แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

ชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ของฝากและของแถมถึงท่านอธิบดีศาลอาญา

ที่มา ประชาไท


คำพิพากษา คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ดี ต้องถูกต้องเป็นธรรม เป็นคำพิพากษา คำวินิจฉัย ที่เมื่อผู้อ่าน หรือผู้ฟัง ได้อ่านได้ฟังแล้วเข้าใจเหตุผล ปราศจากความสงสัยต่อการชี้ขาดความยุติธรรม ดังนั้น หากคำพิพากษา คำวินิจฉัยชี้ขาดใด เมื่อได้อ่านหรือได้ฟังแล้วขาดเหตุผลอันหนักแน่นมั่นคงมาเป็นคำอธิบาย สนับสนุนการชี้ขาด ผู้อ่านหรือผู้ฟังย่อมมีสิทธิตั้งคำถามได้ ถึงแม้คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยนั้นจะชอบด้วยกฏหมาย แต่อาจเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล[1]
สิทธิการตั้งคำถามและวิพากษ์คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล จึงควรเป็นสิทธิโดยชอบ ที่คู่ความหรือสาธารณชนมีสิทธิโต้แย้ง ถึงแม้กฏหมายละเมิดอำนาจศาลจะมีข้อกำหนด ห้ามการวิพากษ์ หรือกล่าวหาว่าศาลเป็นผู้มีอคติ[2] แต่ถ้าหากปรากฏว่า จากฐานะของศาล ความสัมพันธ์ของศาลระหว่างคู่ความ หรือถ้อยคำ หรือข้อความในคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยใด มีกรณีสงสัย ตีความให้เป็นคุณแก่ฝ่ายใด คู่ความย่อมมีสิทธิคัดค้าน[3] รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์ ฏีกา สาธารณชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์คัดค้านความเป็นกลางของศาลได้เช่นกัน
ดังนั้น การที่ท่านอธิบดีศาลอาญา ท่านทวี ประจวบลาภ กล่าวถึง ความประสงค์จะใช้กฏหมายละเมิดอำนาจศาล ออกหมายเรียกผู้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา กรณีศาลลงโทษคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตามความผิดประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ มาสอบถาม[4] หากกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา จะสันนิษฐานว่าการกล่าวถึงเพื่อเป็นการปกป้องศาลยุติธรรม หรือเพื่อเป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือคับแคบได้หรือไม่ และถ้าเป็นอย่างหลัง คำจัดกัดความ “ผู้ชื่นชอบอำนาจนิยม” ถือได้ว่า เป็นคำไม่หนักเกินจริงง
ในทางตรงข้าม หากท่านอธิบดีพิจารณาทบทวนถึงความเป็นมาของตัวบทกฏหมาย ฐานะของศาลในพระปรมาภิไธย กับฐานความผิด กระบวนการพิจารณาความอาญาที่ประพฤติปฏิบัติต่อคุณสมยศ รวมถึงเหตุผลที่ใช้ทำคำพิพากษา มีที่ใดบ้างที่บ่งบอกถึงหลักนิติธรรม คุณธรรม และจริยธรรมของกฏหมายมาตรานี้  คงไม่ต้องให้มีใครหน้าไหน นักวิชาการ นักกฏหมาย หรือชาวบ้านผู้หนึ่งผู้ใดแย้งว่า ระดับอธิบดีศาลอาญา ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า ทำไมนักวิชาการบางส่วน บางคน หรือในสายตาสาธารณะทั้งไทยและต่างประเทศ จึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ความผิดเพี้ยนของบทบาทของศาลไทยกับความผิดมาตรา๑๑๒ อย่างตรงไปตรงมา
ความน่าตำหนิการมีอยู่และการบังคับใช้ของกฏหมายมาตรานี้ คือความไม่สมประกอบ ความพิกลพิการของหตุผล บ่งบอกถึงการดื้อแพ่งต่อกฏของการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับถ้อยคำที่ต้องการ เพื่อเป็นการกลบเกลื่อนสร้างภาพการบังตาสมาชิกในสังคมให้สำคัญผิดต่อสาระ สำคัญของความเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย และระบอบการเมืองการปกครอง
การนำข้ออ้างว่า ประเทศไทยมีการปกครองเฉพาะไม่เหมือนประเทศอื่นใด มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนคุณูปการสำคัญของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งต้องเทิดทูนสักการะ ละเมิดไม่ได้ บทบัญญัติและโทษตามมาตรา๑๑๒ จึงไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่แย้งกับรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นขัดต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญป ๒๕๕๐  ของศาลรัฐธรรมนูญ[5] มาเป็นเหตุผลในการทำคำพิพากษา คำวินิจฉัย ทั้งในระดับศาลรัฐธรรมนูญ และในระดับศาลอาญา ยังมีความคลุมเครือ เป็นกรณีมีเหตุสมควรแก่การสงสัย เพราะข้ออ้างที่นำมากล่าวถึง เป็นการเลือกกล่าว ไม่ได้เป็นการกล่าวให้ครบถ้อยกระจ่างแจ้งโดยตลอดเนื้อความ
ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ บุคคลิคภาพของบุคคล สถาบัน หรือแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมต้องมีข้อดีและข้อเสีย ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวให้สุดถ้อยกระบวนความว่า บทบัญญัติมาตรา๑๑๒ เป็นบทบัญญติตราขึ้นจากคณะบุคคลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย[6] รวมถึงการได้อำนาจมาของตุลาการรัฐธรรมนูญคณะนี้ด้วย[7]  ผู้ที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบ จึงขาดคุณสมบัติใดๆ ที่จะชี้ว่า กฏหมายใดขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่ นอกจากนั้นโทษตามบทบัญญัติมาตรานี้ มีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง ศาลรัฐธรรมนูญเลือกกล่าวโดยไม่อธิบายให้ประชาชนเกิดความชัดเจนในบทบัญญัติ ดั้งเดิมใน ร.ศ.๑๑๘ ซึ่งเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราโทษปัจจุบัน จำคุกสามถึงสิบห้าปี[8]
ทำนองเดียวกัน การอ้างความไม่เหมือนประเทศอื่นใด ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ หรือพระราชกรณียกิจ จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่กฏหมาย ข้อดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้นำทางการปกครองยุคหนึ่งย่อมเป็นข้อดีที่รับฟังได้ แต่ข้อเสียที่บุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์หาประโยชน์จากข้าไพร่ เอาเงินเข้าพกเข้าห่อ ทะนุบำรุงลูกหลาน ข้าทาสบริวารเฉาะตัวให้เสวยความสุขสบาย ขณะที่ประชาชนในประเทศยากจนข้นแค้น ย่อมมีมูล เป็นหลักฐานรับฟังได้เช่นกัน หากมีการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ควรให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น[9] ผ่านกระบวนการพยานหลักฐาน ผ่านกระบวนการสิทธิเสรีภาพของการวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะ การข่มขู่ บังคับ ให้คนเชื่อแต่ข้อดี โดยปราศจากการชั่งน้ำหนักไตร่ตรองถึงข้อเสีย ถือว่ามิใช่วิสัยของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการสอนให้คนโกหก อยู่ในโลกของการสรรเสริญเยินยอ และถ้าศาลในฐานะผู้ผดุงความยุติธรรมเป็นผู้เริ่มต้น ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน
เว้นแต่เป็นไปโดยประการอื่น หากท่านอธิบดีศาลใจกว้าง จึงไม่มีเหตุใดที่ท่านควรตั้งข้อรังเกียจ การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา โดยเฉพาะคำพิพากษา คำวินิจฉัยที่ยืนอยู่บนบรรทัดฐานของความหมิ่นเหม่ของอคติสี่[10] ที่ท่านและบรรดาผู้ผู้พิพากษาตุลาการใช้เป็นบทปฐมในบรรลังกืที่ท่านกำลังชี้เป็นชี้ตายในชีวิตของผู้อื่น
มีบริบทใดบ้างที่ท่านอธิบดีศาลอาญาอธิบายได้บ้างว่า ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะ เมื่อเหตุพิพาทนั้นเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับบุคคลในสถาบัน พระมหากษัตริย์ เปิดดูคำพิพากษาฏีกาเรื่องไหน คำพิพากษาศาลชั้นต้นเรื่องใด มีอะไรบ้างที่ทำสาธารณะเข้าใจเป็นอื่นได้ต่อความถูกต้องเป็นกลางมีอยู่จริง จริงอยู่ โดยกฏหมาย แม้กฏหมายอาญา ความผิดตามมาตรา๑๑๒  เป็นความผิดระหว่างเอกชนต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดระหว่างเอกชนกับบุคคลในสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จะให้สาธารณะหรือบุคคลที่ต้องหาเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้กระทำในพระปรมาภิไธย ผู้ที่ได้รับตำแหน่งและการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เป็นผู้มาทำหน้าที่โดยปราศจากอคติลำเอียง เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม โดยสามัญสำนึกและเหตุผลธรรมดา ย่อมเป็นข้อขัดกันโดยธรรมชาติของเนื้อหาของเรื่องเอง เป็นเรื่องเชื่อถือและทำความเข้าใจได้ยาก
ถ้าแนวโน้มคำพิพากษาของศาลวางไปในแนวทางเดียวกัน กรณีมีข้อสงสัย ยกประโยชน์ให้โจทก์ (คดีอากง) การแสดงเจตนาเชิงสัญญลักษณ์เป็นความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาต มาดร้าย จึงเป็นการขยายหลักการและอำนาจการตีความกฏหมายอาญาและวิธีความพิจารณาความ อาญาที่เป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย (กรณีคุณวริศ ชูกล่อม และคุณสมยศ) การตีความเช่นนี้ เป็นการตีความที่ขัดต่อข้อสันนิษฐานว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย[11]  คำถามจึงมีอยู่ว่า ถ้าศาลวางตัวเอง และเข้าไปนั่งอยู่ในใจ บอกถึงเจตนาคลุมเครือภายในใจของจำเลยได้ สาธารณชนควรได้รับสิทธิโดยชอบหรือไม่ที่จะกล่าวถึงเจตนาของศาลกำลังทำเพื่อ ใคร
ในกรณีคุณสมยศ การดำเนินการกระบวนการชั้นพิจารณา นับแต่การไม่ให้ประกันตัว การสืบพยาน ที่นำตัวคุณสมยศใส่ท้ายรถตระเวนไปสืบศาลต่างจังหวัด เจตนาศาลคืออะไร จะให้แปลว่าอย่างไร จะให้แปลเป็นจารีตนครบาลยุคใหม่หรืออย่างไร
ผู้พิพากษาตุลาการ เป็นผู้ผ่านกระบวนการคัดเลือกสรรมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความรู้ ความเข้าใจตัวบทกฏหมาย การให้สันนิษฐานว่า ผู้พิพากษาตุลาการ ไม่รู้เห็นถึงความยากลำบากของจำเลย ผู้ถูกใส่ท้ายรถไปนำสืบตามต่างจังหวัดในกรณีคุณสมยศ เป็นเรื่องรับฟังได้นั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น
ตรงกันข้าม การกระทำที่ศาลปฏิบัติต่อคุณสมยศตลอดการพิจารณาความถึงขั้นมีคำพิพากษา จึงไม่อาจสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่า ศาลยุติธรรมไทยเชื่อถึงความมีอยู่ของมาตรานี้ว่า มีความชอบธรรม ถือเป็นความผิดร้ายแรง เป็นนโยบายทางอาญาที่ต้องกำหนดโทษรุนแรง เพื่อให้หราบจำ โดยเหตุนี้ ศาลจึงอาจเชื่อมาแต่แรกว่า คุณสมยศเป็นผู้กระทำความผิด
หากข้อสันนิษฐานข้างบนมีอยู่จริง ศาลยุติธรรมไทยกำลังบอกให้สาธารณะทั้งภายในและภายนอก ประจักษ์ในความเป็นแบบไทยๆว่า หมายความรวมถึง “การบีบบังคับ คุกคาม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในการพูด การเขียน การรวมกันเป็นหมู่เหล่า เพื่อธำรงไว้ต่อการต้องเคารพสักการะ กราบกรานผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าการกระทำของผู้นั้นจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถูกหลักนิติธรรม ถูกต้อง ชอบธรรม”
โดยเหตุที่ขัดในความเป็นเหตุเป็นผล สาธารณะจึงเข้าใจได้ถึงเจตนาของศาลยุติธรรมไทย เข้าใจได้ถึงฐานะของศาลกับฐานความผิดทางอาญา การทำคำวินิจฉัยพิพากษาผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นฝันร้ายของศาล เพราะเป็นความชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ชอบด้วยเหตุผล จากความผิดปกติของตัวบทกฏหมายเอง
ถึงวันนี้ ท่านอธิบดีศาลอาญาเข้าใจได้หรือไม่ว่า ทำไมคำพิพากษาของศาลอาญาในสังกัดของท่านจึงขาดความศักดืสิทธิ์ ทำไมสาธารณะจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในมาตรานี้ตรงไปตรงมา และทำไมสาธารณะจึงตั้งข้อสงสัยในเหตุผลที่ผู้พิพากษาในสังกัดของท่าน หรือแม้แต่ตัวท่านนำมาวินิจฉัยความผิด มีความสงสัยว่า ผู้พิพากษาในสังกัดของท่าน หรือแม้แต่ตัวท่านกำลังคิดและทำอะไรอยู่ต่อความผิดมาตรานี้
เลิกโทษคนอื่นได้แล้ว อย่าไปโกรธ อาฆาต มาดร้าย คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล องค์กรต่างชาติ หรือใครๆ การนำกฏหมายละเมิดอำนาจมาใช้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อท่านหรือศาลยุติธรรมไทย เพราะนอกจากจะทำให้ศาลยุติธรรมไทยถูกมองด้วยสายตาว่า เป็นผู้ลุแก่อำนาจแล้ว ยังอาจะถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เกะกะระราน ไม่เหมาะสมในฐานะองค์กรผู้บังคับใช้กฏหมายอีกด้วย
มีความเข้าใจผิด และสำคัญผิดว่า มีขบวนการล้มเจ้า แต่เท่าที่พบ เกิดข้อสังเกตว่า ไม่ปรากฏว่ามีใครต้องการล้มเจ้า แต่การให้เกียรติในเกียรติยศในฐานะประมุขของประเทศมีข้อต่างกัน
ในฝ่ายเรียกคืนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังคงต้องการให้คนเชื่อถึงอำนาจเหนือโลก เชื่อพระบุญญาธิการบารมี เป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ฝ่ายนี้ต้องการเรียกร้องคืนพระราชอำนาจ แม้พระราชดำริก็เป็นกฏหมาย
ในฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อในระบบ “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง” เชื่อในประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจ สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คำวินิจฉัย พระราชดำริ จึงไม่ใช่กฏหมายอีกต่อไป แต่รัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนที่มีหน้าที่กำหนดว่าอะไรเป็นกฏหมาย อะไรไม่เป็นกฏหมาย
บทความนี้แขียนขึ้นด้วยความรู้สีกเห็นใจ โดยเฉพาะผู้พิพากษาตุลาการ ที่ต้องนำตัวเองมาอยู่บนแอกของความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ตกเป็นเป้าทั้งนั้น จะเลือกเจ้าก็ต้องเขียนอย่าง จะเลือกประชาชนก็ต้องเขียนอีกอย่าง แต่ที่น่าเห็นใจมากที่สุดในบทความนี้ คือคุณสมยศ ที่ตกเป็นเหยื่อของความลุแก่อำนาจ
พระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาตุลาการ คุณวีรพัฒน์ คุณสมศักดิ์ คุณสมยศ ต่างก็เป็นคน ไม่ควรมีความต่างกันระหว่างความชอบด้วยกฏหมาย อาจแตกต่างกันได้ในความชอบด้วยเหตุผล แต่เหตุผลที่อยู่ร่วมกันต้องเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดต่อประโยชน์ของการอยู่ ร่วมกัน ไม่เฉพาะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว
ถ้าท่านอธิบดีพิจารณาด้วยสายตาเป็นธรรม ท่านจะเห็นบทบาทของศาลยุติธรรมในปัจจุบัน กับอนาคตของสังคมไทยที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะศาลต้องมีความเกี่ยวข้องกับความมีอยู่และการบังคับกฏหมายมาตรานี้ ศาลต้องตระหนัก แต่ละการปฏิบัติ แต่ละคำพิพากษาต่อผู้ถูกกล่าวตามความผิด ต้องไม่เป็นชนวน  หรือเป็นมูลเหตุนำไปสู่การเกิดวิกฤติ มิคสัญญี การนองเลือด จากความสำคัญผิดในสาระสำคัญของความเป็นชาติ
องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ควรเป็นความหวังให้ประชาชนพึ่งพาได้ จะให้เชื่อว่าองค์กรตุลาการในฐานะอำนาจหนึ่งในรัฐธรรมนูญ จะประมาณการไม่ได้ว่า ควรแก้ไข ปรับปรุงความมีอยู่และการบังคับใช้มาตรานี้อย่างไรหรือ เว้นแต่ว่า อุดมการณ์ขององค์กรตุลาการในวันนี้ เป็นอุดมการณืที่ขาดความเกี่ยวเนื่องและความผูกพันกับประชาชน




[1] ภาษิตกฏหมายโรมัน “ความสุจริตและความบริสุทธิ์ของผู้พิพากษาจะยกมาถกเถียงไม่ได้ แต่คำตัดสินของเขานั้นคู่ความอาจคัดค้านว่าผิดกฏหมายหรือข้อเท็จจริงได้” (de fide et officio judicie nou recipitur quaestio sed de scienta sive sit error juris sive facti), อ้างใน วิชา มหาคุณ, สำนวนโวหารในการเรียงคำพิพากษา และเหตุผลในการวินิจฉัยคดี, ศาลอุทธรณ์ และสำนักงานศาลยุติธรรม. หน้า ๓๕
[2] วธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๓๒
[3] คู่ความอาจคัดค้านผู้พิพากษาได้ตามประมวลกกหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๑
[4] มติชนออนไลท์ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖
[5] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕ “หลักการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จึงมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา ๘ ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุข ของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและ ศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง”
“ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยมีมาเป็นเวลา ช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย แม้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ก็ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ อันแสดงถึงความเคารพยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดของปวง ชนชาวไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏตามโบราณราชประเพณี และนิติประเพณี พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจอันเป็นที่เคารพรักของประชาชน ด้วยทรงปกครองโดยหลักทศพิธราชธรรม และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดประโยชน์ สุขแก่ประชาชน โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระประมุของค์ปัจจุบัน ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่าง ยิ่ง ทรงเยี่ยมเยียนประชาชน และพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทรงสอนให้ประชาชนดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินชีวิตในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงพระราชจริยวัตรและน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ จึงมีความเคารพศรัทธาและจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหา กษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น และด้วยคุณูปการของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาทำให้ประชาชนชาว ไทยเคารพรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของประเทศไทยที่ไม่มีประเทศใดเหมือน”
[6] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙
[7] ผู้เขียน: ข้อเปรียบเทียบ การได้พยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย, วิธีพิจารณาควาอาญามาตรา ๒๒๖/๑ วรรคหนึ่ง: “ลูกไม้เกิดจากต้นไม้พิษ”, ตุลาการรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีความเป็นมาจากผลพวงของคณะบุคคลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย (คมช) ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๐ บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยไม่ชอบ.
[8] จรัญ โฆษณานันท์, http://www.phachathai.com/journal/2009/03/204, “แต่ปัญหาของไทย คือความรุนแรงของโทษเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชกำหนดลักณะหมิ่นประมาท รศ.118 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อมามีกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 เพิ่มโทษเป็น 7 ปี กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2499 ไม่เกิน 7 ปี หลัง 6 ต.ค.2519 ปรับเพิ่มเป็น 3-15 ปี ตรงนี้สะท้อนความผิดปกติในตัวกฎหมาย โดยโทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่หนักกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราช ทั้งที่อยู่ในยุคที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปสู่สมัยอยุธยาที่ใช้กฎหมายตราสามดวง ในยุคความคิดแบบเทวราชา สมมุติเทวดาเริ่มทรงอิทธิพลมาก นอกจากนี้การที่โทษเพิ่มขึ้นยังสวนกระแสกับวิวัฒนาการของสังคม”
[9] ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๔
[10] หลักอินทภาษสี่ ตามหลักพระธรรมศาสตร์, ผู้พิพากษาตุลาการต้องดำรงค์ไว้ด้วยความเที่ยงธรรม ยุติธรรม ปราศจากความลำเอียงในอคติสี่, ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง และลำเอียงเพราะกลัว http.//www.museum.coj.go.th.malao.inp.pdf.
[11]รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐มาตรา๓๙ วรรคสอง วรรคสาม,  วิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๒๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น