วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 (go6TV) นายธาริต เพ็งดิษฐ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
อนุมัติรับโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396
หลัง วงเงิน 5,848 ล้านบาท
และโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ (แฟลต) จำนวน 163
แห่ง จำนวนเงิน 3,709,880,000 บาท เป็นคดีพิเศษตามฐานความผิด
พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล)
และได้อนุมัติให้มีสืบสวนโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนทั้ง 396
แห่ง ในความผิดการฉ้อโกงด้วย เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ดังนี้
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ กล่าวว่า
มีข้อมูลที่ทางศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริตดีเอสไอ เสนอขึ้นมาในกรณีการเกี่ยวกับ
พ.ร.บ.ฮั้ว มีตัวเลขที่น่าใจคือ โครงก่อสร้างโรงพักทดแทน คณะรัฐมนตรี (ครม.)
อนุมัติงบประมาณก่อสร้าง เป็นเงิน 6,672 ล้านบาท ส่วนราคากลางตั้งไว้ 6,388
ล้านบาท และโดย บริษัทพีซีซี
ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
ชนะการประกวดราคา 5,848 ล้านบาท
ซึ่งต่ำที่สุดในจำนวนบริษัทที่เข้าประกวดราคาต่ำกว่าราคากลาง 540
ล้านบาท ต่ำกว่าห้างหุ้นส่วนบริษัทสามประสิทธิ์ ที่เข้าร่วมเสนอราคา
โดยเสนอราคาสู้ที่ 6,095 ล้านบาท
จะพบว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางเพียง 293
ล้านบาท จะเห็นว่าบริษัทพีซีซีฯเสนอราคาต่ำกว่าบริษัทสามประสิทธิ์ถึง 247
ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ผิดปกติ เพราะตัวเลขไม่ควรจะห่างมากเท่านี้
ทั้งในมุมของราคากลางและการชนะผู้ประมูล
นี่คือข้อผิดปกติที่หนึ่งและสอง
ประเด็นที่ 3
เรื่องการยกเลิกสัญญารายภาคเปลี่ยนมาเป็นรวบสัญญา ทำให้บริษัทอื่นไม่มีสิทธิเข้ามาประมูลแข่ง
หรือสู้ราคาได้ ทำให้บริษัทพีซีซีฯชนะการประมูล
ประเด็นที่ 4
เมื่อบริษัทพีซีซีฯได้โครงการแล้วมีการทำสัญญา โดยระบุให้จ่ายเงินล่วงหน้า
ในสัญญาแบบเต็มเพดานที่กำหนดคือ 15 เปอร์เซ็นต์
ทำให้บริษัทพีซีซีฯได้เงินล่วงหน้าไปถึง 877.2
ล้านบาท ซึ่งปกติเรตของการอนุมัติจ่ายเงินล่วงหน้าทำได้ตั้งแต่ 1-15
เปอร์เซ็นต์ หลักทั่วไปก็ประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าโครงการ
ประเด็นที่ 5
เมื่อได้โครงการบริษัทพีซีซีฯไม่ได้ลงมือสร้างเอง
แต่มีการจ้างช่วงโดยให้ผู้รับรายอื่น มารับงานและจ่ายเงินน้อยมากประมาณหลักแสนบาท
จากนั้นมีการตั้งเบิกเงินงวดที่หนึ่ง จำนวน 656.6
ล้านบาท
และ ประเด็นที่ 6
คือการทิ้งงานทั้งหมด
เมื่อเห็นข้อมูลพิรุธทั้ง 6
กรณี จะเห็นว่าพฤติการณ์เรื่องนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล
มาตรา 11, 13 และ 8 ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ
จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 11 ประเด็นเรื่องการกำหนดเงื่อนไข คือ
มีเพียงบริษัทเดียว ไม่มีการแข่งขันกัน 9 ภาค
ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าข่าย มาตรา 13
ทั้งนี้ หากมีการอนุมัติเป็นคดีพิเศษแล้ว
จะมีผู้เกี่ยวข้องเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายฮั้วประมูล 2
ฝ่าย คือ ข้าราชการประจำซึ่งหมายถึงผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
ในขณะนั้น และฝ่ายการเมืองซึ่งหมายถึงรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
หากมีการลำดับเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาจะทำให้เห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทพีซีซีฯอย่างไร
ต้องดูหนังทั้งซีรีส์ อย่าดูแค่การอนุมัติเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้การอนุมัติให้มีการสืบสวนในเรื่องของการฉ้อโกง
เนื่องจากวิเคราะห์จากการกระทำทั้ง 6 ขั้นตอน ที่ผ่านมา
ตั้งข้อสังเกตว่าทางบริษัทพีซีซีฯ รู้อยู่แล้วว่าสร้างไม่ได้ไม่เสร็จ
ทำไมรู้ว่าสร้างไม่เสร็จเพราะสัญญาเดียว ทำคนเดียวทั่วประเทศ ทุนจดทะเบียนแค่ 500
ล้านบาท ไม่เคยรับงานใหญ่ขนาดนี้แล้วบิดราคาต่่ำมาก เพราะต้องการแค่ชนะ
ให้ได้สัญญา เพื่อต้องการแค่สัญญา เบิกเงินล่วงหน้า
ความมุ่งหวังของบริษัทพีซีซีฯตั้งข้อสังเกตว่าต้องการทำสัญญาเพียงเงินงวด
และถ้ามีเรื่องเกิดขึ้นจะสู้ว่าเป็นความผิดทางแพ่ง เพราะมีการประมูลตามขั้นตอน
เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย สร้างไม่ได้ ไม่ทัน
ก็ปล่อยบริษัทล้มละลายผู้บริหารไม่ผิดทางอาญา ดังนั้น
จึงสงสัยว่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำสัญญาทางแพ่งตามปกติ ทั้งนี้
คดีฉ้อโกงเป็นคดีเกี่ยวพัน พ.ร.บ.ฮั้ว ดีเอสไอทำได้ทันทีถือเป็นการอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง
โดยการฉ้อโกงทำให้เกิดความเสียหายมาก
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่าบริษัทมีการจ้างช่วงผู้รับเหมาในพื้นที่หลายจังหวัด
ยกตัวอย่าง สถานีตำรวจมีวงเงินสัญญาก่อสร้าง 27
ล้านบาท แต่บริษัทพีซีซีฯไปจ้างช่วงต่อเพียง 20 ล้านบาท
หักหัวคิว 7 ล้านบาท
จากนี้จะทำหนังสือเชิญอดีต ผบ.ตร. 3 คน
ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาดังกล่าวเข้าให้ปากคำในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ และ พล.ต.อ.วิเชียร
พจน์โพธิ์ศรี จากนั้นจะออกหมายเรียกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง โดยขีดเส้นให้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนทั้ง 2 คดี
ภายใน 30 วัน และขยายระยะเวลาได้ใน 50 วัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น