ที่มาคอลัมน์รักคนอ่าน มติชนสุดสัปดาห์
คนไทยเป็นเชื้อชาติที่ด่าได้ยอกย้อนและเจ็บปวด
เทียบกับคำด่าฝรั่งที่มีไม่กี่คำ ด่ากันซ้ำไปซ้ำมาแล้ว
ของไทยต้องนับว่าชนะขาดลอย
อาจเป็นเพราะเรามักไม่พูดกันตรงๆ วิจารณ์กันตรงๆ แต่เก็บมาพูดกันเอง
จะด้วยอยากวิจารณ์หรือพูดเอาสะปากก็เถอะ
ภาษาด่าของเราถึงได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน กระทบกระเทียบเปรียบเปรยไปได้แบบต่อให้ไม่เห็นตัว
แต่พอได้ยินคำด่าก็นึกภาพออกเป็นฉากๆ
เขาว่าคำด่าที่เจ็บปวดและดูจะได้รับความนิยมที่สุด
ก็คือคำด่าที่พาดพิงไปเกี่ยวกับผู้หญิงหากิน
ไล่มาตั้งแต่นับญาติว่าเป็นลูก เป็นแม่ เป็นสามีของเธอเหล่านั้น
ไปจนถึงด่ากันตรงๆ ดื้อๆ ว่าเจ้าตัวเป็นเสียเอง
เห็นใครที่ไม่ถูกตาถูกใจเกิดมีอาการร่าเริงสดใสขึ้นมาล่ะก็
พนันได้เลยว่าเดี๋ยวจะต้องมีคำด่าประเภทนี้ลอยมาเข้าหู
ซึ่งก็มักจะได้ยินบ่อยๆ
เพราะขึ้นชื่อว่ามนุษย์ สุดท้ายก็ไม่พ้นความร่าเริง
แล้วพอร่าเริงขึ้นมาเมื่อไหร่ คนที่ไม่ชอบเขาก็ได้สมใจ ใช้คำด่ามาระบุตัวตนทันที
ทั้งดอกทอง, โสเภณี, ชอกการี ไปจนถึงง่ายๆ ลุ่นๆ อย่าง "กะหรี่"
บางทีได้ยินแล้วก็ให้นึกถึงคนที่ประกอบอาชีพนี้
โดนด่าทั้งทางตรงทางอ้อมทุกวันๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคู่ขัดแย้งนั่นแม้แต่น้อย
ด่าคนที่แม้ไม่ได้ทำอาชีพ แต่มีกริยาอาการบางอย่างให้ขวางตาก็ตีกระทบไปถึงงานขายบริการทางเพศ
อาจเพราะเธอเหล่านี้ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ของสังคม อาชีพก็ดูเป็นสีเทาๆ
แลกความออดอ้อนฉอเลาะและสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขาทำให้กันฟรีๆ เพื่อสิ่งที่เรียก ว่าความรักกับเงิน
เลยตกเป็นเหยื่อความสะปากกันไปได้ง่ายๆ
เราเองอาจจะบอกว่าเราก็พูดไปอย่างนั้น
คนบางคนมันแย่กว่ากะหรี่เสียอีก
แต่ไม่รู้จะด่าอย่างไรให้สาสม ก็เลยได้แต่พูดไปซ้ำๆ ด้วยความมันปาก
ว่าคนนั้นกะหรี่อย่างนี้ คนนี้กะหรี่อย่างนั้น
เบะปากใส่ ทำตัวห่ออย่างขยะแขยง เลี่ยงได้เลี่ยง หลบได้หลบไม่ขอข้องแวะด้วย
โดยไม่ได้คิดหรอกว่าเธอเหล่านั้นก็เป็นคน
และการตัดสินใจของกะหรี่ก็มีส่วนช่วยคนดีๆ ได้หลายคน
จากภาพยนต์ เรื่อง the flowers of war 2011
13 บุปผาแห่งนานกิงยกเอาฉากหนึ่งในสงครามอันอื้อฉาวมาใช้
ก่อนจะใส่ตัวละครอันมีสีสันเพิ่มเข้าไป
เรื่องจริงจะเป็นเช่นนี้หรือไม่, ไม่มีใครยืนยันได้
หรือที่จริงต้องบอกว่า, แทบจะไม่มีใครรอดมายืนยันได้
ช่วง ทหารญี่ปุ่นบุกยึดเมืองนานกิงในปี 1937 นั้นถือว่าเป็นความเลวร้ายอย่างที่สุด จากพฤติกรรมที่นอกจากจะยึดเมืองด้วยเล่ห์กลทางการทหารแล้ว
ยังฆ่าคนไปเป็นจำนวนมาก
โดยไม่ได้แค่ฆ่าเฉยๆ
แต่ยังข่มขืนและกระทำทารุณต่อผู้หญิงและเด็กแทบทุกชีวิตในเมืองนั้น
คนที่รอดมาได้ไม่ได้รอดเพราะความเมตตา
แต่รอดเพราะโชคชะตาส่วนตัวและความช่วยเหลือของคนบางกลุ่ม
ตามประวัติศาสตร์จริง ผู้ช่วยให้รอดนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
บ้างเป็นหมอ บ้างเป็นนักการทูต
แต่หนังสือเล่มนี้เลือกหยิบเอาชะตากรรมที่รอดพ้นความวิบัติครั้งนั้นของนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งมีชีวิตต่อมาได้ด้วยความช่วยเหลือของผู้หญิงจากหอนางโลม
ใช่, เธอรอดตายเพราะกะหรี่
อาจเพราะพวกเธอเคยถูกกดขี่มาจนเคยชิน
อาจเพราะพวกเธออยากพิสูจน์ให้ได้เห็นว่าเธอก็มีประโยชน์
อาจเพราะเธออยากทำให้ดูว่าสิ่งที่รังเกียจกันนั้น สุดท้ายมันก็คืออำนาจที่จะต่อรองและซื้อเวลา
อาจเพราะเธออยากให้เห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญเกินกว่าจะแลกกับชีวิต
ชีวิตของคนดีๆ ที่พร่ำด่าแล้วชักสีหน้ารังเกียจใส่พวกเธออยู่ทุกวันนั่นล่ะ
จะอะไรก็เถอะ
ฉันเห็นใจพวกเธอ
ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีสิทธิเป็นได้ทั้งนางฟ้าและกะหรี่
ขึ้นอยู่กับว่าฉันจะไปปรากฏตัวต่อหน้าใคร
และเขาจะชอบใจฉันหรือไม่
ถ้าชอบ, ฉันก็เป็นนางฟ้า
ถ้าไม่ชอบ, ฉันก็เป็นกะหรี่คนหนึ่ง
ไม่ได้วัดจากความประพฤติหรือข้อเท็จจริงอะไร
เขาดูกันง่ายๆ ที่ใจของพวกเขานั่นเอง
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:การเมืองเรื่องกาแฟ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น