แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 70 ปีคอมมิวนิสต์ไทย

ที่มา ประชาไท


ในประวัติที่เป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือว่า วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2485 คือวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถ้านับกันเช่นนี้ 1 ธันวาคม ปีนี้ก็จะเป็นปีครบรอบ 70 ปีของพรรค ความจริงต้องถือว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไทยนั้น สิ้นบทบาทในทางสังคมไปนานแล้ว แต่ในทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน ถือว่า ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจให้พูดถึงอยู่บ้าง
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นแบบลัทธิมาร์Œกซ์อยู่ที่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทางการเมืองที่นำเสนอทางเลือกใหม่ แก่สังคมไทยที่ชัดเจนที่สุดในระยะก่อนหน้านี้ เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมจารีตประเพณี ผู้คนโดยทั่วไปนั้นถูกครอบงำด้วยความคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด ภายใต้การครอบงำของระบบเจ้าศักดินาและวัฒนธรรมไพร่ฟ้า ทำให้สังคมไทยมีแนวโน้มต่อต้านสิ่งใหม่ และไม่ยอมรับแนวคิดทางการเมืองหรือเศรษฐกิจแบบอื่น
แต่แนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อให้เกิดความแตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ลัทธิมาร์Œกซในการวิเคราะห์และอธิบายสังคม ก่อให้เกิดพลังที่จะวิพากษ์สังคมไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยก็เป็นเช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ ทั่วโลก คือเป็นสังคมที่มีชนชั้น มีการกดขี่ และเอารัดเอาเปรียบ แนวทางลัทธิมาร์กซไม่เพียงแต่จะอธิบายถึงความไม่เป็นธรรรมของสังคมเท่านั้น ยังได้นำเสนอแนวการวิเคราะห์สังคมที่ว่า สังคมไทยนั้นเป็นแบบกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา และเสนอการวิเคราะห์การกดขี่และมอมเมาของชนชั้นศักดินาไทยอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังอธิบายกำเนิดและพัฒนาการของชนชั้นนายทุนไทย และกรรมกรไทยอีกด้วย การนำเสนอทฤษฎีวิพากษ์และวิเคราะห์สังคมไทยในลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นผลสะเทือนส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวแนวทางของพรรค ไม่ว่าจะเป็นแนวทางลัทธิมาร์กซ หรือที่โจมตีกันว่าเป็นแนวทางเหมาเจ๋อตงก็ตาม
นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ได้มีบทบาทอันก่อให้เกิดคุณูปการในประวัติศาสตร์ไม่ น้อย ตั้งแต่สมัยก่อตั้งพรรคที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นอย่างจริงจังและ เป็นรูปธรรม ต่อมาในสมัยกบฏสันติภาพ ก็เป็นพลังในการเคลื่อนไหวแนวทางวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของไทย ที่ตามอเมริกาอย่างไม่ลืมหูลืมตา และคัดค้านการใช้สงครามในการแก้ปัญหาเกาหลี จากนั้น ในสมัยเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นพลังฝ่ายค้านองค์กรเดียว ที่ต่อต้านเผด็จการมากที่สุด การออกวิทยุเสียงประชาชนเมื่อ พ.ศ.2505 ก็สร้างความเกรี้ยวกราดแก่ชนชั้นปกครองไทยอย่างมาก
จากนั้น ผลสะเทือนสำคัญก็คือ การเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวนาให้ลุกขึ้นสู้และจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชน จนก่อให้เกิดขบวนการจับอาวุธต่อต้านชนชั้นปกครองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์ไทย เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าจะมีการลุกขึ้นสู้ทั่วประเทศขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกบฏชาวนาในอดีต เช่นกบฏญานพิเชียร สมัยพระมหาธรรมราชา หรือ กบฏผู้มีบญภาคอิสาน สมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีลักษณะการจัดตั้งในท้องถิ่น และสลายอย่างรวดเร็วเมื่อมีการปราบปราม
ต่อมา หลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก็คือ การจัดตั้งขบวนการปัญญาชนปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเช่นกัน ได้มีการระดมทั้งนักศึกษา ปัญญาชนระดับกลาง และคนระดับล่างที่เป็นกรรมกร ชาวนา เข้าสู่องค์กรจัดตั้งมากมายมหาศาลนับแสนคน แม้แต่คณะราษฎร พ.ศ.2475 นั้น ก็จัดตั้งในหมู่ข้าราชการ คนที่มีการศึกษา และปริมาณก็น้อย เทียบไม่ได้เลยกับการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
แม้ว่าต่อมาหลัง พ.ศ.2525 กระแสของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยจะเสื่อมอิทธิพลลงอย่างมาก เพราะผลของสถานการณ์สากลและความขัดแย้งภายในขบวนการ แต่ก็ยังต้องถือว่า การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่ผ่านมาแล้ว ได้ส่งผลสะเทือนอย่างมากต่อความตื่นตัวของประชาชน และทำให้ชนชั้นปกครองไทยต้องปรับตัวไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น
แต่กระนั้น ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยมีรอยหัก เพราะหลังจากการเกิดขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร และการรัฐประหาร พ.ศ.2549 นำมาซึ่งการปรับตัวและการจัดขั้วทางการเมืองใหม่ เป็นฝ่ายที่สนับสนุนอำมาตยาธิปไตย และฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ส่วนที่เหลืออยู่ของอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ก็เกิดความแตกแยกภายในกลุ่มเช่นเดียวกัน ส่วนมากของอดีตพลพรรคกลับเข้าร่วมขบวนการเสื้อเหลืองที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลับสนับสนุนฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จนได้รับการขนานนามว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแบบชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ ขบวนการคอมมิวนิสต์พิทักษ์อำมาตย์ และพลพรรคส่วนนี้กลับรื้อฟื้นบทบาทการเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การเคลื่อนไหวปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ จนกระทั่ง การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและภาคีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มอดีตสหายเหล่านี้ ก็นำพลพรรคเข้าร่วมอย่างเปิดเผยเช่นกัน
คงต้องอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ยังแอบอ้างกองทัพประชาชนในขณะนี้ ได้สิ้นจากรากเหง้าของประวัติศาสตร์อันมีเกียรติของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยแล้ว คุณูปการของการเคลื่อนไหวของอดีตพลพรรคก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ก็เป็นส่วนที่จะต้องเคารพ แต่การเข้าร่วมกับขบวนการเสื้อเหลือง สนับสนุนฝ่ายอำมาตย์ และต่อต้านประชาธิปไตยในขณะนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
จึงเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่อดีตพลพรรคเหล่านี้ ได้ทำลายเกียรติประวัติการต่อสู้ในอดีตของตนเองลงเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้ออ้างใดก็ตาม

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่388 วันที่ 1 ธันวาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น