ต่อไปนี้เวลาฟ้องหนังสือพิมพ์ให้รับผิดไม่ต้องใช้คำว่า “บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” แต่ให้ใช้คำว่า “ด้วยการพิมพ์” แทน
อันเนื่องจากคำพิพากษานายสมยศให้มีความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการจัด พิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งได้ทำลายบรรทัดฐานของศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษาโดยศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ในคดีความระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ บริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดยมีรายละเอียดตามเนื้อข่าวของสำนักข่าว innnews และที่ปรากฏตามข่าวทั่วไปว่า:
ศาลอาญากรุงเทพใต้ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท
แมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์
บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2
ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 29 - 30 พ.ค. 2544
นสพ.ผู้จัดการรายวัน
ลงตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาการดำเนินรายการทางสถานีวิทยุคลื่น FM 99.5 ของ
นายพายัพ วนาสุวรรณ ในทำนองว่า ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
นำที่ดินของครอบครัวไปจำนองกับธนาคารมหานคร เพื่อออกตั๋วแลกเงิน
ก่อนนำไปขายต่อให้ ธนาคารกรุงไทยเพื่อกินส่วนต่างมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2550 ว่า
จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริงตามฟ้องให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4
หมื่นบาท และได้ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน และปรับ 4 หมื่นบาท
โทษจำคุก ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุม
ปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ได้มีบังคับใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
ซึ่งตามมาตรา 3 ได้ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ อีกทั้ง
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ
ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ใน
หนังสือพิมพ์ ที่ตนเป็นบรรณาธิการ
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
“พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ” ในเนื้อข่าวดังกล่าว หมายถึง พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งมีบัญญัติไว้ในส่วนที่ 4 ความผิดและบทกำหนดโทษ มาตรา 47 และมาตรา 48 ว่า
มาตรา 47 เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติใน
มาตรา 54 และ มาตรา 60 ให้
สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ใดครอบครองเครื่องพิมพ์อยู่
ผู้นั้นเป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณา
มาตรา 48 เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้
ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์
ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ
ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้
พิมพ์เป็นตัวการ
ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย
มาตรา 49
ในกรณีที่นิติบุคคลได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือ กระทำความผิดใด ๆ
ด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์
ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับผิดด้วยเท่าที่ตนได้กระทำ
ในคดีความระหว่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการดังกล่าว ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจาก
ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 3
ได้ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 อีกทั้ง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550
ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์
ที่ตนเป็นบรรณาธิการ “การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด”คำว่า “การกระทำของจำเลย” นี้หมายความว่าอะไร?
การกระทำของจำเลยในที่นี้ซึ่งก็คือ บริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ก็คือ “การจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่” หนังสือพิมพ์ฉบับที่มีข้อความหมิ่นประมาทนั่นเอง
เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จุดมุ่งหมายของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นี้ มีใจความสำคัญก็คือ ให้ถือว่า “การจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่” หนังสือพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาทนั้น ไม่ใช่การกระทำผิดอีกต่อไป เพราะได้มีการยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ไปแล้ว
และเนื้อความแห่ง พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 นั้น ก็ระบุชัดไปที่ “พฤติการณ์” ไม่ใช่ตำแหน่ง กล่าวคือมุ่งเน้นย้ำไปที่พฤติการณ์ของการกระทำว่า “เป็นเจ้าของ เป็นผู้พิมพ์ ผู้จัดจำหน่ายเผยแพร่” หรือไม่ ดังที่ระบุในมาตรา 47 ว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ใดครอบครองเครื่องพิมพ์ ผู้นั้นเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา” และยังอ้างต่อไปยังมาตรา 54 และ 60 ซึ่งระบุว่า
มาตรา 54 ผู้ใดกระทำการในหน้าที่เป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติ...
มาตรา 60 ผู้ใดทำการในหน้าที่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือ เจ้าของหนังสือพิมพ์ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติ...
ข้อความที่ระบุอยู่ในมาตรา 47 และมาตรา 54 และ 60 ต่างล้วนระบุชัดว่ามุ่งเน้นไปที่ “พฤติการณ์” หรือ “การกระทำ” คือ ผู้
ใดครอบครองเครื่องพิมพ์, ผู้ใดกระทำการในหน้าที่เป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา,
ผู้ใดทำการในหน้าที่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือ เจ้าของหนังสือพิมพ์
ผู้นั้นมีความผิดดังนั้น ความมุ่งหมายที่อยู่ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ในเมื่อ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น การเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หรือตามเจตนารมณ์อันชัดเจนที่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 คือ การ มีพฤติการณ์เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือเผยแพร่หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท พฤติการณ์นั้นย่อมไม่ถือเป็นความผิด
หมายความว่า หากมีการฟ้องร้องและตัดสินให้มีความผิดในเรื่องหมิ่นประมาทในสิ่งพิมพ์และ หนังสือพิมพ์เกิดขึ้น ใครเป็นผู้เขียนข้อความหมิ่นประมาทและสมัครใจให้เผยแพร่ ผู้นั้นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะต้องรับผิด ความผิดนั้นไม่สามารถโยงไปสู่ผู้ที่ดำเนินการบรรณาธิการ จัดพิมพ์ หรือเผยแพร่ข้อเขียนนั้น ๆ ได้ และหากสังเกตว่า แม้แต่ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 เอง ตรงมาตรา 48 วรรค 2 ก็ระบุว่า “ให้ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการรับผิดเป็นตัวการ ถ้ามิได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย..” หมายความว่า แม้แต่ตอนมี พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ก็ยังไม่ถือว่าผู้พิมพ์มีความผิดด้วยซ้ำ ให้ผิดเฉพาะ ผู้ประพันธ์ กับ บรรณาธิการ ถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์จึงค่อยเอาโทษผู้พิมพ์
แต่ศาลอาญาได้ “กลับ” คำพิพากษาดังกล่าว ด้วยการ “เล่นคำ” โดยพิพากษาว่า “ที่จำเลยต่อสู้ว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ได้มีบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เท่านั้น ส่วนการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามฟ้อง ไม่ได้ถูกยกเลิก โดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย ที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่โจทย์นำมาฟ้องเป็นคดีนั้น เห็นว่าโจทย์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่ายและเผยแพร่..”
ศาลกล่าวว่า จำเลยย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ก็แล้วการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. 2484 จะคืออะไรเล่า หากไม่ใช่การมีพฤติการณ์ บรรณาธิการ, พิมพ์, โฆษณา จัดจำหน่ายและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ที่มีข้อเขียนหมิ่นประมาท ?
และแม้แต่ในส่วนของคำพิพากษาศาลก็ยังล้อคำพิพากษาของตัวเองว่า “การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงมีเจตนาหมิ่นประมาท...”
ก็การที่จำเลยนำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ นั่นแหละคือสาระของมาตรา 47, 48, 49 ของ พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 และมันได้ถูกยกเลิกไปแล้ว !!!
และสิ่งที่เกิดจากการ “เล่นคำ” เช่นนี้ของศาล ไม่เพียงทำให้สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยแห่งคดีไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ยังสร้างบรรทัดฐานในการตัดสินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทใหม่ ทั้งที่ บทบาทของบริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นั้น ก็คือ “การเป็นเจ้าของ เป็นบรรณาธิการ เป็นผู้พิมพ์ และผู้จัดจำหน่าย เผยแพร่” ไม่ต่างหรืออาจจะครบถ้วนชัดเจนกว่ากรณีนายสมยศ แต่ก็ไม่ผิดเพียงเพราะโจทย์ได้ยื่นฟ้อง “ในฐานะ” แต่ไม่ได้ยื่นฟ้องว่ามีเจตนา “ด้วยการ” เท่านั้น
ต่อไปนี้บรรทัดฐานของแนวทางสืบพยานโจทย์และกล่าวหาฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ ไทย ก็มุ่งเน้นไปที่ “พฤติการณ์” เป็นหลัก หากสืบพยานได้ชัดแจ้งว่า ใครเป็นเจ้าของ เป็นบรรณาธิการ เป็นผู้พิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และเผยแพร่ ได้ ก็สามารถเอาผิดได้เหมือนเมื่อยังมี พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เช่นเดิม บัญญัติยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าวใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ย่อมไม่มีความหมาย เพราะเปลี่ยนแค่คำว่า “ในฐานะ” เป็น “ด้วยการ” ก็สามารถที่จะกล่าวโทษเพื่อหลบเลี่ยง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ได้แล้ว
หมายเหตุ – บทความชิ้นนี้เป็นเพียงฉบับย่อ ผู้เขียนกำลังอยู่ในระหว่างค้นคว้ารวบรวมเอกสาร เพื่อเขียนคำวิจารณ์ฉบับเต็ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น