แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิบากในชัยชนะ

ที่มา Voice TV


ใบตองแห้ง Baitonghaeng

ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


รัฐบาลชนะทั้ง 2 เด้ง หรือ 3 เด้ง ในการรับมือม็อบแช่แข็ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน รวมถึงการอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา ซึ่งผมไม่ได้ดู เห็นแต่หน้ารสนา โตสิตระกูล โดยไม่เปิดเสียง (ฮา)

แต่ก็ใช่ว่าจะวางใจได้ สบายแล้ว ผ่านฉลุย มั่นคง แข็งโป๊ก โดยไม่ต้องแช่ นับแต่นี้จะเดินหน้าจำนำข้าว เข้า TPP แก้รัฐธรรมนูญ ผ่าน กม.ปรองดอง ฯลฯ

เพราะในชัยชนะก็มีสัญญาณด้านลบ

นี่ไม่ใช่พูดถึงม็อบเสธอ้าย ซึ่งสื่อเลอะเทอะเพ้อเจ้อว่าชนะใจคนและจะกลับมา โถ ที่สังคมชื่นชมก็เพราะรู้จักประมาณตน ละลายม็อบแช่แข็งเองโดยไม่ต้องให้ไล่ (แต่ 2-3 วันให้หลัง พอได้ลมเป่าตูดหน่อย ประกาศตายแล้วยังอยากคัมแบ็ก คงคิดว่าตัวเองเป็นแวมไพร์ Twilight ชักเข้าชักออกฉลองวันจุดโคมลอย ที่ไหนได้เป็นแค่ซอมบี้)

ประเด็นน่าห่วงใยอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างหาก เพราะน้ำหนักข้อมูลเรื่องการประมูลต่างๆ โดยเฉพาะการจำนำข้าว รัฐมนตรีที่รับผิดชอบชี้แจงไม่เคลียร์ ทั้งที่เป็นข้อมูลเก่า รู้กันอยู่ว่าเขาจะอภิปรายจำนำข้าว ทำไมไม่เตรียมรับมือตอบโต้ หรือเคลียร์ปัญหาก่อนอภิปราย ฝ่ายค้านแฉเป็นฉากๆ เรื่องบริษัทนอมินี รัฐมนตรีพูดได้อย่างเดียว ขายข้าวจีทูจี ขายแล้วเขาไปจ้างใครหรือขายต่อให้ใครเราไม่รู้ แบะ แบะ

นี่ยังดีนะที่ฝ่ายค้านจุดกระแสไม่ขึ้น รัฐบาลยังคุมเกมได้ เหมือนที่ อ.ตระกูล มีชัย รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายเชียร์รัฐบาล ยังสรุปว่ารัฐบาลสามารถคุมเกมเหนือฝ่ายค้านในเชิงยุทธศาสตร์

จุดพลาดสำคัญคือ ประชาธิปัตย์เล่นเกมการเมืองมากไป ในการไม่ยอมอภิปราย รมว.พาณิชย์ แต่อภิปรายนายกฯ แทน โดยคาดว่าจะเป็นจุดอ่อน นายกฯ พูดไม่เป็น กะเอาเปรียบด้วยสำนวนโวหาร ที่ไหนได้ แพ้ภัยนารีตามเคย ผลสำรวจออกมาไม่ว่าโพลล์ไหนก็กินขาด ยิ่งลักษณ์อาจพูดไม่เก่งแต่พูดดีเกินคาด พูดแต่น้อย ให้คนอื่นช่วยชี้แจง และดึงคะแนนเห็นใจมาไว้กับตัว โดยเฉพาะเมื่อ ปชป.เล่นเกมถ่วงดึงญัตติถอดถอน และจะไม่ยอมให้รัฐมนตรีคนอื่นช่วย

ถ้าไม่เพราะเล่นเกมมากไป อภิปรายรัฐมนตรีตรงตัว เอาแต่เนื้อๆ รัฐบาลจะสะเทือนกว่านี้

ม็อบแช่แข็งก็มีส่วนทำลายการอภิปรายของฝ่ายค้าน (สม! พรรคการเมืองจากการเลือกตั้งดันให้ท้ายม็อบไม่เอาเลือกตั้ง) ม็อบดึงกระแสไปหมด ทำให้สถานการณ์ขึ้นถึงจุดสูงสุดตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.สังคมตึงเครียดเขม็ง แล้วก็โล่งกะทันหัน พวกแช่แข็งยังไม่ทันแข็ง ดันล่มปากอ่าว หมดอารมณ์กันไปตั้งแต่ยังไม่ทันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านจึงจุดกระแสไม่ติด

ประชาธิปไตยชนะ
ไม่ใช่รัฐบาลชนะ

ม็อบแช่แข็งตีโพยตีพายว่า ไม่มาตามนัดบ้าง รัฐบาลบล็อกบ้าง คุมกันไม่ติดบ้าง ฯลฯ อาจมีส่วนจริงแต่ไร้สาระ เพราะสาเหตุสำคัญคือม็อบหลุดโลก เรียกร้องในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สังคมไม่เอาด้วย

อย่าหลอกตัวเองสิครับ ที่บอกว่าจะมีคนมาเพิ่ม เท่าที่เคยเห็น ม็อบขาประจำก็มีเท่านี้แหละ ไม่ได้มีหน้าใหม่ที่ไหนหรอก ถ้ามีมาอีกเป็นหมื่นๆ ก็แปลว่า “ม็อบรับจ้าง” อย่างที่ถูกกล่าวหา นี่ผมรับประกันให้นะว่าม็อบที่มาส่วนใหญ่หลุดโลกโดยบริสุทธิ์ใจ

ม็อบที่บริสุทธิ์ใจ ตั้งใจ รัฐบาลบล็อกไม่ได้หรอกครับ เพราะบล็อกยังไงเขาก็มา ไม่ว่าเสื้อแดง เสื้อเหลือง ชุมนุมทีไร ก็โดนบล็อกด้วยกันทั้งนั้น ไม่เคยเห็นบล็อกได้

ส่วนที่ว่าคุมกันไม่ติดท่าจะจริง เพราะยังไม่ทันไรเลย ตัดรั้วลวดหนาม 7 ชั้น เข้าไปสลายตำรวจ ใจร้อนกลัวไม่ได้เลือดตกยางออกหรือไรไม่ทราบ แต่ผลที่ออกมา โดนยำเละ ทั้งตัวคนและตัวม็อบ เสียหายยับเยินทางการเมือง

เสธอ้ายจึงต้องเลิกทัพ พร้อมกับรับข้อหารับเงินทักษิณ สุดยอดเลย ข้อหานี้ใช้ได้ไม่มียกเว้นใคร ไม่ว่าขั้วไหน ใครไม่อยากโดนข้อหารับเงินทักษิณต้องดันทุรังเท่านั้น

รัฐบาลเสียหายไหม เสียบ้างเหมือนกันในแง่หลักการ ที่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มรดกรัฐประหาร แต่ในความเห็นประชาชน กลับมีคน 62% เห็นด้วย คนไม่เห็นด้วยมีแค่ 25% ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นพวกเจ้าหลักการประชาธิปไตย (อย่างผม) ที่เห็นว่าใช้ “ยาแรง” เกินไปโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้ยังพิสูจน์ด้วยว่า “ข่าวกรอง” ของรัฐบาลไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็สอบตก คราวนี้แล้วประเมินต่ำ คราวนี้ประเมินเว่อร์ เขียนเสือให้วัวกลัว ตีปี๊บให้ฝ่ายตรงข้าม

ถามว่าม็อบกลับมาได้อีกไหม มาแน่ แต่ก็จำนวนเท่านี้แหละ ใครเป่านกหวีดก็มา เสธอ้ายเสธเอี้ยที่ไหนนำก็มา เพราะเป็นกลุ่มคนที่กู่ไม่กลับแล้ว แต่พวกเขาไม่มีทางชนะใจสังคม ถ้าอยากชนะในเกมอำนาจ ก็ต้องก่อความรุนแรง ยึดทำเนียบ ยึดสภา ยึดสนามบิน แล้วมี “มือที่สาม” จุดไฟเผา หรือมีคนตาย ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน พวกไปม็อบนั่นแหละ อย่างน้อยต้องตาย 100 คน เพราะเมื่อ พ.ค.53 เสื้อแดงตาย 99 คน ต้องมากกว่าเสื้อแดงจึงจะเรียกอำนาจพิเศษออกมา เรียกทหารออกมา เรียกองค์กรอิสระยุบพรรค ถอดถอน

น่าเศร้านะที่ผมเชื่อว่าในม็อบมีคนพร้อมตายมากกว่า 100 คน เพราะดูภาพในม็อบแล้ว น่าจะมีมากกว่าห้าร้อยจำพวก บางคนชูป้าย “ใครปล้นประเทศไทย ไทยส่งออกน้ำมันให้อเมริกา ทำไม คนไทยใช้น้ำมันแพง” อุ๊บ๊ะ มันเกี่ยวกะรัฐบาลนี้ตรงไหน ยูโนแคลได้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในไทยตั้งแต่ปี 2511 โน้น ดูเหมือนคนพวกนี้ปิดกั้นตัวเองอยู่ในโลกของพวกเขา เชื่อเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่ส่งผ่านกันทางเฟซบุคหรืออีเมล์ ตอนนี้ก็เชื่อหัวชนฝาว่าประเทศไทยคือเศรษฐีน้ำมัน น้องๆ ซาอุ แต่ถูกทักษิณปล้นไปให้อเมริกา

คนมีความรู้ทั้งนั้นนะ บ้างเป็นหมอ เป็นวิศวะ เป็นดอกเตอร์ หรือเป็นแอร์โฮสเตสที่เห็นโลกกว้างแต่สมองแคบเพราะถูกบดบังด้วยอคติ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนพวกนี้พร้อมจะออกมา แต่ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาไม่มีทางชนะ เพียงแต่จะเป็นตัวถ่วงการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย และอันที่จริงก็เป็นตัวถ่วงการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาล เพราะกระแสวิจารณ์ที่ควรมีเหตุผล จะถูกแปรเปลี่ยนด้วยความไร้สติ ให้กลายเป็นความพยายามล้มล้างทั้งรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตย จนคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย

นั่นทั้งๆ ที่รัฐบาลก็มีจุดอ่อน ทั้งในแง่การดำเนินนโยบาย ประสิทธิภาพการบริหารงาน และน่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่จริง แต่เพราะสังคมเลือกเส้นทางประชาธิปไตย จึงสนับสนุนรัฐบาล

เอแบคโพลล์ให้ผลสำรวจที่น่าสนใจว่า คนส่วนใหญ่ 61.8% เป็นพลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 24.1% สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งน่าจะหมายถึงแดง 14.1% ไม่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งน่าจะหมายถึงเหลือง แปลว่าเดินไปตามถนน เจอคน 20 คน จะเป็นแดง 5 คน เหลือง 3 คน และไม่เป็นสีไหน 12 คน

แต่ในความเป็นจริง คน 85.9% กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล เพราะอะไร เพราะหัวขบวนของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลต้องการล้มรัฐบาลด้วยวิธีการนอกระบบ ซึ่งพลังเงียบไม่เห็นด้วย พลังเงียบต้องการความสงบ ถึงจะบ่นด่ารัฐบาลบ้าง ไม่ชอบตั้งหลายเรื่อง แต่หากจะเปลี่ยนรัฐบาลก็ให้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา

อย่างไรก็ดี พลังเงียบนี้เองจะเป็นอุปสรรคต่อการรุก แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่พลังเงียบมองว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวาย

เดิมพัน “จำนำข้าว”

แม้รัฐบาลชนะในสภาทั้งคะแนนไว้วางใจและการคุมเกม แต่ฝ่ายค้านก็หย่อนระเบิดไว้ 2 ลูก ลูกแรกคือการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีต่อ ปปช.โดยอ้างกฎหมาย ปปช.ฉบับแก้ไขใหม่ ปี 2554 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างและวิธีคิดคำนวณราคากลาง ขึ้นอินเตอร์เน็ต ปปช.ได้มีรายงานถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่คณะรัฐมนตรียังไม่ปฏิบัติตาม ฝ่ายค้านอ้างว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย

ที่จริงเรื่องนี้มีมุมให้ตีความแย้งกันอยู่ เพราะเวลาที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ภายใน 90 วัน 120 วัน ฯลฯ หลังมีผลบังคับใช้ ก็มีเรื่องมากมายที่ไม่เป็นไปตามนั้น แต่ไม่ยักมีใครถูกถอดถอน เพราะเอาเข้าจริงมันก็มีความไม่พร้อม มีปัญหาให้ต้องสะสางก่อนปฏิบัติตามกฎหมายใหม่

แต่ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่า ปปช.จะตีความในทางยกประโยชน์ให้รัฐบาลนี้

สมมติ ปปช.มีมติถอดถอนนายกฯ ตามมาตรา 270 ก็ต้องเอาเข้าวุฒิสภา ลงมติด้วยคะแนน 3 ใน 5 ซึ่งในความเป็นจริงอาจถอดถอนไม่ได้ เพราะวุฒิสภาชุดปัจจุบันเสียงแตกจนถอดถอนข้างไหนก็ไม่ได้ แต่ปัญหาคือนับแต่วันที่ ปปช.มีมติ นายกฯจะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้จนกว่าวุฒิสภาลงมติ

ช่วงเวลานี้แหละที่อาจมีพวกฉกฉวยโอกาสออกมาเคลื่อนไหว ก่อม็อบ กดดัน อ้างว่าเป็นสุญญากาศแห่งอำนาจ รัฐบาลเป็นอัมพาต สั่งการอะไรไม่ได้ เรียกร้องให้หา “คนกลาง” มาปกครองประเทศ (ตามสูตร) ทั้งที่การที่นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็เหมือนนายกฯ ไปเมืองนอก คือรองนายกฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่แทน

แต่พวกนักกฎหมายภิวัตน์ที่มีสื่อเป็นกระบอกเสียง ก็จะสร้างความปั่นป่วนจนได้แหละ

ให้สังเกตด้วยว่า ปชป.เน้นเป้าที่การถอดถอน เพราะเน้นอภิปรายเรื่องการประมูลจัดซื้อจัดจ้างไปสนับสนุนญัตติถอดถอนว่า ถ้านายกฯ ทำตามรายงานของ ปปช.ก็จะไม่เกิดการทุจริต

ระเบิดลูกที่สองคือ การอภิปรายเรื่องทุจริตจำนำข้าว การตั้งบริษัทนอมินีมารับซื้อข้าวจีทูจีที่ขายให้จีน จะเพิ่มโมเมนตัมในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าว ซึ่งมี TDRI เป็นหัวหอกทางวิชาการ

ในแวดวงวิชาการ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งเสนอมุมมองที่แตกต่างต่อนโยบายจำนำข้าว แต่ อ.อัมมาร สยามวาลา กับ อ.นิพนธ์ พัวพงศกร ก็เขียนโต้แย้งอย่างทันควัน สำหรับผม เห็นด้วยกับ อ.เกษียร เตชะพีระ ว่านี่คือนโยบาย “ทักษิณสไตล์” ใช้อำนาจรัฐแทรกแซงเศรษฐกิจ จัดการเกลี่ยผลประโยชน์ในภาคส่วนเศรษฐกิจต่าง ๆ ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกันใหม่ เพื่อปฏิรูปไปในทิศทางที่ได้คะแนนเสียงทางการเมือง

อ.เกษียรชี้ว่านี่เป็นการเปลี่ยนระเบียบเก่าของตลาดข้าว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลัก (แบบอัมมาร นิพนธ์) มองว่าเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ (แม้ความจริงคือผู้ส่งออกข้าวได้กำไรมหาศาลบนหลังชาวนา และเมื่อนโยบายนี้ออกมา ผู้ส่งออกก็ต่อต้านสุดขีดคลั่ง)

แต่ก็เป็นแบบฉบับทักษิณ คือมีจุดอ่อนและความเสี่ยงสูง เครื่องมือแทรกแซงได้แก่งบประมาณก้อนโต ซึ่งไม่น่าจะทำได้ต่อเนื่องยาวนาน เมื่อทำแล้วอาจทำให้ระเบียบเก่าทรุดโทรมไปแต่ระเบียบใหม่ยังไม่ลงตัวและอาจ ไม่ยืนนาน

ภายใต้ความเสี่ยงสูงนี้ รัฐบาลมีเดิมพันที่จะต้องดำเนินนโยบายจำนำข้าวให้ประสบความสำเร็จ ไม่มีคำว่าถอยแล้วครับ ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เป็นเดิมพันมูลค่ามหาศาล ไม่ใช่แค่เงิน 2 แสนล้าน แต่หมายถึงเสถียรภาพและคะแนนนิยมของรัฐบาลอีกต่างหาก

เดิมพันนี้สูงเช่นกันสำหรับผู้คัดค้าน โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว ไม่งั้นเราคงไม่เห็นนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน โดดลงไปร่วมม็อบแช่แข็ง ไม่งั้นหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม คงไม่ค้นข้อมูลมาอภิปรายเอาเป็นเอาตาย เพราะถ้าจำนำข้าวประสบความสำเร็จ ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีกว่า ปชป.ประกันราคาข้าว หมอวรงค์ก็คงต้องหนีพิษณุโลกไปทำสวนยางภาคใต้ เนื่องจากฐานเสียงเป็นชาวนาทั้งสิ้น (เคยอ่านรายงานพิเศษในนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง อ้างว่าชาวนาเสียประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว ปรากฏว่าชาวนาที่ไปสัมภาษณ์ เป็นชาวนาพิษณุโลกทั้งสิ้น)

การโต้แย้งเรื่องจำนำข้าวกำลังดำเนินอยู่ 2 เวที 2 ระดับ คือในทางวิชาการ ที่กล่าวได้ว่าไม่ค่อยมีนักวิชาการสนับสนุน แม้แต่ อ.นิธิ อ.เกษียร ก็เพียงแต่มองแง่ดีบางด้าน ไม่ใช่เชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู

อีกระดับคือนักการเมืองและสื่อ ที่กำลังโต้ตอบกันว่าด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงการทุจริต ซึ่งแม้ที่อภิปรายในสภาส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเก่า รู้อยู่แล้ว แต่รู้แล้วทำไมไม่ทำให้เคลียร์ น้ำหนักในส่วนนี้จะเข้ามาถ่วงเวทีแรกด้วย

นโยบายจำนำข้าวที่มีความเสี่ยงสูง ยังไม่มีผลกระทบรัฐบาลมากนัก ในช่วงที่ผ่านมา เพราะสาธารณชนให้โอกาส รอดูว่ารัฐบาลจะขายข้าวได้หมดหรือไม่ ขาดทุนเท่าไหร่ แต่อัตราเร่งอัตราเสี่ยงจะสูงขึ้นผกผันตามกาลเวลา

รัฐบาลก็ควรไปไล่เรียงเองว่าต้องโทษใคร คิดทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้แล้วยังปล่อยให้มีช่องโหว่ แถมยังคิดจะทำเรื่องใหญ่ๆ อีกเยอะ เช่น พาทักษิณกลับบ้าน (เมื่ออยู่ครบ 8 ปีมั้ง) ไหงบางคนสายตาสั้น เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า

หลังอภิปราย นายกฯ ควรจะเคลียร์อีกครั้ง เรื่องข้อมูลจำนำข้าวทั้งหมดที่ฝ่ายค้านอภิปราย ตรงไหนเกิดความไม่ชอบมาพากล ต้องอุดตรงนั้น ยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงมาตรการ ให้ความมั่นใจกับสาธารณชน แม้กระแสส่วนใหญ่อาจยังไม่ติดใจมากนัก แต่บอกแล้วว่านี่คือโครงการที่มีความเสี่ยงสูง ถ้ารัฐบาลแสดงท่าทีปรับปรุงแก้ไขก็จะเรียกคะแนนนิยมได้อีก ตุนไว้รับมือความเสี่ยง

ถ้าท้ายที่สุด ตัวเลขออกมารัฐบาลขาดทุนแสนล้าน แต่สามารถชี้แจงได้ว่ามีประโยชน์ต่อชาวนา ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เก็บภาษีทางอ้อมได้มากกว่า และดำเนินนโยบายอย่างโปร่งใส ก็จะเดินหน้าต่อไปได้

แต่ถ้าท้ายที่สุด รัฐบาลถูกกล่าวหาเรื่องมีเงื่อนงำ ไม่ชอบมาพากล มากขึ้นเรื่อยๆ ขาดทุนแสนล้านเท่ากัน เสถียรภาพรัฐบาลก็จะสั่นคลอน พลังเงียบอาจไม่หันไปให้ท้ายพวกแช่แข็ง แต่ก็อาจถอยห่าง แสดงการไม่ยอมรับผ่านช่องทางอื่น ขณะที่ผู้สนับสนุนรัฐบาลเองก็จะท้อ ถอดใจ ต่อสู้กันมาแทบตาย คนไม่กี่คนทำเสียหาย

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    1 ธ.ค.55
....................................






1 ธันวาคม 2555 เวลา 15:41 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น