แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความสูญเสีย 16 ศพ บอกอะไรกับสังคมไทย

ที่มา ประชาไท


16 ชีวิตในปฏิบัติการโจมตีครั้งเดียวนับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญสำหรับขบวน การต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี  ข่าวนี้สร้างกระแสความตื่นตัวในสังคมไทยต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งในชายแดน ภาคใต้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งนับวันสาธารณชนในสังคมไทยจะให้ความสนใจต่อเรื่องนี้น้อยลงไปทุกที  คำถามคือเราจะอ่านเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร
ข้อมูลจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคสี่ส่วนหน้า ระบุว่าชายฉกรรจ์ประมาณ 50 คนแต่งกายด้วยชุดทหาร สวมเสื้อเกราะ มีผ้าพันคอสีขาวได้ขับรถกระบะ 3 คันและจักรยานยนต์ 2 คัน พร้อมอาวุธสงครามในมือเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสในเวลาประมาณตีหนึ่งของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังปะทะกันประมาณ 10-15 นาที “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” เสียชีวิตที่บริเวณข้างฐาน 14 คน อีก 2 คนเสียชีวิตในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่ติดตามไปขณะล่าถอย   หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีนายมะรอโซ  จันทรวดี แกนนำกลุ่มติดอาวุธที่มีค่าหัวสองล้านรวมอยู่ด้วย ซึ่งแหล่งข่าวทหารในพื้นที่ระบุว่าเป็นหัวหน้าระดับ “กอมปี” (กองร้อย) ที่คุมพื้นที่อ.บาเจาะ และอ.ยี่งอ ในจ.นราธิวาส และอ.สายบุรี จ.ปัตตานี  (บางส่วน)
เหตุการณ์โจมตีฐานทหารในพื้นที่ขัดแย้งในชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นก่อนหน้า นี้อย่างน้อย 5 ครั้ง  ครั้งแรกเป็นเหตุการณ์ที่จำกันได้ดี คือการบุกปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในอ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ขบวนการกวาดปืนไปกว่า 400 กระบอกและทหารถูกยิงเสียชีวิต 4 นาย ซึ่งนับเป็นการเปิดฉากการต่อต้าน “อาณานิคมสยาม” อย่างเต็มรูปแบบขึ้นอีกครั้ง  หลังจากนั้นอีกเจ็ดปีก็ไม่มีการโจมตีค่ายทหารอีกเลย   จนกระทั่งวันที่ 9 มกราคม 2554  ในเหตุการณ์ที่เรียกกันติดหูว่าการโจมตี “ฐานพระองค์ดำ”  ในเหตุการณ์นั้นกลุ่มติดอาวุธได้โจมตีฐานกองร้อยทหารราบในอ.ระแงะ จ.นราธิวาส  ปล้นปืนไปกว่า 50 กระบอกและยิงทหารเสียชีวิตไป 4 คน  ทั้งสองเหตุการณ์นับเป็นความพ่ายแพ้ที่อดสูของฝ่ายทหาร
  
นับจากนั้นมีความพยายามโจมตีฐานทหารอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นในปีที่แล้ว ครั้งแรก คือ การบุกโจมตีฐานปฏิบัติการหมวดของทหารนาวิกโยธินที่บ้านส้มป่อย ต.กาเยาะมาตี ในอ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ในเหตุการณ์นั้นมีการปะทะเดือดประมาณ 20 นาทีแต่กลุ่มติดอาวุธไม่สามารถเข้าไปภายในฐานได้  เหตุการณ์ต่อมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบในพื้นที่บ้านกาโดะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส  ทหารได้รับข่าวสารจากชาวบ้านก่อน  จึงได้ออกลาดตระเวนและเกิดการปะทะนอกฐานขึ้น  ฝ่ายขบวนการเสียชีวิต 2 คน  ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในอ.รือเสาะเช่นกัน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม กลุ่มติดอาวุธเปิดฉากด้วยการบุกกราดยิงบ้านคนพุทธข้างฐาน  ก่อนกระหน่ำยิงฐานกองร้อยทหารราบที่บ้านท่าเรือ  ในเหตุการณ์นั้นมีทหารเสียชีวิต 1 นาย ชาวพุทธ 2 คน  เจ้าหน้าที่เชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธที่โดนยิงบาดเจ็บน่าจะเสียชีวิตด้วย 2 – 3 คน
เหตุการณ์ที่บ้านยือลอในครั้งนี้นับเป็นการโจมตีฐานทหารครั้งแรกในปีนี้  ผู้เขียนอยากจะตั้งข้อสังเกต 3 ประการ

ประการแรก  ความสำเร็จในทางยุทธวิธีของทหารครั้งนี้อาจจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ การใช้ทหารมืออาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการต่อสู้ทั้งทางการรบ และงานมวลชนอย่างแหลมคม

ตามข้อมูลสัมภาษณ์ของผู้บังคับการของทหาร นาวิกโธยินในศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา  ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการค้นพบข้อมูลของฐานที่ถูกวางเป็นเป้าหมายในการ โจมตีจากวัตถุที่ยึดมาได้จากกลุ่มติดอาวุธในช่วงสิบวันก่อนหน้า ที่สำคัญคือภาพวาดเล็กๆ ด้วยปากกาสีน้ำเงินเป็นแผนที่ค่ายซึ่งพบที่ตัวของนายสุไฮดี ตะเหหลังถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกอบกับการให้ข่าวจากประชาชนในพื้นที่

การ ที่มีสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าทำให้ทหารเริ่มเตรียมพร้อมและเสริมกำลัง  งานการข่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในพื้นที่ขัดแย้งที่ความซับซ้อน  ฉะนั้นการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพจำเป็นจะต้องใช้มืออาชีพที่เกาะติด พื้นที่อย่างต่อเนื่อง  ประเด็นนี้เป็นปัญหาของกองทัพมาโดยตลอด  ทหารนอกพื้นที่มาประจำการเพียงหนึ่งปีก็กลับไป  แม้บางคนบางหน่วยจะปฏิบัติหน้าที่ได้ดี แต่ก็ขาดความต่อเนื่อง  ในขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการใช้ทหารพรานมาปฏิบัติหน้าที่แทนทหาร หลัก ก็อาจจะสร้างมากกว่าแก้ปัญหา  เนื่องจากคุณภาพของบุคลากรและการฝึกอบรมที่ไม่อาจเทียบกับทหารอาชีพได้  หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่ควบคุมของทหารพราน  ผลลัพธ์อาจไม่ออกมาในลักษณะนี้ก็เป็นได้    นโยบายในการใช้ทหารพรานแทนทหารหลักของกองทัพจึงควรจะมีการทบทวน
ประการที่สอง เราจะเข้าใจความตายของคนเหล่านี้อย่างไร   ความเห็นในโลกของคนพุทธที่ปรากฏในสื่อต่างๆ บางคนแสดงความสะใจที่พวก “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “สุดโต่ง” เสียชีวิต   ในอีกโลกหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง   คนมลายูมุสลิมในภาคใต้ที่ไปร่วมงานศพพวกเขาตะโกนป่าวร้อง “อัลลอฮ อัคบัร” (พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) ขณะช่วยกันส่งร่างที่ไร้วิญญาณไปสู่หลุมฝังศพ

(ดูคลิปพิธีฝังศพ )


ช่วงต้นของคลิปนี้ มีคำพูดที่เขียนในภาษามาเลย์แปลได้ว่า “พวกเจ้าอย่าได้กล่าวถึงคนที่ตายในหนทางแห่งพระเจ้าว่าพวกเขาตายแล้ว  แท้จริงพวกเขายังมีชีวิต แต่พวกเจ้าไม่อาจรับรู้” ผู้เขียนไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้มีการอาบน้ำศพ  ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติสำหรับ “นักต่อสู้ทางศาสนา” (นักญิฮาด) ที่เสียชีวิต (เป็นการตายในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า หรือเรียกว่า “ชะฮีด”)   มีคำพูดหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า  “ผู้ก่อการร้ายในทัศนะของคนๆ หนึ่งอาจเป็นวีรชนสำหรับคนอีกคนหนึ่ง”  สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้  

ศาสนา อิสลามได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในจักรวาลทัศน์ (cosmology) ของคนที่เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ในยุคปัจจุบัน   ซึ่งทำให้พวกเขามีวิธีคิดในการปฏิบัติการ การกำหนดว่าใครเป็นศัตรูและใครเป็นเป้าโจมตีที่ชอบธรรมแตกต่างไปจากขบวนการ ในอดีต  แม้จะมีเป้าหมายสุดท้ายไปสู่เอกราชเหมือนกัน   ในสายตาของพวกเขา พื้นที่ในชายแดนใต้ที่พวกเขาเรียกว่า “ปาตานี” เป็น “ดารุล ฮารบี” (ดินแดนแห่งสงคราม) เพราะถูกสยามเข้ามายึดครอง  ซึ่งเป็นการตีความตามหลักคิดในเทววิทยาของศาสนาอิสลาม (Islamic theology)  คนพุทธในพื้นที่นี้จึงเป็น “กาฟิร ฮารบี” (คนนอกศาสนาที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินสงคราม)  การสังหารคนพุทธจึงเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมในสภาวะเช่นนี้
 
ประการที่สาม  การต่อสู้ที่เน้นการทหารซึ่งถูกชี้นำด้วยจักรวาลทัศน์เช่นนี้กำลังทำให้ ขบวนการสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองในสายตาของคนที่เคยเห็นอกเห็นใจต่อ ความขมขื่นของคนมลายูมุสลิมที่ถูกผู้นำสยามรุกรานและพยายามที่จะกลืนกินอัต ลักษณ์ทางชาติพันธุ์มาในอดีต   การที่คนมลายูมุสลิมไม่ได้รับความยุติธรรมหรือถูกข่มเหงรังแก ไม่อาจสร้างความชอบธรรมต่อการสังหารคนพุทธซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ได้   แม้พวกเขาจะมีคำอธิบายในทางศาสนา (ตามการตีความทัศนะหนึ่งจากหลายๆ ทัศนะ)  แต่สิ่งนั้นกำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อครั้งผู้แทนของ องค์กรความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) มาเยือนภาคใต้ของไทยในกลางปีที่แล้ว นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซีได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำ ร้ายผู้บริสุทธิ์  โดยอ้างถึงคำกล่าวในอัลกุรอ่านว่า “การฆ่าผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน  เสมือนการสังหารมนุษยชาติทั้งโลก”  กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนก็เริ่มกล่าวในทำนองว่าการกระทำของขบวนการนั้นอาจเข้า ข่าย “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (crime against humanity) หรือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ   แนวทางที่เป็นอยู่กำลังทำให้ขบวนการสูญเสียความชอบธรรมในทางการเมืองมากขึ้น เรื่อยๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ 
 
เราควรจะทำอะไรเพื่อช่วยกันนำสันติภาพมาสู่ชายแดนภาคใต้ ?   มีหลายเรื่องที่รัฐบาลควรจะดำเนินการ  ซึ่งไม่อาจจะอธิบายได้หมดในบทความนี้   สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือการพูดคุยกับพวกเขา (peace dialogue) เพื่อแสวงหาทางออกที่จะอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกันอย่างสันติ  แม้ว่าทหารจะชนะในสนามรบเล็กๆ ในครั้งนี้   แต่การ “จับตาย” ทั้งหมดทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะได้นำพวกเขามานั่งพูดคุย  ซึ่งย่อมมีประโยชน์ต่อสันติภาพและความมั่นคงของประเทศมากกว่าศพที่ไร้ วิญญาณ 
 


หมายเหตุ  รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง  เธอเป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group  บทความนี้แก้ไขปรับปรุงจากฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนราย วัน ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 หน้า 2. 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น