณะที่คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม กลับเป็นไปในทำนองว่าเป็นพระปกเกล้าฯเองที่ปรารถนาพระราชทานรัฐธรรมนูญ ดังเช่น “ทรง พระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนินพระราโชบายปกครองราชอาณาจักร ด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชภายในทศพิธราชธรรมจรรยาทรงทำนุบำรุงประเทศให้ รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ ๑๕๐ ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี  สมควรแล้วที่จะ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการใน ภายภาคหน้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราวพอให้สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร ได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่” หรือ  “...บัดนี้ อนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษาแนะนำด้วยความยินยอมพร้อมที่จะตราเป็น รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินได้ เมื่อและทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติ...”

ในด้านเนื้อหา รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยนแปลงหลักการของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไปหลายกรณี เช่น 

  • ใน มาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ได้ประกาศหลักการพื้นฐานของระบอบใหม่ไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เปลี่ยนเป็นมาตรา ๒ ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยามพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
  • กรณี กษัตริย์ไม่อาจถูกดำเนินคดีอาญาในศาล แต่ให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา ๖ ก็ถูกยกเลิกไป และมีมาตรา ๓ มาแทนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
  • มาตรา ๗ “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” ถูกยกเลิกไป และมีมาตรา ๕๗ มาแทน “ภายในบังคับแห่งมาตรา ๓๒ และ ๔๖ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ”
  • ยกเลิกระบบรัฐบาลโดยสภา เปลี่ยนเป็นระบบรัฐสภา
  • ยกเลิกคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ให้ใช้ “คณะรัฐมนตรี” แทน
  • คำว่า “กษัตริย์” กลายเป็น “พระมหากษัตริย์”
  • ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิยับยั้งชั่วคราวของกษัตริย์ในการประกาศใช้กฎหมายจากเดิม ๗ วัน เป็น ๓๐ วัน บวก ๑๕ วัน๑๐
รัฐ ธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ จึงเป็นผลิตผลของการปรองดองกันระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายเจ้า หากต้องการให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมเป็นวันสำคัญ ก็คงเป็นวันสำคัญในฐานะเป็นวันต้นแบบของการปรองดองแห่งชาติ ไม่ใช่วันรัฐธรรมนูญ เพราะวันรัฐธรรมนูญหมายถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็ต้องกำหนดให้วันที่ ๒๗ มิถุนายน เป็นวันรัฐธรรมนูญ

ภายหลังระบอบ รัฐธรรมนูญดำเนินการเรื่อยมา คณะราษฎรยังได้แสดงไมตรีจิตต่อพวกนิยมเจ้าอีกหลายกรณี ด้วยหวังว่าจะสมัครสมานสามัคคีและปรองดองกับพวกนิยมเจ้าเพื่อร่วมมือกัน พัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย กรณีที่เห็นประจักษ์ชัดกรณีหนึ่ง คือ กรณีอภัยโทษให้นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต ณ อยุธยา (กรมขุนชัยนาทนเรนทร) และคืนสถานะและฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ให้๑๑  หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทรก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในทางประวัติศาสตร์การ เมืองไทย อีกสองกรณี คือ กรณีรัชกาลที่ ๘ สวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ และกรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

กรณีแรก นายปรีดี พนมยงค์ (ในฐานะโจทก์คดีหมิ่นประมาททางแพ่ง) เขียนไว้ในคำฟ้องของโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ ๘๖๑๒/๒๕๒๑ ศาลแพ่ง วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๑" ว่า

"ข้อ ๙.๑
...
(๗) เมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจจะจัดการชัณสูตรบาดแผลที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ของในหลวงรัชกาลที่ ๘ แต่กรมขุนชัยนาทฯ โบกพระหัตถ์ให้รัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีกรมตำรวจ โดยแสดงว่าห้ามมิให้แตะต้องพระบรมศพ เมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยมองดูโจทก์ โจทก์ ก็ไม่กล้าที่จะสั่งตรงกันข้ามกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่เป็นพระบรมวงศ์อาวุโส เพราะจะเป็นการเหลื่อมล้ำไปสู่องค์พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตนั้น ฉะนั้น โจทก์จึงขอเชิญเสด็จกรมขุนชัยนาทฯ ลงมาชั้นล่างพระที่นั่งบรมพิมานเพื่อร่วมประชุมกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่กล่าว นามมาแล้วว่า จะทรงมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โจทก์และรัฐมนตรี มหาดไทยกับนายดิเรกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ก็ได้ร่วมประชุมด้วย โจทก์ได้ทูลถามกรมขุนชัยนาทฯ ว่า สมเด็จพระอนุชาและพระราชชนนีทรงมีความเห็นประการใดเกี่ยวกับกรณีสวรรคตนั้น บ้าง กรมขุนชัยนาทฯ รับสั่งว่า นางสาวจรูญ (นามสกุล "ตะละภัฏ") ได้ทูลสมเด็จพระอนุชา (ในหลวงองค์ปัจจุบัน) ว่า "ในหลวงยิงองค์เอง" และนายชิต สิงหเสนี ก็ทูลเช่นนั้นเหมือนกัน โจทก์จึงได้เรียกให้นายชิต ลงมาชั้นล่างของพระที่นั่งบรมพิมานและสอบถามพฤติการณ์สวรรคต นายชิตก็ยืนยันว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทฯ ซึ่งได้รับสั่งตรงตามที่ พ.ต.ท.ประเสริฐ ลิมปอักษร พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ ซึ่งปรากฎในบันทึกคำอภิปรายของรัฐสภากรณีสวรรคต...
 ...
(๙) โจทก์และคณะรัฐมนตรีที่ได้ร่วมประชุมกับพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวพระนามไว้ แล้วนั้น จึงทูลและถามที่ประชุมให้สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์กรณีสวรรคตว่าอย่างไร  พระบรมวงศานุวงศ์และโจทก์กับคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบพร้อมกันว่า ควรแถลงไปตามที่กรมขุนชัยนาทฯ พระบรมวงศ์อาวุโสทรงเข้าพระทัยว่าเป็นอุบัติเหตุ..."๑๒
กรณี ที่สอง ภายหลังจากรัชกาลที่ ๘ สวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ รัฐสภาจึงลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน และพระยามานวราชเสวี โดยมีข้อตกลงว่าในการลงนามเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม  และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่าจะรักษาและปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ต่อมา ผิน ชุณหะวัณได้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ “ฉีก”รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ เป็นจุดเริ่มต้นของ “วงจรอุบาทว์” ในระบอบการเมืองไทย และนับแต่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่สืบเนื่องต่อมา ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกตัดตอนจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร

กรมขุน ชัยนาทนเรนทรได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยได้ลงนามในฐานะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นการลงนามเพียงคนเดียว

นายปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าการลงนามของกรมขุนชัยนาทนเรนทรในรัฐธรรมนูญ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เป็นโมฆะ เพราะ “หัว เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตำแหน่งผู้ลงนามแทนพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร”๑๓  และเมื่อ "... ผู้สำเร็จราชการที่ตั้งโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นี้ก็ได้ปฏิญาณตนต่อรัฐสภาว่า "จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ดั่งนั้นถ้ากรมขุนชัยนาทฯได้ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณและไม่ยอมลงพระนามแทนองค์ พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม และปฏิบัติหน้าที่จอมทัพแทนองค์พระมหากษัตริย์ขณะทรงพระเยาว์แล้ว ระบอบแห่งรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มอันเป็นบ่อเกิดให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญต่อมาอีก หลายฉบับ จนมวลราษฎรจำกันไม่ได้ว่ามีกี่ฉบับก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้..."๑๔

เหตุการณ์ ในช่วง ๑๕ ปีแรกของคณะราษฎรที่หยิบยกมานี้ เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการของคณะราษฎรในการปรองดองกับ ฝ่ายกษัตริย์นิยม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและร่วมมือกันพัฒนาชาติตามระบอบรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่การยึดอำนาจได้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และเปิดโอกาสให้พระปกเกล้าฯได้กลับมาเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกกลายเป็นของชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับถัดมาก็เป็นการยกร่างภายใต้การเจรจาประนีประนอมกับพระปก เกล้าฯ แม้คณะราษฎรจะเจอขบวนการโต้อภิวัฒน์หลายครั้งหลายหน เมื่อคณะราษฎรจัดการปราบปรามได้ ก็ลดหย่อนผ่อนโทษให้กับกบฏหลายคนด้วยเห็นแก่ไมตรีของคนร่วมชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลสมัยนั้นยังได้ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่กรมขุนชัยนาทนเรนทร และต่อมาก็สถาปนาฐานันดรศักดิ์กลับคืนตามเดิม และเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทรนี้เองที่มีบทบาทในการห้ามชันสูตรพระบรมศพของ ในหลวงอานันท์ฯ และชี้นำให้รัฐบาลแถลงว่าการสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ เกิดจากอุบัติเหตุ

เมื่อมองประวัติศาสตร์ย้อนกลับไป เราอาจหวนคิดถึงการคาดการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงครามในเรื่องการต่อสู้กันระหว่างระอบเก่ากับระบอบใหม่ ตามที่เขาแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ๒๔๘๓ ไว้ว่า “ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้ เพราะเหตุเราจะต้องประสานกัน เราต้องการความสงบสุข เราต้องการสร้างชาติ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เราจึงไม่ได้ทำอะไรเลยกับพวกที่เห็นตรงกันข้าม ใครจะไปไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบกับในต่างประเทศ ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า เราทำมาผิดกันไกล เช่นฝรั่งเศสปฏิวัติกัน เขาก็ฆ่ากันนับพัน ๆ คน จนถึงกับเอาใส่รถใส่เกวียนไปฆ่ากัน ส่วนเราเปลี่ยนกัน เปลี่ยนทั้งพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนทั้งอำนาจอะไรต่ออะไรด้วย เราก็ไม่ได้ทำอะไรกันเลย มิได้มีการเสียเลือดเสียเนื้อกันเลย และผมคิดว่า ในชีวิตเรา ในชีวิตลูกของเรา พวกรักระบอบเก่าแก้แค้นก็ไม่หมด เพราะว่าเราปล่อยไว้...พวกผมขอให้หมดปิดฉากพยาบาทกัน แต่พวกตรงข้ามเขาไม่ยอม ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร เขาแสดงทีท่าว่า ต่อให้ถึงลูกหลานเหลนของเราก็ต้องรบกันอยู่นั่นเอง ก็มีปัญหาขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่แก้เล่า ถ้ามีแก้ ก็ต้องทำเด็ดขาดอย่างพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิบัติกับพวกเจ้าตาก ซึ่งได้ผลดีมาแล้ว แต่เราทำไม่ได้ จะไปล่มเรือฆ่ากันอย่างนั้นพ้นสมัย และกลัวบาปด้วย แต่ฆ่า ๑๘ คนเท่านี้ก็พออยู่แล้ว เป็นประวัติการณ์ที่เรายังไม่ลืมเหตุการณ์อันนี้ ถ้าเราจะให้หมดไปจริง ๆ ที่จะให้ระบอบใหม่นี้มั่นคงแล้วจะเป็นอย่างไร ดูอย่างฝรั่งเศสเมื่อครั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นั้น เอาไปประหารกันทีเดียว"๑๕

อาจกล่าว ได้ว่า คณะราษฎรเป็นต้นแบบของการปรองดองแห่งชาติ แต่ผลลัพธ์ที่คณะราษฎรได้กลับมาเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านพึงพิจารณาได้ด้วยปัญญาญาณของตนเอง

- ๔ -

ท่าน ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมข้าพเจ้าต้องหมั่นเขียนเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติ สยาม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตลอดจนรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐? จริงอยู่ แม้เรื่องเหล่านี้จะถูกพูดถึงกันในแวดวงอื่นๆมานานแล้ว แต่ในแวดวงกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์กษัตริย์นิยม กลับไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เท่าไรนัก

นักกฎหมายจำนวนมากผ่านการศึกษา เติบโตและบ่มเพาะภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยม ในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เราสามารถไล่ไปได้ถึงสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ กฎหมายตราสามดวง คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ศาสนาพุทธ พราหมณ์ การปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ การปฏิรูปศาลและการจัดทำประมวลกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ๖ และ ๗ เพื่อทำให้สยามเป็นอารยะประเทศ และรอดพ้นจากการล่าอาณานิคม พอมาถึงรัชกาลที่ ๗ ทุกอย่างก็จบลง

ภายใต้อิทธิพลของการสร้างคำ อธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พวกเขาจะสำนึกไปว่าเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่การอภิวัฒน์ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่จากระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจจากกษัตริย์มาแล้วกลับนำมาใช้ในทางที่ผิดจนเกิดวงจร อุบาทว์ รัฐประหารบ่อยครั้ง ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของประเทศนี้เกิดจากกษัตริย์ยอมเสียสละพระราช ทานอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน ระบบการเมือง-กฎหมายในระบอบปัจจุบันมีความต่อเนื่องกับระบอบเก่า ไม่มีการตัดตอน

คำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นความพยายามในการสร้าง myth ที่กลับหัวกลับหางจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ โดยเปลี่ยนให้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการแย่งชิงอำนาจของกษัตริย์ไป คณะราษฎรเป็น “ต้นแบบ” ของรัฐประหาร และสร้างให้กษัตริย์เป็น “พระบิดา” ของประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์เป็นเนื้อเดียวกันกับประชาธิปไตย

ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์ นิยมปรารถนาให้สังคมไทยกลับไปใกล้เคียงกับระบอบเก่าให้มากที่สุด โดยให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทและอำนาจมาก แต่พวกเขาก็ตระหนักดีว่า ประการแรก หากเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ คงเป็นไปได้ยากที่สังคมโลกจะยอมรับ เพราะ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็คือเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่กระแสโลกสมัยปัจจุบัน "บังคับ" ให้ทุกประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย และการเสนออะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ย่อมทำให้ปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมแลดูโง่เขลาเกินไป

นอกจากนี้ หากกำหนดอำนาจและบทบาทให้กับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นลงไปในรัฐธรรมนูญลาย ลักษณ์อักษร กษัตริย์มีอำนาจโดยแท้ในการตัดสินใจหรือกระทำการโดยลำพังย่อมหมายความว่า การวิจารณ์ การแสดงความไม่เห็นด้วย ย่อมพุ่งตรงไปที่กษัตริย์ ซึ่งเป็นสภาวะอันไม่พึงประสงค์ของพวกเขา

เมื่อใจลึกๆต้องการเพิ่ม อำนาจและบทบาทให้สถาบันกษัตริย์ แต่อีกด้านหนึ่งสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ทำอย่างตรงไปตรงมา และไม่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ต้องรับผิดชอบจากการใช้อำนาจ แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร?

ฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการให้เป็นแบบระบอบเก่า แต่ก็ต้องแสดงให้คนเห็นว่าเป็นระบอบใหม่ พวกเขาจึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้น นั่นคือ การนำเอาลักษณะแบบระบอบเก่าที่พวกเขาปรารถนา เข้ามาตัดต่อพันธุกรรมผสมเข้ากับระบอบใหม่ เมื่อผสมกันแล้ว ลูกที่ได้ออกมาก็ให้ชื่อว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

วิธีการตัดต่อ พันธุกรรม ต้องกระทำในรูปของกฎเกณฑ์ เป็นกฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง และให้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้ เพราะ จะปรากฏชัดเจนจนเกินไป พวกเขาจึงสร้างกฎเกณฑ์ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา อันได้แก่ "ธรรมเนียมประเพณี" - "วัฒนธรรมสังคมไทย" - "เอกลักษณ์" - "บารมีของกษัตริย์" - "การดำรงอยู่ของกษัตริย์ในแผ่นดินนี้อย่างต่อเนื่อง" - "ศาสนา" ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มอำนาจและบทบาทกษัตริย์  และยังเปิดทางต่อไปอีกว่า อำนาจและบทบาทเหล่านี้เปลี่ยนไปตามกาลสมัย แล้วแต่บารมีของกษัตริย์แต่ละองค์อีก

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กลับหลักการทุกสิ่งทุกอย่างจากเดิม ให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ยกเลิกอำนาจอันล้นพ้นของกษัตริย์ และให้กษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจ ประชาชนไม่ได้ขึ้นกับใคร แต่เป็นผู้มีอัตวินิจฉัยในการตัดสินใจดำเนินชีวิตและสร้างชะตากรรมของตนเอง ฐานคิดของ ๒๔๗๕ จึงมีความจำเป็นต่อนักกฎหมายในสมัยระบอบใหม่ การเปลี่ยนระบบคิดของนักกฎหมายไทยที่อิงกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ให้มาสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และการต่อสู้ทางความคิดเพื่อสถาปนาความคิดแบบประชาธิปไตยใหม่เข้าไปแทนที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แพ้การออกแบบรัฐธรรมนูญ


ในปี ๒๕๕๖ ที่ใกล้จะมาถึง น่าจะเป็นปีที่ตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และคงจะมีประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้ได้ถกเถียงกันตลอดปี  ข้าพเจ้าขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้ลองกลับไปทบทวนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙  และกรอบรัฐธรรมนูญฉบับคณะนิติราษฎร์ อีก ครั้ง ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าในปี ๒๕๕๖ คณะนิติราษฎร์จะยกร่างรัฐธรรมนูญตามความคิดของคณะนิติราษฎร์ให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นต้นแบบหนึ่งในการนำไปถกเถียงรณรงค์ต่อสาธารณะต่อไป

เชิงอรรถ

 ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๖, หน้า ๖.

 เพิ่งอ้าง, หน้า ๕.

 ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทางประวัติศาสตร์ฉบับแรก ผู้เขียนรับมาจาก Louis FAVOREU et autres,Droit constitutionnel, Dalloz, 2012, pp.103-111.

 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๒, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๕, หน้า ๑๘๒-๑๘๓.

 โปรด ดูคำอภิปรายของผู้เขียนในงานนิติราษฎร์เสวนาเรื่อง “รัฐประหารกับระบอบรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์http://prachatai.com/journal/2012/10/42914  และดูการวิจารณ์ของปฤณ เทพนรินทร์ได้ใน ปฤณ เทพนรินทร์, “อุดมการณ์ราชาชาตินิยมกับกระบวนการแปลงเจตจำนงมหาชนให้กลายเป็นเจตจำนงแห่ง ราชา”, ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕, หน้า ๖๑-๖๔.

 โปรดดู สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐธรรมนูญ, สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, ๒๕๕๐, หน้า ๒๐.

 หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, คำสอนภาค ๑ ชั้นปริญญาตรี, ๒๔๗๗, หน้า ๗๕. - เน้นข้อความโดยผู้เขียน

 โปรดดู ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ๒๔๗๕ และ ๑ ปีหลังการปฏิวัติ, สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓, หน้า  ๑๑๘.

 เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๑๙.

๑๐ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕
มาตรา ๘ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออกพระราชบัญญัติทั้งหลายพระราชบัญญัตินั้นเมื่อกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้วให้เป็นอันใช้บังคับได้
ถ้ากษัตริย์มิได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัตินั้นภายในกำหนด ๗ วัน นับ แต่วันที่ได้รับพระราชบัญญัตินั้นจากสภาโดยแสดงเหตุผลที่ไม่ยอมทรงลงพระนาม ก็มีอำนาจส่งพระราชบัญญัตินั้นคืนมายังสภา เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งถ้าสภาลงมติยืนตามมติเดิม กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ 
มาตรา ๓๙ ถ้า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้น ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

๑๑ เหตุการณ์ ดังกล่าว โปรดดูเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ค้นคว้าและนำเสนอลำดับเหตุการณ์เรื่องราวอย่างละเอียดโดยนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุลในเว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/directory/185

๑๒ คำฟ้องของโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ ๘๖๑๒/๒๕๒๑ ศาลแพ่ง วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๑, สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ). คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง, เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๔๓, หน้า ๖๒ – ๖๕ โปรดดู http://www.enlightened-jurists.com/directory/185

๑๓ ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, สำนักพิมพ์แม่คำผาง, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๕๓, หน้า ๒๒๙.

๑๔ ปรีดี พนมยงค์, จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๔๓, หน้า ๗๐.

๑๕ นาย พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี โปรดดู ภาคสุนทรพจน์ เรื่อง คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรีกล่าวแด่มวลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทฉะเพาะกาล พุทธศักราช ๒๔๘๓ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๓. ใน ข่าวโฆษณาการ, ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖ (๒๔๘๓). หน้า ๑๔๖๐ - ๑๔๗๑. เอกสารชิ้นนี้ สามารถเข้าถึงได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/directory/226  ซึ่งนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุลเป็นผู้ค้นคว้าและนำมาเก็บไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น