นโยบาย ‘เอาใจ’ และ ‘อุดหนุน’ ภาคเกษตรของรัฐบาลไทยในหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนี้ดูมีอนาคตสดใสมากขึ้น แต่กระนั้น เมื่อมองไปถึงเรื่องแรงงาน พบว่าคนไทยเป็นแรงงานในภาคนี้น้อยลง และแรงงานข้ามชาติก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่และสภาพการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเหล่า นี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าเรากำลังจะย้อนกลับไปใช้ ‘แรงงานทาส’ อีกครั้ง
นอกเหนือจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศแล้ว อีกหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้ก่อน เลือกตั้ง และได้ลงมือปฏิบัติจริงไปแล้วก็คือนโยบายรับจำนำข้าว โดยประกาศจำนำราคาข้าวไว้ที่ 15,000 บาท ต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้คนในสังคมมองย้อนกลับไปให้ความแก่ภาคเกษตร อีกครั้ง
ด้านกระแสสังคมก็มีการพูดถึงกลุ่ม ‘ชาวนา’ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เป็นหลักมากขึ้น แต่กระนั้นเมื่อเราพิจารณาให้ยิบย่อยและลึกลงไปอีก ในหน้าข่าวกระแสหลักก็อาจจะมีเพียงแค่การพูดถึง ‘ชาวนายากจน’ และ ‘ชาวนาร่ำรวย’ เท่านั้น ส่วน ‘แรงงานรับจ้างในภาคเกษตร’ แทบที่จะไม่มีใครพูดถึง
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศเกือบครึ่งหนึ่งทำงานในภาคการเกษตร (ร้อยละ 41.1 ในปี 2554) แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยังคงต้องพึ่งพาการผลิตจากนอกภาค เกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากแผนพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชากรมีโอกาสได้รับการศึกษามากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานก็หันเหจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาค อุตสาหกรรมการผลิตและบริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการทำงานภาคเกษตร เป็นงานที่เหนื่อยยากต้องพึ่งพาธรรมชาติ รายได้น้อยไม่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการที่มั่นคงจึงทำให้วัยแรงงานในปัจจุบันไม่สนใจงานภาคเกษตร
นอกจากนี้แรงงานภาคการเกษตร มาจากลักษณะงานที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนต่ำ รายได้มีความไม่แน่นอนสูง โดยในปี 2552 ครัวเรือนลูกจ้างภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 11,087 ต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่รายได้ของครัวเรือนไทยเฉลี่ย 20,903 ต่อเดือน
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรของไทยลดลงอย่างเห็นชัดเจน จากปี 2533 ที่มีแรงงานภาคเกษตรสูงเกือบ 2 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด (ร้อยละ 63.4) เหลือเพียงร้อยละ 41.1 ในปี 2554 ในทางกลับกันแรงงานได้ก้าวเข้าไปทำงานในภาคบริการ และภาคการผลิตเพิ่มขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันแรงงานไทยหันไปประกอบอาชีพด้านการผลิต และการบริการเป็นจำนวนมาก และทำงานด้านการเกษตรลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ก็เป็นคำตอบสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบัน
แรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย ในเขตจังหวัดชั้นใน ยังคงเป็นที่ต้องการในภาคเกษตร จากผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2555 เรื่องแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรจังหวัดนครปฐม ชลบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จึงพบว่ามีการขยายตัวของภาคธุรกิจ โรงแรม อุตสาหกรรมและบริการมาก ทำให้ขาดแคลนแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตร เนื่องจากทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติต่างเคลื่อนย้ายไปทำงานในภาค อุตสาหกรรมและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเส้นทางที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัดดังกล่าว จะผ่านทางด่านจังหวัดสระแก้ว และตาก จากการสำรวจ พบว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในจังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการเป็นแรงงาน สัญชาติพม่ามากที่สุด ส่วนจังหวัดชลบุรีเป็นสัญชาติกัมพูชามากที่สุด ขณะที่กิจการในภาคเกษตรที่มีความต้องการใช้แรงงานข้ามชาติมาก ได้แก่ กิจการไม้ดอกไม้ประดับ (สวนกล้วยไม้) สวนยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย ฟาร์มสุกร แพปลาน้ำจืด ประมงทะเล และแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคเกษตรส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานแบบถาวร ดังนั้น จึงต้องมีการจูงใจให้แรงงานข้ามชาติพื่อทำงานในระยะยาว โดยการให้อัตราค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งเท่ากับแรงงานไทย รวมทั้งมีการจัดสวัสดิการต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ที่พัก ค่ารักษาพยาบาล โบนัส ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แรงงานข้ามชาติใน 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมายถึงร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานหรือทำพาสปอร์ต โดยนับเป็น 3 จังหวัดในภาคกลางที่มีแรงงานข้ามชาติมาจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานติดอันดับ 10 จังหวัดมากที่สุดของประเทศ (อันดับจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจการทำงานในประเทศไทย เนื่องจากสามารถส่งรายได้ให้ครอบครัวไปยังประเทศของตนได้เดือนละไม่ต่ำกว่า หมื่นบาท ทั้งนี้การมีแรงงานข้ามชาติแทนแรงงานไทยใน 3 จังหวัดดังกล่าว นับว่าช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถทำการเกษตรต่อไปได้ ถึงแม้ว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างแรงงานไทยมากกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและไม่มีปัญหาในการสื่อสาร อีกทั้งแรงงานไทยมีพื้นฐานการพัฒนาฝีมือแรงงานและการศึกษาที่ดีกว่า แต่เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรมีแนวโน้มเข้าสู่วันสูงอายุมากขึ้น ไม่สามารถทำงานหนักๆ ได้ ทำให้ความต้องการแรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มมากขึ้น และอาจจะขาดแคลนแรงงานข้ามชาติในการทำการเกษตรในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้แรงงานข้ามชาติทดแทนแรงงานไทยมากขึ้นใน 3 จังหวัดนี้ และจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น จึงนับว่าเป็นข้อดีต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและยังเป็นต้นแบบให้ผู้ ประกอบการพิจารณาถึงอัตราค่าจ้างและสวัสดิการแก่แรงงานภาคเกษตรอย่างไม่แตก ต่างกับนอกภาคเกษตร รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจดทะเบียน ทำพาสปอร์ต และพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจูงใจให้มีแรงงานข้ามชาติถูกต้องตามกฏหมายทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า นอกจากการจูงใจในเรื่องอัตราค่าจ้างและสวัสดิการแล้ว ทางเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ให้ข้อเสนอว่า ควรมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนงานของแรงงานข้ามชาติให้เหมาะสมไม่ส่ง ผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตร เช่น การออกกฎหมายให้แรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้แต่ต้องอยู่ในภาคเกษตรเหมือนเดิม เป็นต้น และควรมีการสำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติเพื่อให้โควต้าตามจำนวนที่ขาด แคลนจริง รวมทั้งการพิสูจน์สัญชาติ และลดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและการทำพาสปอร์ต ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีแรงงานใช้ในกิจการผลิตและดำรงรักษาอาชีพทำการเกษตรใน พื้นที่ดังกล่าวได้ต่อไป |
ชีวิตความเป็นอยู่และสภาพการจ้างงาน
ทำไมผู้ประกอบการภาคการเกษตรจึงนิยมใช้แรงงานข้ามชาติ?
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าลักษณะงานที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนต่ำ รายได้มีความไม่แน่นอนสูง กอปรกับทัศนะคติที่ผู้ประกอบการที่มีต่อแรงงานข้ามชาตินั้น เอื้อให้มีการพยายามแสวงหาแรงงานข้ามชาติมาเป็นปัจจัยผลิต
ในด้านปัจจัยที่ทำให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากฝั่งพม่า (จากการลงพื้นที่สำรวจใน อ.แม่สอด จ.ตาก) ต้อง 'จำยอม' รับสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง และทนอยู่ในสภาพมาตรฐานคุณภาพชีวิตในระดับต่ำ ก็สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รายได้ที่ต่ำกว่าอย่างมากในฝั่งพม่า รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองในอดีตของพม่าที่ไม่เอื้อแก่การดำรงชีวิตอย่างมี 'อนาคต' ได้
จากงานศึกษาของ โลมฤทัย วงษ์น้อย (สถานภาพการจ้างแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตเกษตรของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก, วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550) พบว่าเขตชายแดนนั้น (โดยเฉพาะ จ.ตาก) ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่านั้น มีทัศนะคติเห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีจํานวนมากและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น แรงงานข้ามชาติมีความอดทนในการทํางานมากกว่าแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติไม่เกี่ยงในหน้าที่การงานถึงแม้ว่างานนั้นจะมีความเสี่ยงต่อ ปัญหาสุขภาพสูง รวมถึงลักษณะของงานที่ทําเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานซึ่งเหมาะกับแรงงานข้าม ชาติ, แรงงานข้ามชาติทําให้งานไม่หยุดชะงักในฤดูกาลการเก็บเกี่ยวผลผลิต และแรงงานข้ามชาติทําให้งานไม่เสียหายและสามารถทําได้ต่อเนื่องกันตลอดทั้ง ปี
ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจแรงงานในภาคเกษตร เขต จ.ตาก เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2555 รวมถึงการเก็บข้อมูลในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยของ จ.เชียงใหม่ และลำพูน และรายงานข่าวจากจังหวัดในเขตชายแดนไทย-กัมพูชา (ช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2555) พบประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง ‘ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ดี’ และ ‘สภาพการจ้างงานที่ขาดความมั่นคง’
โดยสภาพการทำงานต้องทำงานตั้งแต่ 8.00 น. – 17.00 น. (หรืออาจจะมากกว่านั้น เช่น การเฝ้าไร่นาให้นายจ้างตลอดเวลา) ทำงานแทบจะทุกอย่างในขั้นตอนเพาะปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนด้านการจ้างงานนั้น นายจ้างจ่ายค่าแรงแบบรายวัน (พบในการลงพื้นที่สำรวจใน จ.ตาก) หรือแบบจ้างเหมา (พบในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และเขตชายแดนไทย-กัมพูชา) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด (จากการลงพื้นที่สำรวจใน จ.ตาก)
ด้านค่าแรงมีความน่าสนใจคือ ในเขตตัว อ.แม่สอด จะมีการจ่ายค่าแรงที่สูงกว่าคือ 150 บาท แต่ในเขต ต.แม่กุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป จะมีการจ่ายค่าแรงแค่ 100 บาท ต่อวัน (สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมาย)
ในด้านสวัสดิการถึงแม้นายจ้างจะอนุญาตให้มีพื้นที่ปลูกบ้านพัก แต่ก็ไม่อนุญาตให้ทำการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพเอง (ถ้าจะให้เลี้ยงสัตว์ก็เป็นการเลี้ยงสัตว์ให้นายจ้าง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนตัวของคนงาน) ส่วนเรื่องอาหารก็เป็นสิ่งที่คนงานต้องจัดหากันเอง รวมถึงการรักษาพยาบาลและยารักษาโรคต่างๆ คนงานก็ต้องจัดหากันเอง
ชีวิตคนงาน เหม่าโท แรงงานชายในภาคเกษตร อายุ 35 ปี จากพะโค เข้ามาทำงานใน ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก เดินทางเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยเมื่อ 12 ปีที่แล้วกับภรรยาและลูก โดยเดินเท้ามาจากฝั่งพม่า สู่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยนายจ้างปัจจุบันของเหม่าโท เป็นนายจ้างคนที่สอง หลังจากที่เริ่มแรกเขาไปอยู่กับนายจ้างคนอื่นก่อน เหม่าโท ทำงานในไร่ของนายจ้าง ซึ่งประกอบไปด้วยการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยว ข้าว, ข้าวโพด, ถั่วลิสง, อ้อยและหอมแดง ในพื้นที่รวมกว่า 30 ไร่ กับคนงานอีก 5 คน ที่อยู่กับนายจ้าง เริ่มทำงานตั้งแต่ 08.00 น. – 17.00 น. รายได้ครั้งแรกที่ได้รับคือ 60 บาทต่อวัน แต่มาขึ้นเป็น 100 บาท เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยการจ่ายค่าแรงนั้นจะเป็นการจ่ายตามจำนวนวันทำงาน ซึ่งเดือนหนึ่งๆ เฉลี่ยแล้วทำงานเดือนละ 15 วัน และทุกปีจะมีการเว้นช่วงการทำงาน 2 เดือนครึ่ง 3 ครั้งตามฤดูการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชแต่ละชนิด ทั้งนี้ในช่วงที่ไม่มีงาน นายจ้างอนุญาตให้ไปทำงานรับจ้างทั่วไปในละแวกนั้นได้ แต่ไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ด้วยข้อจำกัดด้านสถานะที่ยังไม่ถูกกฎหมายของเห ม่าโท นอกเหนือจากรายได้จากการทำงานวันละ 100 บาทแล้วนายจ้างได้จัดที่พักให้กับเหม่า โทกับครอบครัว และแรงงานคนอื่นๆ แต่ทั้งนี้คนงานจะต้องเสียค่าน้ำค่าไฟเอง รวมถึงห้ามคนงานใช้พื้นที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพเอง ไม่มีสวัสดิการอาหารและยารักษาโรค หากแรงงานเจ็บป่วยขึ้นมาต้องหาซื้อยามารักษากันตามมีตามเกิด หรือเข้ามารักษาที่คลีนิคแม่ตาว ในตัว อ.แม่สอด เอง เมื่อถามถึงความคาดหวังในการเปลี่ยนงานที่มีรายได้ดีกว่าภาคเกษตร เหม่าโท ระบุว่าเขาเป็นคนรักสงบ ไม่ชอบความวุ่นวายในเมือง และทักษะการทำงานของเขาเหมาะกับการทำภาคเกษตรมากกว่า โดยเหม่าโทหวังว่าจะได้ค่าแรงขั้นต่ำตามที่รัฐบาลระบุไว้คือ 300 บาท รวมถึงสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายอาจจะช่วยให้เขาและครอบครัวเดินทางได้โดยไม่ ต้องหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดอว์ ขิ่น จู แรงงานหญิงจากพม่า อายุ 61 ปี ย้ายเข้ามาทำงานใน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ 5 ปี ในนาข้าว ไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วลิสง โดยเธอตามลูกชาย ลูกสาวและลูกเขยเข้ามาทำงานในไร่ของนายจ้างโดยเธอได้ค่าจ้างวันละ 120 บาท ส่วนแรงงานชายอย่างลูกชายและลูกเขยของเธอได้วันละ 150 บาท แต่เธอระบุว่าลักษณะและขอบเขตงานของแรงงานชายและหญิงในไร่ของนายจ้างนั้นก็ มีหน้าที่แทบจะเหมือนกันหมด ทั้งในขั้นตอนการเพาะปลูก ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเธอมีช่วงว่างงานที่นายจ้างจะไม่จ่ายค่าแรง 15 วันต่อครั้ง และในหนึ่งปีจะมีช่วงว่างงานแบบนี้ 4 ครั้ง สำหรับสวัสดิการนั้น ก็เช่น เดียวกับแรงงานข้ามชาติรายอื่นๆ ในภาคเกษตร คือนายจ้างได้จัดที่พัก แต่ทั้งนี้คนงานจะต้องเสียค่าน้ำค่าไฟเอง ไม่มีสวัสดิการอาหารและยารักษาโรค รวมถึงห้ามคนงานใช้พื้นที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพเอง โดยมิได้รับความยินยอมจากนายจ้าง ในด้านความเป็นอยู่ เนื่องจากเป็นผู้หญิงและเป็นผู้อาวุโสในครอบครัว ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลลูกๆ ทำงานบ้านรวมถึงงานบุญต่างๆ ที่เธอต้องเป็น ‘แม่งาน’ ในการทำบุญ (จับจ่ายซื้อของ เสียเงินค่าทำบุญ) ให้กับลูกๆ อีกด้วย ทั้งนี้ก่อนที่จะส่งลูกๆ มาทำงานยังฝั่งไทยนั้น เธอทำอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เนื่องด้วยเธอเป็นหม้ายและสูญเสียที่ทำกินในประเทศพม่าไปเมื่อ 23 ปีก่อนเนื่องจากถูกรัฐบาลยึดไป ในด้านความคาดหวัง เธอกล่าวว่ามีความสุขดีในการทำงานในประเทศไทย และขอทำงานในประเทศไทยต่อไปเรื่อยๆ เพราะได้อยู่กับครอบครัว แต่ทั้งนี้ลูกชายและลูกสาวอยากให้เธอกลับไปยังประเทศพม่า เพื่อให้พักผ่อน เนื่องจากเธออายุมากแล้ว |
นอกจากนี้ยังพบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงอีกรูปแบบที่น่าสนใจในอีกหลายที่ เช่น การจ้างแรงงานเกี่ยวข้าว ชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่าลักษณะการจ้างงานจะเป็นการจ้างรายวัน โดยแรงงานชาวกัมพูชาจะรอให้นายจ้างชาวไทยมารอรับเพื่อข้ามแดนไปเกี่ยวข้าวใน ฝั่งไทย พร้อมนำเอกสารของนายจ้างชาวไทยที่มารอรับส่งตัว อาทิ บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเพื่อมาลงบันทึกในหนังสือรับส่งตัวเพื่อขอรับแรง งานชาวกัมพูชาข้ามแดนกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือใช้วิธีการแบบอื่นในการเข้าเมือง และสภาพการจ้างงานนั้น จะจ้างเกี่ยวข้าวโดยเหมาเป็นไร่ ไร่ละ 550 บาท หรือจ้างเป็นรายวันอยู่ที่คนละ 180-220 บาท และการจ้างแรงงานเก็บลำไย ในเชียงใหม่และลำพูน นิยมใช้การจ้างแรงงานเป็นรายวัน วันละ 200 – 300 บาท หรือจ้างเหมาเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 2.5 บาท (ไม่มีสวัสดิการอื่นๆ เช่นที่พักหรืออาหาร คนงานต้องรวมกลุ่มกันเช่าบ้านและจัดหาอาหารกันเอง) เป็นต้น
ทั้งนี้พบว่าแรงงานในภาคเกษตร โดยเฉพาะในเขตชายแดนอย่าง อ.แม่สอด จ.ตาก มีสภาพคล้ายกับถูกบังคับใช้แรงงานทางอ้อม ไม่มีสิทธิในการต่อรองเรียกร้องค่าจ้างหรือการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ ดีขึ้นได้ ไม่มีสิทธิในการรวมตัวเพื่อต่อรอง เนื่องด้วยสถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้นายจ้างมีอำนาจต่อรองสูงกว่าคนงานเป็นอย่างมาก
ค่าแรงที่ต่ำและการขาดอำนาจต่อรองของแรงงานข้ามชาตินี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายจ้างในภาคเกษตรนิยมใช้แรงงานข้ามชาติที่มี สถานะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาจจะกล่าวได้ว่าการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรมีความยืดหยุ่นสูง มากกว่าในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยซ้ำ.
ข้อมูลประกอบการเขียน
ข้อมูลลงพื้นที่สำรวจ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2555
ทิศทางการทำงานของแรงงานไทย (http://service.nso.go.th, เข้าดูเมื่อ 20-11-2555)
http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/citizen/news/news_lfsdirect.jsp
แรงงานเขมรทะลักเกี่ยวข้าวไทย (โพสต์ทูเดย์, 21-11-2555)
http://www.posttoday.com/กทม.-ภูมิภาค/ภาคอิสาน/189249/แรงงานเขมรทะลักเกี่ยวข้าวไทย
สถานภาพการจ้างแรงงานต่างด้าวภาคการผลิตเกษตรของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก (โลมฤทัย วงษ์น้อย, วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550)
สศก. เปิดผลศึกษาการจ้างแรงงานต่างด้าวใน 3 จ. ภาคกลาง ระบุมีแนวโน้มการจ้างที่ถูกกฎหมายมากขึ้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 12-3-2555)
http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=12020
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น