สิ่งที่ทำให้เสรีภาพในทางวิชาการมีความสำคัญในการพัฒนาสติปัญญามากถึง ขั้นต้องบัญญัติเป็นสิทธิตามกฎหมายที่บุคคลทั้งหลายพึงมี และมิควรโดนรัฐละเมิดเพิกถอน หรือรัฐต้องให้ความคุ้มครองมิให้มีการปิดกั้น ควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการทำงานวิชาการ ก็ด้วยเหตุที่ในประวัติศาสตร์นั้นมีการพยายามใช้ความรู้หรือความคิดบางชุด กำกับควบคุมมิให้ผู้อื่นโต้แย้งและชี้ถึงข้อบกพร่องของความคิดหลักที่ครอบ สังคมนั้นอยู่
ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์คงทราบดีถึงชื่อ “เสีย” อันโด่งดังบางประการของ “เซอร์” ไอแซค นิวตัน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับยกย่องให้เป็นผู้นำแห่งการสถาปนาวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ได้ใช้อำนาจและบารมีในวงวิชาการบวกกับความใกล้ชิดกับผู้ปกครองที่สนับ สนุนการรับสถานะของสถาบันทางวิชาการ เบียดขับนักวิทยาศาสตร์ในรุ่นเดียวกันที่มีผลงานและความเห็นแย้งในประเด็น เดียวกับตนออกนอกวงโคจร ทำให้ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยเงียบหายไปเป็นเวลานาน กว่าจะได้รับการตีพิมพ์และยอมรับทางวิชาการก็ล่วงเลยมาอีกนาน นี่คือ เหยื่ออธรรมทางวิชาการ แต่สิ่งที่สังคมสูญเสียยิ่งกว่า คือ โอกาสที่จะได้รับรู้และพัฒนาต่อยอดความคิดเหล่านั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นหลักประกันต่อความหลากหลายทางความคิดเพื่อส่งเสริม ความสร้างสรรค์
เหตุการณ์นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยน หลักสูตรการศึกษาภาคบังคับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับความหลากหลายของแต่ละ ชุมชน และไม่ต่างอะไรเลยกับขบวนการเคลื่อนไหวของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้สำนักงานการ อุดมศึกษายกเลิกการสร้างระบบชี้วัดที่แข็งทื่อและไม่เปิดกว้างต่อความสลับ ซับซ้อนของสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
พฤติกรรมอีกประการที่นักคิดหรือนักวิชาการมักกระทำ คือ การวิพากษ์วิจารณ์งานของผู้อื่นว่า ลงทุนลงแรงและใช้เวลาไปกับงานวิชาการที่ไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาประเด็นนั้นว่าไม่น่าสนใจ หรือ ฐานความคิดทฤษฎีเหล่านั้นตกกระแสไม่เข้ากับยุคสมัย หรือสถานการณ์ที่สุกงอม โดยขาดความละเอียดอ่อนต่อผู้อื่นว่าเหตุใดเขาจึงเลือกทำประเด็นนั้น และเหตุใดจึงเลือกทฤษฎี กระบวนวิธี ที่ต่างไปจากตนคิด เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นผู้ควบคุมแฟชั่นแห่งวงวิชาการหากใครไม่ทำตามที่ตน วางกรอบไว้ถือว่า “out” ล้าสมัย หรือเอาล่อเอาเถิดถึงขั้นวิพากษ์ว่า “ไม่มีความกล้าหาญทางวิชาการ”
การเรียกร้องความกล้าหาญทางวิชาการนัยยะหนึ่งก็อาจกระทำได้ในแง่ที่มีการ เรียกร้องให้งานวิชาการมีลักษณะเชื่อมโยงกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่บั่นทอนเสรีภาพทางวิชาการอยู่ไม่น้อย คือ การพยายามสถาปนากรอบความรู้ความคิดและประเด็นที่ควรจะทำงานวิชาการออกมา ไม่ว่าจะเป็นกรอบอย่างเป็นทางการของหน่วยงานจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัย หรือหน่วยงานด้านการศึกษา หรือที่อันตรายมากกว่า คือ กรอบของนักวิชาการด้วยกันที่จับจ้อง และตัดสินว่างานเหล่านี้ไม่สำคัญ ไม่น่าสนใจ ควรจะมาทำประเด็นนี้ที่น่าสนใจกว่า หากใครทำงานนอกประเด็นที่ตนเห็น ก็จะเรียกร้องความกล้าหาญทางวิชาการ หรือจัดวางคนอื่นให้อยู่ในสถานะที่ต่ำต้อยทางวิชาการ
มีนักคิดจำนวนไม่น้อย กล่าวอ้างว่า ชื่นชอบการกระทำของ ชาร์ค รองซีแยร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์อัดนักวิชาการด้วยกันเองว่าไม่มีความกล้าหาญทางวิชาการ หรือไม่ลุกขึ้นมาทำงานในแนวทางที่เอาวิชาการไปบูรณาการกับสถานการณ์ของสังคม เพื่อสร้างพลังและปลุกเสียงของมวลชนให้ดังขึ้น
แต่ก็ควรระลึกเช่นกันว่า ชองค์ ปอล ซาร์ต และมิเชล ฟูร์โกต์ นักวิชาการที่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อนำงานวิชาการและความ คิดเข้ารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองและรับใช้สังคม ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากพรรคโดยให้ความเห็นว่า การกดให้ปัจเจกชนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายต้องอยู่ภายใต้ความคิดหรือแนว ทางเดียว ย่อมเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลง เพราะไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด หรือเป็นเผด็จการทางความคิดนั่นเอง
จิลส์ เดอเลิซ และเฟลิกซ์ กัตตารี่ ก็ได้โต้การอัดนักวิชาการด้วยกันเองของชาร์ค รองซีแยร์ ว่าได้ทำลายความเป็นไปได้อื่นให้สลายลง ลดความคิดสร้างสรรค์และสิ่งดีๆที่อาจจะเกิดไม่ให้เกิดขึ้น เท่ากับเป็นการขีดกรอบปิดกั้นผู้อื่นไปแทนรัฐ หรือผู้มีอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมเสียเอง
กระแสอนาร์คิสและการปฏิวัติที่กำลังมาแรงหรือถือเป็นความคิดกระแสหลักของ นักคิดและปัญญาชนทั่วโลก ก็ได้เปิดให้เห็นความเป็นไปได้ และการผลักดันให้เกิดการลงมือทำเพื่อขัดขวางให้วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย สะดุดลง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือยึดครองพื้นที่โดยเฉพาะความคิดและความสนใจให้กับสังคม แต่งานบางเรื่องประเด็นบางประเด็น ผู้เดือดร้อนหรือเจ้าของประเด็นมิได้ต้องการให้นักคิดนักวิชาการหรือนัก เคลื่อนไหวทำให้เกิดการแตกหักและบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการที่มีอยู่ เช่น กฎหมาย กระบวนการทางการเมืองในระบบ เข้าไปแก้ปัญหา เนื่องจากการต่อสู้ในแต่ละแบบมีต้อนทุนและเงื่อนไขต่างกัน มิควรใช้สูตรสำเร็จใดมาจัดการกับทุกปัญหาโดยไม่คำนึงเงื่อนไข และความเสี่ยงของเจ้าของประเด็น
ดังนั้นการเรียกร้องความกล้าหาญทางวิชาการ หรือใช้ไม้บรรทัดแฟชั่นทางวิชาการเขี่ยคนอื่นหรือเรียกร้องคนอื่นโดยไม่เข้า ใจเงื่อนไข และความสำคัญของงานผู้อื่น จึงมีลักษณะของขบวนการทางสังคมที่แคบ แหลมคม โดดเดี่ยว เพราะได้กักขังผู้อื่นไว้ในความคิดของตนที่คับแคบ สร้างกระบวนการที่มีเป้าหมายและวิธีการเดียวซึ่งแหลมคมแต่สร้างความเสี่ยง ให้กับผู้อื่น และค่อยๆโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคม หรือได้ร้ายให้ผู้อื่นโดดเดี่ยวในการเข้าร่วมกระบวนการ
พฤติการณ์เช่นว่าจึงเป็นฆ่าขบวนการตัวเอง จนถึงขั้นทำลายล้างขบวนการตนเองไม่ว่าจะด้วยเจตนา ประมาท หรือขาดความระมัดระวังก็แล้วแต่ ณ จุดนี้ มารยาททางสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังอยู่ร่วมกัน แม้สิ่งใดที่เราหวังนั้นมันยังไม่มาถึง เพราะไม่ควรมีใครออกตัวว่าตนเองไม่ให้ความสำคัญแล้วบังคับให้คนอื่นอดทนกับ ความไร้มารยาทของตน
ฝั่งตรงกันข้าม อาจตื้นกว่า แต่รู้ที่จะรักษาและสร้างฐานขบวนการตนเอง และขยายแนวร่วมไปครอบครองพื้นที่ต่างๆมากขึ้น และนั่งอยู่บนภูดูเสือกัดกันตายไปทีละตัวสองตัว ก็คงสนุกดี เพราะนี่คือ วิธีที่ชนชั้นที่แยบคายใช้ได้อย่างง่ายดายมาโดยตลอด เพราะฝ่ายวิพากษ์มักจะวิพากษ์ทุกเรื่อง จนถึงขั้นทำลายล้างขบวนการตนเอง และ “วงแตก”
แนวร่วมที่หลากหลายและเปิดกว้างให้กับความริเริ่ม สร้างสรรค์ เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ความคิด กระบวนการใหม่ ย่อมเป็นการเพิ่มแนวร่วมและเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆที่อาจจะมาจาก คนหรือขบวนการที่คนรุ่นเก่าไม่เคยคาดฝันมาก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าสังคมที่เป็นอยู่นี้เป็นผลงานของใคร คนรุ่นไหน หากลองเทียบกับกระบวนการของทุนนิยมจะเห็นได้ชัดว่าชัยชนะของทุนนิยม คือ การเปิดกว้างให้คนจำนวนมหาศาลเข้ามาล่าฝัน แม้ในความเป็นจริงจะมีเพียงคนหยิบมือเดียวที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เห็นแล้วว่าการชักจูงคนเข้ามาแข่งขันได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้วย
ขบวนการที่ยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับจริตของคนในสังคมแห่งยุคจึงจะสามารถสื่อสารกับคนในรุ่นหรือยุคเดียวกันได้
ธรรมชาติของเครื่องมือสื่อสารแบบเครือข่ายทางสังคมก็มีลักษณะเชื่อมโยง กันโดยไม่จำเป็นต้องร่วมกันไปเสียทุกเรื่องอยู่แล้ว ด้วยหลากหลายนี้ได้สร้างความปวดหัวให้กับฝ่ายความมั่นคงไม่น้อยในการควบคุม หรือจัดระบบในการจำแนกแจกแจง จำเป็นหรือที่ต้องลากเอาผู้คนทั้งผองมากองอยู่ในแนวทางของตน กลับกันการลากมาอยู่รวมกันต่างหากที่ทำให้งานของฝ่ายความมั่นคงง่ายและเพิ่ม ความเสี่ยงให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาความคิด
การต่อสู้ทางสังคมนั้น ชัยชนะมิได้เกิดในวงวิชาการ แต่เกิดที่การเปลี่ยนแปลงความคิด รสนิยม และสามารถปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างทางสังคมอื่นๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น การเพิ่มปริมาณของแนวร่วมจึงเป็นสิ่งที่มิอาจเลี่ยง
การรักษาฐานความคิดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ย่อมต้องคำนึงว่าควรให้ นักวิชาการ ปัญญาชน นักเคลื่อนไหว และมวลชนปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะแต่ละคนย่อมมีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนกัน
นักคิด นักวิชาการคนใดที่เรียกร้องความกล้าหาญทางวิชาการจากผู้อื่น ย่อมต้องแสดงความกล้าหาญทางวิชาการของตนเองอย่างถึงที่สุดก่อน เช่น ถ้าเห็นว่ากฎหมายใดไม่เป็นธรรม ก็กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายนั้นโดยตรงเสีย แล้วรับผลทางกฎหมาย เพื่อให้สังคมเห็นว่าตนเป็นเหยื่ออธรรม แล้วสร้างกระแสสำนึกให้สังคมลุกขึ้นมาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือประเด็นดัง กล่าว เพื่อให้กระบวนการอยุติธรรมนั้นชะงักงันลง หรือไม่ก็รณรงค์เรียกร้องและทำงานวิชาการด้านนั้นออกมาอย่างต่อเนื่อง จนมีสาวก หรือผู้ที่ศรัทธาจะทำงานในแนวนั้นออกมาเช่นกัน
นักวิชาการที่ปวารนาว่าไม่มีศาสนากลับทำให้งานวิชาการเป็นศาสนาเพื่อ บังคับให้คนอื่นศรัทธาและปฏิบัติดั่งตน อย่างไรก็ตาม ดุจเดียวกับศาสนา สุดท้ายใครอยากทำอะไร ก็ทำไปตามที่ศรัทธา เพราะเราไม่ได้วัดกันที่เลขของอายุที่ล่วงเลยไป แต่สิ่งสำคัญ คือ อายุที่เหลืออยู่ อย่าให้ใครมาขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ และการลงทุนลงแรงทำงานเล็กๆแต่มีความหมายต่อชีวิตเรา แม้วันนี้จะไม่มีใครเห็นความสำคัญ ก็ให้ถือว่าเราเป็น “ผู้มาก่อนกาล” ก็แล้วกัน จากที่กล่าวมาทั้งหมด หากใครลุกขึ้นมาทำงานก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นการต่อสู้อย่างสม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น