แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผลกระทบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 ต่อระบบกฎหมายอาญาของประเทศไทย

ที่มา ประชาไท


บทความนี้ ข้าพเจ้านายธงทอง นิพัทธรุจิ[1] เขียนขึ้นโดยสุจริตใจ เพื่อต้องการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ โดยได้รับคำแนะนำให้เขียนบทความในประเด็นนี้ จากท่าน ส.ส. ดร. พีรพันธุ์ พาลุสุข ซึ่งได้ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 27 พฤษจิกายน 2555 อันมีประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้กล่าวไว้ในบท ความนี้ จึงขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง ณ โอกาสนี้
จากการที่ในปัจจุบันพบว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1[2] กำหนดปิดปากให้ถือว่าผู้กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100[3] ต้องถือว่ามีความผิดและถูกลงโทษฐาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิเช่น ตามบทบัญญัติมาตรา 157[4] ฯลฯ ด้วย ซึ่งมีอัตราโทษทางอาญา[5] ร้ายแรงกว่าที่บัญญัติไว้ ในบทบัญญัติมาตรา 100 ประกอบมาตรา  122[6] แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแต่เดิม
กรณีนี้ ทำให้เกิดความ น่าห่วงกังวลในระบบกฎหมายอาญาของไทย เนื่องจาก ลักษณะการบังคับแห่งกฎหมายอาญาบทมาตราใหม่นี้ อาจเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกับโครงสร้างความรับผิดในทางกฎหมายอาญา ในกรณี ที่แม้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมิได้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และสามารถใช้อำนาจนั้นเพื่อการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อหน้าที่ราชการ อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดภายนอก (Actus Reus หรือ Guilty Act) แห่งความผิดอาญาตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  เพราะจำเลยที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บางกรณี อาจมีเพียงอำนาจในการกำกับ โดยทั่วไป ในหน่วยงานของรัฐบางแห่ง แต่ไม่สามารถเอื้อมมือไปถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เอื้อประโยชน์ได้ เนื่องจาก ประโยชน์ของส่วนรวมอาจมีการแยกกันอยู่ออกต่างหาก หรือมีการจัดการ ที่แยกออกต่างหากจากประโยชน์ส่วนบุคคล[7]
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถเข้าไปแทรกแซง สั่งการ ในกิจการทั่วไป ของหน่วยงานทางการคลัง ซึ่งสังกัดอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระ เพราะมีคณะกรรมการภายใน ที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีถือเป็นกรรมการอยู่ด้วย[8]  เป็นผู้ควบคุม ดูแล โดยกิจการทั่วไป และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับ ดูแล  มิใช่นายกรัฐมนตรี[9] แต่เมื่อมาตรา 103/1 มีผลทำให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ ควบคุม โดยตรง กับกิจการภายในหน่วยงานของรัฐ ที่มีความเป็นอิสระ ต้องมารับผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย ทั้งที่การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิดในบทมาตรานี้ เพราะขาดองค์ประกอบภายนอกเรื่องอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับแห่งข้อห้ามตาม มาตรา 157 ซึ่งตามปกติแล้วการขาดองค์ประกอบภายนอกส่งผลในทางกฎหมายให้ถือว่าผู้กระทำ ความผิดไม่มีความผิดเพราะพิจารณาจากความเป็นจริง[10] ดังตัวอย่างทั้งที่ ศาลฎีกาได้เคยวางบรรทัดฐานแห่งกฎหมายไว้โดยชัดเจน ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2524 ว่า“กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ เฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆ เท่านั้น” (และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  1005/2549 ได้วินิจฉัยไปในทำนองเดียวกัน) จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงส่งผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 เป็นกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรม และอาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคมขึ้นไทยได้
ข้าพเจ้าจึงขอตั้งข้อสังเกตถึงผลกระทบของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 แยกพิจารณาได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ในกรณี คดีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีแดงที่ 1/2550 ศาลฎีกาได้ตัดสินถึงที่สุดแล้วว่า ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (ท่านที่ 23 ของประ เทศไทย) ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157[11] เพราะการลงนาม ยินยอมตามระเบียบให้ภริยาโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาจากการประมูลโดยการ ประกวดราคา อันเป็นสาธารณะ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการฮั๋วประมูลนั้น หาใช่เป็นการกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของ ฯพณฯ ทักษิณ แม้ว่า ศาลในคดีนี้ จะได้ลงโทษ ฯพณฯ ทักษิณ ตามข้อหาความผิดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ก็ตาม ความผิดอาญาของ ฯพณฯ ทักษิณ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 จึงระงับไปเพราะศาลได้พิพากษาว่า ฯพณฯ ทักษิณ บริสุทธิ์ แล้ว ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้ … (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”
ประเด็นที่ 2 กรณีความ ผิดของผู้อื่น นอกจากประเด็นที่ 1 ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 นั้น ผู้กระทำ
ความผิดย่อมไม่ต้องรับผิดในทางกฎหมายอาญา ตามที่มาตรา 103/1 กำหนด เพราะหลักประกันในทางกฎหมายอาญา (Legality) ว่า "เมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ไม่มีความผิด และไม่มีโทษ" ("nullum crimen, nulla poena, sine lege" หรือ Ex post Facto) ซึ่งได้บัญญัติรับรองในประเทศไทยโดยชัดเจน ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 ความว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้" และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางกฎหมายอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทำการ อันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้…"
หลักประกันในทางกฎหมายอาญานี้ ถือเป็นเอกลักษณ์หรือหลักสำคัญของกฎหมายอาญาประการหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับจากนานาอาริยประเทศ เดิมเป็นความคิดในทางการเมืองที่ต้องการจะจํากัดอํานาจรัฐมิให้ละเมิดสิทธิ พลเมือง อาทิเช่น ในรัฐธรรมนญูแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1776 ได้บัญญัติว่า "ห้ามมิให้รัฐออกกฎหมายอาญาให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษ" (U.S. Constitution Section 9 Paragraph 3  "No bill of Attainder or ex post facto law shall be passed") นอกจากนี้ ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หลักประกันในทางกฎหมายอาญานี้ มีความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ (Rechtsstlichkeitsprinzip)[12] ที่มีหลักย่อยเกี่ยวกับ “หลักการคุ้มครองความเชื่อถือ หรือความไว้วางใจโดยสุจริตของประชาชน (Vertrauensschutzprinzip) อันถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีรากฐานมา จาก “หลักว่าด้วยความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย” (Der Grundsatz der Rechtssicherheit)[13] และในรัฐธรรมนูญ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี “The Basic Law” (Grundgesetz-GG) ได้วางหลักว่า กฎหมายต้องได้รับความ เห็นชอบขององค์กรนิติบัญญัติอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อำนาจอธิปไตย[14]และ ต้องอยู่ในหลักประกันในทางกฎหมายอาญา (The Principle  of Legality) โดยในมาตรา 103 II แห่งรัฐธรรมนูญเยอรมนี ได้วางหลักว่า “การกระทำจะถูกลงโทษได้ก็ต่อเมื่อมีการให้ความหมายแห่งการกระทำที่จะถูกลง โทษ โดยกฎหมาย ลายลักษณ์อักษรก่อนการกระทำนั้นได้เกิดขึ้น”ซึ่งเหตุผลในการที่จะต้องให้ กฎหมายมีความชัดเจนแน่นอนไม่มีผลย้อน หลังเป็นโทษแก่จำเลยนั้น ก็เพื่อให้ประชาชน ผู้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายได้มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าการกระทำหรือไม่กระทำ ของตนนั้น มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือไม่ เพื่อประกัน “เสรีภาพ” ของประชาชนในการกระทำได้ทุกอย่าง ที่กฎหมายไม่ห้าม ดังที่คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2489 ได้อธิบายไว้ว่า เสรีภาพ ก็คือ การที่ประชาชนทุกคนภาย ใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีสิทธิที่จะทำ จะพูด จะเขียน อย่างไรก็ได้ ถ้าในขณะที่ทำ ที่พูด ที่เขียนนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามและกำหนดโทษไว้[15]
ดังนั้น การที่ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 103/1 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 100 ต้องถือว่า มีความผิดและต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อาทิเช่น ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งที่มีองค์ประกอบภายนอกที่แตกต่างจากกับมาตรา 100 จึงไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ แก่ผู้กระทำความผิดละเมิดต่อมาตรา 100 ก่อนหน้ามีการประกาศใช้มาตรา 103/1 ในปีพ.ศ. 2554 เพราะหลัก "กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ"
ประเด็นที่ 3. เมื่อการลงโทษในทางกฎหมายอาญาที่ยุติธรรมต้องเหมาะสมแก่อาชญากรรม (Lets punishment fit to the crime)  และการพิจารณาถึงภยันตรายที่จะเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการกำหนดบทกฎหมาย อาญาไว้ลงโทษต้องคำนึงถึง "ความสัมพันธ์ของความเกี่ยวข้องของภยันตราย" และ "ความเข้มข้นของความเป็นไปได้ของภยันตราย"[16] ด้วย แต่ตามที่บทกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100 ในปัจจุบัน กำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี (ซึ่งมีอำนาจในการ กำกับ โดยทั่วไป กับส่วนราชการทั่วราชอาณาจักร ดังความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) เข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อาจเป็นการ จำกัดตัดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยปราศจากเหตุอันสมควร และไม่เกิดความเป็นธรรมสอดคล้องความสามารถในการกระทำอาชญากรรมเอื้อประโยชน์ อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และภยันตรายจากการนั้น ที่กฎหมายต้องการจะป้องกันและปราบปรามอย่างแท้จริง เพราะในบางหน่วยงานของรัฐ มีคณะกรรมการภายในที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งเป็นอิสระจากทางฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว จนทำให้ในความเป็นจริง ผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่แยกต่างหาก โดยมีการจัดการที่ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่อาจเอื้อมไปถึง (arm’s length) การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจเข้าไปแทรกแซง สั่งการ หรือดำเนินการเพื่อให้ได้ล่วงรู้ข้อมูลกิจการภายใน โดยเฉพาะเจาะจง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อมาใช้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชญากรรมได้ อันส่งผลให้ภยันตรายแห่งการกระทำอาชญากรรมดังกล่าว ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง   ดังนั้น หากจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีที่มีความผิดตามมาตรา 100 แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนี้ ต้องมีความผิดในฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อีกด้วย ก็สมควรปรับปรุงแก้ไขมาตรา 100 ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับภยันตรายของอาชญากรรมที่ได้เกิดขึ้นจริง มากกว่านี้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับบุคคลว่า "จะไม่ถูกลงโทษในข้อหาความผิดซึ่งมีองค์ประกอบถึงสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำ"




[1] น.บ., น.บ.ท., (สมัย 58), น.ม. ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร
  บทความนี้เป็นวรรณกรรมของข้าพเจ้าโดยเฉพาะ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวข้องด้วย
[2]  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/1 กำหนดว่า "ความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย"
[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 100 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี (2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับ หน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกับกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี…”
[4] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 บัญญัติว่า “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์…"
[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 122 มีความว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 100 … ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
[7] หนังสือชื่อ Managing Conflict of Interest in the Public Sector (A TOOLKIT) ซึ่งจัดพิมพ์ โดย OECD PUBLISHING (สำนักพิมพ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เมื่อปี ค.ศ. 2005 ได้อธิบายไว้ในหน้า 19 ความตอนหนึ่งว่า “The Public Official will have a conflict of interest, unless the private interest is disposed of, or is in fact being managed independently – at arm’s length” ข้าพเจ้าขอแปลข้อความนี้เป็นภาษาไทยว่า "การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ของ รัฐนั้นเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลได้รับการจัดการที่แยกต่างหากจากประโยชน์ส่วนรวม, หรือในความเป็นจริงนั้นผลประโยชน์ส่วนรวม อยู่แยกต่างหาก โดยมีการจัดการที่ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่อาจเอื้อมไปถึง (arm’s length) การกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์”
[8] พระราชบัญญัติธนาคารพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2478  มาตรา 15 บัญญัติว่า  “ให้คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และกรรมการอีกไม่น้อยกว่าห้านาย เป็นผู้ควบคุมและ ดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย  ให้ผู้ว่าและรองผู้ว่าการ เป็นประธานและรองประธานแห่งคณะกรรมการ โดยตำแหน่งตามลำดับ”
[9] พระราชบัญญัติธนาคารพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2478  มาตรา 14 บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงการคลัง) มีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย”
[10] โปรดดู เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป, แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร: พลสยาม, 2551), หน้า 146.
[11] โปรดดู คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550 หน้า 36-37.
[12] โปรดดู คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป,   ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร: วิญญูชน, 2547), หน้า 59.
[13] โปรดดู มานิตย์ วงศ์เสรี, “หลักการคุ้มครองความเชื่อถือหรือความไว้วางใจโดยสุจริตของประชาชน (Vertrauensschutzprinzip),”วารสารวิชาการ
ศาลปกครอง ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มกราคม -เมษายน) 2551: 40.
[14] The German Constitution Article 20 (Basic institutional principle; defense of the constitution order) “(2) All state authority is derived from the people. It shall be exercised by the people though election and other votes and though specific legislative, executive and judicial bodies.”
[15] สถิตย์ ไพเราะ, “เหตุใดจึงออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้,” รพี 51 (กรุงเทพมหานคร: ยงพลเทรดดิ้ง, 2551), หน้า 57.
[16] โปรดดู J. Feinberg, Harm to Others ch.5 cited in Andrew Ashworth, Principle of Criminal Law, Fifth Edition, (New York :Oxford University Press, 2006), p. 31.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น