แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

“ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม” ความต่างที่เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน ( จบ )

ที่มา ประชาไท




จากข้อมูลที่ชัดเจนที่สุดที่ได้นำเสนอให้กับสังคมได้เห็นความเป็นไป พอที่จะทำให้เราเข้าใจและสร้าง “เบ้าสำนึก” ได้ไม่ต่างกัน
นั่นก็คือ “เราต้องทำอะไรสักอย่าง” ด้วยการเริ่มต้น  เราต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้และศึกษาอย่างจริงจังผ่าน “ความต่างที่เราต้องอยู่ ร่วมกัน” ด้วย “ความต่าง”ที่เราให้มันกลายเป็นชนวนทั้งหมดของปัญหาที่กำลัง หมุนแรงเหวี่ยงด้วยการสะบั้นและกร่อนความผูกพันสังคมของเราให้พังลงอย่างไม่ มีชิ้นดี “ความไม่เหมือน”ที่เราต้องคลุกคลีและพึ่งพาอาศัยกัน “ความไม่ ใช่”ที่เราต้องยอมรับและหยิบยื่น “ความไม่ลงตัว”ที่เราต้องหาทางออกและหาทาง ไปเพื่อสู่ทางรอด “ความไม่เข้าใจ”กลายเป็นกำแพงที่เราต้องทำลายและเปิด พื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนกัน
เพราะเอาเข้าจริงเราต้องอยู่ด้วยกันอย่างฉันท์มิตรตาม “พันธะสัญญาว่าด้วยสันติแห่งศาสนา”
องค์ดาไล ลามะ นักคิดผู้ทรงอิทธิพลชาวธิเบตได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า  “เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตมาท่ามกลางศตวรรษแห่งความรุนแรงของยุคสมัย ก้าวต่อไปของพวกเขาในสังคมจะเป็นอย่างไร เมื่อพวกเขาโตมาผ่านภาพมายาคติแห่งความเกลียดชัง การทำร้าย การเข่นฆ่าและการนองเลือด”
 ในนามมุสลิมต้องทำความเข้าใจ หลักการศาสนาผ่านประวัติที่อิสลามเคยนำ เสนอ สุดยอดแห่งบาทวิถีอิสลามนั่นก็คือ แบบฉบับแห่ง “ศาสดามูฮัมหมัด” และสหายแห่งศาสนาอย่าง “อาบูบักร” (คอลีฟะห์คนแรกที่ปกครองอิสลามหลังจากท่านศาสดาได้เสียชีวิต) ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมโลกว่าแบบไหน? และอย่างไร ? แบบฉบับที่ดีที่สุดในนามแห่งความเป็นพุทธ ไม่มีใครปฏิเสธหนทางแห่ง “พระ พุทธเจ้า” และแนวทางของผู้ติดตามอย่าง “พระอานนท์พระพุทธอนุชา” ซึ่งได้นำวิถีแห่งต้นแบบให้พุทธศาสนิกชนได้อย่าง ทรงพลัง
ทั้งหมดคือ “พินัยกรรมนัยยะและสัญญาณเตือน” ล้วนทิ้งไว้เป็นแบบฉบับให้กับผู้คนร่วมโลกได้ยึดถืออย่างจริงจังทั้งสิ้น
ที่สำคัญกว่านั้น เมื่อศึกษาอย่างละเอียดถึงแกนก็นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้และทำความเข้าใจ สังคมที่เป็นไปในโลกแห่งความต่างที่เราต่างอาศัยร่วมกัน เพราะประวัติศาสตร์ไม่ได้ทำหน้าอธิบายเพียงว่า “เกิดอะไรขึ้น? ใครเป็นอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?” แต่หน้าที่หลักของประวัติศาสตร์ที่เราศึกษา นั่นก็คือ การนำมาเป็นแกนและกรอบแห่งวิถีชีวิตเพื่อปรนนิบัติและหยิบยื่นให้ เพื่อนร่วมโลก
            หาไม่แล้วเราต่างกลายเป็น“ท่านผู้ชม” ที่มีส่วนใน“การกำหนดเร็ตติ้ง”ชีวิตคนให้ตายวันละ ๒ คนต่อหน้าต่อตาอย่าง “ชาชิน”
ในการรายงานของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้สรุปได้อย่างน่าสะพรึ่งกลัว ตัวเลขความรุนแรงจากสถิติความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ระบุว่า “ผู้เสียชีวิตมีประมาณ ๖๕ ราย ไทยมุสิลม ๓๕ ราย ไทยพุทธ ๓๐ ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ ๗๗ ราย ไทยมุสลิม ๔๐ ราย ไทยพุทธ ๓๖ ราย ไม่ระบุ ๑ ราย ”[2] จาก ตัวเลขชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนในเดือนตุลาคม ว่า “เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของการสูญเสียและบาดเจ็บจำนวน ๑๔๒ ราย และส่งผลกระทบต่อต่อราษฎรถึง ๗๕ ราย (เสียชีวิต ๓๙ รายและบาดเจ็บ ๓๖ ราย)
เหตุการณ์ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า “ราษฎรคือผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด”
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้สรุป ตัวเลขความรุนแรงจากสถิติความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ระบุว่า “ผู้เสียชีวิต ๓๑ ราย ไทยมุสลิม ๒๒ ราย ไทยพุทธ ๙ รายและผู้บาดเจ็บ ๑๐๔ ราย ไทยมุสลิม ๒๕ ราย ไทยพุทธ ๗๘ ราย ไม่ระบุ ๑ ราย”[3]
ตัวเลขได้ชี้ให้เราเข้าใจอีกว่า ในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) “จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมดนั้น จากจำนวน  ๒๗๗ ราย ไทยมุสลิมประมาณ ๑๒๒ ราย และไทยพุทธประมาณ ๑๕๔ ราย  เราสามารถมองให้ละเอียดได้อีกว่า “จำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมดในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) จำนวน ๑๘๑ ราย ไทยมุสลิม ๖๕ ราย ,ไทยพุทธ ๑๑๔ รายและไม่ระบุศาสนา ๒ ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) จำนวน  ๙๖ ราย ไทยมุสลิม ๕๗ ราย และไทยพุทธจำนวน ๓๙ ราย”
ไม่ว่าด้วยเหตุและผลใด เรา(ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) ต้องมองกับอย่างตรงไปตรงมาและไม่หลบตา ว่า  “เราคือเหยื่อแห่งความรุนแรง เราคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง พลังแห่งการขับเคลื่อนสันติภาพก็ต้องเกิดขึ้นจากเรา”
 หมดเวลาแล้ว ที่เราจะมอบความหวังและอนาคตไว้กับชนชั้นนำหรือผู้ปกครอง แม้คนเหล่านั้น “จะอ้างความเป็นตัวแทนในนามพุทธศาสนา” เพื่อช่วงชิงพื้นที่เข้ามามีอำนาจในคราบของ ครู นายทหาร องค์การของรัฐ หรืออะไรก็แล้วแต่ (เพราะอำนาจรัฐและตัวแทนที่เขามี ในความเป็นจริง ก็ไม่สามารถปกป้องให้เราปลอดภัยจากความเสี่ยงที่เรากำลังหลีกหนีอยู่ได้)
ในมุมกลับกัน ในนามแห่งความเป็นมุสลิม เราไม่ควรหวัง แม้กระทั่ง “หวังแบบสมถะ”และฝันอะไรในนาม นักการเมืองที่เป็นมุสลิม ผ่าน คะแนนเสียงข้างมากในแต่ละยุคสมัย ทั้งระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด กระทั่งประเทศ เพราะคนเหล่านี้โดยมากไม่ต่างจาก “ผู้หากิน ผู้เห็นแก่ตัวและผู้กอบโกย” ผ่านชีวิตคน ทว่าเราต้องสังเวยชีวิตให้กับการลองถูกลองผิดของนโยบายให้กับคนเหล่านี้
ที่สำคัญกว่านั้นกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับความเสียหาย จาการรายงานของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) นั่นก็คือ “จากจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวน ๑๓๕ ราย ตัวเลขได้ชี้ให้เห็นว่า ราษฎรมีจำนวนสูงถึง ๗๑ ราย เสียชีวิตประมาณ ๑๙ รายและบาดเจ็บประมาณ  ๕๒ ราย  ตัวเลขเหล่านี้ พยายามบอกว่า ผลกระทบของความรุนแรง นั่นก็คือ “ประชาชนธรรมดาในพื้นที่ (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตซึ่งเป็นราษฎรในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) ประมาณ ๑๔๖ ราย ราษฎรเสียชีวิต ๕๘ ราย และบาดเจ็บ ๘๘ ราย  จำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นราษฎรในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) จากจำนวนผู้เสียชีวิต ๙๖ ราย ราษฎรได้เสียชีวิตมากถึง ๕๘ ราย  จำนวนผู้บาดเจ็บที่เป็นราษฎรในรอบ ๒ เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๕) จำนวนผู้บาดเจ็บ ๑๘๑ ราย ราษฎรกลายเป็นยอดผู้บาดเจ็บสูงถึง  ๘๘ ราย
เพราะเอาเข้าจริง “เราต่างก็เข้าใจและมีบทเรียนมาไม่ต่างกัน” คือ คน เหล่านี้ ไม่ได้หวังการเรียกร้องเพื่อสันติภาพและปลดแอกเราจากการเป็นเหยื่อแห่งการ ฆ่าฟันรายวันแต่อย่างใด  “สำนึกเหล่านี้” มองอย่างตรงไปตรงมา นั่นก็คือ เราต่างให้โอกาสคนเหล่านั้น (ตามที่เขาขอ) มากพอ หวังมามากมายและบอบช้ำมาเกินทน เจ็บมาพอ ๆ กัน ไม่ใช่พวกเขาไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง แต่พวกเขาก็ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ในลักษณะแบบนี้(ความรุนแรงเชิงคุณภาพ ; ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังและเข้มขันยิ่งขึ้น)[4] มากพอ ๆ กัน !!! แล้วเรายังแลกคนที่เรารักวันละ ๒ คน กับการลองผิดถูกไปอีกนานเท่าไหร่ ?
ทั้งนี้ ก็ไม่ควรหวังอะไรทั้งนั้นกับกระบวนการแก้ปัญหาที่มาจาก “ผู้นำมุสลิม” ที่ ไม่ได้อยู่บนพื้นและรากแห่งหลักการศาสนาอิสลาม  ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในคราบ “นักการศาสนา”ผ่าน “การอ้างหลักการอิสลาม” เพื่อผล ประโยชน์บางอย่างที่เรารู้กันและที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ผู้นำเหล่านี้ มักได้รับการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงข้างมาก (ระบบคะแนนเสียงข้างมากเลือกผู้ นำกำลังตีตลาดระบบศาสนาอิสลามโดยไม่มีใครตระหนักถึงผลและสิ่งที่เลวร้ายแห่ง ความเป็นพรรคพวกและความแตกแยกที่กำลังตามมา)
จำไว้อย่างหนึ่ง เมาลานาซัลมาน แห่งนัดวาตุลอุลามะ (Allama Syed Salman Al-Husaini  Al-Nadwi) สถาบันการศึกษาศาสนานัดวา เมืองลักเนาว์ (Lucknow) ประเทศอินเดียได้ตอกเสาเข็มนักศึกษาอย่างมั่นคงและกล่าวเตือนไว้ในการเรียก ร้องผู้คนสู่หนทางแห่งอิสลามว่า
“ศาสนาและเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับรากเหง้าแห่งอิสลามจะไม่ทำให้ คนในสังคมเอาเปรียบกันหรือเป็นชนวนให้สังคมขัดแย้งและแตกแยกกันอย่างที่เห็น แม้เราได้ทำบางอย่างในนามศาสนาก็เหอะ ! ยกตัวบทอัลกุรอ่านหรือชี้แนะจากอัลฮาดิษก็แล้วแต่ ทว่าสิ่งนั้นยังทำให้สังคมยังล้มเลิกบุพการี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ด่าทอต่อกัน และออกมาห้ำหั่นกันอย่างเลือดเย็น”
“จงระวัง ! โปรดจำไว้ ! พวกท่านทั้งหลายโปรดจำไว้ว่า ! พวกท่านกำลังเดินผิดทาง (อันตรายแห่งผู้ใช้อิสลามแล้วเดินผิดทาง น่าเป็นห่วงกว่าผู้เดินผิดทางโดยไร้หลักการศาสนา) สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ศาสนา และอุดมคติแห่งอิสลามแต่อย่างใด เพราะพื้นและรากแห่งศาสนาจะมีพลังในการรองรับคนไม่เหมือนอยู่กันได้ เป็นหลักการให้คนที่ต่างกันให้เกียรติซึ่งกันและกันเป็นสัญญาณให้ศาสนิกแต่ ละศาสนารักใคร่กันและไปมาหาสู่กันอย่างปกติสุข เป็นโมเดลในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไม่รังแกกันระหว่างเพื่อนร่วมโลก นอกจากนี้ แม้อ้างอิสลาม ก็ไม่ใช่อิสลาม”
ไม่ว่าด้วยความโหดร้ายของโลกหมุนไปแบบไหน เปลี่ยนไปอย่างไร ใครตายไปเท่าไหร่และบาดเจ็บไปขนาดไหน สิ่งนี้คือ บทเรียนและสัญญาณเตือน ว่าเราต้องหาทางออกร่วมกันเพราะสันติภาพ ที่แท้จริงเกิดจาก “คนข้างใน” อย่างเรา (ไทยพุทธ-ไทยมุสลิม)
ไม่ต่างจากมุมมองของนักวิชาการอินเดีย  อัสกัร อาลี แอนจิเนีย (Asghar Ali Engineer) ได้นำเสนอใน “The Need For Inter-Religious Dialogue” อย่างตรงประเด็น กระชับ และชัดเจนที่สุดผ่านประสบการณ์แบบนี้ ใต้ฐานแห่งความขัดแย้งฮินดู-มุสลิม ว่า
“ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย การดำเนินการในการไดอาล็อคก็เพื่อปลดพันธะบางอย่าง รวมทั้งการเข้าใจผิดระหว่างกัน เมื่อโลกมาในคราบของ “3 Ds” นั่นก็หมายความว่า “Democracy” ทำให้โลกเกิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่ความเป็น “Diversity” และความหลากหลายต้องนำโลกไปสู่การ “Dialogue” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
กระบวนการไดอะล็อก จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ  ประการแรก         ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงสร้างของศาสนา ,นักวิชาการที่มีความเข้าใจในประเด็นอย่างลึกซึ้ง,นักเขียนที่นำเสนอมุมมอง ให้กับสังคม
ประการที่สอง      ใช้ความเป็นเพื่อนมนุษย์เรียนรู้ระหว่างกัน นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันค่อนข้างจะดีกว่าการโต้แย้งในประเด็นที่เราขาดพื้น ฐาน เพราะการไดอะล็อกจะสร้างความกระจ่างให้กับเรา
ประการที่สาม      ต้องนำเสนอจากรากฐานแห่งความเชื่อตามหลักการที่ตัวเองมีแล้วอธิบาย ปรากฏการณ์ต่าง ๆ  ถึงการกระทำที่ถูกต้องหรือที่ศาสนาได้สอนไว้อย่างชัดเจน เพราะประเด็นสงสัย อาจส่งผลต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมาเสมอ
ประการที่สี่ จะต้องให้เกียรติและอดทนระหว่างกัน และต้องตั้งใจฟังอย่างถี่ถ้วนแบบใส่ใจและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างจริงใจ เมื่อมีการพยายามอธิบายให้เข้าใจเพื่อให้กระจ่างในข้อสงสัย ผู้มีส่วนร่วมอย่าพยายามเงียบ ทว่า จะต้องแลกเปลี่ยน ซักถามและนำเสนอแนะอย่างมีทักษะ เพราะโดยมากของการเงียบมักทำลายแนวคิดแห่งการ “ไดอะล็อก” เพราะขจัดความต่างด้วยการแลกเปลี่ยนกัน
โดยผลการไดอะล็อก จะนำไปสู่สิ่งเหล่านี้   ประการแรก          เพื่อนำเสนอสิ่งที่เราเข้าใจและการไม่ปฏิเสธความแตกต่างหรือความเชื่อที่ไม่ เหมือนของผู้อื่น และพยายามหาทางออกร่วมกัน
ประการที่สอง      ตระหนักไว้เสมอว่า การไดอะล็อก ไม่ใช่การเกิดขึ้นของการปรับเปลี่ยนแนวความคิดได้โดยกะทันหัน  ทว่า มันคือ ก้าวแรกในการเข้าใจคนที่ไม่เหมือนที่ต้องอยู่ร่วมโลกกับเรา
ประการที่สาม      การจัดการที่มีพลังและวิเศษนั้น จะทำให้เข้าใจและเรียนรู้ความต่างแห่งความเชื่อและหลักการศรัทธา ในแต่ละคนที่อยู่ร่วมโลกกับเรา[5]
ในประเทศอินเดีย เกิดการไดอาล็อคกันค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในโลกแห่งความต่างที่มักเหยียดแน่นและคับเมือง ไม่ต่างจากที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ใน “ความต่างบนความสูง ๓,๕๒๐ เมตร”[6]  ผล แห่งความต่างอาจ “สร้างกระบวนการจัดการ”อย่างลงตัวแสดงออกมาในรูปแบบของการ ศึกษา สถาบันการศึกษา ในศูนย์อิสลามศึกษาDarul Musannifin ที่ Azamgarh  หรือที่เรารู้จักกันในนาม “Allamah Shibly Academy” ในหนังสือ “Majma-Ul- Bahrayn” (Co-Mingling of two Oceans)นับเป็นหนังสือเล่มสำคัญในการไดอะล็อกระหว่างฮินดู-อิสลามหรือแม้แต่ ป้ายจราจรบนท้องถนนในย่านนิวเดลี (New Delhi) หรือเมืองอื่น ๆ ที่ได้ให้ “พื้นที่” กับทุกชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ได้อย่างเท่าเทียมและเห็นชัด
ภาพเล็ก ๆ เหล่านั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งจาก “การตกผลึกของสังคม” (ที่ตายกันมามากกว่าล้านคน )ผ่านป้ายจราจรผ่นเดียวที่เขียนภาษาประมาณ ๓ – ๔ ภาษา เช่นอังกฤษ ฮินดี อุรดู ปัญจาบี หรืออื่น ๆ ตามพื้นที่ท้องถิ่น  เพราะ “อังกฤษ” คือ ภาษาตัวแทนแห่งยุคสมัยที่ใช้กันมากกว่าครึ่งประเทศและการเป็นอาณานิคมของชาว อินเดีย“ฮินดี” คือ ภาษาของศาสนาฮินดูที่มีผู้นับถือมากอันดับหนึ่งของอินเดียและโดยมากใช้ในนิ วเดลี รัฐอุตราปราเดสและรัฐมาดราปราเดส “อุรดู”คือภาษาของมุสลิมที่ใช้กันอย่าง แพร่หลายของพลเมืองในชุมชนมุสลิมเกือบทั่วประเทศอินเดีย “ปัญจาบี” คือ ภาษาของบรรดาชาติพันธุ์แห่งชาวซิกห์และนักธุรกิจของอินเดียที่ใช้ในเมืองปัญ จาบ[7]
 หรือภาษาในพื้นที่อื่น ๆ ที่ปรากฏไปในแต่ละรัฐและหัวเมือง อย่างคานาดา (รัฐกานาตากา)  ตาลุกุ (รัฐอันดาราปราเดส) แคชมีรี (แคชเมียร์) ลัดดากี (เมืองลัดดาก) เบงกาลี (แถบเบงกอล)  ภาษาทมิฬ (รัฐทมิฬนาดู)  มาลายาลัม (เกเรล่า) ภาษา กองกานี (เมืองทะเลแบบกัววา)  มาราตี  (มาฮารัชตา) ภาษาโอรีสา (เมืองโอริสา) อารียานี  (อารียานา) คุชราตี (คุชราช) ซินดี  (ราจาสถาน)
สิ่งนี้อาจ “เปลือยเปล่าและไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำ” หากมองอย่างผิวเผินหรือ ผ่านแว่นของประเทศที่ไม่เคยยอมรับความไม่เหมือนอย่างจริงจังแบบประเทศไทย  แต่เมื่อใช้สายตาแห่งการจัดการความขัดแย้ง สิ่งนี้คือ “ผลพวงแห่งการตกผลึกความต่าง” และมันแสดงออกมาอย่างที่เห็น ประเทศไทยอาจไม่ชาชินและไม่ชินชากับตัวเลขชีวิต“พลเมืองที่ต้องสูญเสีย” ดัง กล่าวเพราะความต่างเหล่านี้
จึงไม่แปลก ปัตตานีไม่เคยมี “หลักสูตรสอนภาษาถิ่นแบบยาวี”(บังคับให้เป็นวิชาพื้นฐานใน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐที่ทุกคนต้องเรียน)ให้กับคนจากต่างพื้นที่หรือ ในพื้นที่เองไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม อย่างน้อยคือ “การเริ่มต้นผ่านมิติวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างทรงพลัง”
 “สังคมภาพใหญ่แห่งความเป็นไทยอาจกลัวว่า วิธีการเหล่านี้เป็นการเปิดพื้นความเป็นภูธรที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ระหว่างความต่างที่เป็นซีแย-นายู ได้พูดคุยกันมากกว่าเดิมระหว่างความไม่เหมือนไทยมุสลิม-ไทยพุทธ หรืออีกนัยยะหนึ่งเป็นการยอมรับประวัติศาสตร์แห่งความต่างที่ดำเนินอยู่และ เป็นไป อาจรวมไปถึงความเป็นเอกภาพของสังคมไทยที่ “ทุกคนต้องเหมือนกัน” ชะตากรรมของ ประเทศแห่งความเป็นรัฐอธิปไตยสำคัญกว่าชีวิตพลเมืองที่ต้องสังเวยให้ความ ต่าง หากพื้นที่เหล่านี้เปิดขึ้นมา คนในสังคมแห่งความต่างได้เรียนรู้กันมากกว่าเดิม เมื่อถึงตอนนั้น อาจยากแก่การปกครองและควบคุม”
ในทางกลับกัน ชาวจีนในปัตตานีโดยเฉพาะโรงเรียนเทศบาลเมืองปัตตานี ได้กำหนดวิชาภาษาจีนให้กับนักเรียนทุกคนได้เรียน ฟัง พูด อ่านและเขียนอยู่ในหลักสูตรการศึกษา เพราะอะไร ? ทำไม ? ตลกไหม ! (คนตายวันละ ๒ คน สังคมต้องหาทางออกเพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่ปรับหลักสูตรเพื่อรองรับกระแส “แฟชั่นอาเซี่ยน” อย่างที่เรากำลังคิด และทำกัน เพราะมันไกลเกินวิถีแห่งเรา)
เพราะจุดจบแห่งความต่าง สำหรับอิสลาม นั่นก็คือ พระเจ้าจะทดสอบว่า “เราสามารถขจัดความไม่เหมือนเหล่านั้นด้วยวิธีไหน ระหว่างอิสลามที่เชื่อมร้อยสันติภาพและการปกป้องให้เกียรติผู้อื่นหรือ การใช่ราคะมาตัดสิน จนเกิดการนองเลือด”
พระเจ้าแค่สร้างความต่างมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ระหว่างกัน “พระเจ้าสร้างมาแค่นั้นจริง ๆ”
                ผมได้มีโอกาสเดินทางไปในหมู่บ้านฮินดูย่านเมืองอักราอีกรอบ หลังเวลาผ่านไปกว่า ๕ เดือนเต็ม ผมยังเจอกับ Sanjivnee , Divi , Dipika ผู้เป็นพี่สาวของ Sanjivnee และ Kori หลานสาวอีกคนที่เดินทางมาจากเมืองมาตูรา (Mathura) คนทั้งหมดเหล่านี้ยังแบ่งปันรอยยิ้มให้กับผมและเพื่อนพร้อมขนมเล็กน้อยเพื่อ ต้อนรับขณะที่ผมแวะไปเยี่ยมและพูดคุย กระทั่งขอห้องละหมาดเหมือนวันก่อน
นี่คือ ส่วนที่วิเศษสุดในการเดินทางของช่วงวัยของผมบนท้องถนนแห่งความแตกต่างและช่างไม่เหมือนเอาเสียเลย
                “ผมมาจากพื้นหมู่บ้านแห่งความต่าง ผืนแผ่นดินแห่งความไม่เหมือน ผมมียี่ห้อที่เพิ่งติดให้ผมหลังจากผมเกิดมาจากท้องมุสลิม ฮินดู คริสต์ พุทธ หรือยิว ก่อนหน้านี้ที่มาของผมและของคุณต่างก็เหมือนกันคือ น้ำอสุจิ ก้อนเลือดและก้อนเนื้อ โลกของเราช่างไม่เหลื่อมล้ำกันนั่นก็คือ ครรภ์ของแม่ อาหารที่เราต่างพอประทัง ก็คือ หยดเลือดผ่านสายสะดือ แต่เมื่อเรามียี่ห้อ เราต่างลืมแผ่นดินที่เราเคยย่ำกันมาแต่แรกเกิดจนหมดสิ้น เราจึงใช้หยดเลือดมารดรินหยิบยื่นให้กัน”
ผมนั่งนึกตลอดทางกลับเมืองอาลีกัร ขณะรถบัสวิ่งผ่านสายหมอกที่ย้อมผืนฟ้าฝ่าลมหนาวแห่งฤดูกาล
-ด้วยความเคารพและขอบคุณที่กรุณาติดตามอ่าน จนจบบทสุดท้าย-


[1] ปริญญา ตรีการเมืองการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี , ปริญญาโทวิชาเอกปรัชญาการเมืองอิสลาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาลีกัรมุสลิม,อินเดีย  ปัจจุบัน เป็นนักเดินทางและใช้ชีวิตด้วยการอ่านหนังสือ บทกวี การเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสาร บทความเว็บไซต์ งานวิจัยและงานวิชาการตามโอกาสและวาระที่พบเห็นและเผชิญ เขียนเมื่อ 3-12-2012 ณ ห้องเช่าริมกุโบร์,อินเดีย
[2] อ่านเพิ่มเติมได้ใน http://www.deepsouthwatch.org/node/3671
[3]  อ่านเพิ่มเติมได้ใน http://www.deepsouthwatch.org/node/3742
[4] ศรี สมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, (บทวิเคราะห์) “ 9 เดือน ของปีที่ 9 ; ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยอกย้อน กระบวนการสันติภาพปาตานียังคงด้าวเดินไปข้างหน้า”,ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ ภาคใต้ (Deep South Watch) ; ปัตตานี, 2 พฤศจิกายน 2522, หน้า 1 หรือ http://www.deepsouthwatch.org/node/3670
[5] หา ข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก The Nation and The World(The Fortnightly Newsmagazine), Asghar Ali Engineer ,“The Need For Inter-Religious Dialogue” ,April ; 16,Vol.19,489  P.18-19
[6] อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม, “ความต่างบนความสูง ๓,๕๒๐ เมตร”, ปัตตานีฟอรัม,๒๕๕๕ (๑๑ สิงหาคม) หรือใน  http://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=68&fb_source=message  หรือ อับ ดุรเราะฮหมาน มูเก็ม “ไดอาล็อกบนลาดักห์: ความต่างบนความสูง3,250เมตร”, นิตยสารนิสาวาไรตี้ (ประจำเดือน 11 ปี ปีที่ 13 ฉบับที่ 132), 2555 ,หน้า  ๔๒-๔๗ หรือใน  http://prachatai.com/journal/2012/08/42019   
[7] หา ข้อมูลเพิ่มเติมใน อับดุเราะฮหมาน มูเก็ม, “ชาวซิกห์กับแผ่นดินประติมากรรมสู่ “Homeland”,ปัตตานีฟอรัม,๒๕๕๕(๓ กรกฎาคม) หรือในhttp://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=59


ที่มา: PATANI  FORUM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น