แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

เสวนา: รัฐธรรมนูญ 2550 แก้หรือเก็บ

ที่มา ประชาไท


ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เสนอทางออกแก้รธน. ทั้งฉบับ ลงประชามติดีที่สุด ขณะวรเจตน์บอกถ้าจะใช้วิธีลงประชามติต้องมีสัญญาสุภาพบุรุษ ชี้สังคมควรต่อสู้ทางความคิด อย่าไปติดกับทักษิณ ขณะ ส.ส.ปชป. โอดไม่มีพื้นที่สื่อ เห็นด้วยกับการต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่เผาบ้านเผาเมือง
29 ม.ค. 2556 Media Inside Out จัดเสวนาวิชาการหัวข้อรัฐธรรมนูญ 2550 แก้หรือเก็บ ที่โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท  โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , พีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส. พรรคเพื่อไทย, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดย จอม เพ็ชรประดับ

พีรพันธุ์ พาลุสุข ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 อาจจะไม่มีความคืบหน้า ขณะที่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในการเลือกตั้ง และถือเป็นนโยบายหลักว่าต้องแก้ไขภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ต้องเผชิญกับการถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและยืนยันเดินหน้าวาระสาม แต่มีผู้ที่กังวลว่าถ้าโหวตวาระสามจะโดนมาตรา 68 ซึ่งเขามั่นใจว่าไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 68 เมื่อศาลตัดสิน
“เมื่อเราจะแก้รัฐธรรมนูญจะมีกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญออก มาเลย และผมเชื่อว่าผลักดันต่อไปจะโดนย้อนด้วยมาตรา 68 แม้จะเป็นไปได้ว่าเข้าข่ายฟ้องซ้ำ แต่ก็ไม่มีความมั่นใจต่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” พีรพันธุ์กล่าว
ด้านวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ประเมินไม่ได้ว่าจะตัดสินในแบบไหน ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ถูกต้อง

“ผมคิดว่ารัฐสภานั้นได้เสียอำนาจจริงๆ ที่เป็นของสภาไปแล้วเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ระงับการพิจารณาไว้ ชั่วคราว ซึ่งอำนาจนี้ไม่มีอยู่แต่ไปอนุโลมเอาประมวลกฎหมายแพ่งมาใช้ และเป็นการสั่งไปที่เลขาธิการรัฐสภาด้วยซ้ำ ศาลกลายเป็นคนให้ความหมายของมาตรา 68 ใหม่ว่าการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องผ่านอัยการก็ได้ และถือเป็นอันตรายมากๆ ต่อฝ่ายการเมือง เพราะคนจะไปยื่นต่อศาลฯ เมื่อไหร่ก็ได้ ตัวบทนั้นไม่มีความหมายแล้วด้วยคำวินิจฉัยของศาลฯ” วรเจตน์กล่าว
สำหรับการลงมติวาระสามนั้น วรเจตน์กล่าวว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าหากนักการเมืองยืนยันลงมติผ่านวาระสามจะ ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก เพราะหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 แล้ว จากนี้อะไรก็เป็นไปได้หมด
วรเจตน์ย้ำว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำประชามติเพราะประชาชนได้แสดงออกไป แล้วตอนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะพรรคเพื่อไทยได้ใช้ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในการหาเสียง
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น วรเจตน์เห็นว่าจะต้องใช้เวลานานจนแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสำเร็จ โดยเขาเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญก่อนเพื่อ ปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป “ผมก็เสนอ ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าข้อเสนอผมรุนแรงเกินไป คือการเสนอให้ยุบเลิกหรือเปลี่ยนโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก่อน และฝ่ายการเมืองก็มีความชอบธรรมในการเปลี่ยนโครงสร้างนี้ แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองและรัฐบาลนั้นประเมินอย่างไร”

ปริญญาชี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ขาดการลงมติร่วมของสังคม เสนอลงประชามติเป็นทางออก
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แสดงความเห็นว่าสิ่งที่เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่แม้แต่นักศึกษานิติศาสตร์ปี 2 ก็รู้ สิ่งที่ศาลระบุในคำวินิจฉัยเรื่องควรทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็น เรื่องการเมือง เป็นคำแนะนำ แต่เป็นเรื่องการเมืองในการเผชิญต่อฝ่ายตรงข้าม
ปริญญายืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นเรื่องทำได้ และไทยเคยทำมาแล้ว รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขนานใหญ่เช่นกัน
“การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องมีการวางกติการ่วมกัน และรัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อบกพร่องตรงนี้ ส่วนเนื้อหาข้างในที่ต้องการแก้ไขนั้นเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์หลายประการ ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีทางเลือกสามทางคือ หนึ่ง ทำประชามติ สอง แก้รายมาตรา สาม เดินหน้าวาระสาม แต่อาจจะเผชิญหน้ากับการคัดค้าน ซึ่งถ้ารัฐบาลแคร์ ก็มีทางเลือกเหลือสองทาง คือทำประชามติ หรือแก้รายมาตรา
“ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรามีการแก้กันขนานใหญ่เหมือนกัน คือรัฐธรรมนูญ 2534”
“แนวทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับประเทศไทยว่าจะไปต่ออย่างไร ก็คือต้องเดินหน้าไปโดยคิดถึงว่าเราจะอยู่กันอย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน ประเด็นที่ยังค้างอยู่ ถ้าจะเดินหน้าไปแบบไม่ให้เกิดปัญหา คิดว่าประชามติเป็นทางออกที่ดีที่สุด”
วรเจตน์ กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้กติกา โดยเสียงข้างมากว่า “เรากำลังพูดถึงเรื่องการปกครองหลักประชาธิปไตย เป็นไปไม่ได้ที่คนจะเห็นเหมือนกัน ต้องมีคนเห็นต่าง ปัญหาคือเราจะจัดการกับความขัดแย้งอย่างไร ที่เขาทำกันทั่วโลกคือใครชนะก็ใช้กติกาไป ซึ่งถ้าจะบอกว่าเป็นกติกาเสียงข้างมากก็ใช่ แต่เมื่อเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยก็ต้องโน้มน้าวให้ข้างมากมาเห็นด้วย ผมจึงไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อฝ่ายเพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก เห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะกลายเป็นกติกาของเสียงข้างมาก
“ประเด็นของผมมีอย่างเดียวคือ ประชาธิปไตย คือก่อนจะมีการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทุกฝ่ายมีโอกาสพูดได้เท่าเทียมกันหรือไม่ ชีวิตผมก็เป็นเสียงข้างน้อยมาเยอะนะครับ ผมก็อดทนรอคอยว่าวันใดวันหนึ่งเสียงข้างมากจะเห็นด้วยกับผม มันก็ไม่มีวิธีอื่นใดแล้วนะครับ”
โดยวรเจตน์ย้ำว่า การลงประชามติเพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีผลผูกพันกับสมาชิกรัฐสภา เพราะเขาได้รับความคุ้มครองตามหลัก Free Mandate (เป็นอิสระจากการแทรกแซง) แต่ถ้าจะให้มีผลผูกพันก็ต้องทำสัญญาแบบสุภาพบุรุษ

ส.ส.ปชป. โอดไม่มีพื้นที่สื่อให้แสดงความเห็น
วิ รัตน์ กัลยาศิริ จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เห็นด้วยกับการลงประชามติ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ออกสื่อเท่าเทียมกัน “ตอนนี้ออกแนวรณรงค์ฝ่ายเดียว ถ้าพี่น้องประชาชนเข้าใจ ทั้งโปรและคอน บวกและลบ บ้านเมืองก็เดินหน้าได้ ไม่ใช่รณรงค์ไปเต็มที่ ใช้งบประมาณเต็มร้อย พอชาวบ้านเห็นด้วยก็จัดลงประชามติ อย่างผมตอนนี้ช่อง 11 ผมก็ออกไม่ได้ เป็นข้อเท็จจริงที่อยากร้องเรียน”
ส่วนประเด็นที่ว่า ประชาธิปัตย์มักอ้างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นผลประโยชน์ของทักษิณนั้น วิรัตน์กล่าวว่าถ้ามีความบริสุทธิ์ใจจริงใจก็มาเปิดอกคุยกันเหมือนกรณีภาค ใต้ ที่รองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เชิญฝ่ายค้านมาพูดคุย ส.ส.ภาคใต้ก็ยินดีคุย ดังนั้นทางรัฐบาลต้องเปิดยื่นมือมาให้ได้พูดคุยกันอย่างเปิดอก คุยกันเพื่อหาทางออกเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย เราก็รักประเทศไทย อยากให้ประเทศไทยเดินหน้า

ปริญญากล่าวเสริมว่า สิ่งที่ทางฝ่ายประชาธิปัตย์ไม่ไว้วางใจคือการเอื้อประโยชน์ต่อทักษิณ ซึ่งนี่เป็นข้อที่ยากจะเชื่อใจ อย่างไรก็ตามประชาธิปัตย์อย่าลืมว่าได้ทำเรื่องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาถึง วาระสองด้วยกันกับทางรัฐบาล จนกระทั่งเข้าสู่วาระสาม แต่อดีตนายกฯ ทักษิณก็พลาดที่ยังคงพยายามแสดงบทบาท และแสดงความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ปริญญาวิพากษ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในภาวะขาลง เพราะวิธีการของประชาธิปัตย์ในการคัดค้าน เกิดเหตุวุ่นวายป่วนสภา และไม่มีการตักเตือนกันในพรรค นี่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เช่นกัน เพราะกระแสนิยมตก
วรเจตน์ กล่าวว่าถึงความหวาดระแวงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเอื้อประโยชน์ต่ออดีตนายกฯ ทักษิณว่า เวลาที่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องแยกทักษิณออกไปก่อน เพราะบ้านเราไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ดึงทักษิณเข้ามารวมหมดทำให้ไม่เห็นโครง สร้าง
“การถูลู่ถูกกัง มันไปได้ระยะหนึ่ง แล้วพอถึงจุดหนึ่งมันเกิดการพลิกขึ้นมา ผมคิดว่าทุกคนที่นี่ไม่อยากไปถึงจุดนั้น ผมก็ไม่อยากไปถึงจุดนั้นครับ”
ด้าน ส.ส. ปชป. ยังคงยืนยันว่าไม่ได้พื้นที่ในสื่อ และวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลที่เคลื่อนไหวกดดัน รัฐบาล ทำให้เห็นความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน และกล่าวถึงการต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์ โดยหากปราศจากสถาบันกษัตริย์ ไทยอาจจะอยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย เช่น ซีเรีย
วรเจตน์ กล่าวตอบในประเด็นนี้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน “ผมคิดว่าการแสดงความคิดความอ่านของกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองมันไม่เป็น เอกภาพ ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน”
“ส่วนจะออกทีวีไม่ได้ ผมก็เคยอยู่ในลิสต์ที่ออกทีวีไม่ได้ โดยมีการให้เหตุผลว่าเพราะผมไม่เป็นมิตรกับ ปชป. ซึ่งนี่คือการพูดแฟร์ๆ ผมก็ไม่อยากให้เกิดสภาพแบบนี้ ผมเรียนว่าตอนนี้สังคมมันเปิด แม้บางฝ่ายอาจจะชอบคุณทักษิณ แต่ความคิดก้าวหน้าที่เป็นอิสระก็มี”
วรเจตน์ กล่าวในตอนท้าย ว่าเขาอยากเห็นความก้าวหน้าของประเทศไทย “ผมอยากให้เราทำการเมืองแบบนี้ เอาความคิดมาสู้กัน ลดเรื่องตัวคนไปให้เยอะ เราก็จะออกจากความขัดแย้งได้”
ด้าน วิรัตน์ กัลยาศิริ จากประชาธิปัตย์ จาก ปชป. ตอบว่า เห็นด้วยว่าควรจะสู้กันที่ความคิด ไม่อยากเห็นการเผาบ้านเผาเมือง เผาศาลากลาง

ขณะที่ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า การพูดให้ก้าวข้ามทักษิณเป็นเพียงคำพูดที่ดูดี แต่ในทางปฏิบัติก็มีปัญหา เพราะประชาธิปัตย์ยังคงหวาดระแวง เสนอให้ย้อนกลับมาดำเนินกระบวนการยุติธรรมกับทักษิณใหม่เป็นการเฉพาะ เพื่อปลดเงื่อนตายทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น