แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

เราสร้างพระเจ้าขึ้น เพื่อฆ่าพระเจ้าองค์อื่นๆ

ที่มา ประชาไท


‘คนดี’ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วไทยน่าจะถูกอ้อนวอนด้วยคำขอพื้นฐานนี้จากพ่อแม่ที่ กำลังมีลูก และน่าจะเป็นสิ่งปรารถนาสูงสุดของคนเป็นพ่อแม่ทุกคน
สังคมไทยช่วงเจ็ดแปดปีมานี้ ‘คนดี’‘ความดี’‘ศีลธรรม’‘จริยธรรม’‘คุณธรรม’ เป็นกลุ่มคำที่ถูกเฆี่ยนตีสาหัสที่สุดจากสถานการณ์ทางการเมือง มันปรักหักพังไม่มีชิ้นดีในสายตาบางคนบางกลุ่ม บ้างถึงกับตั้งความหวังว่าจะรื้อถอนมันเสีย แล้วสถาปนาระบบศีลธรรมใหม่ที่อิงแอบแนบแน่นกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย
นั่นเป็นเพราะกลุ่มคำข้างต้นผูกโยงกับ ‘อำมาตย์’ ‘เผด็จการ’ ‘ความไม่เป็นธรรม’ ‘ความไม่เท่าเทียม’ งานของนักวิชาการหรือปัญญาชนที่ผมอ่านผ่านตาบ้าง อธิบายว่าความดีที่สังคมไทยยึดถือถูกสร้างโดยชนชั้นบนที่ต้องการผูกขาดอำนาจ เอาไว้ในมือ มันคืออุปกรณ์เชิงนามธรรมชิ้นมหึมาที่กดทับและปิดปากคนจน-คนด้อยโอกาสใน สังคมมิให้หืออือ ตอกย้ำให้คนเล็กคนน้อยใต้ถุนสังคมเตือนตนไว้เสมอว่า “พวกเจ้าเป็นพวกโง่ จน เจ็บ และไม่ดีพอ”ฉะนั้น จงอย่าเสนอหน้า ข้อถกเถียงแนวนี้แยกไม่ออกกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่กำลังเป็นสงครามแหลมคม อยู่ตอนนี้
ณ ปัจจุบัน ดังที่รับรู้ ความดีและศัพท์ในหมวดหมู่เดียวกันกำลังสั่นคลอน แต่เพราะเป็นค่านิยม ความเชื่อที่อยู่มาแสนนาน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะล้มล้างลงได้ชั่วข้ามคืน
0 0 0
ผมไม่มีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ ยิ่งปรัชญายิ่งไม่ต้องพูดถึง แค่พอรู้เลาๆ ว่า อะไรดี-ไม่ดี คือคำถามอมตะนิรันดร์กาลตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ถึงยุคสมาร์ทโฟนก็ยังไม่มีคำตอบใดที่ทุกฝ่ายยอมรับ บ้างก็ว่าหากจะตัดสินดี-เลวให้ดูที่ผลลัพธ์สุดท้าย บ้างให้ดูที่เจตนา บ้างให้ใช้เหตุผลเพื่อเลือกกระทำสิ่งที่ดีที่สุด ...ก็ว่ากันไป
ผมว่า ‘ความดี’ เป็นสิ่งนามธรรมที่แปลกประหลาดและน่าสงสาร ดูเหมือนทุกคนอยากครอบครองมัน แต่ก็ปฏิเสธมัน
เท่าที่สังเกต ยามที่เราชื่นชมใครสักคนว่าเป็นคนดีแบบซึ่งๆ หน้า มักได้รับการปฏิเสธ (ส่วนใครจะประกาศดังๆ ว่า ‘ผมจะเป็นคนดี’ ผมถือเป็นกรณียกเว้น) บางคนกลับอธิบายถึงความชั่วร้ายหรือข้อบกพร่องของตนเพื่อบอกว่า “ผม/ฉันไม่ใช่คนดีอะไรหรอก” เหมือนกับต้องการสร้างเกราะป้องกันบางๆ เผื่อไว้สำหรับการกระทำผิดพลาด แน่นอน เราไม่มีทางรู้ความรู้สึกนึกคิดภายในของคนผู้นั้น เขาอาจกำลังเหลิงลอยไปไกลแล้วก็ได้
ขณะที่บางคนเลือกจะแสดงด้านมืดให้เห็นกันจะๆ อาจเพราะไม่อยากปิดบังความเป็นตัวตน อาจเพราะต้องการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อกระทำสิ่งที่อยู่นอกบรรทัดฐานสังคม แต่อยู่ในอาณาเขตความพึงพอใจส่วนตัว หรือเหตุผลใดก็ตาม บ่อยครั้งที่การแสดงด้านมืดที่ใครๆ เชื่อว่ามันคือตัวตนของคนผู้นั้นก็กลายเป็น ‘ความดี’ อีกชนิดหนึ่งที่ถูกจัดหมวดอยู่ในความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา แน่นอน อีกเหลี่ยมมุมหนึ่งมันก็มีค่าใช้จ่ายสูงที่คนผู้นั้นต้องจ่าย
‘ความดี’ ช่างเป็นเรื่องน่าปวดหัว ดังนั้น “ผม/ฉัน ไม่ใช่คนดีอะไรหรอกครับ/ค่ะ” จึงเป็นประโยคที่คลุมเครือในตัวมันเอง เหมือนจะบอกว่า ฉันเป็นคนไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว
คนดีมักมีที่ทางให้ขยับเนื้อขยับตัวน้อยกว่า มันถูกจำกัดด้วยมาตรฐานที่คนภายนอกคาดหวังว่าจะได้เห็นจากคนดีผู้ครอบครอง ความดี ขณะที่คนไม่ดีดูจะมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับกระทำตามความต้องการของจิตใจ โดยไม่ต้องถูกคาดหวังจากใคร ถึงกระนั้นในโลกความเป็นจริงกลับไม่มีใครดีทั่ว ชั่วหมด
0 0 0
นอกจากความดีจะโคตรยาก ซับซ้อน และน่าสงสารแล้ว มันยังเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช่, ดังที่รู้ มนุษย์เข่นฆ่ากันด้วยเหตุผลแห่งความดีมาแต่ไหนแต่ไร แต่จะทำเช่นนั้นได้ มนุษย์จำต้องหยิบยื่นญาติผู้ใกล้ชิดความดีที่สุดให้แก่อีกฝ่ายเพื่อสร้าง ความชอบธรรมแก่การเข่นฆ่า ด่าทอ เหยียดหยาม-ความชั่วร้าย
ในศาสนาคริสต์ ลูซิเฟอร์ จอมมารผู้เกลียดชังมนุษย์ก็คืออดีตเทวทูตมือดีของพระเจ้า ฮาเดส จ้าวแห่งโลกใต้พิภพเป็นน้องชายของซูส ราชาแห่งขุนเขาโอลิมปัส และพระพุทธเจ้าก็ต้องผจญพญามารบนหนทางสู่โพธิ ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์ โดยเฉพาะในยุคกลางของยุโรป ความดี-ความชั่ว ที่มองผ่านแว่นของศาสนาค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่อำมหิตนัก
ปัจจุบัน ศาสนาไม่ใช่กรอบแว่นหลักที่คนเราใช้มองความดี-ความชั่ว แต่ความอำมหิตยังไม่เสื่อมคลาย
0 0 0
ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องมีมโนทัศน์เรื่อง ‘ความดี’ หรือพูดให้ตรงกว่านั้น คือมีเกณฑ์อะไรบางอย่างที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่ ใช่-ไม่ใช่ ควร-ไม่ควร เหมาะ-ไม่เหมาะ ขืนไม่มีเกณฑ์เลยโลกนี้คงอลหม่าน ซึ่งถึงที่สุดอาจไม่จำเป็นต้องเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความดี’ ก็ได้
ความยากคือไอ้เกณฑ์ที่ว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและบริบทที่ห้อมล้อม
โลกปัจจุบันคงไม่มีแนวคิดทางการเมืองการปกครองใดที่ทรงอิทธิพลมากเท่า ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีเกณฑ์คุณงามความดีหรือชุดคุณค่าของมันอยู่ชุดหนึ่ง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีเกณฑ์ชุดหนึ่ง และเกณฑ์อื่นๆ อีกหลายชุดตามความเชื่อชุดอื่นๆ ของมนุษย์ ความดีจึงมีชนิดพันธุ์ของมัน ข้อดีของการปกครองแบบประชาธิปไตยอยู่ที่มันเปิดโอกาสให้ชุดคุณค่าเหล่านี้ อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะตบตีกัน
ทว่า ความดีสามารถหลอกลวงมนุษย์ได้เก่งกาจไม่แพ้ความชั่ว ยิ่งความดีถูกฉาบเคลือบด้วยอุดมการณ์สูงส่งมากเท่าใด ความดีนั้นก็ยิ่งอำมหิตมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ปรากฏการณ์ที่ผมพบเจอจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ก็คือ กลุ่มก้อนความคิดทางการเมืองฟากฝั่งที่เรียกว่าอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายที่เชื่อ มั่นในประชาธิปไตยต่างก่นด่าคนที่เชื่อใน ‘ความดี’ อีกชุดหนึ่งเสียยับเยิน ‘ความดี’ ที่มิใช่ความดีของฉันมักถูกตีตราเป็นความชั่วร้าย ฝ่ายแรกเชื่อมั่นกับชุดคุณค่าแบบเดิมๆ และเห็นฝ่ายหลังมิใช่มนุษย์ เพราะจ้องจะทำลาย ‘ความดี’ ที่ตนเองยึดถือ ฝ่ายหลังซึ่งน่าจะเข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์ดีกว่าก็หยามเหยียด แดกดัน ด่าทอฝ่ายแรกชนิดไม่เป็นผู้เป็นคนพอๆ กัน สิ่งที่ดูย้อนแย้งพิกลคือฝ่ายหลังปฏิเสธ ‘ความดี’ ‘คนดี’ หรือชุดคุณค่าของฝ่ายแรก แต่ก็สร้างและเชื่อมั่นใน ‘ความดี’ ‘คนดี’ (แม้จะไม่ใช้คำนี้) และชุดคุณค่าตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่ายังไงๆ มันต้องดีกว่า ‘ความดีจอมปลอม’ ของฝ่ายแรก
แล้วเราก็ทำร้ายกัน ด่าทอกัน เหยียดหยามกัน และถึงขั้นเข่นฆ่ากัน
...ก็เหมือนที่ผ่านๆ มา เราสร้างพระเจ้าขึ้น เพื่อฆ่าพระเจ้าองค์อื่นๆ ไม่ว่าเราจะเรียกขานพระเจ้าของเราด้วยนามใด-ความดี ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม ความรักชาติ ความจงรักภักดี ศาสนา เสรีภาพ เผด็จการ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
อาจบางที ความเผลอไผลทำให้เราสร้างพระเจ้าของเราขึ้นบนโลกภายนอก เพื่อเข่นฆ่าพระเจ้าของผู้อื่น พร้อมๆ กันนั้น เราก็สร้างปีศาจขึ้นภายในเพื่อบงการพระเจ้าอีกทอดหนึ่ง...โดยไม่รู้ตัว
0 0 0
เราอาจโต้เถียงกันได้ว่า ความดีแบบนั้นแบบนี้ทำร้ายผู้คนอย่างไร แต่เป็นไปได้เพียงใดที่จะหักหาญให้โลกนี้ไม่มีที่ทางให้แก่ความดีที่เรา เกลียดมัน
บทสนทนาครั้งหนึ่งกับอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมเราต้องเลือกระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘ความดี’ อาจารย์เสกสรรค์ตอบกลับด้วยคำถามว่า ถ้าให้เลือกระหว่างตาซ้ายกับตาขวาจะเลือกอะไร
สุดท้าย มันจึงกลายเป็นสงครามช่วงชิงความหมายของ ‘ความดี’ ว่า ‘ความดี’ ของใครเป็น ‘ความดี’ ที่ ‘ดี’ กว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น