แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สังคมวิทยาของการจำนำข้าว

ที่มา ประชาไท


ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีโอกาสขับรถไปเยี่ยมบัณฑิตอาสาสมัคร ของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ภาคอีสาน ระหว่างทางตั้งแต่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ  สิ่งที่เห็นผิดแปลกไปจากทุกครั้งที่ผ่านมาในช่วงฤดูนี้ก็คือ มีรถขนข้าวจอดเรียงรอคิวอยู่หน้าโรงสี และสหกรณ์การเกษตรจำนวนมาก แถวยาวต่อเนื่องหลายร้อยเมตร  แน่นอนว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลที่ให้ราคาสูง มากที่สุด อาจถือได้ว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่สั่งสอนลูกหลานกันมา ว่า เราเป็นประเทศส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุด และมีชาวนาเป็นผู้มีพระคุณที่ทำนาปลูกข้าวให้เรากินด้วยความยากลำบาก มีควายที่ทำงานหนักไถนาให้เรากิน และพวกเราก็รับรู้มาตลอดว่า อาชีพชาวนาเป็นอาชีพยากจน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นหนี้เป็นสิน ทุกข์ยากขาดแคลน ไร้การศึกษา แต่มีน้ำใจเอื้ออารีย์ ใสซื่อบริสุทธิ์
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของ นิด้า และธรรมศาสตร์บางส่วน ลงชื่อกันคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่ามีการรั่วไหลของงบประมาณไปในแต่ละขั้นตอนจำนวนมาก และได้ไม่คุ้มเสีย ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายนี้เช่นกันโดยให้ เหตุผลว่า พวกเขาเสียภาษีจำนวนมากเพื่อมาอุ้มชูเด็กที่เลี้ยงไม่รู้จักโต ซึ่งเด็กในความหมายนี้ก็คือ ชาวนา...
เวลานักเศรษฐศาสตร์ หรือคนเมืองออกมาพูดว่านโยบายไม่ดี รั่วไหล มีการคอรัปชั่น สูญเสีย ไม่ได้ประโยชน์ สิ่งที่อ้างถึงมักจะเป็นตัวเลขงบประมาณ  ราคา  ปริมาณข้าว และหลักเกณฑ์ปฏิบัติของการจำนำ  เรื่อยไปถึงปริมาณความต้องการของตลาดโลก แต่ที่น่าแปลกมากๆ คือ เราไม่เคยไปถามชาวนา หรือสนใจข้อมูลของชาวนาเพื่อนำมาอ้างอิง เป็นเหตุผลว่าเราควรเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แม้มีข่าวว่าชาวนาท้า  “ดีเบต”  กับอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ดูเหมือนจะไม่เอาด้วย โดยให้เหตุผลทำนองว่าพูดกันคนละภาษา...
ไปอีสานคราวนี้จึงได้ถือโอกาสไปคุยกับชาวนาด้วยความตั้งใจที่จะฟังเสียง ที่ไม่ใคร่จะได้ยิน นอกจากปรากฏการณ์รถขนข้าวต่อคิวยาวเหยียดเพื่อรอจำนำข้าวแล้ว ยังพบว่าหมู่บ้านในเขตเทศบาลที่มีถนนคอนกรีตตัดผ่านภายในหมู่บ้าน ได้กลายเป็นลานตากข้าวเรียงรายไปตลอดทาง  ยังไม่นับรวมถนนลาดยางตามหมู่บ้านนอกเขตเทศบาล
ที่น่าสนใจมากก็คือใน เขตเทศบาล บ้านหลังใหญ่ รูปทรงสวยงามสมัยใหม่ มีรั้วรอบแข็งแรงยังประกอบอาชีพ “ทำนา” หมู่บ้านที่ผมไปเยี่ยมบัณฑิตอาสาสมัคร  อยู่ในตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ภายในหมู่บ้านมีไฟฟ้า ประปา ถนนคอนกรีต และร้านค้า ทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์มองไม่เห็นความกันดารยากลำบาก  โดยทั่วไปก็คาดเดาได้ว่าคนในหมู่บ้านไม่น่าจะมีอาชีพหลักทำนา แต่ที่น่าแปลกมากเมื่อพบว่าทุกบ้านนำข้าวเปลือกมาวางตากแดดไล่ความชื้น เพื่อเตรียมนำไปจำนำกับโรงสีหน้าหมู่บ้าน
จากการพูดคุยพบว่า คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพหลากหลาย ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ ครู  เจ้าหน้าที่เทศบาล และหน่วยราชการอื่น ๆ มีอีกหลายบ้านที่ค้าขาย และขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ระหว่างเดินสำรวจจึงพบรถแท็กซี่หลายคันจอดอยู่หน้าบ้าน นอกจากนั้นยังทราบว่ามีบ้าน 2 หลังที่เป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ในกรุงเทพด้วย แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ “บ้านทุกหลังทำนา” ทำมานานแล้ว ทำมาก่อนที่จำมีนโยบายจำนำข้าว และดูเหมือนทุกคนจะบอกกับใคร ๆ อย่างมั่นใจว่า คนในหมู่บ้านนี้ทำนากันทั้งหมู่บ้าน ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีจิตวิญญาณของความเป็นชาวนา “ถึงจะทำแล้วขาดทุนก็ต้องทำ เพราะเราเป็นชาวนา”  ผมถามว่า ถ้ามีคนให้เลิกอาชีพทำนา แล้วหาอาชีพอื่นเช่นค้าขายที่ได้รายได้มากกว่าจะเปลี่ยนอาชีพมั้ย  “โอ้ย แม่ทำมาหมดแล้ว แต่ก่อนก็ไปขายผ้าในกรุงเทพ แต่ก็กลับมาทำนา”   “ในหมู่บ้านมีค้าขายหลายบ้าน แต่ทุกบ้านก็ยังทำนา”
ประโยคเหล่านี้ทำให้ผมคิดได้ว่า  ในแวดวงวิชาการ เรานิยามอาชีพด้วยรายได้หลัก และเวลาใช้ไปกับการทำงานส่วนใหญ่ใช้ไปกับงานอะไร จะถือว่านั่นคืออาชีพหลัก  แต่สำหรับชาวบ้านไม่ใช่ อาชีพหลักเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคมมากมาย เป็นประสบการณ์ เป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ เป็นพื้นที่ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์มากมาย ทั้งโรงสี ร้านค้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ธกส. เพื่อนบ้านที่มาลงแรงเกี่ยวข้าวร่วมกัน เรื่อยไปถึงนโยบายพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ  จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ภาษาทางวิชาการและภาษาของชาวบ้าน ชาวนา จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อไรก็ตามที่ผมพานักศึกษาไปชนบท  ชาวบ้านมักจะบอกว่าอาชีพหลักของเขาคือทำนา ทั้งที่หาหลักฐานเชิงประจักษ์แบบใด ๆ แล้วก็ไม่อาจเชื่อได้ว่า รายได้จากการทำนาเป็นรายได้หลัก และยิ่งทำนาครั้งเดียวในรอบ 1 ปี ยิ่งทำให้ตัดสินใจไม่ได้ว่า ตกลงอาชีพหลักของชาวบ้านคืออะไรกันแน่  เมื่อเรานิยามแบบในตำราโดยไม่ได้สนใจคำนิยามแบบชาวบ้าน
เมื่อการทำนาเป็นวิถีชีวิต เป็นอะไรที่มากกว่าอาชีพในนิยามของนักวิชาการ นโยบายรับจำนำข้าว จึงมีความหมายต่อชาวนามากกว่าการเพิ่มรายได้ อย่างที่เราไม่สามารถจะเข้าถึงความหมายแบบนั้นได้เลย ถ้าเราไม่ได้เป็นชาวนา  หน้าโรงสีที่รับจำนำข้าวหลายแห่ง ปรากฏป้ายหาเสียงของ ส.ส. ประจำเขต ประกาศตัวว่าสนับสนุนนโยบาย  มีการสวมทับนโยบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การจำนำข้าวที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นมากเช่นนี้ คือนโยบาย “ประกันราคา”  ชาวบ้านหลายที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์จึงสับสนเรียก นโยบายจำนำข้าวว่า “ประกันราคาข้าว”  นี่เป็นภาพสะท้อนเล็ก ๆ ว่า การทำนา ไม่ใช่มีเพียงมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว
ในมิติทางสังคมนโยบายนี้ส่งผลอย่างมากจนแทบคาดไม่ถึง เมื่อชาวบ้านบอกว่า บรรดาข้าราชการครูในหมู่บ้าน เข้าโครงการเกษียนอายุก่อนกำหนด เพื่อมาทำนา “ขยันกว่าเราอีก ตื่นแต่เช้ามาเกี่ยวข้าว” ชาวนาเริ่มถามลูก ๆ หนุ่มสาวที่ไปรับจ้างในกรุงเทพว่า อยากกลับมาทำนามั้ย จะได้อยู่กับพ่อแม่  ชาวนาสองสามีภรรยาบอกกับผมว่า ถ้าน้องพร (บัณฑิตอาสาสมัคร) จะมาทำนาอยู่ที่นี่ยินดีจะแบ่งที่นาให้เลย “ไม่อยากให้กลับอยากหาผู้บ่าวให้”   นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ชาวนาไม่ใช่อาชีพที่เป็นเด็กเขลา ไร้ราคา หิวกระหายเงิน และถูกหมิ่นแคลนว่าใช้แรงงานอีกต่อไป  ข้าราชครูที่ลงมือทำนาด้วยตนเองทั้งที่ก่อนหน้าต้องการจะหนีอาชีพนี้เพื่อไป หางานที่สบายกว่า นั่งโต๊ะ และเป็นเจ้าคนนายคน ลาออกจากการเป็นครูเพื่อมาทำนา เพราะความดึงดูดใจของราคาข้าวที่สูงมาก   ตอนผมลงพื้นที่แถว บางปะหัน อยุธยา คนวัยหนุ่มสาวทำงานโรงงานลงทุนให้พ่อแม่ช่วยดูแลทำนาให้  โดยจ้างในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ ไถ หว่าน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ชาวนาที่นั่นบอกผมว่า “เราทำนาด้วยโทรศัพท์มือถือ” เพราะทุกขั้นตอนมีการรับเหมาช่วง มีชาวบ้านผู้ประกอบการเดินทางมาเสนองานรับจ้างเหมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี  ราคาข้าวดีทำให้การใช้เทคโนโลยีคุ้มค่ามากขึ้นเพราะได้ผลผลิตจำนวนมาก  เมื่อชาวนามีรายได้มากขึ้น ธกส. จะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อมาเสนอให้ชาวนากู้เงิน “เขาบอกว่าถ้าไม่กู้จะเสียเครดิต คราวหน้าถ้าจำเป็นต้องกู้จะได้วงเงินกู้น้อย”  ไม่รู้จะเอาเงินมาทำอะไรแต่ก็ต้องไปกู้ช่วยเขา (ธกส.) นี่อาจเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงสำหรับคนที่เคยหมิ่นเหยีดชาวนา ตอนรัฐบาลเสนอนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร ที่มองว่า เกษตรกรจะเบี้ยวหนี้ แต่ในทางตรงข้ามกลุ่มชาวนาเกษตรกรเหล่านี้ กลายเป็นลูกหนี้ชั้นดี ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารมาเสนอวงเงินให้กู้
ขณะที่คนเมืองกำลังมองชาวนาด้วยความดูแคลนว่า “เลี้ยงไม่โต” และบอกให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง ละเลิกอบายมุข  และถือศีลอดเหล้า งดบุหรี่ มีคุณธรรมในขณะที่ทำนา เพราะข้าวที่ออกมาจะเป็น ข้าวมีศีลธรรมติดมาด้วย
ในสังคมชนบท ชาวนากำลังยกสถานะทางสังคมขึ้นมาเทียมหน้าเทียมตาข้าราชการในท้องถิ่น เป็นลูกหนี้ชั้นดีของ ธกส. เป็นผู้บริโภคในตลาดสินค้า และบริการจากการจับจ่ายใช้สอย และเริ่มอยากจะให้ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพกลับมาทำนา ทั้งยังบอกด้วยว่า เสียเงินส่งให้ไปเรียน เรียนจบแล้วก็ไปเป็นลูกจ้างเขา เงินไม่พอใช้ก็มาขอแม่ (ที่เป็นชาวนา) รู้แบบนี้ให้มาเป็นชาวนายังดีกว่า...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น