แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก้าวข้ามการยึดติด ‘ความดี’ กับ ‘คนดี’ แบบลอยๆ

ที่มา ประชาไท




'no reason to be a good man with a bad guy'
จาก profile ทวิตเตอร์ของ @13daytimes, 2 ธันวาคม 2555


อาจฟังดูแปลกๆ แต่การยึดติด ‘ความดี’ กับ ‘คนดี’ ของคนไทยจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจสังคมโดยแท้จริงและสร้างปัญหาตามมามากมาย

ทั้ง นี้เพราะความคิดเรื่องความดีและคนดีมีปัญหาอย่างน้อย 3 ประการ: 1) นิยาม ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อันลื่นไหล 2) การให้ค่า ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ เหนือสิ่งอื่นใด และ 3) การพยามยามเข้าใจและอธิบายสังคมโดยผ่านแว่นของ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’

1) นิยาม ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อันลื่นไหล
สังคมไทย มีการใช้คำว่า ‘ความดี’ กับ ‘คนดี’ กันอย่างฉาบฉวยกว้างขวางและลอยๆ ทั้งๆที่คำจำกัดความของแต่ละคน แต่ละอุดมการณ์ อาจต่างกันโดยสิ้นเชิง สร้างความสับสนมากมายให้กับสังคม
‘คนดี’ ในระบอบเผด็จการ หรือสังคมไพร่ทาส อาจหาใช่ ‘คนดี’ ในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักความเสมอภาคเท่าเทียมก็เป็นได้
‘คนดี’ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอาจไม่อาจยอมรับให้ใครบังอาจวิพากษ์เจ้าได้ แต่ ‘คนดี’ ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ย่อมยอมรับว่าการตรวจสอบวิพากษ์เจ้า เป็นส่วนหนึ่งของความโปร่งใสและสิทธิในสังคมประชาธิปไตย

‘คนดี’ และ ‘ความดี’ ในสังคมทุนนิยม ก็ต่างจาก ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ในสังคมที่เป็นสังคมนิยมมิมากก็น้อย
กลุ่มเสื้อเหลืองและองค์การพิทักษ์สยามเชื่อว่าพวกเขาเป็น ‘คนดี’ ในขณะที่เสื้อแดง ‘เลว’ แต่เสื้อแดงก็คงมองตนเองว่าเป็น ‘คนดี’ เช่นกัน

‘คน ดี’ และ ‘ความดี’ ของอัลกออีดะห์ ย่อมเป็น ‘คนชั่ว’ และ ‘ความชั่ว’ ของสหรัฐอเมริกา หรือ ผู้หญิง ‘ที่ดี’ ในสังคมที่ยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ อาจมิใช่ผู้หญิงที่ ‘ดี’ ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ก็เป็นได้

‘คนดี’ สำหรับผู้เขียน อาจเป็น ‘คนเลว’ สำหรับผู้อ่านก็ย่อมเป็นได้

สรุปคือ นิยาม ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ แบบลอยๆ ไม่มี มันขึ้นอยู่กับคำจำกัดความจากมุมมองและอุดมการณ์อุดมคติอันหลากหลาย
การเป็น ‘คนดี’ และยึดถือ ‘ความดี’ ฟังแล้วดูดี และดูเหมือนเข้าใจง่าย ปฏิบัติง่าย ไม่มีปัญหาอันใด หากเอาเข้าจริงมันลื่นไหลซับซ้อนและพร่ามัวกว่าที่คิดมาก
ความคิดเรื่อง ‘คนดี’ และ ‘ความดี’ สามารถใช้เป็นกรอบบังคับให้ประชาชนหรือผู้อื่นปฏิบัติตามความคิดหรือ อุดมการณ์ที่นิยามกำหนดว่าอะไรคือ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ หากหากใครไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกถือว่าเป็น ‘คนชั่ว’ แล้วถูกจัดการหรือกำจัดด้วยวิธีที่อาจมิสู้ดีก็เป็นได้

มันคล้ายกับ เวลาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าคนคลั่งเจ้า ถามผู้เขียนว่าเป็น ‘คนไทย’ หรือเปล่า เพียงเพราะผู้เขียนต่อต้านกฎหมาย ม.112 ซึ่งปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน แท้จริงแล้วผู้ถามมิได้ต้องการคำตอบ หากต้องการจะบอกว่า ถ้าคุณคิดเห็นต่างจากเขา คุณก็ไม่ใช่ ‘คนไทย’ ในสายตาเขา และย่อมสามารถถูกไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่นอย่างเขมรหรือเมืองดูไบได้ โดยมิต้องมีสิทธิเหมือนคนไทยอื่นๆ – การพยายามกำหนดนิยามและวาทกรรมว่าอะไรเป็นไทยไม่เป็นไทย ก็ไม่ต่างจากการพยายามกำหนดว่าอะไรคือความดีและคนดีสักเท่าไหร่ ทั้งสองต่างเป็นเพียงความพยายามที่จะกำหนดให้คนเชื่อว่า มนุษย์ควรปฏิบัติตนอย่างไรภายใต้อุดมการณ์นั้นๆ การยัดเยียด ‘ความดี’ หรือ ‘ความชั่ว’ ให้คนๆ หนึ่ง จึงเป็นการยัดเยียดอุดมการณ์บางชนิด ในแง่นี้จึงไม่มีอะไรดีชั่วโดยปราศจากอุดมการณ์หรืออุดมคติรองรับ (ตัวอย่างเช่นสัตว์ล่าสัตว์ ที่ไม่ได้ดีชั่วในตัวของมันเอง) และในเมื่ออุดมการณ์มีหลากหลาย จะเกิดอะไรหากมีการยึดติด ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ในแบบของตนเองโดยไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น?


2) ปัญหาการให้ค่า ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ เหนือสิ่งอื่นใด
ปัญหา การให้ค่า ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งๆ ที่ผู้คนในสังคมมีอุดมคติ อุดมการณ์หลากหลายคือความสับสนทางความคิดและการถกเถียงอันไม่รู้จบ แถมมันนำไปสู่การสร้างปัญหาทั้งทางการเมืองและสังคมได้
ยกตัวอย่างเช่น รัฐประหาร 19 กันยา 2549 นั้นอ้างว่าทำเพื่อ ‘ความดี’ – กล่าวคือเป็นการกำจัดนักการเมือง ‘ชั่ว’ อย่างทักษิณ ชินวัตร โดยมิได้สนใจสิทธิทางการเมืองของผู้ที่เลือกพรรคไทยรักไทย เพราะคนที่สนับสนุนทักษิณถูกมองว่าถ้าไม่โง่ก็ชั่ว หรือทั้งสอง
เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มหาโหดอำมหิตและป่าเถื่อน ก็เช่นกัน มันเกิดขึ้นในนามของการปกป้อง ‘คนดี’
เร็วๆ นี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา พลเอกบุญเลิศ ผู้นำองค์กรพิทักษ์สยามก็อ้างว่าการยุติม็อบเป็นสัญญาณว่าแกแพ้นักการเมือง ‘ชั่ว’
แทนที่สังคมจะพูดถึงเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย การกระจายรายได้ การจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า การปกครองตนเองของท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด การจัดเก็บภาษีที่ดินของผู้ที่มีที่ดินจำนวนมาก รวมถึงภาษีมรดก คนไทยกลับมาติดกับอยู่กับความคิดเรื่อง ‘ความดี’ และการพึ่ง ‘คนดี’ ที่นิยามต่างกัน
ความโหดร้าย การมองชีวิตผู้อื่นอย่างไม่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม เกิดขึ้นได้จากการยึดติดกับ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อย่างแคบๆ จนคำว่า ‘ดี’ อาจไม่ดีเสียแล้ว 

3) การพยายามเข้าใจและอธิบายสังคมโดยผ่านแว่นของ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’
คง มิต้องขยายความให้มาก นอกจากจะบอกว่า การยึดติดกับ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ แบบ แคบๆ แบบของตนเพียงคนเดียว โดยมิยอมพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ต่างๆ ในสังคม รังแต่จะทำให้ผู้นั้นไม่เข้าใจพลวัตความหลากหลายของสังคมและอุดมการณ์ที่ ต่อสู้กันและอยู่ร่วมกันอย่างทับซ้อน
คนไทยจำนวนมิน้อยยังยึดติดกับความคิดที่ว่า คำตอบที่ถูกต้องมีเพียงคำตอบเดียว ซึ่งหาได้สะท้อนความสลับซับซ้อนของสังคมและชีวิตอย่างแท้จริงไม่ แต่การยึดกับ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อย่างแคบๆ โดยไม่สนใจอะไร และการมองทุกอย่างผ่านแว่นตาของความดีความชั่ว คนดีและคนชั่ว อาจช่วยให้พวกเขา ‘เข้าใจ’ สังคมได้ง่ายขึ้น แม้ว่ามันอาจเป็นความเข้าใจที่แคบและคลาดเคลื่อนอย่างมาก

ป.ล. จะเป็นการ ‘ดี’ หรือไม่ หากประชาชนจะตั้งคำถามกับ ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ ทุกประเภท ทุกรูปแบบ ว่าดีของใคร ดีเพื่ออะไร ดีจริงหรือไม่อย่างไร และพิสูจน์ได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น