แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เมื่อศาลจะฟ้องนักการเมือง

ที่มา ประชาไท


เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา โฆษกศาลรัฐธรรมนูญออกมาแถลงกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 ท่านที่ปฏิเสธจะออกคำสั่งระงับการชุมนุมของพันเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เนื้อหาการแถลงคือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการตามกฎหมายกลับ[1] ท่าทีดังกล่าวของศาลไม่ควรถูกปล่อยผ่านไปเฉยๆ ในสายตาของนักกฎหมายส่วนใหญ่ เนื่องจากหากพิจารณาให้ดี ท่าทีของศาลในกรณีนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย
จริงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องสามารถปกป้องชื่อเสียงของตนจากผู้ไม่หวัง ดี เพราะศาลจะมีความชอบธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีก็ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ จนประชาชนเชื่อถือ ดังนั้น หากมีคนทำลายความเชื่อถือของฝ่ายตุลาการ ศาลก็ทำงานไม่ได้ หากภยันตรายจะมาถึงตัวสถาบันศาลก็ต้องสามารถปกป้องตนเองจากผู้ประสงค์ร้าย ได้แน่นอน แต่ปัญหาในกรณีนี้คือปัญหาเดียวกับว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญเองจึงได้ยกคำร้องคำสั่งระงับการชุมนุมนั่นคือ ภยันตรายนั้นยังไม่ใกล้จะเกิดขึ้น[2] ตุลาการในระบอบประชาธิปไตยนั้นควรตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตยด้วยว่า จะต้องรู้จักอดกลั้นต่อความคิดต่าง
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังควรระลึกถึงลักษณะพิเศษขององค์กรตนเองด้วยว่า ควรจำกัดไม่ให้ศาลไล่ฟ้องคนอื่นเพราะอะไร ลักษณะพิเศษของศาล คือ ความเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ความเป็นกลางนี้ต้องสามารถแสดงออกให้ทุกคนรับทราบได้ การฟ้องคดีครั้งนี้จะทำให้ศาลเสียความเป็นกลางทันที เพราะแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แม้จะไม่ได้ฟ้องพรรคโดยตรง แต่ก็ฟ้องบุคคลที่สังกัดพรรคนั้น แม้ศาลอาจมีข้อแก้ตัวว่า ผู้ฟ้องมิใช่ตุลาการเอง แต่เป็นสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังฟังไม่ขึ้น เพราะในความเป็นจริง ทั้งสองหน่วยงานนี้ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง อยู่ใต้อิทธิพลของกันและกัน มิเช่นนั้นแล้ว ศาลก็สามารถใช้สำนักงานฯ เป็นแขนขาของตนไล่ดำเนินคดีบุคคลที่ตนไม่พอใจ ผลลัพธ์ของการเสียความเป็นกลางคือ ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “ศาลเลือกข้าง” ยิ่งไปกว่านั้น หากในอนาคต มีคดีที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ฟ้องหรือถูกฟ้องขึ้นมาที่ศาล ศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรเล่าเมื่อเคยเป็นคู่ความกัน ไม่เช่นนั้นก็ต้องถอนตัวหมดทุกคนหรือ
ศาลนั้นเป็นองค์กรผู้ใช้กฎหมายเอง หากมีคดีความ ศาลจะตีความกฎหมาย เมื่อศาลจะฟ้องคดีแปลว่าศาลกำลังขอให้ศาลเองตีความกฎหมาย ย่อมนำไปสู่ความเคลือบแคลงว่าศาลเล่นพรรคเล่นพวกช่วยเหลือกัน แม้จะอ้างว่าเป็นศาลคนศาลกัน แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่า ศาลยุติธรรม หรือ ศาลรัฐธรรมนูญก็ใกล้ชิดกัน อยู่ในฝ่ายตุกลาการเหมือนกัน ในทางส่วนตัวบุคลากรหลายคนมาจากศาลยุติธรรมมาก่อน ย่อมเกิดข้อครหาเรื่องความเที่ยงธรรมได้ง่าย
เพราะฉะนั้น การที่มีผู้ไม่พอใจออกมาแจ้งความนั้นแม้ไม่พึงปราถนา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา ศาลรัฐธรรมนูญควรจะต้องอดทน ควรเชื่อมั่นในชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนานว่ามั่นคง เพียงการฟ้องเพียงครั้งเดียวย่อมไม่สามารถทำลายความน่าเชื่อถือของศาลลงไป ได้



[1] สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ ๓๙/๒๕๕๕, วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕.
[2] สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ ๓๘/๒๕๕๕, วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น