ครม.เห็นชอบลดเงินประกันสังคมช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการปรับ
ขั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ด้าน รมว.แรงงาน เผย ยังไม่มีลูกจ้างใน 25
จังหวัดที่ปรับค่าจ้าง 300 บาทแบบก้าวกระโดดมาขึ้นทะเบียนว่างงาน
ขณะที่พบการเลิกจ้างเนื่องจากการปรับค่าจ้าง 7
แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา 1,264 คน
30 ม.ค. 56 เว็บไซต์ข่าวสดรายงาน
ว่านพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.
ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการปรับขั้นค่าจ้าง
ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
โดยปรับลดเงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎกระทรวงเดิมที่กำหนดให้ทั้ง
รัฐบาล นายจ้าง
และผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บ
ป่วยทุพพลภาพ/ตาย/คลอดบุตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เป็นต้นไปที่อัตรา
1.5% ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราจ่ายสมทบลงเหลือฝ่ายละ 0.5%
ของค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2556
และให้กลับมาเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 1.5%
ของค่าจ้างตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นไป
ซึ่งการลดเงินสมทบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา
39 ได้รับการลดอัตราเงินสมทบด้วย จากเดิมออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท
เป็นออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 336 บาทด้วย
สำหรับเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ
ให้ปรับอัตราเงินสมทบตามกฎกระทรวงเดิมที่รัฐบาลจ่ายสมทบในอัตรา 1%
ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราสมทบที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในส่วนนี้เป็น 2%
ของค่าจ้างไปจนสิ้นสุดปี 2556 ส่วนนายจ้างและผู้ประกันตนให้จ่ายสมทบในอัตรา
3% ของค่าจ้างต่อไปเช่นเดิม
นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมทางหลวงก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจ้างเหมาะก่อสร้างทางบริการ (โลคัลโรด) ทางหลวงหมายเลข 7
กรุงเทพฯ-บ้านฉาง จ.ชลบุรี ตอนที่ 1-2 ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน 1,190
ล้านบาท รวมทั้งขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจากปีงบ 2555-56 เป็นปีงบ
2555-58 ก่อนที่กรมทางหลวงจะไปลงนามในสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาต่อไป
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ
หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่
ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ พ.ศ. ...
ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
กระทรวงแรงงานเผยยังไม่มีลูกจ้างใน 25 จังหวัดขึ้นทะเบียนว่างงานหลังปรับค่าแรง 300 บาท
ด้านสำนักข่าวไทยรายงาน
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 56 ว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า
จากข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1-25 มกราคม 2556
มีสถานประกอบกิจการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 16 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง
1,264 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนที่ผ่านมา 2 แห่ง
ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน
โดยสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
มีจำนวน 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน
จำนวน 435 คน และสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบอื่นๆ เช่น
วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ธุรกิจขาดทุนสะสมมีทั้งหมด 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง
มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 598 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน
แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 3 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง
ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 186 คน เพิ่มขึ้น 4 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน
6 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 643 คน
เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 217 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ
ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร
และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า
ขณะเดียวกันจากการรายงานของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตรา
ค่าจ้างขั้นต่ำใน 25 จังหวัด
ที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดพบว่ายังไม่มีลูกจ้างรายใดแจ้งขึ้นทะเบียน
ว่างงาน เนื่องจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นการแจ้งเลิกจ้างกรณีอื่นๆ
จำนวน 99 คน ทั้งลาออกเองและเลิกจ้างในสถานประกอบการ 94 แห่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น