26 มกราคม, 2013 - 00:50 | โดย yukti mukdawijitra
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ที่ว่า "รัฐไทย" โดยรวมเพราะองค์กรที่ข่มเหงให้คนรักประมุขของประเทศนี้ไม่ได้มีเพียงหน่วย งานของรัฐเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นองคาพยพด้านต่างๆ ของรัฐ อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คุมนักโทษ ตลอดจนนักการเมืองที่อาศัย ม.112 เพื่อกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง ไม่เลือกว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายใด
นักวิเคราะห์สังคมที่ยังก้าวทันโลกวิชาการปัจจุบันเย่อมเห็นพ้องกันว่า
อำนาจในการปกครองของสังคมที่ก้าวหน้าไม่ใช่อำนาจกีดกัน บังคับ กดทับ
(exclusion)
หากแต่เป็นอำนาจที่เปิดกว้างให้เกิดการยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนทาง
การเมือง (inclusion) ในสังคมที่ก้าวหน้าแล้ว
ย่อมไม่ปกครองด้วยอำนาจจากการทำให้ผู้คนเกรงกลัว
และที่ยิ่งจะต้องไม่ทำใหญ่คือ
การข่มขืนใจให้ประชาชนรักศูนย์รวมจิตใจของประเทศ ด้วยอำนาจที่เหี้ยมโหด
ป่าเถื่อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลปกติ
นักสังคมศาสตร์ทั่วไปรู้กันดีว่า ข้อเขียนจากคุกของอันโทนิโอ กรัมชี่
(Antonio Gramsci 1891-1937) เสนอว่า การปกครองนั้นอาศัยเครื่องมือสองด้าน
คือการข่มเหงประชาชนด้วยกำลังด้านหนึ่ง
กับการยินยอมพร้อมใจของประชาชนด้วยตนเองอีกด้านหนึ่ง
สำหรับสังคมในศตวรรษที่ 20
กรัมชี่เห็นว่าอำนาจลักษณะหลังต่างหากที่ทำงานอยู่
ส่วนอำนาจลักษณะแรกแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว
ส่วนนักประวัติศาสตร์แนววิพากษ์สังคมอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel
Foucault 1926-1984) เห็นว่า
การปกครองที่แยบยลที่สุดก็คือการปกครองที่ผู้คนยินยอมพร้อมใจจนกระทั่งไม่
รู้สึกถึงการถูกปกครองอยู่
อำนาจที่แยบยลคืออำนาจที่คนไม่รู้สึกถึงการใช้อำนาจ
ต่างจากอำนาจในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ยังป่าเถื่อน
ต้องมีการประหัตประหารอย่างโหดเหี้ยม ต้องแสดงความรุนแรงของบทลงโทษ
ต้องประจานความผิด ต้องบังคับข่มเหง
หากแต่ผู้มีอำนาจในรัฐไทยกลับไม่เข้าใจ ใจแคบ ใช้อำนาจแบบดิบเถื่อน
โหดเหี้ยม จึงทำให้สังคมไทยตลอดจนประชาคมโลกมองว่า
ขณะนี้รัฐไทยมุ่งปกป้องเกียรติยศของประมุข
เหนือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"คดีหมิ่นฯ" ที่ผ่านมา
ไม่ได้มีความใกล้เคียงแต่ประการใดกับการที่ผู้ต้องหาสามารถที่จะประทุษร้าย
พระประมุขได้ หากแต่เป็นเพียงคดีที่สงสัยในความผิดอันเนื่องมาจาก "คำพูด"
"ข้อความ" หรือ "ท่าทาง" ดูหมิ่น หมิ่นประมาท
อาฆาตมาตรร้ายพระประมุขเท่านั้น
ทว่าผู้ต้องหาล้วนเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีและได้รับการตัดสินลงโทษอย่าง
โหดเหี้ยม ผิดจากมาตรฐานของนานาอารยะประเทศในปัจจุบัน รัฐไทยจึงดูล้าหลัง
ป่าเถื่อนกว่านานาอารยะประเทศ
ในรัฐประชาธิปไตย
จะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่น้อยไปกว่าความมั่นคงของรัฐ
สิทธิในการได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี
สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะ
พิสูจน์ด้วยหลักฐานได้ว่าผิด จะต้องได้รับการคุ้มครอง
แต่ดูเหมือนในการดำเนินคดีตามมาตรา 112
รัฐไทยเลือกที่จะละเลยการเคารพสิทธิเหล่านั้่น
จนถึงกับอาจจะละเมิดสิทธินั้น เพียงเพื่อปกป้องไม่ให้ใครใช้ "คำพูด"
หมิ่นประมุขของรัฐ
ยิ่งว่านั้น ในบางกรณีชวนให้สงสัยว่า รัฐไทยไม่ได้ใช้หลักเหตุผลปกติ
แต่กลับบิดเบือนหลักเหตุผลเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ให้ได้
ดังเช่นที่บางครั้ง
เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ถ้อยคำสบประมาทประชาชนที่ถูกดำเนินคดี
แสดงทัศนะราวกับตัดสินผู้ต้องหาล่วงหน้าก่อนแล้ว ชวนให้ประชาชนสงสัยว่า
หรือแม้กระทั่งว่าหากใช้เหตุผลแบบปกติแล้ว หลักฐาน พยานต่างๆ
ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้ "คำพูด" นั้นๆ เองหรือไม่
ดังเช่นการทำให้ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องลงมือเขียนข้อความด้วย
ตนเองหรือไม่ กลับกลายเป็นผู้กระทำผิดไป เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่า
คนผิดย่อมปิดบังความผิดของตนเอง
หรือหากรู้ทั้งรู้ว่าผู้นั้นไม่ใช่ผู้กระทำผิดเองโดยตรง
เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังหาทางสร้างเงื่อนไขให้ความผิดครอบคลุมไปถึงผู้ต้องหา
เพื่อทำให้เขากลายเป็นผู้กระทำผิดไปได้
ดังเช่นการทำให้พนักงานคนหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่อาจไม่รู้เห็นกับการตีพิมพ์
ข้อความหมิ่นฯ ด้วยตนเองด้วยซ้ำ ต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดไป
อันที่จริงหากผู้มีอำนาจสำเหนียกต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้
จริง เฝ้าสังเกตประชาชนอย่างใกล้ชิดอย่างแท้จริง ก็ย่อมทราบดีว่า
ในปัจจุบัน
แม้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะแผ่อิทธิพลกว้างขวางและเริ่มฝังลึกจนกลายเป็น
ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมไทย
แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จงเกลียดจงชังองค์พระประมุขของประเทศแต่
อย่างใด หากแต่การเติบโตของ "คดีหมิ่น"
เกิดขึ้นจากงื่อนไขเฉพาะทางการเมืองในปัจจุบัน
ไม่ต้องกล่าวย้ำกันอีกมากมายก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "คดีหมิ่น"
ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพียงในระยะที่มีความขัดแย้งทางการ
เมืองในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง
และยิ่งเพ่ิมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดเหตุรุนแรง
มีการสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตเกือบร้อยคน มีคนบาดเจ็บร่วมสองพันคน
และมีคนถูกจับกุมคุมขังกลายเป็นนักโทษการเมืองอีกนับพันคน เมื่อปี 2553
ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในขนาด
ความกว้างขวาง และครอบคลุมแทบทุกอนูขงสังคมไทยมากเท่านี้มาก่อน
พูดง่ายๆ คือ คดีม.112 เติบโตขึ้นในภาวะทางสังคมที่ไม่ปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
นัยหนึ่ง เป็นผลมาจากการใช้กฎหมายนี้เพื่ือกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง
ข้อนี้เห็นได้ไม่ยากจากการที่ ศอฉ. กุเรื่อง "ผังล้มเจ้า" ขึ้นมา
จนในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้กลับออกมายอมรับเองว่า
ผังล้มเจ้าเป็นเรื่องที่กุกันขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับใดๆ
ทั้งสิ้น
แต่อีกนัยหนึ่ง
เกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนที่มีต่อความไม่ยุติธรรมของระบบการเมือง
ไทย เป็นปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร
ต่อการใช้กำลังทหารยึดอำนาจด้วยการสนับสนุนทางการเมืองของมวลชนคนกลุ่มน้อย
ซึ่งแพ้เลือกตั้ง
คนทั่วไปอึดอัดกับการที่พวกกบฎสามารถกลายเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ
ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างลอยนวล
คนทั่วไปอึกอัดกับการที่ไม่มีใครสามารถทัดทานพวกกบฏได้
และจึงมีประชาชนจำนวนมากต้องการส่งเสียงสะท้อนให้พระประมุขเข้าใจถึงความอึด
อัดคับข้องใจของตน
อีกนัยหนึ่ง ในภาวะของความรุนแรงทางการเมือง ภาวะทรราช
คนทั่วไปคาดหวังต่อบทบาทของพระประมุข
ว่าจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้คนจากรัฐบาลที่กลายเป็นทรราชไล่ฆ่าประชาชนกลาง
ถนนได้ ดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา
และในความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้ ประชาชนก็คาดหวังเช่นนั้น
ปฏิกิริยาที่ประชาชนมีต่อพระประมุข
จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนเพื่อให้พระประมุขได้ยิน
เราๆ ท่านๆ ย่อมรู้กันดีอยู่่แก่ใจว่า
ความเสื่อมหรือเจริญขึ้นของประมุขของรัฐใด ไม่ได้อยู่ที่ "คำพูด" หรือ
"ข้อความ" หรือ "ท่าทางบอกใบ้" ใดๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น
ประมุขของรัฐทั่วโลกคงดิ้นพล่านไปมา นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กระสับกระส่าย
อยู่ทุกๆ วินาที เพราะประมุขของรัฐใดก็ตามย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์
ถูกนินทาว่าร้าย อยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะปรากฏในที่สาธารณะหรือเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มากแค่ไหนก็ตาม
เนื่องจากประมุขของรัฐเป็นบุคคลสาธารณะ
เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสารทุกข์สุขดิบของประชาชนทั่วไป
วิญญูชนย่อมทราบดีว่า
ลำพังประชาชนเพียงหยิบมือไม่มีทางที่จะทำลายเกียรติยศของประมุขประเทศใดได้
และลำพังคำพูด ท่าทางบอกใบ้ ข้อความ
ไม่สามารถทำลายเกียรติยศของประมุขรัฐใดในโลกนี้ได้
หากแต่ผู้มีอำนาจควรพยายามทำความเข้าใจว่า
ปฏิกิริยาเหล่านั้นสะท้อนอะไรในประชาคมการเมืองนั้นๆ กันแน่
แต่หากพวกท่านไม่เข้าใจ คนทั่วโลกเขาก็ตั้งข้อสงสัยได้เช่นกันว่า
แล้วการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจะสามารถทำให้ผู้คนรักประมุขอย่างสนิทใจได้อย่าง
ไร หากประชาคมทางการเมืองใดจะมีประชาชนไม่รักประมุขของรัฐหนึ่งสักเพียงหยิบ
มือหนึ่ง เราจะต้องข่มเหงพวกเขาเพียงหยิบมือหนึ่งนั้นอย่างเหี้ยมโหด
เพื่อขืนให้เขาฝืนใจหันหน้ามารักประมุขให้ได้ อย่างนั้นหรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น