เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 ม.ค. 56) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี หมายเลขแดงที่ อ.5093/2554 กรณีนายคำหล้า ชมชื่น จำเลยในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นอาวุธปืนเล็กกล (M16) 2 กระบอก ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยเหตุเกิดในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าขวางรถบรรทุกของทหารที่จะเข้าพื้นที่บริเวณใกล้ ซอยหมอเหล็ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.54 ที่ผ่านมาให้จำเลยมีความผิดฐานปล้นอาวุธปืนราชการ และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 15 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี ทั้งนี้ จำเลยถูกจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.53 และถูกคุมขังเรื่อยมาจนปัจจุบัน
( อ่านรายละเอียดได้ที่ จำคุก 10 ปี เสื้อแดงปล้นปืนทหาร 2 กระบอก ระหว่างรุมขวางรถทหารปี 53 )
ศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระบุว่า คดีนี้มีปัญหาให้วินิจฉัยว่า ตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจในการทำคดีหรือฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่แขวงมักกะสัน ซึ่งเป็นท้องที่ของตำรวจนครบาลดินแดงมีอำนาจ ดังนั้นการทำคดี หรือฟ้องคดีนี้ของตำรวจนครบาลดินแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยร่วมกระทำหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยานของโจทก์ที่นำมาแสดงจะไม่แสดงใบหน้าของจำเลยอย่างชัดเจน แต่ภาพถ่าย และภาพข่าวจากสื่อมวลชนแสดงให้เห็นภาพของคนร้ายสวมหมวก ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อยอมรับสารภาพว่า เป็นจำเลยจริง
ศาลระบุด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทหารถูกทำร้าย และมีการแย่งชิงอาวุธ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ค้นพบปืนกระบอกดังกล่าวในวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีเลขทะเบียนตรงกับที่ทหารได้แจ้งหายไว้ นอกจากนี้การที่จำเลยยอมรับสารภาพ และพาเจ้าหน้าที่ไปชี้ที่เกิดเหตุ รวมทั้งการที่จำเลยอ้างว่า จำเลยลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้อ่านนั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น จำเลยอ้างว่า จำเลยทำงานที่สำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ ในวันที่เกิด และเวลาเหตุนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการทำงานนอกเวลาแต่อย่างใด ดังนั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น