แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2556

บันทึกเตือนใจ เรื่องการทำประชามติ

ที่มา Thai E-News

 ตัดหน้าการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ วาระสามของสภา

(จากเว็บบล็อก Thais' genuine democracy revival)
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้องของพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาแบบลากตั้ง (สรรหา) จำนวนหนึ่งที่ยื่นต่อศาลฯ กล่าวหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จนกระทั่งผ่านวาระสองมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ยังค้างเติ่งรอการลงมติวาระสามนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง
หากแต่ได้มีตุลาการท่านหนึ่งในจำนวนเสียงข้างมาก ๕ เสียงแสดงความเห็นระบุไว้ในคำวินิจฉัยกลางว่า ถ้าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับน่าจะจัดให้ประชาชนลงมติเสียก่อนว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
จากนั้นก็เป็นที่ถกเถียงกันมากในระหว่างฝักฝ่ายทางการเมืองทั้งสองข้าง พรรคฝ่ายค้านนั้นถึงกับประกาศออกมาว่าจะรณรงค์ คว่ำ การทำประชามตินี้ ในส่วนพรรครัฐบาลก็บังเกิดอาการตื่นกลัวในคำวินิจฉัยศาล รธน. ทั้งที่บนปกหน้าเห็นได้ว่าเป็นการยอมรับให้แก้ไข รธน.ได้ แต่ในความเห็นเสริมจะกลายเป็นกับดักให้มีผู้ไปยื่นคำร้องยุบพรรค และถอดถอนบรรดาผู้สนับสนุน โดยถือว่าการลงมติวาระสามเป็นการกระทำผิดครบองค์ประกอบ ซึ่งแต่เดิมยังคาราคาซังอยู่แค่ผ่านวาระสองความผิดยังไม่สำเร็จ
ทางคณะรัฐมนตรีมีมติ และนายกรัฐมนตรี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง ณ บัดนี้มีทางเลือกสองอย่าง คือการทำประชาเสวนา และประชามติ เท่ากับตัดเรื่องการลงมติวาระสามออกไป มิใยที่ นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติซึ่งเป็นแนวร่วมใกล้ชิดของรัฐบาล และมีแกนนำบางคนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นสมาชิกสภาในสังกัดพรรคเพื่อไทย ประกาศออกมาชัดเจนในลักษณะที่บางคนเรียกกันว่า ปฏิญญาเขาใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติตัดหน้าการลงมติวาระสาม*(1)
จึงยิ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่ารัฐบาล โดยผ่านทางมติคณะรัฐมนตรีนี้ ตัดสินใจอย่างสุกเอาเผากิน เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของตุลาการศาล รธน. นัยว่าเพื่อการปรองดองกับฝ่ายตรงข้ามที่มีฐานะเหนือกว่าคู่กัด โดยไม่คำนึงผลกระทบในด้านนิติรัฐ และนิติธรรม ในเมื่อการแก้รัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ ที่คั่งค้างอยู่นั้นเป็นการดำเนินการอันถูกต้อง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว หากชิงทำประชามติตัดหน้าจะกลับกลายเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๕ ไปเสียฉิบ*(2)
มิพักจะต้องคำนึงถึงจำนวนเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำประชามตินี้อีกราว ๒,๕๐๐ ล้านบาท แล้วหากประชามติผ่านเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ต้องไปทำประชามติอีกหน จะเป็นการผลาญงบประมาณเพื่อถ่วงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญบนข้ออ้างแห่งการปรองดอง ทั้งๆ ที่ฝ่ายค้านที่เป็นคู่กัดตัวเปิดก็ตะบันค้านเสียจนไม่พะวงว่าการประกาศคว่ำประชามตินั่นก็เป็นความผิดฐานกลั่นแกล้ง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองมาตรา ๙๔ และ ๑๐๔ ที่ศาลอาจสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมืองไม่เกิน ๕ ปีได้*(3)
อย่าง ไรก็ดีเมื่อเสียงทักท้วง และเสียงค้านดะอื้ออึงขึ้นมา ก็เกิดแนวคิดเลี่ยงบาลี เพราะมีความเห็นจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าให้ทำการแก้รัฐธรรมนูญเป็น รายมาตราแทนได้ (เนื่องจากฝ่ายค้านปัจจุบันเมื่อครั้งเป็นรัฐบาลก็เคยแก้รัฐธรรมนูญแนวนี้มา แล้ว) ท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรี และตัวแทนพรรคร่วมนัดหมายกันไปปรึกษาหาทางในวันที่ ๖ - ๗ มกราคม ๒๕๕๖ นี้ว่าจะเลือกดำเนินการอย่างใดแน่ ทำให้ประชาชนบางส่วนมีความหวังว่าการกลับไปลงมติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ วาระสามให้ครบถ้วนกระบวนความตามอำนาจรัฐสภาเสียก่อนแล้วค่อยทำประชามติ ยังอาจเป็นทางเลือกหนึ่งได้
ผู้เขียนพร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เห็นพ้องต้องกันจำนวนหนึ่งจึงจำเป็นต้องทำบันทึกเตือนใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ในฐานะที่เราเป็นเสียงประชาชนผู้เลือกให้พรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอย่างสง่างามเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔  ด้วยความหวังอย่างหนึ่งตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบายไว้ว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ปลอดจากสลักอำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหาร
ว่าการจะจัดให้มีประชามติตัดหน้าการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ วาระสาม เป็นการละเมิดอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แม้จะตีความว่าการละเลยไม่ลงมติให้ครบกระบวนการดังกล่าวเป็นการปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร ไม่เป็นที่ต้องการอยู่แล้วโดยปริยายก็ตาม
ทว่าครรลองของระบอบรัฐธรรมนูญก็ต้องรักษาไว้ มิใช่ใช้ภาพลักษณ์ที่เด่นกว่าของฝ่ายบริหารก้าวล้ำอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เฉกเช่นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญใช้ศักดิ์ศรีแห่งสถาบันอันใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทองค์พระประมุขข้ามหน้าอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ และรัฐบาลหลายครั้ง
ว่าการจัดทำประชามติอันทำให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้วสองวาระเป็นการเสียเปล่านี้มีลักษณะของการเกี๊ยเซี๊ยทางการเมือง*(4) และเกลี่ยอำนาจอธิปไตยกันในสามเส้าระหว่างคณะรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนฯ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่คำนึงถึงฐานะของประชาชนซึ่งเป็นอธิปัตย์อย่างแท้จริง เป็นผลให้หลักนิติรัฐรวนเร
ว่า การเลี่ยงบาลีใดๆ นอกเหนือจากการลงมติวาระสามให้ครบถ้วนกระบวนการทางนิติบัญญัติเสียก่อน จัดเป็นการเบี่ยงเบนหลักแห่งประชาธิปไตย ผลกระทบอันสำคัญจากการกระทำเยี่ยงนี้ก็คือ ช่วยสงวนอำนาจต่างๆ ที่คณะรัฐประหาร คปค. สอดไส้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ในเมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้บางท่านให้ความเห็นที่จะเลี่ยงไปทำการแก้ไข รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน โดยจะไม่แตะต้องมาตรา ๓๐๙*(5) ซึ่งกำหนดห้ามเอาผิดต่อ และรับประกันคำสั่งต่างๆ ของคณะรัฐประหาร คปค. ไว้อย่างถาวร



นอกเหนือจากนั้นในการวิดีโอลิ้งค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นชอบกับการทำประชามติแทนการลงมติวาระสามที่ว่าเป็นเรื่อง หมู บวกกับคำให้สัมภาษณ์จากฮ่องกงต่อรายการโทรทัศน์ดาวเทียมว้อยซ์ทีวี โดยกล่าวถึงองค์กรอิสระด้วยว่า ต้องยังอยู่ พร้อมเสริมว่า โครงสร้างที่มีอยู่เดิมผมว่าก็โอเค เพียงแต่การเข้าสู่อำนาจก็ดี การก้าวพ้นอำนาจก็ดี ต้องมีความเป็นธรรมมากขึ้น และเชื่อมโยงไปที่อำนาจประชาชนมากขึ้น*(6) 

ผู้ที่เป็นห่วงใยว่าการทำประชามติที่ต้องการให้มีผู้มาออกเสียงถึง ๒๔ ล้านคนนี้จะเป็นเรื่องหมูได้ อย่างไร ต้องลองฟังแนวคิดของอดีตสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหาท่านหนึ่ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะได้คาดคะเนตัวเลขผู้จะไปใช้สิทธิลงประชามติว่าเป็นไปได้ที่จะมี ผู้ใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดราว ๔๘ ล้านคน 



โดยดูจากจำนวนผู้ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ๑๕ ล้านคน พรรคร่วม (ซึ่งสนับสนุนการทำประชามติครั้งนี้) อีก ๕ ล้านคน รวม ๒๐ ล้านคน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศจะคว่ำประชามติด้วยการชักชวนประชาชนไม่ไปออกเสียง มีผู้สนับสนุนอยู่ ๑๐ ล้านคน จึงเหลือจำนวนผู้มีสิทธิที่ไม่เป็นฝ่ายใดอยู่ ๑๘ ล้านคน ในจำนวนนี้เชื่อว่าจะมีผู้ที่นอนหลับทับสิทธิอย่างเก่งก็ ๒ ใน ๓ ทำให้จะมีผู้ไปออกเสียงเพิ่มอีก ๖ ล้านคน ก็จะได้องค์ผู้ใช้สิทธิทั้งสิ้น ๒๖ ล้านคนเกินกึ่งอย่างสบายๆ
ส่วนจำนวนเสียงที่จะผ่านประชามติตามกฏหมายระบุไว้ให้ใช้เกณฑ์ข้างมาก ซึ่งก็คือราว ๑๒ ล้านคนนั้น จำนวนนี้เสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมีเพียงพอไม่ยากเย็นอะไร โดยเฉพาะในยามที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่ในระหว่างคะแนนนิยมขาขึ้น
มองในแง่ยุทธศาสตร์ทางการเมืองแล้วการผ่านประชามติง่ายกว่าการเอาชนะมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามที่ต้องได้จำนวน ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ๓๖๕ เสียง อันเป็นเรื่องน่าห่วงในสถานการณ์ที่ฝ่ายค้านปักหลักทั้งต้าน และก่อกวนสุดกำลัง แถมยังได้ ส.ว. ลากตั้งที่มาจากผลพวงของการรัฐประหารอีกไม่น้อยกว่าสี่สิบคอยช่วยตีซ้ำ จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยจะแสดงกลเม็ดเด็ดพรายเลือกใช้ประชามติตัดหน้าวาระสาม
หากแต่ว่าชั้นเชิงทางการเมืองนั้นถ้าใช้บ่อยนักมักทำให้เสียหลักการได้ง่ายๆ
จากที่ได้ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ และผู้สันทัดกรณีเรื่องรัฐธรรมนูญหลายคน*(7) อย่างอดีต ส.ส.ร. คณิน บุญสุวรรณ นักกฏหมายอิสระจากฮาวาร์ด วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีต ส.ว. สรรหา เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และประธาน นปก. มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ รศ.ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (ในบทความเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ๕๐ ถึงทางตัน) และรศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า







รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังกระทำ กิจการ อันเป็นเรื่องช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองแก่ตนในแบบเดิมๆ มากกว่าความพยายามลงหลักระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงให้มั่นคง อันรวมถึงการเชิดชูระบบรัฐสภา การจัดทำประชามติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแทนการลงมติวาระสามนี้เป็นการตัดหน้ารัฐสภาอย่างแจ้งชัด แล้วยังเป็นการรบกวนกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
ทำให้ประชาชนเกิดความกังขาว่าเป็นลักษณะของการดำเนินกลยุทธทางการเมืองในแบบเดียวกับวิธีการของกลุ่มคนที่ทำการผลิต และได้รับผลพวงของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ นั่นเอง
*(1) ดูความเห็นของนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ที่ให้เหตุผลในการคัดค้านประชามติประเด็นหนึ่งว่า ถ้าไม่ผ่าน ความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็หมดไปทันที พวกเขาจะออกมาส่งเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ว่าแก้ไม่ได้อีกแล้ว http://www.prachatai.com/journal/2013/01/44491
*(2)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๕ วรรคสี่ กำหนดว่า การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้
*(3) ดูคำให้สัมภาษณ์ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในรายการจุดเปลี่ยนประเทศไทย ทางสถานีดาวเทียมเอเซียอัพเดท http://www.youtube.com/จุดเปลี่ยนประเทศไทย/เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
*(4) ตามความเห็นของ รศ. ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การต่อสู้นี้ไม่ใช่ผมไม่เข้าใจ เขามองในลักษณะที่ว่า ช้า แต่อย่างน้อยอำนาจส่วนหนึ่งของรัฐอยู่ในมือของเขา แต่เราก็ต้องดูกันต่อไป คือสุดท้ายมันจะได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าสุดท้ายเกมมันยาวไป คุยกันไปแล้วก็เกี๊ยเซี๊ยะกันไป จบลงไปแบบนี้ คนที่สู้มาไม่ได้อะไร สุดท้ายก็ลุกขึ้นมาทำอะไรกันเอง http://www.prachatai.com/journal/2013/01/44488
*(5) จากคำให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีhttp://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=17230
*(7) สามารถรับชม และฟังได้จากคลิปยูทู้ปดังต่อไปนี้ http://www.youtube.com/ตรงไปตรงมา/คณิน บุญสุวรรณ http://www.youtube.com/ที่นี่ เอ็มวีห้า/วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ http://www.youtube.com/จุดเปลี่ยนประเทศไทย/มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ http://www.youtube.com/สนทนาประชาไท/วรเจตน์ ภาคีรัตน์!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น