แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Asean Weekly : แผนพิชิตเอเชียของโปรตุเกสและสเปน

ที่มา ประชาไท


ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสที่เพิ่งครบ 500 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้วอาจไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีอย่างที่เรา เข้าใจ โปรตุเกสเคยมีแผนการที่จะพิชิตเอเชีย แต่ทำไม่สำเร็จ กระนั้นก็ได้กรุยทางให้แก่เจ้าอาณานิคมอย่าง อังกฤษ และฝรั่งเศสในระยะต่อมา ให้สามารถเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าเอเชียได้
มาฟัง รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บรรยายถึงความทะเยอทะยานและความล้มเหลวของพ่อค้าและนักบวชชาวโปรตุเกสและ สเปนที่ต้องการจะพิชิตเอเชียในคริสตวรรษที่ 16-17 เช่นเดียวกับที่เคยพิชิตบราซิลและละตินอเมริกา ซึ่งการบรรยายนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.55 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



โปรตุเกสเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่มะละกา ในปี ค.ศ.1511 (พ.ศ.2054) และส่งทูตเข้ามาติดต่อกับสยาม
ในระยะแรกโปรตุเกสมีความสนใจสยามเพียงสั้นๆ แค่ 10 ปี ก่อนจะมุ่งความสนใจไปที่มะละกา ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ และโมลุกกะ เกาะซึ่งอุดมไปด้วยเครื่องเทศ ส่วนอยุธยาซึ่งมีที่ตั้งเข้ามาตอนในของแผ่นดินและไม่ได้อยู่ในเส้นทางการค้า โปรตุเกสจึงไม่ให้ความสนใจกับสยามในช่วงเวลานั้น
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นหลัง ค.ศ.1550 (พ.ศ.2093) เมื่อนักบวชเยซูอิตเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาโดยมีเป้าหมายคือชาวพื้นเมือง เอเชีย ส่งผลให้มีชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในเอเชียเพิ่มมากขึ้น และเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมะละกา ในช่วงเวลานั้น ทหารโปรตุเกสบางส่วนที่ประจำการอยู่ที่มะละกา หนีทัพมารับใช้กษัตริย์พื้นเมืองเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยาม
หมู่บ้านโปรตุเกสที่อยุธยา ความจริงแล้วเป็นหมู่บ้านแบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากราชสำนักโปรตุเกสไม่เคยรับรองฐานะ หมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นที่อยู่ของชาวโปรตุเกสที่หลบหนีเจ้านาย กล่าวโดยสรุปคือ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับเอเชีย สร้างขึ้นจากพวกไพร่ชาวโปรตุเกสที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ต่อมา สเปนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในมะนิลาในปี ค.ศ.1565 (พ.ศ.2108) ในระยะแรกได้ส่งผลให้เริ่มเกิดการแข่งขันทางการค้ากับโปรตุเกสพอสมควร อย่างไรก็ดี การค้าในเอเชียส่วนใหญ่ขณะนั้นยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกส
สิ่งที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ พ่อค้าและบาทหลวงโปรตุเกสเคยเสนอแผนการอย่างจริงจังหลายครั้ง ที่จะชวนราชสำนักสเปนและโปรตุเกสให้ขยายอำนาจในเอเชีย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ค.ศ.1524 (พ.ศ.2067) เป็นช่วงที่จีนปิดเมืองท่ากว้างตุ้ง ไม่ทำการค้าขายกับโปรตุเกส จีนสามารถขับไล่เรือรบโปรตุเกสซึ่งติดปืนใหญ่ให้ออกจากเมืองท่าได้ เนื่องจากเรือสำเภาจีนมีขนาดใหญ่กว่าเรือรบของโปรตุเกสมาก และเทคโนโลยีปืนใหญ่ของโปรตุเกสขณะนั้น บรรจุกระสุนทางปากกระบอกและยิงได้ทีละนัด ไม่สามารถสู้กับพลเกาทัณฑ์จำนวนมากของจีนได้ โปรตุเกสจึงพ่ายแพ้
ปี ค.ศ.1554 (พ.ศ.2097) มีลูกเรือโปรตุเกสถูกจับกุมตัวในจีน และได้เขียนจดหมายเล่าว่า จีนนั้นอ่อนแอมาก คนจีนนิสัยขี้ขลาด ไม่มีลักษณะของนักรบ หากโปรตุเกสจะพิชิตจีนคงทำได้โดยง่าย แต่ราชสำนักโปรตุเกสไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากการเดินทางจากโปรตุเกสมาจีนต้องอาศัยแรงลมตามฤดูกาลและใช้เวลานาน การเดินทางจากเมืองลิสบอนมาถึงมาเก๊าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี และต้องเผชิญพายุ การขาดแคลนอาหาร และโรคภัยจากเขตร้อน
ในด้านของสเปน ฟรานซิสโก เดอ ซานเด (Francisco de Sande) ผู้ว่าการมะนิลาของสเปน ก็เคยเสนอให้ราชสำนักสเปนใช้กองทัพเรือโจมตีจีน ด้วยเหตุผลว่าราชวงศ์หมิงนั้นอ่อนแอ แต่ราชสำนักพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ของสเปนตอบว่าควรรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนไว้ และไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนพวกโจรสลัดที่ต่อต้านจีน
ต่อมาเกิดมีกระแสใหม่เกิดขึ้น และนำไปสู่การเสนอแผนโจมตีเอเชียอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ.1580 (พ.ศ.2123) เมื่อราชบัลลังก์ของโปรตุเกสว่างลง พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ของสเปนจึงผนวกราชบัลลังก์โปรตุเกสรวมเข้าไว้กับราชบัลลังก์สเปนภายใต้ กษัตริย์องค์เดียว พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการประจำที่โปรตุเกส และเริ่มแนวคิดพิชิตเอเชียอีกครั้ง เนื่องจากขณะนั้นสเปนและโปรตุเกสเห็นว่าอาณาจักรของตนยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ฝ่ายทหารของอาณาจักรสเปนและโปรตุเกสประเมินว่าตนมีแสนยานุภาพมากพอที่จะ พิชิตโลกได้
ต่อมา จึงเกิดโครงการอันทะเยอทะยานที่จะขยายอำนาจในนามของกษัตริย์และพระเจ้า เพื่อขยายแสนยานุภาพของกษัตริย์ฟิลิป และนำคนเข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้ามากขึ้น ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าดินแดนสเปนและโปรตุเกส ซึ่งเป็นคาทอลิกนั้นเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์
ความฝันที่จะดำเนินการตามแบบตำนานพิชิตเม็กซิโกและเปรูของเฮอร์นาน คอร์เตส (Hernán Cortés) และฟรานซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) ซึ่งส่งผลให้อำนาจของสเปนแผ่ขยายไปทั่วอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยการใช้กองกำลังขนาดเล็กพิชิตอาณาจักรพื้นเมืองขนาดใหญ่อย่าง อินคา หรือแอซเทค นั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ในการพิชิตจีน สยาม พม่า และกัมพูชา
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอโครงการในลักษณะดังกล่าว คือ บาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู (João Ribeiro Gaio) ราชาคณะแห่งมะละกา ซึ่งมาประจำที่มะละการาว 20 ปี (ค.ศ.1581-1601) เขาได้ยื่นข้อเสนอต่อราชสำนักมาดริดของสเปนในปี ค.ศ.1584 (พ.ศ.2127) ว่าควรส่งกองทัพ 4,000 คนจากเมืองกัวมาพิชิตอาเจห์ จากนั้นก็เข้ายึดยะโฮร์และแตร์เน็ตทันที และเดินหน้าพิชิตสุมาตรา มลายา สยาม กัมพูชา อันนัม พม่า และโจมตีกวางตุ้งของจีน ซึ่งเขาเสนอว่า หากทำได้ สเปนจะเป็นอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์ ร่ำรวยมหาศาล และเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พระเจ้าฟิลิปจะเป็นจักรพรรดิสูงสุดของดินแดนทั้งหมดจากอินเดียถึงญี่ปุ่น เป็นดินแดนที่มีอัญมณีมาก มีของป่าและเครื่องเทศ โดยบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู เสนอว่าโครงการนี้บรรลุได้โดยใช้ทหารเพียง 6,000 คน
บาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู ให้เหตุผลว่า สยามในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชามีสภาพอ่อนแอมาก ทหารสยามยิงปืนไม่เป็น เมื่อเทียบกันแล้วปัตตานียังมีการป้องกันที่ดีกว่า คนสยามตัวเล็ก อ่อนแอ จิตใจขลาดเขลา ส่วนบ้านเรือนและกำแพงทำจากไม้ ดิน และอิฐ ไม่สามารถทานการบุกของสเปนและโปรตุเกสได้ แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีร่องน้ำลึกพอที่กองทัพเรือจะเข้ามาโจมตีโดยฉับพลัน และสามารถยึดสยามได้อย่างแน่นอน
ปีต่อมาใน ค.ศ.1585 (พ.ศ.2128) ลิเซนติเอท เบลชอร์ เดวาลอส (Licentiate Melchor Davalos) หัวหน้าผู้พิพากษาแห่งมะนิลา เสนอให้พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ใช้ปฏิบัติการทางทหารขับไล่ชาวมุสลิมออกจากชวา อาเจห์ บอร์เนียว มินดาเนา โมลุกกะ สยาม พะโค ปัตตานี และดินแดนอื่นๆ เช่นเดียวกับที่พระองค์เคยขับไล่มุสลิมในสเปนมาแล้ว
ในปีเดียวกัน มีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Hystoria dos cercos de Malaca (ประวัติศาสตร์มะละกา) ของจอเก ดี เลมุส (Jorge de Lemos) เสนอให้พิชิตอาเจห์ ถ้าทำสำเร็จจะทำให้ราชสำนักสเปนมีทรัพยากรมากพอที่จะฟื้นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมวล รวมทั้งยึดคืนเยรูซาเล็ม และจะเป็นก้าวแรกในการทำลายจักรวรรดิออตโตมาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมุสลิมลงได้
ปีต่อมาคือ ค.ศ.1586 (พ.ศ.2129) บาทหลวงอะลองโซ ซานเชส (Alonso Sánchez) หัวหน้าเยซูอิตประจำมะนิลาได้ทำการรณรงค์ให้สเปนเข้าพิชิตจีน โดยเสนอให้ใช้ทหาร 10,000 คนจากอเมริกาและอีก 10,000 คนจากยุโรป ก็จะสามารถบุกเข้าพิชิตจีนได้โดยง่าย และสามารถเปลี่ยนคนนอกศาสนาอย่างชาวจีนให้มาเป็นคริสเตียนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแผนการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการ ศาสนจักร และขุนนางที่มะนิลา และยังได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาบริหารมะนิลา แต่แผนการนี้ก็ไม่สำเร็จ
ค.ศ.1588 (พ.ศ.2131) บาทหลวงซานเชส มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าฟิลิปที่มาดริด และเสนอแผนการโดยตรงต่อพระองค์ แต่พระเจ้าฟิลิปไม่รับแผนการดังกล่าว แต่ตั้งซานเชสเป็นข้าหลวงต่างพระกรรณใน ค.ศ.1591 และซานเชสเสียชีวิตในปี ค.ศ.1593
ค.ศ.1593 (พ.ศ.2136) หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส (Luis Pérez Dasmariñas) รักษาการผู้ว่าราชการมะนิลา มีความสนใจอย่างมากที่จะพิชิตสยามและปัตตานี ได้เชิญบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู มาจัดทำแผนการพิชิตสยามอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป็นข้ออ้าง คือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสยามจากการที่พระนเรศวรประกาศแยกตัวเป็นอิสระ จากพม่าในปี ค.ศ.1585 (พ.ศ.2128) และรบชนะพม่าอย่างเด็ดขาดในปี ค.ศ.1592 ในสงครามกับพระมหาอุปราช สยามได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นมหาอำนาจในภาคพื้นทวีป และกลับมาเป็นศูนย์กลางอำนาจทางบกอันเกรียงไกรอีกครั้งหนึ่ง

ชัยชนะของพระนเรศวรต่อพม่า ทำให้ภาพของชาวสยามในสายตาบาทหลวงจาว ริเบยรุ กายู ที่เคยมองว่าสยามอ่อนแอได้เปลี่ยนไป เขามองว่าพระนเรศวรเป็นพวกต่อต้านพระเจ้า เป็นศัตรูสำคัญของชาวคริสต์ เนื่องจากพระนเรศวรสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง ก้าวร้าว และเหี้ยมโหด จึงเป็นหน้าที่ของพระเจ้าและกษัตริย์สเปนในการทำลายกองทัพพระนเรศวรให้ได้ เขายอมรับว่าการพิชิตสยามไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป กองทัพจากเมืองกัวไม่เพียงพอจะพิชิตเอเชีย จึงเสนอให้รวบรวมกำลังจากมะนิลา และร่วมมือกับพม่าและกัมพูชา เพื่อช่วยกันรบกับสยาม ซึ่งพม่ากับกัมพูชาต้องยินดีอย่างแน่นอนในการรบกับศัตรูของพระเจ้า ยิ่งไปกว่านั้น ชาวสยามเองก็เกลียดกลัวกษัตริย์ทรราช ดังนั้นเมื่อสเปนและโปรตุเกสจะมาปลดปล่อย ชาวสยามก็ย่อมร่วมมือ เพราะบาทหลวงจาว ประเมินว่าชาวสยามพร้อมจะรับใครก็ได้ที่ไม่ใช่พระนเรศวร เพราะฉะนั้น สเปนจะได้รับความร่วมมือจากทั้งชาวสยาม พม่า กัมพูชา ในการกำจัดพระนเรศวร และได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ สันติภายใต้พระเจ้า ซึ่งเป็นที่พึงปรารถนาของทุกคน
หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส สนับสนุนความคิดของบาทหลวงจาว และได้เตรียมการรวบรวมเงินทุนและกำลังพลที่มะนิลา เขาคิดว่าถ้ามีชาวสเปนที่กล้าหาญเป็นแกนกลางราว 1,000 คน และใช้กองกำลังคนพื้นเมืองฟิลิปปินส์เข้าช่วยเหลือ ก็เพียงพอจะปฏิบัติการได้โดยไม่ต้องอาศัยทหารจากสเปนหรือเม็กซิโก
ในช่วงเวลานั้น เกิดกรณีใหญ่ของเอเชีย คือ กรณีของบลาส รูส (Blas Ruiz) และคิอูกุ เวลูซุ (Diogo Veloso) ในปี ค.ศ.1596 (พ.ศ.2139) ดัสมาริยาส ส่งกำลังเรือรบ 3 ลำให้ไปช่วยยึดกัมพูชา แต่เหลือเรือรบเพียง 1 ลำที่ไปถึง อีก 2 ลำ ลำหนึ่งหายไปในทะเล ส่วนอีกลำหนึ่งไปปรากฏตัวอยู่ที่มะนิลา ปฏิบัติการครั้งนี้จึงล้มเหลว
กรณีของบลาส รูส ซึ่งเป็นชาวสเปน และเวลูซุ ชาวโปรตุเกส ทั้งสองเป็นทหารรับจ้างรับราชการกับพระสัตถา กษัตริย์ของกัมพูชา ในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พระสัตถาของกัมพูชาและพระนเรศวรของสยามกำลังจะทำ สงครามกัน บลาส รูส และเวลูซุ จึงอาสาพระสัตถาไปนำกำลังทหารจากมะนิลา เมื่อกลับมาถึงกัมพูชาปรากฏว่าอยู่ระหว่างพระนเรศวรกำลังตีเมืองละแวก บลาส รูส และเวลูซุ จึงถูกจับตัว แต่ก็หนีรอดมาได้ในที่สุด และติดตามพระสัตถาหนีไปเวียงจันทน์ ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าพระสัตถาหรือพระยาละแวกถูกจับตัดศีรษะเอาเลือดล้าง เท้าพระนเรศวรอย่างที่ว่ากัน
บลาส รูส และเวลูซุ มีบทบาทสำคัญมากในการนำและผลักดันพระโอรสของพระสัตถากลับมาเป็นกษัตริย์ของ กัมพูชา ชื่อว่าพระบรมราชาที่ 2 ครองเมืองละแวกในปี ค.ศ.1597 (พ.ศ.2140) บลาส รูส และเวลูซุ จึงมีอิทธิพลในราชสำนักกัมพูชาถึง 2 ปีโดยอาศัยอำนาจของบาทหลวงและทหารรับจ้างของโปรตุเกสเสปน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาในสมัยนั้น
หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส หมดวาระผู้ว่าการมะนิลาในปี ค.ศ.1596 แต่ยังพยายามเสนอโครงการพิชิตกัมพูชา จามปา สยาม กวางตุ้ง และจีนต่อไป โดยคาดหวังหากทำสำเร็จ จะได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าดินแดนดังกล่าว และเสนอว่าสเปนจะต้องยึดไต้หวัน เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของโตโยโตมิ ฮิเตโยชิ ผู้บัญชาการญี่ปุ่น และเพื่อใช้เป็นฐานในการพิชิตจีน
ในช่วง ค.ศ.1590 กว่าๆ นั้น เรื่องของฮิเตโยชิเป็นเรื่องใหญ่มาก ขณะนั้นดำรงตำแหน่งไดเมียวที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ฮิเตโยชิสร้างกองทัพเรือทำให้สเปนที่มะนิลาตกใจมาก และมีข่าวอยู่เสมอว่าฮิเตโยชิจะยกทัพมาตีมะนิลา ดัสมาริยาสจึงเสนอให้สเปนยึดไต้หวัน เพื่อป้องกันการรุกของฮิเตโยชิ และจะใช้ไต้หวันเป็นฐานในการพิชิตจีน
ในปี ค.ศ.1598 (พ.ศ.2141) ดัสมาริยาส และบาทหลวงดิอาโก อาดู อาร์เต ใช้เงินทุนของตนเองส่งเรือรบไปกัมพูชา เพื่อช่วยบลาส รูส และเวลูซุยึดกัมพูชาให้สำเร็จ โดยวางแผนว่าจะใช้กัมพูชาตีจามปา ปรากฏว่าเรือโดนพายุพัดไปกวางตุ้ง จนต้องสูญเสียเรือและทรัพย์สินไปจนหมด ฟรานซิสโก เทโย (Francisco Tello) ผู้ว่าการมะนิลา สั่งให้ดัสมาริยาสเดินทางกลับจากกวางตุ้ง โดยไม่พูดถึงความช่วยเหลือใดๆ
ขณะนั้น ที่กัมพูชาในปี ค.ศ.1599 ขุนนางพื้นเมืองได้อาศัยกำลังอาสาจามเข้าปราบปรามบลาส รูส และเวลูซุ บาทหลวงและทหารรับจ้างสเปนและโปรตุเกสถูกสังหารในที่สู้รบเป็นจำนวนมาก และสมเด็จพระบรมราชาก็ถูกปลงพระชนม์ด้วย สรุปว่าในปี ค.ศ.1599 แผนการยึดกัมพูชาล้มลง โดยขุนนางพื้นเมืองของกัมพูชาเป็นคนจัดการ
ต่อมา ค.ศ.1603 (พ.ศ.2146) หลุยส์ เปเรส ดัสมาริยาส นำกำลังจำนวนหนึ่งไปจีน โดยคิดว่ากองทัพจีนขี้ขลาด รบสู้เขาไม่ได้ ในที่สุด เขาก็เสียชีวิตขณะเข้าโจมตีเรือสำเภาจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือของเขามาก เป็นการจบชีวิตของผู้ผลักดันโครงการพิชิตเอเชียคนสำคัญคนหนึ่ง
โครงการที่จะพิชิตเอเชียยังไม่ยุติลง ในปี ค.ศ.1601 พระฟรานซิสกัน ชื่อมาร์เซโล เดอ ริบา เดเนียรา (Marcelo de Ribadeneira) พิมพ์หนังสือชื่อ ประวัติศาสตร์สเปนเอเชีย (Historia del Archipiélago y otros reynos) เขียนถึงนครวัดว่ากัมพูชาจะเป็นที่อีกแห่งหนึ่งในการเผยแพร่พระคริสต์นอก ฟิลิปปินส์ได้ ความใฝ่ฝันจะรื้อฟื้นจักรวรรดิในกัมพูชายังคงอยู่ และมีต่อมาเรื่อยๆ ในภายหลัง
เหตุผลที่โครงการทั้งหมดล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากราชสำนักพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ซึ่งพระองค์มีภาระในสงครามยุโรปจำนวนมาก ทั้งสงครามกับอังกฤษ การปฏิวัติของพวกเนเธอร์แลนด์ ความขัดแย้งที่มีกับกษัตริย์ฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่พร้อมจะคิดเรื่องเอเชีย
ในสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 3 เป็นสมัยที่ดัชท์ทวีอำนาจทางทะเลมากขึ้น ราชสำนักสเปนและโปรตุเกสมีความวิตกมากเกี่ยวกับอำนาจทางทะเลของดัชท์ใน เอเชียที่เพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งยังมีข้อมูลจากฝ่ายอื่นว่าการพิชิตกัมพูชาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพระนเรศวรแผ่อำนาจมาครอบงำกัมพูชา มาถึงตอนนี้คงเป็นที่ตระหนักพอสมควรว่าการทำสงครามเพื่อปราบพระนเรศวรไม่น่า จะง่าย
มีข้อมูลจากนักบวชเยซูอิตที่กลับมาจากการเผยแพร่ศาสนาในเอเชียยืนยันว่า การเปลี่ยนใจชาวพื้นเมืองในเอเชียให้มานับถือพระเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในกัมพูชา มิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาอยู่ 25 ปี แต่แทบไม่ประสบผลใดๆ เลย เช่นเดียวกับสยาม อาระกัน และจีน ก็ได้ผลน้อยมาก แทบไม่มีใครเข้ารีตเลย
ในที่สุด เปโดรบราโว เดอ อะคูญา (Pedro Bravo de Acuña) ผู้ว่าการมะนิลาในปี ค.ศ.1602 (พ.ศ.2145) ก็ไม่เห็นด้วยกับแผนการทั้งหมด และเสนอว่าการรักษาความมั่นคงของมะนิลาก็ยากลำบากอยู่แล้ว การขยายตัวจะยิ่งก่อปัญหายากลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้คัดค้านโครงการขยายดินแดนในเอเชียเป็นจำนวนมาก
ผู้คัดค้านโครงการคนสำคัญ คือ อันโตนิโอ เดอ มอร์กา (Antonio de Morga) ผู้ช่วยผู้ว่าการมะนิลา ปี ค.ศ.1595 ได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Sucesos de las Islas Filipinas ซึ่งเขียนอธิบายถึงเอเชียในช่วงเวลานั้น เขามองว่าโครงการเช่นนี้ไม่ฉลาด และสุ่มเสี่ยงเกินไปที่นำทหารออกไปจากมะนิลาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการที่มะนิลาจะถูกโจมตี เขาเห็นว่าควรเอาทหารจำนวนมากรักษามะนิลาดีกว่าเอาไปตีเมืองต่างๆ
ในฝ่ายของโปรตุเกส ก็มีเซบาสติอาว ดีซาว เปดรู (Sebastião de São Pedro) บาทหลวงหัวหน้าสำนักออกัสติเนียน ซึ่งอยู่ในเอเชียมานาน 29 ปี ยื่นหนังสือค้านโครงการของเคาน์แห่งไบเลน เขายืนยันว่าการโจมตีสยาม กัมพูชา จีน ล้วนแต่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น และการเผยแพร่ศาสนาก็ยากมาก โครงการเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะบรรลุได้เลย การที่สเปนกับโปรตุเกสจะผนึกกำลังกันโจมตีเอเชียนั้นเป็นเรื่องยาก
ยิ่งกว่านั้น สภาพปัญหาของมะละกายังยืนยันความยากในการเข้าพิชิตเอเชีย เมื่อโปรตุเกสยึดมะละกาไว้ได้แล้ว ในบรรดาสถานีการค้าในเอเชียของโปรตุเกส มะละกาเป็นสถานีการค้าที่ไม่มั่นคงมากที่สุด เนื่องจากถูกยะโฮร์และอาเจห์โจมตีอยู่เสมอ ทำให้โปรตุเกสต้องส่งกำลังมาเสริมอยู่เสมอเช่นกัน แต่โดยมากโปรตุเกสมีกองกำลังไม่ถึง 500 คน เพราะอัตราการเจ็บป่วยล้มตายสูงมาก และอัตราการหนีทัพก็สูงมาก ลำพังมะละกาจะป้องกันตัวเองยังลำบาก อย่าว่าจะเอากำลังไปตีที่นั่นที่นี่เลย ดังนั้นการเกณฑ์กำลังของโปรตุเกสจากมะละกาไปรบที่อื่นของเอเชียจึงไม่ใช่ เรื่องง่าย
ส่วนที่มะนิลา มีทหารสเปนมาประจำการอยู่ไม่ถึง 1,000 คน มีการสำรวจในปี ค.ศ.1584 มีกำลังทหารจากสเปนและเม็กซิโกประจำอยู่ในฟิลิปปินส์ทั้งหมด 713 คน และมีอาวุธใช้ไม่ครบทุกคน มักมีจดหมายร้องเรียนจากผู้ว่าการมะนิลาเสมอว่า กำลังที่มาจากเม็กซิโกเป็นเยาวชนที่ไม่ได้เรื่อง อ่อนแอ ไม่มีวินัย รบไม่เป็น ชอบขโมย และหนีทัพ รายงานของผู้ว่ามะนิลายังบอกด้วยว่า ให้ส่งนักรบที่แข็งแรงมาประจำที่ฟิลิปปินส์ ไม่ควรใช้เป็นสถานที่ลงโทษผู้กระทำผิด และเป็นที่เนรเทศของพวกเหลือ
เหตุผลประการต่อมาคือ สเปนให้ความสำคัญกับอเมริกาใต้มากกว่าเอเชียเสมอมาตั้งแต่ต้น ส่วนโปรตุเกสแต่เดิมให้ความสำคัญกับเอเชีย แต่ต่อมากลับให้ความสำคัญกับบราซิลมากขึ้น เพราะบราซิลเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ และมีการขยายตัวของการผลิตน้ำตาล
โปรตุเกสนำแรงงานทาสจากแอฟริกามาทำงานในบราซิลมากขึ้น เนื่องจากพบว่าแรงงานอินเดียนแดงทำงานไม่ทน ในปี ค.ศ.1600 (พ.ศ.2143) มีชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานในบราซิลราว 30,000 คน แต่มีทาสจำนวน 120,000 คน
การขยายดินแดนในบราซิลและอเมริกาใต้ ไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องทำสงครามกับเจ้าพื้นเมืองที่เข้มแข็ง และระยะทางไปบราซิลใกล้กว่ามาก การค้าจึงเพิ่มทวีมากกว่าทางเอเชีย ราชสำนักโปรตุเกสและสเปนจึงตัดสินใจค่อยๆ ทิ้งเอเชีย และต่อมาจึงเปิดทางให้ดัชท์เข้ามาในเอเชีย
ที่น่าแปลกคือกรณีของญี่ปุ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนพิชิตเอเชียของโปรตุเกสและสเปนมักไม่นับรวมญี่ปุ่น เข้าไว้ด้วย บาทหลวงมาร์ติน เดอ อะกิเร (Martin de Aguirre) เคยเสนอให้สเปนบุกยึดญี่ปุ่นอย่างที่เคยบุกยึดเม็กซิโก อะเล็กซานโดร บาลิยาโน (Alessandro Valignano) พระเยซูอิตที่เคยอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลานาน ยืนยันในปี ค.ศ.1579 ว่าการพิชิตญี่ปุ่นด้วยกำลังนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เนื่องจากซามูไรญี่ปุ่นมีความกล้าหาญในการรบเหนือกว่าชาวพื้นเมืองใน ฟิลิปปินส์หรือชาวอินคาอย่างมาก อีกทั้งผู้ปกครองญี่ปุ่นยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายในได้ ดังนั้นหากยึดได้ก็อาจปกครองไม่ได้ ที่สำคัญคือญี่ปุ่นยากจนมาก ไม่มีทรัพยากร
สรุปว่าพอจะเห็นภาพว่า สเปนและโปรตุเกสมีความใฝ่ฝันมากมายที่จะยึดเอเชียแต่ก็ไม่สำเร็จ ถ้าจะอธิบายแผนการทั้งหมด ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นความเพ้อฝันของนักจักรวรรดินิยมเสียทีเดียว ยังมีเหตุผลอื่นรองรับอยู่พอสมควร คือความบริสุทธิ์ใจทางศาสนา
ชาวสเปนและโปรตุเกสที่เคยรายรอบด้วยชาวคาทอลิก เมื่อมาอยู่ท่ามกลางคนนอกศาสนาจำนวนมาก ถ้าสามารถเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้มาเป็นคนของพระเจ้า จะได้บุญมากขนาดไหน การนำมนุษย์จำนวนมากมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง วิธีการคือต้องยึดอำนาจรัฐ เมื่อมีอำนาจรัฐก็สามารถเปลี่ยนคนจำนวนมากมานับถือศาสนาได้ เพราะฉะนั้น ความใฝ่ฝันนี้มีรากเหง้าจากความบริสุทธิ์ทางศาสนาอยู่ในแง่ที่ว่าอยาก เปลี่ยนคนเหล่านี้เป็นศาสนาคริสต์ อยากสร้างจักรวรรดิคริสต์ที่ยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ คือมีความเป็นนักผจญภัย ชาวโปรตุเกสและสเปนที่มาถึงเอเชียส่วนใหญ่เป็นคนจน โอกาสที่จะสร้างความร่ำรวยจากการผจญภัยในเอเชียมีมาก เนื่องจากเอเชียมีเครื่องเทศ อัญมณี ข้าว ของป่า
แผนการทั้งหมดล้มเหลวลงง่ายๆ เพราะการประเมินที่ผิดพลาด เพราะแสนยานุภาพของยุโรปในสมัยนั้นไม่ได้สูง การใช้เรือปืนมีข้อจำกัด ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องเข้าใจว่าชาวโปรตุเกสและสเปนที่เดินทางมามีความชำนาญในการเดินเรือ แต่การรบทางบกหากเจอพระเจ้าบุเรงนองหรือพระนเรศวรก็ไม่มีทางจะสู้กับกองทัพ ที่มีศักยภาพของเอเชียได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น