เหล่านี้คือคำเปรียบเปรยที่ดูมี ‘เหตุผล’ น่าเชื่อถือ แต่เอาเข้าจริง มีปัญหาทางตรรกะ เพราะการเปรียบเปรยนั้นมักไม่สามารถเทียบลักษณะของของสองสิ่งที่เปรียบเทียบ คู่กันได้อย่างสมบูรณ์ แถมหลายครั้งการเปรียบเปรยก็มีขึ้นเพื่อบิดเบือนปิดบังความจริง
คนเรา ‘นิ้วทั้งห้ายังไม่เท่ากัน’ เลย แล้วจะไปเรียกร้องหาความเสมอภาคเท่าเทียมไปทำไม?
‘สังคมเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์’ หากแต่ละคนรู้หน้าที่ ปฏิบัติดั่งอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่ทำงานสอดคล้องกัน สังคมก็ไม่มีปัญหา
สื่อมวลชนคือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ ผู้รับใช้สังคมที่เป็นเจ้าของหมา
ขอเริ่มโดยการยกตัวอย่างเรื่องนิ้วทั้งห้าที่ไม่เท่ากัน และการเปรียบสังคมเหมือนร่างกายมนุษย์ ที่มักถูกใช้ในการตอกย้ำในความไม่เสมอภาคของมนุษย์ และการแบ่งชนชั้น บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเป็นธรรมชาติ –ปัญหาคือสังคมมีความหลากหลายและเคลื่อนไหวทางชนชั้นตลอดเวลา บางคนเกิดมาจน แต่มีสมองและขยัน หาเงิน ไขว่ขว้าเรียนรู้จนพอมีฐานะ และลูกหลานกลายเป็นชนชั้นกลางหรือสูงได้ (social mobility) เพราะฉะนั้นสถานะมิได้หยุดนิ่ง ชนชั้นล่างไม่จำเป็นต้องยอมรับในสภาพที่ตนเกิดมา ต่างจากนิ้วคนทั้งห้าที่ไม่เท่ากันและจะไม่มีวันเท่ากัน
การเปรียบว่าสังคมเสมือนนิ้วทั้งห้า หรือสังคมเสมือนร่างกายมนุษย์จึงมิได้ตอบคำถามที่ว่า ทำไมบางคนถึงต้องตกเป็นนิ้วก้อยหรือเป็นเท้าไปตลอดชีวิต ในขณะที่บางคนเป็นมันสมอง แทนที่จะเป็นมือเป็นตีน หรือเป็นนิ้วชี้คอยสั่งการผู้อื่นให้ทำตามและรับใช้
คำเปรียบเปรยทั้งสองจึงมิเพียงแต่คลาดเคลื่อน มีปัญหาทางตรรกะ มิได้สะท้อนความเป็นจริง หากยังตอกย้ำให้ผู้คนยอมรับความไม่เสมอภาค และความเหนือกว่าและได้เปรียบทางชนชั้น ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้คนควรยอมรับโดยไม่ขัดขืน
กรณีการเปรียบเทียบสื่อกระแสหลักเป็นหมาเฝ้าบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งของการเปรียบเปรยที่มีปัญหาทางตรรกะ เพราะมันตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า เจ้าของสื่อหรือหมาเฝ้าบ้าน คือประชาชนทั้งสังคมที่เลี้ยงดูหมา (สื่อ)
เอาเข้าจริง ผู้ที่เข้าใจเรื่องโครงสร้างและรายได้ของสื่อกระแสหลักทุกวันนี้รู้ดีว่า สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ที่แท้คือบรรษัทสื่อ ซึ่งจำนวนมากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และรายได้ส่วนใหญ่มาจากการโฆษณา –หาได้มาจากการขายหนังสือพิมพ์ตามแผง หรือผู้ชมและผู้ฟังวิทยุทีวีไม่ และเอาเข้าจริง สื่อนั่นแหละที่เอาผู้ชมผู้อ่านผู้ฟัง ไป ‘ขาย’ ให้กับบริษัทโฆษณา และบริษัทผู้ลงโฆษณา แถมยังต้องเกรงใจบริษัทที่เป็นสปอนเซอร์ที่ลงโฆษณารายใหญ่ๆ
ไม่มีหมาเฝ้าบ้านจริงๆ ที่ไหน เอา ‘เจ้าของ’ ของมันไปเร่ขายหรอกครับ สื่อกระแสหลักจึงมิใช่หมาเฝ้าบ้านอย่างแท้จริง
ในหนังสือ ‘สื่อเสรีมีจริงหรือ: บทเรียนประชาธิปไตยและวัฒนธรรมสื่อไทย’ (พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง 2545) ซึ่งเขียนโดยผู้เขียน หน้า 47-48 เขียนไว้ว่า การเปรียบเทียบเช่นนี้ ‘เป็นการสร้างมายาให้สังคมหลงคิดว่าสื่อเป็นเพียงหมาเฝ้าบ้านที่ไร้พิษภัย’
‘ก่อนอื่นต้องตระหนักว่า “หมาเฝ้าบ้าน” มันห่วงเรื่องกิน (กำไร) มากพอๆ หรือมากกว่าการเห่าเตือนเจ้านายของมัน (สังคม) หมาเฝ้าบ้านหลายตัวรวยมีสมบัติเป็นธุรกิจร้อยล้านพันล้าน…หมาเฝ้าบ้านชอบ ประจบขออาหาร เลียเจ้านายบางกลุ่มอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งมักเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ที่ลงโฆษณาและสปอนเซอร์ ปุจฉาจึงมีว่า แท้จริงแล้ว คนกลุ่มไหนกันแน่ที่เป็นเจ้านาย คนจน คนธรรมดา หรือคนรวยและบรรษัทที่ลงโฆษณา ประเด็นถัดมาคือ หมาตัวนี้ชอบเห่าพร่ำเพรื่อเป็นวรรคเป็นเวร เพราะมันเห่าออกมาเป็นสินค้าหากำไรได้ บ่อยครั้งมันมิได้เห่าเตือนอะไร หากเห่าเพื่อขายโฆษณาและตัวมันเอง
‘หมาบางตัวเห่าโฆษณาว่าสามารถเสนอผลเลือกตั้งได้เร็วกว่าหมาตัวอื่น ทำอย่างกับว่าการเมืองไทยจะพลิกโฉม หากรู้ผลการเลือกตั้งเร็วขึ้น 3 นาที
‘หลายตัวเห่าจนกลายเป็นการพากย์มวย เป็นละครน้ำเน่า นักการเมือง นักเลือกตั้ง กลายเป็นดารา จึงไม่แปลกที่นักข่าวนิวซีแลนด์ผู้หนึ่งจะกล่าวว่า ข่าวมันก็เป็นเพียงการ “บันเทิง” ดีๆนี่เอง’
เช่นนี้แล้ว สื่อกระแสหลักจึงมิใช่ หมาเฝ้าบ้านของสังคมอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด ซึ่งสื่อเองจำนวนมิน้อยก็ต้องการให้เข้าใจผิดเช่นนั้น เพราะมันทำให้สื่อดูดี น่าเชื่อถือ และนี่คืออีกหนึ่งของการเปรียบเปรยที่มีปัญหาทางตรรกะ และบิดเบือนความเป็นจริง ซึ่งดูเสมือนจะกลายเป็นบทบาทหลักของคำเปรียบเปรียหลายๆ อย่าง และเราไม่มีวันรู้เท่าทัน หากเราไม่พยายามตั้งข้อสงสัยและวิเคราะห์คำเปรียบเปรยเหล่านั้นอย่างจริงจัง และเป็นเหตุเป็นผลอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น