แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึก “ความรักและภักดี”

ที่มา ประชาไท

 

ภาพจาก http://news.voicetv.co.th/thailand/49492.html

ชาญณรงค์ บุญหนุน 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 
ในห้วงเวลาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองของเราผลัดเปลี่ยนกันออกมา เรียกร้อง “ความจงรักภักดี” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การตอบแทนคุณ หรือ การกตัญญูต่อแผ่นดิน ซึ่งไม่ใช่แค่ตลอดเดือนอันถือว่าเป็นมงคลของชาติเท่านั้น แต่ทว่าเป็นเวลาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างน้อยก็นับแต่ปี พ.ศ.2549 นั้น  ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปพร้อมกับการเชิดชูความรักและ ความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็คือ การสร้าง “ความเกลียด” และการเรียกร้องให้จัดการกับบุคคลที่ถูกมองหรือถือว่าเป็นพวกที่ไม่มีความ รักหรือความภักดีต่อสถาบัน กระทั่งข้อความที่ตั้งบนสเตตัสใน Facebook บางข้อความของบางคนที่ไม่มีนัยอะไรเลยก็สร้างความหวั่นไหวอย่างเหลือล้นแก่ “ผู้ที่จงรักภักดีอย่างล้นเกิน”
 
ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองหลายปีที่ผ่านมา “ความรัก” กับ “ความเกลียด” กลายเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนประเด็นทาง สังคมการเมืองและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ  ความรัก-ภักดีและความเกลียดถูกประโคมโหมกระหน่ำขึ้นมาเพื่อรับใช้และช่วง ชิงผลประโยชน์ในเชิงการเมืองระหว่างกลุ่มต่าง ๆ อย่างไม่ยอมลดลาวาศอกต่อกัน การทำให้อารมณ์ความรู้สึก “ความรัก-ความภักดี” เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นทางสังคมการเมืองก็คือการที่มันถูกทำให้เป็นส่วน หนึ่งของโครงสร้างของสังคม อันเนื่องมาจากการออกกฎหมายรองรับและการตีความกฎหมายเพื่อบังคับจับกุมผู้ ที่เห็นต่าง มันได้กลายเป็นวัฒนธรรมอันบิดเบี้ยวของชาวไทย ดังเช่น มีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์แม้โดยสุจริตใจก็ตาม ความรักและความภักดีเป็นใบอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามอย่าง ปราศจากหัวใจ ความตายของคนที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้ที่ไม่รักกลายเป็นความตายที่ไร้ค่า ไม่ควรค่าแก่น้ำตาหรือความเสียใจใด ๆ แม้จะเห็นอยู่โทนโท่ในใจกลางเมืองหลวง ในนามของความรักภักดี ทุกการกระทำถูกต้องเสมอ

การโหมกระหน่ำเรื่องความภักดีและความกตัญญูต่อสถาบัน หรือต่อบุคคลซึ่งอยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์ของตน ของแต่ละคนแต่ละฝ่าย พร้อมกับการโหมกระหน่ำความเกลียดกลัวต่อฝ่ายตรงข้ามนั้นได้ทำให้ความ สัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถูกทำลายไปอย่างย่อยยับ  มาบัดนี้ “ความรัก-ความภักดีต่อสถาบัน” ได้ถูกทำให้เป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนไทย เมื่อคุณเป็น “คนไทยที่แท้” คุณย่อมจะเข้าใจความดีงามและเทิดทูนจงรักภักดีต่อสถาบันชนิดที่ไม่มีวัน ปฏิเสธได้ โดยมีกฎหมายบังคับไว้ว่าคุณไม่อาจใช้เสรีภาพในเรื่องความรักและความเกลียด ได้เลยในกรณีนี้ คุณต้องรัก “ผู้ซึ่งต้องรัก” และห้ามรัก “ผู้ซึ่งถูกสงสัยหรือตราหน้าว่าไม่รัก” ผู้ซึ่งคุณต้องรัก คุณจะเกลียดไม่ได้ ความรักและความเกลียดของคุณในกรณีที่กฎหมายหรือชนชั้นผู้ปกครองไม่เห็นด้วย นั้นทำให้คุณสิ้นสภาพของการเป็นคนไทยที่แท้

เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงปรัชญาขงจื่ออันว่าด้วยความสัมพันธ์ ทั้ง 5 ของมนุษย์ในสังคม ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-บุตร สามี-ภรรยา พี่-น้อง มิตรสหาย ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง ซึ่งในความสัมพันธ์เหล่านี้มีคุณธรรมสำคัญกำกับอยู่อย่างชัดเจน ภายในกรอบคิดแบบลัทธิขงจื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง (กษัตริย์) - ผู้ใต้ปกครอง (อาณาประชาราษฎร์) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงอยู่ของสังคมที่ดี การดำรงความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองนั้น แต่ละฝ่ายย่อมมี “คุณธรรม” ที่ตนเองจะต้องปฏิบัติเพื่อสนองตอบต่อกันอย่างสอดคล้องกับครรลองธรรม กษัตริย์หรือผู้ปกครองต้องให้ “ความเมตตา” ต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ปกครองด้วยคุณธรรม ผู้ใต้ปกครองต้อง “ภักดี” ตอบสนอง 

หากพิจารณาจากบริบทสังคมจีนโบราณที่ก่อกำเนิดปรัชญาขงจื่อนั้น ผู้ปกครองดูจะห่วงกังวลเรื่องความภักดีที่ประชาราษฎร์จะมีต่อผู้ปกครองอย่าง มาก กล่าวได้หรือไม่ว่าเป็นธรรมชาติของชนชั้นปกครองที่จะห่วงกังวลในเรื่องนี้ เนื่องจากความภักดีของประชาราษฎร์ย่อมประกันรับรองสถานะการดำรงอยู่ของผู้ ปกครอง ดุจเรือที่ต้องการกระแสธารรองรับอยู่ตลอดเวลาจึงจักแล่นไปได้ 

ขงจื่อมักถูกถามอยู่เสมอจากผู้ปกครองว่าทำอย่างไรประชาราษฎร์จึงจะ ภักดี เมื่อเป็นดังนั้น ขงจื่อก็จะกล่าวว่า “ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้จักละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จะรู้จักละอายและปรับปรุงตน” (คัมภีร์หลุนอวี่ 2/3) ผู้ปกครองต้อง“เกื้อกูลผู้เที่ยงธรรม ปลดปราบผู้เลวร้าย ฉะนี้ประชาราษฎร์ก็จักศิโรราบ หากแต่เกื้อกูลผู้เลวร้าย ปลดปราบผู้เที่ยงธรรม พสกนิกรก็จะไม่เชื่อฟัง” (คัมภีร์หลุนอวี่ 2/19) หรือ “ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสำรวม มวลชนจักเคารพ ดำรงด้วยความเมตตากตัญญู ทวยราษฎร์จักภักดี” (คัมภีร์หลุนอวี่ 2/20) 

สิ่งที่เราเห็นจากคัมภีร์หลุนอวี่ของขงจื่อก็คือแบบปฏิบัติที่ ขงจื่อเรียกร้องให้ผู้ปกครองปฏิบัติต่อประชาราษฎร์ แม้ขงจื่อเห็นว่าความภักดีของประชาชนที่มีต่อผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่าขงจื่อเรียกร้องเอาความภักดีจากประชาชนอย่างไร้ เหตุผล หากมีแต่ผู้ปกครองต่างหากที่พยายามแสวงหาความภักดีอันไม่สิ้นสุด ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ขงจื่อได้แต่เน้นย้ำว่าผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร ดังในคัมภีร์หลุนอวี่บทที่ 2/1 ขงจื่อกล่าวว่า “การปกครองแผ่นดินโดยธรรม ก็จะประหนึ่งดาวเหนือประดับกลางหาว ที่จะมีหมู่ดาวรายล้อมภักดี” และบทที่ 12/19 เมื่อจี้คังจื่อถามเรื่องการปกครองกับขงจื่อว่า “หากประหารเหล่าอธรรมเพื่อส่งเสริมคนให้มีธรรมฉะนี้ ท่านเป็นว่าเป็นไฉน” ขงจื่อตอบว่า “ท่านคือผู้บริหารแผ่นดิน จะต้องใช้การประหารไปใย เพราะเพียงท่านมุ่งในความดี ประชาราษฎรก็จะมุ่งมั่นใฝ่ดีแล้ว อันวัตรปฏิบัติแห่งวิญญูชนนั้นจะประหนึ่งลม แลวัตรปฏิบัติแห่งสามัญชนนั้นจะประหนึ่งหญ้า หญ้าที่อยู่ใต้ลม ก็จะจักต้องลู่ตามลมเป็นแน่แท้” [1]

กล่าวได้หรือไม่ว่าขงจื่อนั้นแม้จะให้จัดความสัมพันธ์ “ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง” ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสังคมที่ดีหรือที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์เรียกว่า “ชุมชนที่มีมนุษยธรรมงดงาม” ตามแบบขงจื่อนั้น[2] แต่ข้อเรียกร้องหลักของขงจื่อไม่ใช่เรื่องความภักดีที่ประชาชนจะพึงมีต่อผู้ ปกครอง หากขงจื่อเน้นย้ำในแง่มุมที่ว่าหากผู้ปกครองปรารถนาจะให้ประชาชนภักดีแล้ว ผู้ปกครองต้องมีพันธกิจทางศีลธรรม (Moral obligation) บางอย่างต่อประชาชน ซึ่งขงจื่อได้ให้คำอธิบายไว้มากมายว่าพันธะทางจริยธรรมของผู้ปกครองที่มีต่อ ประชาชนคืออะไร พร้อมทั้งเตือนว่า หากผู้ปกครองปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว ประชาชนก็จะภักดีและตักเตือนกันเอง ขงจื่อเชื่อว่าพลังทางจริยธรรมของผู้ปกครองจะช่วยโน้มน้าวจิตใจประชาชนโดย ไม่ต้องไปเรียกร้องด้วยวิธีการใด ๆ ที่รุนแรงหรือด้วยการใช้กฎหมายบังคับ 
น่าสนใจว่า ผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัยมักเรียกร้องที่จะให้พลเมืองได้ตระหนักถึงการดำรง อยู่ของตัวผู้ปกครองเอง  พร้อมกับการเรียกร้องความภักดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ปกครองย่อมต้องการให้ประชาชนรับรู้สถานะของตนเองในแง่มุมที่ดี กล่าวคือ ในการรับรู้ของประชาชนพลเมือง ผู้ปกครองเป็นผู้มีคุณงามความดี มีทศพิธราชธรรม หรือมีบุญคุณต่อประชาชนที่พวกเขาต้องตอบสนองด้วยความภักดีกตัญญู ผู้ปกครองย่อมต้องการเป็นบุคคลที่ถูกสรรเสริญตลอดกาล การสรรเสริญในความดีงามจะเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นสถานภาพอันสูงส่งและเพื่อ ผลประโยชน์ของผู้ปกครองนั่นเอง  

เมื่อพิจารณาจากมุมมองของเหลาจื่อ “เบื้องบนชั้นวิเศษสุด  ผู้อยู่เบื้องล่าง เพียงรู้ว่ามีอยู่  ระดับถัดมา เบื้องล่างรู้สึกสนิทใจ  ระดับถัดมา เบื้องล่างแซ่ซ้องสดุดี  ระดับถัดมา เบื้องล่างหวาดหวั่นยำเกรง ระดับถัดมา เบื้องล่างปรามาสหมิ่นแคลน” (“เต๋าของเหล่าจื่อ” บทที่ 17) ในวิธีคิดของเต๋าซึ่งเชื่อว่า “ปรารถนาจักครองโลกหล้าแล้ว กอปรกระทำการ ข้าเห็นว่าจักไม่สำเร็จ อันโลกหล้านี้พิกลนัก หาใช่จักกระทำการเอาได้ ผู้กอปรกระทำการย่อมแพ้พ่าย ผู้ยึดมั่นย่อมสูญเสีย” (“เต๋าของเหลาจื่อ” บทที่ 29) ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้นหาใช่ผู้ปกครองที่ผู้คนยกย่องสรรเสริญไม่ หากเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนเพียงแต่รู้ว่าเขามีอยู่เท่านั้น เมื่อกิจการทั้งหลายสำเร็จลุล่วงลง คนทั้งหลายล้วนโห่ร้องยินดีว่าเขาได้กระทำสิ่งนั้นด้วยตัวเองทั้งสิ้น [3]

สิ่งที่เราอาจเรียนรู้จากแบบแผนของชาวจีนโบราณในกรณีการเรียกร้อง ความภักดีต่อผู้ปกครองจากประชาชนก็คือ ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องพะวงว่าประชาราษฎร์จะไม่ภักดีหรือจะไม่ยกย่อง สรรเสริญมากนัก สำหรับกรณีขงจื่อ ผู้ปกครองมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตนให้สมฐานะที่ตนเป็นผู้ปกครอง ส่วนประชาราษฎร์ก็ต้องปฏิบัติตนให้สมฐานะหรือสมนามที่ตนเองเป็นประชาชน ขงจื่ออาจเรียกร้องให้ประชาชนปฎิบัติตนอย่างสมนามคือ ภักดีต่อผู้ปกครอง แต่ดูเหมือนว่าขงจื่อเองก็ไม่ได้เห็นด้วยหากการแสดงความภักดีต่อผู้ปกครอง หรือรัฐไปละเมิดคุณธรรมความสัมพันธ์ชุดอื่นโดยเฉพาะคุณธรรมความกตัญญูภายใน ครอบครัว ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ชุดต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ทั้ง 5 นั้นไม่อาจดำเนินไปโดยปราศจากคุณธรรมประการสำคัญที่เป็น “ฐานราก” ของจารีตประเพณีหรือแบบปฏิบัติแห่งความสัมพันธ์ทั้งปวง นั่นคือ การมีมนุษยธรรม (เหริน) ซึ่งหมายถึง “การรักมนุษย์” ภายใต้กรอบคิดเช่นนี้ ความรักหรือความภักดีที่มีต่อรัฐ ผู้ปกครองหรือกษัตริย์มิอาจดำเนินไปโดยปราศจากความมี “มนุษยธรรม” อาจกล่าวได้หรือไม่ว่า แม้ขงจื่อจะเน้นความภักดีต่อรัฐว่าเป็นความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่จำเป็นต่อการ ดำรงอยู่ของสังคม แต่ความภักดีที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ความภักดีที่ไร้หัวใจ เนื่องจากมันมี “ความรัก” ที่เราจะพึงมีต่อกันในฐานะมนุษย์รองรับข้อปฏิบัติหรือคุณธรรมดังกล่าวอยู่ อาจหมายความได้ด้วยหรือไม่ว่า ความรักภักดีนั้นต้องมีความถูกต้องและความยุติธรรมกำกับอยู่อีกทอดหนึ่งด้วย ดังกรณีบทสนทนาของ “เซ่ออกง” ในคัมภีร์หลุนอวี่ 13/18 [4]

ในพุทธศาสนาเล่าเป็นอย่างไร 
กรณีความภักดีต่อผู้ปกครองนั้น ความจริงควรจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันให้ละเอียดสักหน่อย (ซึ่งตั้งใจว่าจะทำในอนาคตข้างหน้า) แต่ในที่นี้ อาจจะพอกล่าวได้แต่เพียงว่า ภาพที่เราเห็นได้จากพระสูตรแตกต่างจากแนวคำสอนของขงจื่ออยู่บ้าง ถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ ความสำคัญแค่ไหน
 
หากยึดเอาแนวคิดที่ปรากฏในสิงคาลกสูตรหรือหลักทิศ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองไม่ได้ถูกนับเข้าไว้ในความ สัมพันธ์ที่กุลบุตรหรือคหปติจะต้องปฏิบัติ กุลบุตรผู้ครองเรือนต้องปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัว เช่น บิดามารดา บุตร ภรรยา อย่างเหมาะสม ความสัมพันธ์อีกชุดหนึ่งเป็นเรื่องของกุลบุตรกับครูอาจารย์และนักบวช ซึ่งหมายถึงผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย และความสัมพันธ์ต่อผู้เป็นทาสบริวารหรือคนงาน (กรรมกร) แน่นอนว่าความสัมพันธ์ที่พลเมืองจะพึงมีต่อรัฐนั้นไม่ได้ถูกระบุไว้ในแบบแผน ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ทิศ 6 นี้ 

หากจะหาความสำคัญของผู้ปกครองที่มีต่อชุมชนหรือสังคมในทัศนะของ พุทธศาสนา ก็ย่อมต้องหาได้ไม่ยากนักอย่างน้อยในพระสูตรและชาดกหลายเรื่องก็ได้กล่าวไว้ อย่างชัดเจนว่า ผู้ปกครองเป็นศูนย์กลางของความดีงามของรัฐ การประพฤติปฏิบัติของผู้ปกครองย่อมมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความเป็นอยู่ของ ประชาราษฎร เหมือนโคตัวจ่าฝูง หากนำฝูงไปทางตรง บรรดาลูกฝูงก็จะไปทางตรง หากพาไปทางคด ลูกฝูงก็เดินตามไปทางนั้นด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่เท่านั้น การปฏิบัติของผู้ปกครองยังมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและสภาพแวด ล้อมธรรมชาติด้วย แม้ความสำคัญของผู้ปกครองได้ถูกทำให้เด่นชัดขึ้นในพระสูตรหลายเรื่องว่าเป็น ผู้ล้ำเลิศกว่าคนอื่น ๆ ในวรรณะทั้งหลาย แต่ข้อเรียกร้องที่ว่า “ประชาชนต้องภักดีต่อผู้ปกครอง” นั้นหาได้เป็นสิ่งที่ปรากฏในคำสอนของพุทธศาสนาไม่

หากพิจารณาจากอัคคัญญสูตร จะพบว่าไม่มีคำสอนหรือนัยของการเรียกร้องความจงรักภักดีต่อผู้ปกครองตามนัย ของขงจื่อ แต่พุทธศาสนาดูเหมือนจะให้นัยยะไว้ทำนองว่า “ความภักดี” หรือ “การยอมรับฟังอำนาจ” ของผู้ปกครองนั้นเกิดขึ้นจากการพลเมืองจะตระหนักได้ว่าผู้ปกครองจะกระทำใน สิ่งที่ “เที่ยงธรรม” กล่าวคือ “การยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง ลงโทษผู้ที่ควรลงโทษ” ซึ่งการที่จะตอบสนองในทำนองดังกล่าวนี้เป็นข้อตกลงที่ประชาชนได้ให้ไว้เมื่อ เริ่มแรกการสถาปนาผู้ปกครอง เมื่อผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ของตนตามพันธสัญญาของสังคม ประชาชนพลเมืองก็มีหน้าที่ที่จะตอบสนองแก่ผู้ปกครองด้วยการให้ข้าวสาลี (ทะนานแห่งข้าวสาลี) เพื่อที่ว่าผู้ปกครองจะไม่ต้องพะวงกับการประกอบอาชีพการงานอย่างอื่น แต่ประชาชนพลเมืองจะเป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อเห็นว่าผู้ปกครองได้กระทำหน้าที่ของตนในการตอบสนองต่อประชาชนอย่างถูก ต้องและเที่ยงธรรม [5]

จักรวัตติสูตร [6] และกูฎทันตสูตร [7] ดูเหมือนจะเน้นย้ำการเป็นผู้ปกครองที่ดีเป็นอย่างมาก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ปรากฎให้เห็นผ่านพระสูตรเหล่านี้เป็นภาพอันโดด เด่นของผู้ปกครอง ภารกิจอันสำคัญที่กษัตริย์ผู้ปกครองจะพึงกระทำต่อประชาชนในแว่นแคว้นหรือรัฐ ของพระองค์ ซึ่งภาพของกษัตริย์ที่ดีคือกษัตริย์ผู้ปกครองด้วยจักรวรรดิวัตร 12 ประการ หรือผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม พุทธศาสนาเน้นย้ำคุณสมบัติของกษัตริย์ที่ดีว่าจะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ มีหน้าที่ในการกำจัดสิ่งอธรรมและปกป้องรักษาธรรม ภาพที่เราได้จากพระสูตรจึงดูเหมือนว่าพุทธศาสนายกย่องสถาบันกษัตริย์ไว้สูง ส่งเหนือคนทั้งปวง เสียงการยกย่องมวลกษัตริย์ในพระสูตรดูเหมือนจะได้กลบ “เสียงของคนธรรมดาสามัญ” ไปจนสิ้น แต่ถามว่ามีที่ใดบ้างที่พุทธศาสนาเน้นว่าพลเมืองจะต้องภักดีต่อผู้ปกครอง ผู้เขียนอาจบอกได้ในที่นี่แต่เพียงว่า ขณะที่เขียนบทความนี้ “ยังหาไม่พบ” (แต่ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี)
 
ถ้าอย่างนั้น เราจะตีความการเน้นย้ำคุณธรรมจริยธรรมของกษัตริย์ หรือการเน้นย้ำเรื่องราวหรือภาพอันโดดเด่นของบรรดาผู้ปกครองในคำสอนของพุทธ ศาสนาอย่างไร ผู้เขียนขอลองตีความดังนี้ 

การสอนเรื่องการปกครองโดยเน้นคุณธรรมจริยธรรมของกษัตริย์หรือผู้ ปกครองที่ดีก็ดี การเน้นย้ำแบบแผนแห่งการปกครองหรือจักรวรรดิวัตร 12 ประการก็ดี การพูดถึงความสำคัญของกษัตริย์หรือผู้ปกครองว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อความ เป็นไปของสังคมอย่างไรนั้น ไม่ได้หมายถึงการยกย่องกษัตริย์ขึ้นเหนือมวลอาณาประชาราษฎร์ที่พลเมืองต้อง แสดงความภักดีจนสิ้นสุดหัวใจ หากการเน้นย้ำเรื่องนี้แสดงให้เห็นแง่มุมที่ตรงกันข้าม 

นั่นคือ ในสายตาของพุทธศาสนา ประชาชนหรือพลเมืองเป็นผู้มีความสำคัญที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองต้องใส่ใจ เป็นพิเศษ การเน้นย้ำความสำคัญต่อประชาชนพลเมืองของพุทธศาสนา แสดงออกผ่านการแสดงธรรมให้กษัตริย์หรือผู้ปกครองใส่ใจต่อแบบแผนการปฏิบัติ หรือบทบาทหน้าที่อันถูกต้องเหมาะสมของตน การที่กษัตริย์หรือผู้ปกครองต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามธรรมโดยการดำรง ทศพิธราชธรรมเป็นต้นนั้น ก็เนื่องจากว่าผู้ปกครองต้องเคารพหรือให้ความสำคัญแก่ประชาชนพลเมือง เพราะต้องให้ความเคารพต่อประชาชน กษัตริย์ผู้ปกครองจึงมิอาจละเมิดธรรมต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ 

จะว่าไปแล้ว การสั่งสอนเรื่องจักรวรรดิวัตรหรือทศพิธราชธรรมก็คือการขีดเส้นแบ่งระหว่าง อำนาจของผู้ปกครองกับประชาชนพลเมืองนั่นเอง คุณธรรมจริยธรรมของผู้ปกครองไม่ได้มีนัยเพื่อให้ผู้ปกครองได้รับการเชิดชู ว่าเป็นผู้มีความล้ำเลิศเหนือประชาชนราวกับเทพเจ้า หากแต่ผู้ปกครองต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ต้องไม่ละเมิดธรรมเพราะประชาชนคือผู้ที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่าง ระมัดระวัง ประชาชนพลเมืองจึงอยู่เบื้องบน ผู้ปกครองอยู่เบื้องล่าง
ทั้งหมดนี้ก็อาจจะยังไม่เป็นที่สรุป หากกล่าวไว้ในที่นี้เพื่อจะได้พิจารณาถกเถียงกันต่อไป

รายการอ้างอิง
[1] อมร ทองสุข,(แปลและเรียบเรียง). คัมภีร์หลุนอวี่  คัมภีร์แห่งแดนมังกร. พิมพ์ครั้งที่ 2. ปทุมธานี : สำนักพิมพ์ชุณหวัตร, 2552. หน้า 125-313 และ 259
[2] ขงจื่อ, หลุนอี่ว์ : ขงจื่อสนทนา. แปลโดย สุวรรณา สถาอานันท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : openbook, 2555. หน้า 26-27. 
[3] ปกรณ์  ลิมปนุสรณ์, คัมภีร์เต๋าของเหลาจื่อ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊ค, 2553. หน้า 34-58.
[4] อมร ทองสุข,(แปลและเรียบเรียง). คัมภีร์หลุนอวี่  คัมภีร์แห่งแดนมังกร. อ้างแล้ว. หน้า 270 (กรณีการเน้นความสูงส่งของผู้ปกครองเหนือกว่าประชาชน และเรียกร้องให้ประชาชนต้องภักดีอย่างสู่งต่อผู้ปกครองนั้นเกิดขึ้นโดยนัก ปรัชญาขงจื่อสมัยฮั่น)
[5] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 11 ข้อ 111-102
[6]พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 11 ข้อ 80-82
[7]พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 10 (กูฎทันตสูตร ม.ม.199-238)
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น