แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

อินทภาษ : คำเตือนโบราณถึงศาล (ยุติ) ธรรม กับความย้อนแย้ง

ที่มา ประชาไท


เกริ่นนำ

ลักษณะอินทภาษเป็นคำเตือนโบราณให้ รักษาความยุติธรรม มิฉะนั้นจะถูกกรรมตามสนอง ซึ่งคำเตือนนี้เป็นมรดกตกทอดจากประมวลกฎหมายที่ตราโดยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะอินทภาษที่ว่ามิได้ถูกยกเลิกเหมือนลักษณะอื่นๆ ในประมวลกฎหมายตราสามดวง [1] มากไปกว่านั้น ลักษณะอินทภาษดังกล่าว ยังเคยถูกอ้างถึงในคดีสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยประชาธิปไตยอีก ด้วย [2] จึงกล่าวได้ว่า ลักษณะอินทภาษเป็นชุดคำอธิบายหนึ่งที่สะท้อนญาณวิทยาแบบไทยที่น่าวิเคราะห์ อภิปราย แน่นอนที่สุด น่าเชื่อว่า ลักษณะอินทภาษยังคงมีความเข้มขลังมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผลกรรมที่ลักษณะอินทภาษได้สาปแช่งไว้ ว่าจะเกิดอะไรกับตุลาการที่ไร้ความเป็นธรรมบ้าง อาจบรรเทาทุกข์ปวงประชาที่สูญเสียความเชื่อมั่นต่อตุลาการได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุด ก็อาจจะกระทบกระเทือนต่อมโนธรรมแบบไทยที่ยำเกรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นได้
เนื้อหา

ลักษณะอินทภาษ สถาปนาความชอบธรรมของตนด้วยการอ้างถึงพระอินทร์ เทพเจ้าผู้ได้ชื่อว่าเป็นประมุขแห่งเหล่าเทวดา (ตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร) และมีความหมายระบุไว้ชัดเจนว่า
                สมเด็จอำมรินทราธิราช เมื่อจะตรัสสำแดงซึ่งธรรมนั้น เป็นฝ่ายข้างทุจริตแห่งบุคคล อันเป็นไปตามอะคติให้พิสดารยิ่งขึ้นไป จึงตรัสว่า ดูกร มาณพ
            ---------อันว่าบุคคลอันไปตามฉันทาคตินั้น คือ พิจารณาความถึงซึ่งอำนาจแห่งโลก เห็นแก่ลาภโลกามิศ  ยินดีในสินจ้างสินบนเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย เป็นเหตุจะได้ซึ่งวิญญาณกะทรัพย์ แล อะวิญญาณกะทรัพย์ ถ้าผู้ต้องคดีฝ่ายใดบลบานให้ทรัพย์แก่ตนแล้ว ถึงคดีผู้นั้นจะแพ้ก็ไม่ละอายแก่บาป เบือนหน้าเสียจากสุจริตธรรม กดขี่ผู้ที่ไม่บลนั้นกลับ เอาคดีอันชนะเป็นแพ้ เอาแพ้เป็นชนะ มิได้เป็นไปตามธรรมสาตรราชสาตร ดังนี้ ชื่อว่าไปตามฉันทาคติ ตั้งอยู่ในอะคติเป็นปถม---------
                ---------แลประพฤติโดยโทสาคตินั้น คือ บุคคลมากได้ด้วยความโกรธ พิจารณาความฟุ้งซ่านไปโดยอำนาจโทโสอันมีลักษณะอันร้าย ถ้าผู้ต้องคดีผู้ใดเป็นคนผิดกับตนในก่อนแล้ว ถึงมาทว่า ผู้นั้นจะชนะ ก็กดขี่ให้พ่ายแพ้ด้วยกำลังพยาบาทจองเวร มิได้คิดละอายเกลียดกลัวแต่บาป ละเสียซึ่งโบราณราชนิติสาตร อันเป็นบรรทัดถานทำได้ด้วยสามารถแห่งโทสะจิตร ดังนี้ได้ชื่อว่า ตั้งอยู่ในโทสาคติ ประพฤติตามอะคติเป็นคำรบสอง---------
            ---------แลบุคคลอันถึงซึ่งภะยาคตินั้น คือ พิจารณาความมีจิตรอันหวาดไหวแก่ไภยความกลัวฝ่ายโจทก์จำเลย ถ้าผู้ต้องคดีผู้ใดเป็นคนอธิบดีมียศถาศักดิ์ แลคนมีวิทยาคมกำลังกาย แลมีฝีมือกล้า แล้วก็เข็ดขามคร้ามกลัว ถึงมาทว่าคดี ผู้นั้นจะแพ้กดขี่ผู้น้อยนายศักดิ์ แลผู้หาวิทยาคมกำลังกายมิได้ ซึ่งมีคดีควรชนะนั้นกลับให้ อัปประภาคพ่ายแพ้แก่ผู้มียศศักดิ์ มิได้ดำเนินโดยธรรมสาตรราชสาตร  อันเป็นหลักทำด้วยสามารถความสดุ้งกลัว ดังนี้ชื่อว่าประพฤติตามภยะคติ ตั้งอยู่ในอะคติเป็นคำรบสาม---------
            ---------แลบุคคลอันถึงซึ่งโมหาคตินั้น คือพิจารณาความมีโมหะหลงเสมอเป็นเบื้องหน้า มีแต่มืดโมหันธการครอบงำโดยรอบคอบ มิได้รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นบาปบุญคุณโทษ สิ่งนี้เป็นประโยชน์แลใช่ประโยชน์ทั้งธรรมสาตร ราชสารทแลราชนิติคดีก็มิได้รอบรู้ เมื่อพิพากษานั้นผู้ใดจะแพ้ผู้ใดจะชนะก็มีได้รู้ บัญชาไปตามอำนาจโมหะคืออวิชา แล้วแพ้เป็นชนะกลับเอาชนะเป็นแพ้ จะเห็นแก่ทรัพย์สินจ้าง แลกลัวเกรงโกรธผู้ใดก็หามิได้ ก็กระทำด้วยกำลังหลง ดังนี้ชื่อว่า ประพฤติตามโมหาคติ ตั้งอยู่ในอะคติธรรมเป็นคำรบสี่---------

ธรรม ที่กล่าวมานี้ชื่อ กัณหะธรรม มิควรอันบุคคลสะอาดจะพึงถึง ถ้าผู้ใดเสพย์สันนิจยาการประพฤติเนืองๆแล้ว เมื่อตัสสะโลหิยะติ อันว่า อิศริยศ แลบริวารยศ แห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเสื่อมสูญไป ประดุจดังพระจันทร์เมื่อวันกาฬปักษ์ แลผู้นั้นครั้นดับชีวิตนทรีแล้ว ก็จะไปเสวยเวทนาสาหัส อยู่ในอบายภูมิอันหาโอกาสแห่งความสุขมิได้ [3]


และในงานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายตราสามดวงของไทยและที่ปรากฏอ้างในวารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์ ยังกล่าวสำทับไว้อีกชั้นว่า “โทษ ของการละเมินคำสอนนั้นเป็นโทษหนักไถ่ถอนไม่ได้ แม้ได้เป็นกษัตริย์ ทำบุญบำเพ็ญทานต่างๆเท่าไร ก็ไม่สามารถกลบลบกองกรรมนี้ได้ บาปหนักยิ่งกว่าการฆ่าสตรีที่หาความผิดไม่ได้พันคน หรือฆ่าพราหมณ์อันทรงพรตพรหมจรรย์นับร้อย” [4][5] จะเห็นได้ว่า โทษที่เกิดจากการประพฤติผิดตามลักษณะอินทภาษเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มีความร้ายแรงมาก เนื่องจากเป็นการผิดต่อกฎเกณฑ์ในระดับเหนือธรรมชาติ (คำสอนของพระอินทร์) ถึงแม้การเปรียบเทียบเกี่ยวกับผู้หญิงหรือนักบวชจะใช้ตรรกะวิบัติก็ตาม อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เชื่อในลักษณะอินทภาษเน้น คือ หายนะจะบังเกิดขึ้นราวกับเหนือธรรมชาติแก่ตุลาการผู้ประพฤติผิดตามลักษณะอิน ทภาษ แก่ตุลาการผู้มัวเมาในกัณหะธรรม เป็นเหมือนคำสาปแช่งภาษาชาวบ้านว่า “ฟ้าดินจะลงโทษ”

แต่ความย้อนแย้งในศตวรรษที่ 21 กลับปรากฏขึ้น เพราะเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า ทั้งที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทยยังมีความหวาดกลัว หรือ ยำเกรงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากถึงเพียงนี้ แต่กลับปล่อยให้มีเสียงครหาถึง “ความยุติธรรม” ซึ่งเกี่ยวโยงกับคำเตือนของบรรดาตุลากรแต่โบราณกาลที่ตั้งไว้ แบบนี้จะกล่าวได้หรือไม่ว่า “ลักษณะอินทภาษ” อาจถูกมองข้ามและละเลยไปเสียแล้ว นั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจในสังคมไทยอาจไม่เชื่ออะไรเหนือธรรมชาติตามญาณวิทยาแบบไทยก็เป็น ได้? และนั่นหมายความหรือเปล่าว่า พฤติกรรมทางความเชื่อ เป็นต้น การบวงสรวง การบูชาต่างๆ เป็นเพียงการเล่นละครให้ดูชอบธรรม ตามลักษณะที่อาจถูกเรียกว่า “มือถือสาก ปากถือศีล”?
สรุป
“ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เป็นประโยคติดปากที่มักพูดกันทั่วไปในสังคม ซึ่งบางความเชื่อเป็นต้นว่า ความเชื่อเรื่องคำสอนของพระอินทร์ (อินทภาษ) หากถูกลบหลู่ด้วยการมีพฤติกรรมขัดแย้งกับลักษณะที่ระบุไว้แล้ว? จะเกิดภัยพิบัติเหนือธรรมชาติตามที่คำเตือนโบราณนี้สาปแช่งไว้หรือไม่? ซึ่งโทษของการละเมิดนี้ เป็นโทษหนักไถ่ถอนไม่ได้ ทำบุญบำเพ็ญทานต่างๆเท่าไร ก็ไม่สามารถกลบลบกองกรรมนี้ได้  ฉะนั้น “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”  พี่น้องชาวไทย
อ้างอิง
[1] ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 เล่ม 1 น. 46-47
[2] คำตัดสินใหม่ กรณี สวรรคต ร.8 (กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์,2533) น. 162
[3] ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 เล่ม 1 น. 46-47
[4] วินัย พงศ์ศรีเพียรและคณะ กฎหมายตราสามดวง : แว่นส่องสังคมไทย ; ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ลำดับที่ 1กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [ผู้จัดจำหน่าย], 2547-
[5] นิติธร วงศ์ยืน. วารสารศาลยุติธรรมปริทัศน์ 2, 2 (ธ.ค.2550-ม.ค.2551) 95-121. ข้าราชการตุลาการกับการสนองตอบทศพิธราชธรรมตามรอยพระยุคลบาท.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น