การตัดสินคดีคุณยศวริศนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรมจากศาลอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเช่นกรณีที่ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกดำเนินการในคดี 112 กรณีอื่น ในที่นี้ จะขอยกใจความตอนสำคัญที่ศาลอ้างในความผิดของคุณยศวริศ ดังนี้
"ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกัน แล้วเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ทำนองว่า พล.อ.เปรม ไม่ยอมให้ยุบสภาและกล่าวต่อว่า อาจมีเหนือกว่านั้นก็ดี พล.อ.เปรม อาจจะไม่มีอะไร แต่จะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรมก็ดี คำว่า “อาจมีเหนือกว่านั้น” และคำว่า “มีอะไรอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรม” ซึ่งการที่จำเลยกล่าวปราศรัยในลักษณะให้ผู้ฟังเข้าใจว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรม จึงเท่ากับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ยินยอมให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา โดยสั่งการผ่านทาง พล.อ.เปรม จึงเป็นการใส่ความว่า ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ...ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง"
ในที่นี้คงจะต้องขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน เพราะจะเห็นได้ว่า คำปราศรัยของคุณยศวริศตามที่ศาลอ้างทั้งหมด ไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลย แต่มุ่งจะโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง คำว่า “อาจจะมีเหนือกว่านั้น” คุณยศวริศก็ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ศาลจะเป็นผู้ตีความเสียเองว่าหมายถึงอะไร และก็ตัดสินลงโทษตามที่ศาลตีความ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่งว่า การตีความของศาลนั่นเอง เป็นที่มาของการนำเอาผู้บริสุทธิ์ไปเข้าคุก
กรณีคำตัดสินของศาลในคดี 112 ที่มีปัญหาอย่างมากเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่คดีของนายอำพน ตั้งนพคุณ ซึ่งศาลตัดสินในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 เพื่อแย้งในกรณีไม่มีหลักฐานพยานที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า คุณอำพนกระทำความผิดตามที่กล่าวหา แต่ศาลก็อธิบายว่า “แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการ กระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็น เครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน” ซึ่งถ้าใช้คำตัดสินเช่นนี้เป็นบรรทัดฐาน ต่อไปฝ่ายโจทย์ก็ไม่จำเป็นต้องหาประจักษ์พยานพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิด อีกต่อไป เพราะศาลสามารถหาความผิดของจำเลยจากหลักฐานแวดล้อมได้
ลองเปรียบเทียบกับอีกคดีหนึ่ง ที่ศาลพิจารณาตัดสินเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2555 ในคดีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกฟ้องว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คุณสนธิได้กล่าวปราศรัยในเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2551 โดยนำคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเผยแพร่ซ้ำ คำตัดสินของศาลเป็นดังนี้
“ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเห็นว่า การพูดของจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เป็นการพูดโดยถอดข้อความบางตอนมาสรุปให้ประชาชนฟัง โดยจำเลยเห็นว่า คำพูดของ น.ส.ดารณี เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี จึงเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ดารณี จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยสรุปคำพูดของ น.ส.ดารณี เมื่อฟังโดยรวมแล้วเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับน.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณี อันมีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ให้พิพากษายกฟ้อง”
ที่ยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลในกรณีนี้มา ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ติดคุกในคดีนี้ เพราะไม่ว่าใครจะถูกดำเนินคดีติดคุกตามข้อหาในมาตรา 112 ผมก็ไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น ยิ่งคุณดารณีถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมมาจนถึงขณะนี้ นานกว่า 4 ปีแล้ว การยกกรณีคดีคุณสนธิในที่นี้ เพียงแต่อยากให้ศาลใช้บรรทัดฐานอันผ่อนปรนในลักษณะเดียวกับกรณีคุณสนธิ ยกประโยชน์ให้จำเลยในกรณีอื่นด้วย เพราะการกล่าวหากันด้วยความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องการใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายเผด็จการ แก้ไขให้ลงโทษสูงตามคำสั่งคณะรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2519 กฎหมายนี้จึงไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด
ในที่นี้ยังอยากจะเล่าถึงคดีตามมาตรา 112 อีกกรณีหนึ่ง คือในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2553 นายยุทธภูมิ มาตรนอก อาชีพรับจ้าง ได้ถูกนายธนะวัฒน์ มาตรนอก พี่ชายแท้ของตนเอง แจ้งจับในความผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ต่อมา นายยุทธภูมิได้มามอบตัว และยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่เกิดจากการกลั่นแกล้งของพี่ชายแท้ๆ โดยได้แสดงหลักฐานเป็นบันทึกการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าพี่ชายเคยจะใช้มีด ทำร้ายและหนังสือข่มขู่ อย่างไรก็ตาม ศาลก็รับฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2555 และขณะนี้ นายยุทธภูมิถูกขังอยู่ในคุก เพราะศาลไม่ให้ประกันตัว
ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันในครอบครัวแล้ว
ท้ายที่สุดคงต้องขอกล่าวถึง กรณีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ต้องถูกจำคุกมาแล้วนานกว่าปีครึ่ง และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจำคุกมาแล้ว 2 ปี ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ในกรณีของคุณสมยศที่ต้องติดคุกก็เพราะศาลริดรอนสิทธิในการประกันตัวนั่นเอง
ถึงเวลาของสังคมไทย ที่จะต้องพิจารณาแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 อย่างเป็นจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น