แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาก่อการร้าย ‘ชาวกัมพูชา’ เผา ธ.กรุงเทพ วันสลายชุมนุม

ที่มา ประชาไท




5 ก.พ. 56 เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุทธรณ์หมายเลขดำที่ 558/2555 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง เพชร แสงมณี (ชาวกัมพูชา) เป็นจำเลย กรณีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาก่อการร้าย แต่ลงโทษความผิดฐานอื่นรวมแล้วเป็นโทษจำคุก 6 ปี 6 เดือน และในวันนี้ (5 ก.พ.) ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
สำหรับรายละเอียดนั้นคดีนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชากับพวกซึ่งกำลังหลบหนีร่วมกัน ชุมนุม หรือมั่วสุมกันประมาณ 300 คนที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาพระโขนง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 16.00 น. และร่วมกันยุยงให้มีการทำลาย และวางเพลิงทรัพย์สินของธนาคารดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธทุบทำลายกระจกของอาคาร, ตู้ ATM และทรัพย์สินอื่นของธนาคารดังกล่าว และร่วมกันวางเพลิงธนาคารดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารได้รับความเสียหายเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญบังคับให้รัฐบาลประกาศยุบสภา อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข และยังสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอีกด้วย ตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมไฟแช็กก๊าซ, ผ้าชุบน้ำมัน, หน้ากากอนามัย และสติ๊กเกอร์ จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาต สิ้นสุดลง ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยในข้อหาก่อการร้าย แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ 6 ปี, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเวลา 4 เดือน และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดเป็นเวลา 4 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 เดือน รวมโทษจำคุก 6 ปี 6 เดือน
อัยการอุทธรณ์เฉพาะข้อหาก่อการร้าย จำเลยค้านคำอุทธรณ์ แต่ไม่อุทธรณ์ข้อหาอื่น ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยคดีเฉพาะข้อหาก่อการร้าย
ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือไม่  โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยกับพวกวางเพลิง ธ.กรุงเทพ สาขาพระโขนง เพื่อกดดันรัฐบาล โดยมีเจตนาเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชน อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โจทก์ระบุว่า 19 พ.ค. 53 เวลา 16.00 น. ตำรวจกำลังรักษาความปลอดภัยที่หน้า ธ.กรุงเทพ สาขากล้วยน้ำไท พบกลุ่มคนประมาณ 200 คนขับรถจักรยานยนต์ผ่านไป หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที ตำรวจได้รับแจ้งว่า มีคนร้ายวางเพลิงเผา ธ.กรุงเทพ สาขาพระโขนง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตำรวจจึงเดินทางไปที่เกิดเหตุพบคนร้าย 3-4 คน วิ่งออกมาจากธนาคารดังกล่าว จึงติดตามจับกุมจำเลยซึ่งอยู่ห่างจาก ที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร และพบไฟแช็กก๊าซ, ผ้าชุบน้ำมัน, หน้ากากอนามัย และสติ๊กเกอร์อยู่ในตัวของจำเลย ต่อมา DSI มีมติให้คดีนี้เป็นคดีพิเศษ โดย DSI เห็นว่า การกระทำนี้เป็นความผิดฐานก่อการร้าย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การวางเพลิงและทำลายทรัพย์สินของธนาคารจะเป็นความผิดฐานก่อการร้ายหรือไม่ นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของธนาคารแล้ว ยังต้องก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และยังจะต้องกระทำโดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญให้รัฐบาลกระทำ หรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอีกด้วย
แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นอกจากนี้บริเวณใกล้กับธนาคารดังกล่าวยังมีธนาคารอื่นตั้งอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยไม่ได้ทำลายธนาคารเหล่านั้นแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า จำเลยมุ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารดังกล่าวเท่านั้น แม้ธนาคารดังกล่าวจะเป็นสถาบันการเงิน แต่ก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก จึงไม่อาจอนุมานได้ว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
แม้ในขณะเกิดเหตุจะมีผู้ชุมนุม นปช. เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพื่อขู่เข็ญให้รัฐบาลประกาศยุบสภา หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า จำเลยได้ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย และไม่ปรากฏหลักฐานว่า กลุ่มคนที่ร่วมทำลาย และวางเพลิงธนาคารดังกล่าวเกี่ยวพันกับผู้ชุมนุม นปช. แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย
แม้จะมีพยานยืนยันว่า เห็นจำเลยพูดคุยกับกลุ่มคนดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้นำตัวพยานคนดังกล่าวมาให้การแต่อย่างใด พยานดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น ส่วนสติ๊กเกอร์ในตัวของจำเลยซึ่งมีข้อความว่า "สันติ อหิงสา หยุดฆ่าประชาชน" นั้น ก็ไม่ปรากฏว่า สติ๊กเกอร์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ นปช. และกลุ่มคนดังกล่าว อีกทั้งข้อความดังกล่าวก็ไม่มีความหมายอันบ่งชี้มุ่งหมายที่จะขู่เข็ญหรือ บังคับรัฐบาลแต่อย่างใด
ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในข้อหาก่อการร้ายนั้น ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ยุทรการ โสภัณนา ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษาในวันนี้ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่อยากร้องขอให้อัยการไม่ฎีกาในคดีนี้ เนื่องจากตนเองเชื่อว่า ในเร็วๆ นี้รัฐบาลจะมีการนิรโทษกรรมผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองทั้งหมด โดยเว้นไว้เฉพาะแกนนำของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมถึงอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตรองนายกฯ  สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำอันตรายต่อชีวิต หากอัยการฎีกาในข้อหาก่อการร้ายต่อไปจะทำให้จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการนิรโทษ กรรมในครั้งนี้
ศิริพันธ์ บุญนาจเสวี ทนายความตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากสถานทูตฯให้เข้ามาดูแลคดีนี้ ทั้งนี้ตนเองและสถานทูตฯอยากให้คดีนี้สิ้นสุดโดยเร็ว เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิในการแลกเปลี่ยนนักโทษ เพื่อไปรับโทษต่อในเรือนจำของกัมพูชา เช่นเดียวกับกรณีของ วีระ สมความคิด ที่กำลังจะได้รับสิทธิในการแลกเปลี่ยนนักโทษในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเข้าเงื่อนไขการถูกจำคุก 1 ใน 3 แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจำเลยว่า ประสงค์ที่จะเดินทางไปรับโทษต่อที่กัมพูชาหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น