แถลงการณ์สวนโมกข์ ๕๐ ปี


บทสวด ปฏิจจสมุปบาท MP3 24 จบ ฟังยาวได้เลย 2 ชั่วโมง 49 นาที



พุทธวจนคืออะไร

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ตัวตนธรรมกาย ตัวร้ายของเถรวาท? บทรำพึงเพื่อครุ่นคิดเกี่ยวกับ Secularization

ที่มา ประชาไท

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
 

เพจ ศาสดา แชร์ภาพ (3 มกราคม 2555)
 
เดิมที่ผู้เขียนเตรียมจะปั่นบทความในประเด็นอื่นที่เย็นกว่านี้ แต่พบว่ามีเรื่องกวนใจบางประการจึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเขียนในเรื่องที่ น่าจะอยู่ในกระแสและสถานการณ์ดีกว่า นั่นคือ การที่เพจศาสดา แชร์ ภาพล้อเลียนธรรมกายเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2555 ด้วยคำบรรยายว่า “มีคนส่งภาพนี้มาให้ดู แม่ง ขำแทบตกเก้าอี้ 55555555+” ซึ่งเป็นภาพตัดต่อรูปเจ้าอาวาสพระธัมชโย กับ โลโก้ของเกม Command and Conquer, Yuri’ Revenge เนื่องจากว่า ตัวละครหนึ่งในเกมนี้ที่ชื่อ Yuri มีศีรษะโล้น ซึ่งถูกลากให้มาสัมพันธ์กับภาพอันอลังการของขบวนธุดงค์
 
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ การที่ผู้เขียนตามไปเจอเพจของเฟสบุ๊คที่ชื่อว่า มั่นใจเด็กไทยเกินล้านต่อต้านคำสอนจาก วัดพระธรรมกาย (คน กดไลค์ราว 6 พันคน) แล้วพบภาพและข้อความในเชิงประทุษร้าย ซึ่งหากมองในแง่ดีแล้ว นั่นอาจเป็นเจตนาเล่นตลกร้ายก็ตาม สำหรับผู้เขียนแล้ว การยั่วล้อ วิพากษ์วิจารณ์ และทำให้ตลก เป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ไม่ล่วงละเมิดไปถึงการประทุษร้ายทางกายภาพ นั่นจึงเป็นเรื่องที่ชวนครุ่นคิดไม่น้อยว่า การก้าวไปสู่จุดนั้นมันมีอะไรอยู่ข้างหลังบ้าง 
 
สังคมออนไลน์ ตรวจสอบ ยั่วล้อและวิพากษ์
จริงอยู่ที่ว่า ในปัจจุบันพระที่ขึ้นหิ้งเป็นระดับเซเล็บ ก็ถูกตรวจสอบและล้อเลียนอยู่สม่ำเสมอ ดังกรณีล่าสุด ว.วชิรเมธีที่ถูกนำภาพและการโคว้ทคำพูดของเจ้าตัวไปลงปก มติชนสุดสัปดาห์ ว่า “อร่อยจนลืมกลับวัด” และมีการโจมตี ว.วชิรเมธีอยู่เนืองๆ ตามหน้าเฟซบุ๊ค ดังที่เราเห็นได้จาก เพจเบื่อ ว.วชิรเมธี (คนกดไลค์ราวหมื่นคน) หรือการล้อเลียนเพศสภาพของว.วชิรเมธี ในนามเพจแอบแฝงอื่นๆ หรือพระเกษม อาจิณฺณสีโล วัดสามแยกที่ตกเป็นเป้าของกล้องและสื่ออย่างช่อง 3 ที่ถูกสังคมประณามกันมากในท่าทีที่ไม่เหมาะสม กระทั่งข่าวเก่าอย่างกรณีแม่ชีทศพร ก็ถูกสังคมออนไลน์รุมกระหน่ำซัดอย่างเสียรูปมวย
 


ว.วชิรเมธี ลงปก มติชนสุดสัปดาห์ ด้วยพาดหัวว่า "อร่อยจนลืมกลับวัด"
 
เพดานของการวิพากษ์
วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยนั้น ถือได้ว่ามีฐานที่อ่อนแอมาก เนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมที่ผู้น้อยคล้อยตามผู้ใหญ่ การวิพากษ์กันแบบไร้ความปรานีเวลาเจอกันตัวต่อตัว ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่มากในสังคมไทย แม้ในเวทีวิชาการเองยังพบน้อยกว่าน้อย คุณูปการหนึ่งของสังคมออนไลน์ที่ลากให้คนจำนวนมากมาเจอกันก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม โดยโครงสร้างการสื่อสารแบบนี้จึงทำให้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างกว้าง ขวาง 
อย่างไรก็ตามมันก็มีกรอบเพดานอยู่ สำหรับผู้เขียนเห็นว่ามีอยู่อย่างน้อย 2 ระดับ ระดับแรกก็คือ กฎหมาย ซึ่งควบคุมความคิดผ่านการกระทำทางวาจา กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นตัวอย่างสำคัญ แต่ในระดับที่สองก็คือ กรอบเพดานที่ถูกควบคุมด้วยความเชื่อ สถาบันหลักชาติ ศาสน์ กษัตริย์มีพลังอย่างมากเมื่อถูกหล่อเลี้ยงด้วยอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
 
แต่แรงขับดันสำคัญของการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เขียนเห็นว่า มีอย่างน้อย 2 ประเด็น นั่นก็คือ อุดมการณ์ทางการเมือง เราจะพบว่า เสื้อแดงจำนวนมากที่มีไอเดียวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาต่อผู้ที่มีท่าทีเป็น ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยในทัศนะของพวกเขา อย่างเช่นกรณีสันติอโศกที่มีท่าทีสนับสนุนเสื้อเหลืองชัดเจน หรือกรณี ว.วชิรเมธี ที่ทิ้งคำคมไว้ว่า “ฆ่าเวลาบาปน้อยกว่าฆ่าคน” ที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาสลายการชุมนุม และอีกหลายกรณีที่มักเทศน์ผ่านทวิตเตอร์และสื่อออนไลน์ด้วยตรรกะที่พิลึก พิลั่นในสายตาของพวกเขา หรือกรณีวิจารณ์หลวงพ่อจรัญ แห่งวัดอัมพวัน เนื่องจากว่า เป็นผู้ตกเป็นข่าวว่า ยกคำทำนายหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ขึ้นมาทักว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่สองขณะที่ฝ่ายตรงข้าม กรณีที่พระพยอม กัลยาโณ แห่งวัดสวนแก้วที่ถูกเสื้อเหลืองวิพากษ์วิจารณ์มาก กรณีเปิดวัดให้เสื้อแดงชุมนุมปราศรัย เช่นเดียวกับพระในที่ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพระปลอม หรือกระทั่งพระที่แสดงตนเองว่าเป็นเสื้อแดงอย่างมหาโชว์ที่วิจารณ์คำ ผกา ก็ถูกเสื้อแดงบางกลุ่มต่อต้านเช่นกัน
 
ส่วนอีกด้านหนึ่งที่เป็นความชอบธรรมเสมอมาในการขุดคุ้ย วิพากษ์วิจารณ์รวมไปถึงทำลายชีวิตพระสงฆ์ได้เลย ก็คือ สำนึกในฐานะผู้ปกป้องพุทธศาสนาแบบเถรวาท เราคุ้นชินกันอยู่แล้วกับการที่ชนชั้นกลางที่ตนไม่มีกำลังอาศัยสื่อในการ เปิดโปง ลากไส้ พระที่ผิดทำนองคลองธรรมโดยเฉพาะประเด็นประพฤติผิดทางเพศนั่นคือ การเสพกาม ตั้งแต่พระนิกร ยศคำจู, พระยันตระ อมโร, พระภาวนาพุทโธ, พระอิสรมุนี (พระที่ทักษิณ ชินวัตรเคยไปมอบตัวเป็นลูกศิษย์)
 
การนอกลู่นอกทางของพระต่างๆ มีลิมิตก็คือว่า ถึงอย่างไรก็อย่าให้พลาดพลั้งกับแผน “นารีพิฆาต” เรื่องอื่นๆ ยังอาจพอหยวนๆได้ กับอีกกรณีก็คือ การปะทะกับอำนาจรัฐโดยตรง นั่นคือ กรณีของสันติอโศกที่ประกาศไม่ขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์ไทยที่นำโดยมหาเถรสมาคม สำหรับเรื่อง “เล็กน้อย” ในสายตาสังคมที่พอจะหยวนๆได้ แม้จะขัดกับวินัย เช่นกรณีเกี่ยวกับเรื่อง การถือครองทรัพย์สินอย่างกรณีที่เจ้าอาวาสวัดธรรมกายถูกโจมตี เรื่องเกี่ยวกับเงินและที่ดินวัด, หรือกรณีพระปราโมทย์ ปาโมชโชที่ขัดแย้งกับลูกศิษย์ ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาความโปร่งใสเรื่องเงินและบัญชีของวัดต่างๆ นับเป็นปัญหาร่วมกันโดยแท้ 
 
ธรรมกาย อวตารของตัวร้ายที่บ่อนทำลายเถรวาท
ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญก็คือ สันปันน้ำของการตีความหลักพุทธศาสนา นั่นก็คือ การระบุว่านิพพาน จุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนานั้นเป็นอนัตตา หรืออัตตา แน่นอนว่า การร่ำเรียนและสั่งสอนเรื่องนิพพานที่ผ่านมาล้วนเน้นอย่างชัดเจนว่าเป็น เรื่องของอนัตตา ความไม่มีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นพุทธทาสภิกขุ, พระประยุทธ์ ปยุตโต ที่มีภาพลักษณ์ของพระดี พระที่น่าเคารพนับถือ การที่ธรรมกายปฏิเสธคำสอนนั้น จึงเป็นการเขย่าวงการสงฆ์เถรวาทอย่างน่าหวาดระแวง ด้วยหลักคิดของเถรวาทนั้นถือว่า เป็นพุทธศาสนาสายอนุรักษ์นิยมอยู่โดยตัวของมันเอง ที่มีหลักการว่าจะยึดไตรปิฎกหรือธรรมวินัยที่ว่ากันว่าสืบสานมาจากสมัย พุทธกาล โดยไม่เปลี่ยนแปรใดๆ และเชื่อว่า การสวดท่องจำดังกล่าวมี “ความบริสุทธิ์” ที่สุดแล้ว การตีความคลาดเคลื่อนจากเดิมของธรรมกาย จึงทำให้รากฐานดังกล่าวถูกสั่นคลอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อถกเถียงของธรรมกายในส่วนนี้จึงเป็นชั้นปรมัตถธรรม
 
สำหรับนักคิดทางพุทธศาสนาคงเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญและ คอขาดบาดตาย แต่ในมุมมองของฆราวาสที่ไกลจากการครุ่นคิดและตีความไตรปิฎกกลับพบว่า สิ่งที่กระทบกับพวกเขามากที่สุดก็คือ ภาพลักษณ์และการบริหารการจัดการของวัดที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นี่คือข้อถกเถียงในเชิงสมมติ การเลือกใช้พุทธศิลป์แบบที่แหวกแนวจากวัดทั่วๆไป เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของวัด ผสมผสานกับการปรับตัวของวัดที่รองรับ “มวลชน” ประสบการณ์การจัดการและการรับมือกับคนเรือนหมื่นเรือนแสนของวัดแห่งนี้ เชื่อว่าทำได้มาตรฐานความพึงพอใจของการบริการในโลกสมัยใหม่ การขยายเครือข่ายที่มีลักษณะคล้ายธุรกิจ MLM ยิ่งผสานกับอคติต่ออาชีพขายตรง รวมไปถึงการสั่งสมบุญที่เน้นการทุ่มเทในการบริจาค ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของวัดติดลบมากขึ้นไปอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ธรรมกายยังได้เปรียบอยู่ก็คือ มวลชนอันมหาศาลและความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล และมหาเถรสมาคม
 
แม้ว่าข้อถกเถียงในระดับปรมัตถธรรมในหมู่ศาสนิกทั่วไปจะไม่ใช่เรื่อง ที่พวกเขาเข้าใจกระจ่าง เหมือนกับการต่อต้านอันเนื่องมาจากข้อถกเถียงระดับสมมติก็ดี แต่ก็เป็นข้ออ้างอย่างดีว่า ธรรมกายจะกลายเป็นผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากสังคมไทย
 
ความชอบธรรมในการทำลายล้าง
ข้อหาทำให้พุทธศาสนาเสื่อมนับเป็นข้อหาอันอุกฤตมาก เราอาจกล่าวได้ว่า การโจมตีด้วยข้อหาดังกล่าวเป็นความคิดที่เป็นอัตวิสัย ทั้งยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามศัตรู ไม่ต่างจากกฎหมายความมั่นคงที่กล่าวหาว่า บุคคลหรือองค์กรใดกำลังเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การทำให้ธรรมกายกลายเป็นอื่นนั้นเราเห็นได้อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะการโจมตีผ่านคนดังและดารา อย่างเช่น กรณีโจมตีโน้ต อุดม แต้พานิช ที่สนับสนุนแคมเปญ ธุดงค์ธรรมกาย, ศศินา วิมุตตานนท์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 ที่ไปร่วมขบวนงานกฐิน ฯลฯ กระนั้นผู้เขียนเองเห็นว่าการวิจารณ์นั้นพึงกระทำได้ แม้จะหนักเพียงใด
 
การล่วงละเมิดทางกายภาพ อันไม่พึงละเมิด
ตราบใดที่ยังไม่ประทุษร้ายทางรางกายต่อกัน ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นการดีที่ศาสนาจะถูกนำมาสู่พื้นที่สาธารณะผ่านการตรวจ สอบและสอบทานความอดทนต่อการยั่วล้อมากยิ่งขึ้น ในเมื่อศาสนาถูกอุปการะโดยสังคม และการอุปถัมภ์เป็นตัวเงินจากรัฐซึ่งนั่นก็คือ ภาษีของประชาชน ยังไม่ต้องนับว่า ทรัพย์สินมหาศาลของวัดจำนวนหนึ่ง ไม่ผ่านระบบภาษีใดๆทั้งสิ้น
 
แต่สิ่งสำคัญก็คือ การจะรักษาความปลอดภัยให้กับผู้มีศรัทธาและความเชื่อที่ต่างกันก็คือ ความอดทนอดกลั้นที่จะไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพต่อกัน ที่ผู้เขียนวิตกก็คือ การโพสต์ในเพจ มั่นใจเด็กไทยเกินล้านต่อต้านคำสอนจาก วัดพระธรรมกาย ด้วย รูปที่แสดงให้เห็นเป็นภาพ มือถือตะปูแล้วมีดอกกุหลาบแซม โดยมีข้อความบรรยายว่า “ตอนนี้แอดมินบร้ะเจ้าไปร่วมขบวนต้อนรับพวกสาวกจานบินเลยฝากภาพมาให้ชมกัน // แอดมินกาก” ซึ่งอาจจะเป็นมุขล้อเลียนอีกรูปแบบหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถตีความได้ว่า นี่อาจจะเป็นความพยายามหนึ่งที่จะนำตะปูไปโรยระหว่างทางเดินธุดงค์ ซึ่งหากเป็นจริงก็ถือว่าได้ละเมิดเส้นแดนการวิจารณ์ไปสู่การทำร้ายร่างกาย แล้ว ผู้เขียนหวังว่า คงไม่เกิดเหตุเช่นนั้นจริง


ภาพตะปูและกลีบกุหลาบ (2 มกราคม 55)
 
ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาและเกจิอาจารย์ในสังคมไทย?
ในทางกลับกัน เราจะพบได้ว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสอนและวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ และพระภิกษุในสังคมไทยที่อยู่นอกกรอบข้างต้นแล้ว แทบไม่มี โดยเฉพาะการวิจารณ์ในระดับสมมติ ที่หมายความว่า ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมะล้วนๆ แต่สัมพันธ์กับพฤติกรรมทางสังคมที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
 
ไม่มีการวิจารณ์เรื่องพระป่า กับ การละเมิดพื้นที่ป่าสงวน, ไม่มีเสียงวิจารณ์ต่อการให้สินบนเพื่อเลื่อนชั้นยศ, ไม่มีการวิจารณ์ต่อพระที่มาก้าวก่ายเกี่ยวกับระบบการคลังของประเทศ, ไม่มีเสียงวิจารณ์ต่อการห้ามผู้หญิงบวชภิกษุณี, ไม่วิจารณ์คำสอนถึงนรกสวรรค์และกรรมเก่าที่ผิดฝาผิดตัว, ไม่วิจารณ์คำสอนที่เชื่อมโยงกับเนื้อหาประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่บิดเบือนและ ผิดพลาดทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฯลฯ แต่จะว่าไม่มีการวิจารณ์ก็ไม่ถูกต้องนัก แต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นแปรผันไปตาม ความดังของพระรูปนั้นๆมากกว่า หากพระใดอาวุโส มีคนขึ้นเยอะ มีเจ้าคณะศรัทธาเป็นคนใหญ่คนโต เรื่องก็พร้อมที่จะเงียบๆไป

อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ขณะที่การตอบโต้ ถากถาง และวิจารณ์ธรรมกายและพระอื่นๆที่ตัวแปดเปื้อนกับอุดมการณ์ทางการเมือง แสนจะเปิดกว้าง เราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้กับพระอาวุโส พระดัง พระดี หรือพระที่เราถูกทำให้เชื่อว่าเป็นอรหันต์อย่าง หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงตาบัว หรือกระทั่งพุทธทาสภิกขุ 
 
ไม่สมควรมีพระหรือคณะสงฆ์ใด อยู่ในตำแหน่งที่กุมอำนาจรัฐ
ในที่สุดแล้ว การห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์นั้นยิ่งทำให้เราหลงประเด็นไป การเปิดกว้างการวิพากษ์วิจารณ์ให้มากที่สุดจนไปแตะกับเส้นที่ไม่ละเมิดความ รุนแรงทางกายภาพต่างหากที่เราต้องการให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอีกระดับหนึ่งก็คือ ความแข็งแกร่งด้านหนึ่งของธรรมกายที่มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐ ทั้งในนามรัฐบาลและมหาเถรสมาคม ความอ่อนไหวอย่างยิ่งที่กลายเป็นความหวาดกลัวที่ครอบงำชาวพุทธส่วนที่ต่อ ต้านธรรมกายก็คือ การที่ธรรมกายจะขึ้นมาเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะในนามมหาเถรสมาคม หรือองค์กรอื่นๆที่มีอำนาจชี้ถูกผิด ชี้เป็นชี้ตาย
 
ดังนั้น ทางออกที่สำคัญก็คือ ความตระหนักและเข้าใจของการแยกโครงสร้างศาสนาออกจากความสัมพันธ์กับรัฐ ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดก็คือ การรณรงค์ให้มีการบรรจุข้อความว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ลงในรัฐธรรมนูญ โดยไม่เข้าใจว่า จะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองต่างๆ ที่อยู่ในศาสนาอื่นๆ กระทั่งคนไร้ศาสนา หรือคนที่มีศาสนาแต่เลือกที่จะไม่แสดงออกว่านับถือศาสนาใด อำนาจสำคัญด้านหนึ่งคือ อำนาจการควบคุมสงฆ์ไม่ว่าจะในนามรัฐบาลฆราวาส หรือในนามรัฐบาลสงฆ์ที่เรียกว่า มหาเถรสมาคม ก็ล้วนเน้นไปที่การรวมศูนย์กลางการปกครองสงฆ์อยู่ที่รัฐ
 
แม้แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 อันถือว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ที่สุด ก็ยังรวมศูนย์ความเป็นสงฆ์แบบเถรวาทที่มีประมุขคือ สังฆราช (เปรียบได้กับกษัตริย์) ตำแหน่งปกครองบริหารสูงสุดคือ สังฆนายก (เปรียบกับนายกรัฐมนตรี) และมีสังฆมนตรี (ดังรัฐมนตรี) ประจำกระทรวงทั้งหลาย ทั้งที่ “พุทธศาสนา” มีความหลากหลายในนิกายต่างๆ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว อย่าลืมว่าในสังคมไทยยังมี พุทธแบบแม่ชีทศพร พุทธแบบโกเอ็นก้า พุทธแบบสันติอโศก พุทธแบบมหายานจีน, เวียดนาม (พระญวณ ที่มีบทบาทในพิธีกงเต๊กของเจ้าด้วยซ้ำ) การให้อำนาจปกครองรวมศูนย์ดังกล่าว ในที่สุดแล้วจะสัมพันธ์กับความหลากหลายอย่างนี้อย่างไรให้มีความเท่าเทียม กันแม้ในเชิงทฤษฎีก็ตาม
 
ไม่ต้องนับว่าในโลกปัจจุบัน มีคนประกาศตัวเป็นคนไร้ศาสนามากขึ้น หรือการย้ายศาสนาไปหาคำตอบให้ชีวิตที่มากขึ้น บางครั้งการเลือกที่จะกรอกในบัตรประชาชนว่าตนเป็นคน “ไร้ศาสนา” ยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำในเชิงปฏิบัติ และนี่หรือคือเสรีภาพของการนับถือ(และไม่นับถือ) ศาสนา
 
นอกจากนั้น การปลดภาระผูกพันระหว่างศาสนากับรัฐ ที่เรียกว่าการ Seculariztion ยังเป็นการป้องกันการที่คณะสงฆ์บางกลุ่มบางพวกจะขึ้นมามีอำนาจสั่งการและ บงการให้การสอนและการปฏิบัติทางศาสนาเป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย สำหรับผู้เขียนแล้วเชื่อว่า เราไม่ต้องการธรรมกายขึ้นมาเป็นตัวแทนในรัฐบาลสงฆ์ พอๆกับพระจากสันติอโศก นักบวชจากค่ายแม่ชีทศพร โกเอนก้า ฯลฯ แต่ควรปล่อยให้คณะสงฆ์และชุมชนทางศาสนาดูแลและควบคุมกันเอง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยก็คือ กรณีของวัดหนองป่าพงที่ประกาศตัดสาขากับ วัดสาขาที่ไม่เคารพและยึดถือแนวปฏิบัติของที่ประชุมของวัดหนองป่าพงอันเป็น สาขาใหญ่ เช่นในกรณีของ พระคึกฤทธิ์ โสตถิผโล วัดนาป่าพง จ.ปทุมธานี ที่ประกาศสวดปาฏิโมกข์เพียง 150 ข้อ จาก 227 ข้อ เนื่องจากเห็นว่าไม่จำเป็นในปี 2553 [1] หรือวัดโพธิญาณ วัดสาขาที่ออสเตรเลียที่รับอุปสมบทภิกษุณีในปี 2552  แม้ว่าในที่สุดพระสายหนองป่าพงจะพึ่งพิงอำนาจรัฐบาลสงฆ์อย่างผู้ปฏิบัติ หน้าที่แทนสังฆราชในการตอกย้ำความชอบธรรมดังกล่าวก็ตาม [2]
 
หากกระบวนการยังเป็นอย่างนี้อยู่ ทุกท่านคงพอทราบว่า ในสมรภูมิเช่นนี้พระสงฆ์คณะใดที่เข้มแข็งที่สุดทั้งในแง่มวลชน เงินทุน และการบริหารการจัดการ และบทสรุปของความขัดแย้งนี้จะไปอยู่ ณ จุดใด อาจเป็นนรกเท่านั้นที่จะตอบเราได้


ตัวอย่างหนังสือตัดสาขาของวัดหนองป่าพง ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2553
 
การอ้างอิง
[1] มติชนออนไลน์. "ตัด"วัดนาป่าพง"จ.ปทุมธานีพ้นสายปู่ชา หลังสวดพระปาฏิโมกข์แค่150ข้อ". http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1278332150&grpid=03&catid= (5 กรกฎาคม 2553)  และ  วัดป่ากรรมฐาน. สำเนา "แถลงการณ์รายงานการประชุม ครั้งที่ 1/2553 วันพุธที่ 16 มิถุนายน 2553  ณ วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ". http://www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=3034 (5 กรกฎาคม 2553)
[2] คณะกรรมการบริหารคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง. "คำชี้แจงจากคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงและสาขาทั่วโลก กรณีคณะสงฆ์วัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ถูกสมัชชาสงฆ์วัดหนองป่าพงทั่วโลก ขับไล่ออกจากคณะ" อ้างถึงใน http://www.alittlebuddha.com/News%202009/December%202009/021%20December%... (4 มกราคม 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น